หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนำเสนอ โดยสรุปให้แบ่งมาตรการออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ มาตรการระยะเร่งด่วน มาตรการระยะกลาง และมาตรการระยะยาวมาตรการระยะเร่งด่วน มีแนวทางปฏิบัติ 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ระยะเตรียมการ (ก่อนเกิดปัญหาช่วงเดือน กย.-พย.) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบต้นกำเนิดของมลพิษในเขตกรุงเทพฯ และ 5 แห่งในปริมณฑล รวมถึงจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพื่อเฝ้าระวังและเตรียมพร้อม หากปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่สูงขึ้น 2. ระยะปฏิบัติการ (ช่วงเกิดปัญหาเดือน ธค.-เมย.) เป็นระยะปฏิบัติการช่วงเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เกินมาตรฐาน ซึ่งได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่างๆ โดยกำหนดให้ยกระดับความเข้มข้นของมาตรการตามความรุนแรงของสถานการณ์เป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 ฝุ่นละออง (PM2.5) มีค่า "ไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร" ให้ราชการทุกหน่วยดำเนินการตามภารกิจ เพื่อควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด ให้อยู่ในระดับปกติ ระดับที่ 2 ฝุ่นละออง (PM2.5) มีค่า "มากกว่า 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร" ให้ทุกส่วนราชการดำเนินการยกระดับมาตรการให้เข้มงวดขึ้น โดยให้ผู้ว่าฯ กทม. และ ผวจ. ที่มีปัญหาฝุ่นละออง เพิ่มจุดตรวจจับควันดำเป็น 20 จุด พร้อมเข้มงวดตรวจสอบรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนก่อนออกให้บริการ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดไม่ให้มีรถควันดำวิ่งโดยเด็ดขาด รวมถึงการจอดรถในที่ห้ามจอด ให้ลากและปรับรถที่จอดผิดกฎหมาย รถโดยสารดีเซลต้องเปลี่ยนไปใช้น้ำมัน B20 เฝ้าระวังและปฏิบัติการทำฝนเทียม ให้ภาครัฐพิจารณาการทำงานที่บ้าน และขอความร่วมมือจากบริษัทเอกชนให้ทำงานที่บ้านเช่นกัน ตรวจเข้มและควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ให้ปล่อยฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมช่วยดูแลตรวจสอบอุปกรณ์ และเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพ ตรวจสภาพรถบรรทุกขาออกและขาเข้าโรงงาน หยุดหรือลดกำลังการผลิต รวมถึงห้ามรถยนต์ที่มีมลพิษสูงวิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง และชั้นนอก ระดับที่ 3 หากฝุ่นละออง (PM2.5) "ยังไม่ลดลงและมีแนวโน้มสูงขึ้น" หลังจากที่มีการดำเนินการในระดับที่ 2 แล้ว ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. และผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีปัญหาฝุ่นละออง ให้ใช้กฎหมายที่มีอยู่เข้าไปควบคุมแหล่งกำเนิดที่ก่อให้เกิดเหตุรำคาญหรือมีผลกระทบต่อประชาชน เพื่อยับยั้งสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองไม่ให้แนวโน้มสูงขึ้น ระดับที่ 4 หากฝุ่นละออง (PM2.5) "ยังไม่ลดลง และมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง" ให้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกรณีเร่งด่วนพิเศษ และพิจารณากลั่นกรองแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยต้องนำเรียนนายกรัฐมนตรีเป็นการเร่งด่วน เพื่อพิจารณาสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นแนวทางการลดมลพิษ มาตรการระยะกลาง (พศ. 2562-2564) เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด โดยประกาศใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีกำมะถันไม่เกิน 10 ppm พัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบ เร่งรัดแผนการเปลี่ยนรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ ให้เป็นรถยนต์ที่มีมลพิษต่ำ พิจารณาปรับวิธีการ และปรับลดอายุรถที่เข้ารับการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปี พิจารณาการเพิ่มภาษีรถยนต์เก่า การลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า การซื้อ-ทดแทนรถราชการด้วยรถยนต์ไฟฟ้า และการจัดโซนนิ่งจำกัดจำนวนรถเข้าเมือง การพัฒนาระบบเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพ เพิ่มพื้นที่สีเขียว พัฒนาศักยภาพท้องถิ่นในการดำเนินการติดตามการตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่ และการควบคุมเป็นระบบ Single Command มาตรการระยะยาว (พศ. 2565-2567) เป็นการลดการระบายมลพิษและลดจำนวนแหล่งกำเนิด โดยปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากรถยนต์ใหม่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน EURO 6 ห้ามนำเข้าเครื่องยนต์ใช้แล้วมาเปลี่ยนแทนเครื่องยนต์เก่าในรถยนต์ พัฒนาโครงข่ายการให้บริการขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงทุกระบบและครอบคลุมพื้นที่ กำหนดมาตรฐานระบายอากาศเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมให้เทียบเท่ากับมาตรฐานจากยุโรป และสหรัฐอเมริกา