ธุรกิจ
ปตท. เผยผลการดำเนินงานปี 2561
ปตท. เผยผลการดำเนินงานปี 2561 สร้างความมั่นคงทางพลังงาน ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง เพื่ออนาคตยั่งยืน เสริมความแข็งแกร่งโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาโอกาสธุรกิจใหม่ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ควบคู่การดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม สะท้อนรายได้นำส่งรัฐปี 2561 กว่า 82,220 ล้านบาท
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2561 ขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 3.7 โดยเฉพาะจากเศรษฐกิจยูโรโซน และจีน ความไม่แน่นอนจากปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นน้อยกว่าปีก่อน รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 4 ปี 2561 ส่งผลให้ในปี 2561 ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ทั้งในส่วนของกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น และธุรกิจน้ำมันมีผลประกอบการที่ลดลง สาเหตุหลักมาจากการขาดทุนสตอคน้ำมัน เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีกำไรจากสตอคน้ำมัน อีกทั้งธุรกิจปิโตรเคมีสายอโรเมทิคส์ และสายโอเลฟินส์ ก็มีผลการดำเนินงานลดลงตามส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบที่ลดลง โดยเฉพาะในช่วงปลายปี 2561 แม้ว่าปริมาณขายโดยรวมจะเพิ่มขึ้นจากความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติคที่ยังอยู่ในระดับสูง
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยที่ทำให้กำไรของ ปตท. ลดลงจากค่าใช้จ่ายทางภาษีเพิ่มขึ้นตามผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และการปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจน้ำมัน ในขณะที่การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ครบวงเงินแล้ว
อย่างไรก็ตาม กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น กลับมีปัจจัยเชิงบวกที่ทำให้ผลประกอบการดีขึ้น โดยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นจากราคาและปริมาณขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจแกสธรรมชาติส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นทั้งในส่วนที่ ปตท. ดำเนินการเอง และดำเนินการโดยบริษัทในกลุ่ม และธุรกิจการค้าระหว่างประเทศมีผลการดำเนินงานดีขึ้นทั้งจากกำไรขั้นต้นต่อหน่วยของผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น และปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น
จากปัจจัยต่างๆ ส่งผลให้การดำเนินงานของ ปตท. ปี 2561 มีรายได้จากการขาย และให้บริการรวม 1.4 ล้านล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินงาน 59,160 ล้านบาท และเมื่อรวมผลการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่ม ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อยมีรายได้จากการขายและให้บริการรวม 2.3 ล้านล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 17) และมีกำไรสุทธิ 119,684 ล้านบาท (ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 11) คิดเป็นกำไร 4.15 บาท/หุ้น ซึ่งคณะกรรมการ ปตท. ได้มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลจำนวน 2.00 บาท/หุ้น ส่งผลให้กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และกองทุนวายุภักษ์จะได้รับเงินปันผลรวมประมาณ 36,258 ล้านบาท และเมื่อรวมกับภาษีเงินได้นิติบุคคลของ ปตท. และบริษัทในเครืออีกประมาณ 45,962 ล้านบาท รวมเป็นรายได้นำส่งรัฐจากกลุ่ม ปตท. สำหรับผลประกอบการปี 2561 รวมประมาณ 82,220 ล้านบาท ทั้งนี้ กำไรของ ปตท. ภายหลังการจ่ายเงินปันผลให้แก่รัฐและผู้ถือหุ้น จะนำไปลงทุนเพิ่มเติมในโครงการต่างๆ ที่สำคัญ รวมถึงสนับสนุนการดำเนินงานด้านกิจการเพื่อสังคม ตามแนวทางการบริหารจัดการความยั่งยืนกลุ่ม ปตท. เน้น 3 ด้านหลัก (3P) ได้แก่ People การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน และสังคม Planet การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม Prosperity การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน
ในด้าน People เน้นการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม สร้างคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจที่ดีแก่คนในสังคม การร่วมพัฒนาการศึกษาไทยด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่าน “โรงเรียนกำเนิดวิทย์” ซึ่งนักเรียนรุ่นแรกสำเร็จการศึกษาจำนวน 71 คน ในจำนวนนั้นได้ทุนศึกษาต่อต่างประเทศในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถึง 18 คน และ “สถาบันวิทยสิริเมธี” ที่นักศึกษารุ่นแรกสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จำนวน 13 คน พร้อมเปิดสำนักวิชาใหม่ 2 สาขา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล สนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) รวมถึงอาคารเรียนรวม สนับสนุนโดยบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้ยังสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสให้มีส่วนร่วมในธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ของ ปตท. ผ่านร้าน Cafe Amazon for Chance เปิดโอกาสให้ผู้พิการทางการได้ยินมีอาชีพและรายได้ สะท้อนการทำงานของ ปตท. ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นอกจากนี้โลกของเราประสบปัญหาภัยธรรมชาติและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในด้าน Planet จึงมุ่งพัฒนาพลังงานทางเลือก เชื้อเพลิงสะอาด อย่างต่อเนื่อง อาทิ แกสธรรมชาติ NGV แกสโซฮอล ไบโอดีเซล ซึ่งมีส่วนช่วยลดมลภาวะ ในปีที่ผ่านมายังสนับสนุนมาตรการรัฐ ร่วมแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินค่ามาตรฐาน โดยจัดหาน้ำมัน B20 ให้รถสาธารณะ อาทิ รถเมล์ ขสมก. บขส. ผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะต่างๆ และสนับสนุนน้ำแข็งแห้งแก่โครงการฝนหลวงเพื่อทำฝนเทียมบรรเทาฝุ่นละอองและช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง ขณะเดียวกันยังมุ่งสร้างการตระหนักถึงคุณค่าและร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ผ่านงานของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท. อย่างต่อเนื่อง อาทิ “ศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุง ปตท.” กรุงเทพฯ “ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์” จ. ระยอง และโครงการ OUR Khung Bang Kachao
ชาญศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับด้าน Prosperity ปตท. ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างมีหลักธรรมาภิบาล ดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างสมดุล ซึ่งปี 2561 ได้ลงทุนเพื่อรองรับความต้องการใช้แกสธรรมชาติและครอบคลุมการขยายโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ได้แก่ การขยายขีดความสามารถในการจัดหา นำเข้า แกสธรรมชาติเหลว (LNG) ด้วยการขยายคลังรับ LNG (LNG Receiving Terminal) ส่วนเพิ่ม 1.5 ล้านตัน/ปี รวมเป็น 11.5 ล้านตัน/ปี การขยายโครงข่ายระบบท่อส่งแกสฯ นครราชสีมา ระยะที่ 2 การเริ่มดำเนินโครงการท่อส่งแกสฯ เส้นที่ 5 กำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 ซึ่งจะเป็นโครงการสำคัญที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระบบแกสธรรมชาติระหว่างภาคตะวันตกและตะวันออก เพื่อความต่อเนื่องในการจัดหาแกสให้แก่ประเทศ การเพิ่มการผลิตโรงแยกแกสธรรมชาติหน่วยที่ 5 และเพิ่มโครงข่ายท่อย่อยเพื่อขยายตลาดแกสธรรมชาติไปยังภาคอุตสาหกรรม พร้อมทั้งมีการจำหน่าย LNG ให้ผู้ค้าเอกชนเป็นครั้งแรก เพื่อไปจำหน่ายต่อให้กับโรงงานอุตสาหกรรมนอกแนวท่อส่งแกสฯ
นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ปตท. ยังเน้นการเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบปิโตรเลียมขั้นต้น โดยนำไปผลิตปิโตรเคมีขั้นพื้นฐาน พัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นสูง (Specialty & Engineering Plastics) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่าง Bio chemical อีกทั้งธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ยังเป็นไปเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ผ่านการจัดหาพลังงานตามความต้องการของประเทศ สร้างเครือข่าย ขยายการค้าให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก และพัฒนาระบบบริหารการค้าระหว่างประเทศ หรือ CTRM (Commodity Trading and Risk Management System) ให้พร้อมรับการขยายตัวทางธุรกิจ มีการควบคุมบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ธุรกิจน้ำมัน มีการแยกโครงสร้างธุรกิจเป็น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTTOR) โดยยังมีการขยายธุรกิจ Oil และ Non-Oil ทั้งในประเทศ ประเทศใน AEC รวมถึงภูมิภาคอื่นๆ ตามโอกาส
อย่างไรก็ดี ปตท. ในฐานะองค์กรด้านพลังงานของประเทศ ยังพร้อมสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐ ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ให้เป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยี อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
“ในปี 2561 ปตท. ครบรอบ 40 ปี ต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่สนับสนุน ปตท. มาโดยตลอด จากนี้ภายใต้ความท้าทายต่างๆ ปตท. ยังมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานอย่างเข้มข้นในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนองค์กรข้ามขีดความสามารถเดิม สร้างความสามารถทางการแข่งขัน ขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงขยายการลงทุนโครงการสำคัญในพื้นที่ EEC รวมทั้งพลังงาน ปิโตรเคมี เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจในอนาคต โดยไม่ละทิ้งเรื่องการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตามหลักธรรมาภิบาล การกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจะทำให้ทั้ง ปตท. และประเทศ เติบโตไปด้วยกันได้อย่างมั่นคง แข็งแรง และยั่งยืน”
ABOUT THE AUTHOR
นุสรา เงินเจริญ
บรรณาธิการข่าวธุรกิจและสังคม รักการอ่าน ขอบงานเขียน ชอบพบปะผู้คน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารในวงการยานยนต์ไทย ท่องเที่ยว เป็นประสบการณ์ที่ดี พร้อมได้ เปิดโลก ได้พัฒนาตัวในแวดวงสื่อสารมวลชน
ภาพโดย : บริษัทผู้ผลิตคอลัมน์ Online : ธุรกิจ (บก. ออนไลน์)