เรื่องน่ารู้
มารู้จัก Niki Lauda ตำนานแชมพ์ Formula One 3 สมัย
สำนักข่าว BBC ของอังกฤษรายงานว่า Niki Lauda ตำนานรถ Formula One ชาวออสเตรีย เสียชีวิตลงแล้วด้วยวัย 70 ปี หลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพในช่วงบั้นปลายชีวิต โดยอดีตแชมพ์ Formula One 3 สมัย เพิ่งผ่านการปลูกถ่ายปอดไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ขณะที่ต้นปีเจ้าตัวได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอีกครั้งจากโรคหวัด ล่าสุดครอบครัวของ Lauda ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ตำนาน Formula One ได้จากโลกนี้ไปแล้วอย่างสงบ เมื่อวันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2562 ตามเวลาท้องถิ่น ท่ามกลางความโศกเศร้าของครอบครัว และคนใกล้ชิดNiki Lauda ได้รับการจารึกว่าเป็นหนึ่งในนักขับ Formula One ที่ดีที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ หลังคว้าแชมพ์มาครองได้ถึง 3 สมัยในปี 1975, 1977 และ 1984 ตลอดการเป็นนักขับอาชีพ ประสบความสำเร็จคว้าแชมพ์ทั้งหมด 25 สนาม ขึ้นโพเดียม 54 ครั้ง แม้ว่า Niki Lauda จะประสบอุบัติเหตุถูกไฟคลอกระหว่างแข่งขันที่สนาม Nürburgring เมื่อปี 1976 ที่เยอรมนี แต่ก็สามารถกลับมาสู่สนามได้อีกครั้งอย่างรวดเร็ว หลังใช้เวลาในการพักฟื้นร่างกายเพียงแค่ 6 สัปดาห์เท่านั้น เรื่องราวอันเป็นตำนานของ Niki Lauda ถูกเผยแพร่ออกสื่ออย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะเรื่องราวชีวิตของเขาที่ถูกสร้างเป็นหนังเรื่อง "RUSH อัดเต็มสปีด" เมื่อปี 2013 เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการแข่งขัน Formula One ที่เล่าเรื่องของนักแข่ง และคู่แข่งที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ของ Formula One ระหว่าง James Hunt (Chris Hemsworth) และ Lauda (Daniel Bruhl) ซึ่งเป็นผลงานการกำกับของ Ron Howard Lauda ถือกำเนิดในครอบครัวร่ำรวยที่เวียนนา แม้ทางบ้านจะไม่เห็นด้วยกับการเป็นนักแข่งรถ แต่เขาก็ดิ้นรนจนได้แข่งในรายการ Formula Vee ก่อนจะขยับไปขับให้ทีม March Engineering ใน Formula Two ปี 1971 และมีผลงานโดดเด่นจนทาง March Engineering เลื่อนให้ไปขับ Formula One ทว่าในฤดูกาลแข่ง Formula One ปี 1972 ทาง March Engineering ประสบความล้มเหลวอย่างหนัก ทำให้ Lauda มีหนี้สินจำนวนมาก (เพราะขัดแย้งกับครอบครัวจนต้องกู้เงินมาใช้ในการแข่งขันเอง) ในปี 1973 ได้เข้าร่วมทีม BRM (British Racing Motors) Lauda ยังคงทำความเร็วได้โดดเด่น ทว่าทีมกลับทำผลงานได้ไม่ดีนัก จุดเปลี่ยนสำคัญมาถึง เมื่อ Clay Regazzoni นักขับชาวสวิสส์ เพื่อนร่วมทีม BRM ได้หวนกลับไปอยู่กับทีม Ferrari ในปี 1974 และ Clay Regazzoni ได้แนะนำให้ Enzo Ferrari ดึงตัว Niki Lauda มาร่วมทีมด้วย เมื่อโชคเข้าข้าง Lauda ก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เขาคว้าลำดับ 2 ที่อาร์เจนตินา สนามแรกของเวิร์ลด์ กรองด์ปรีซ์ ปี 1974 ซึ่งนับเป็นชัยชนะในรายการนี้ครั้งแรกของเขา และครั้งแรกสำหรับทีม Ferrari นับแต่ปี 1972 และลงท้ายด้วยการคว้าอันดับ 4 ในเวิร์ลด์ กรองด์ปรีซ์ ปีนั้น ต่อมาเขาก็พิสูจน์ว่าไม่ใช่แค่โชคช่วย ด้วยการคว้าแชมพ์โลกครั้งแรกได้ในปี 1975 แถมยังเป็นนักขับคนแรก และคนเดียวที่ทำเวลา/รอบ ที่สนาม Nürburgring เยอรมนี ต่ำกว่า 7 นาที แต่ทว่าในปีถัดมา (1976) ที่สนาม Nürburgring นี่เอง ที่ทำให้เขาแทบเอาชีวิตไม่รอด ในรายการแข่งขันเวิร์ลด์ กรองด์ปรีซ์ สนามที่ 10 แข่งขันกันที่สนาม Nürburgring ประเทศเยอรมนี สนามที่มีชื่อเล่นว่า "นรกสีเขียว" ซึ่งเป็นสนามที่ขับยากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก Lauda ได้เคยชักชวนเพื่อนนักขับในปีนั้น ให้คว่ำบาตรการแข่งขันสนามนี้ เพราะคิดว่าการดูแลเรื่องความปลอดภัยยังไม่ดีพอ ทว่านักขับส่วนใหญ่กลับไม่เห็นด้วย การแข่งขันจึงต้องเดินหน้าต่อ ระหว่างการแข่งขัน ขณะที่ Lauda ขับวนในรอบที่ 2 มาด้วยความเร็วสูง รถของเขากระเด็นไปกระแทกเข้าไปที่ขอบข้างทางจนไฟลุกท่วม เพื่อนนักขับทั้ง Arturo Merzario, Brett Lunger, Guy Edwards, Harald Ertl ช่วยกันดึงเขาออกมาจากตัวรถอย่างทุลักทุเล Lauda ได้รับการเคลื่อนย้ายโดยเครื่องบินและเข้ารับการรักษาขั้นสูงที่เมือง Mannheim ด้วยทีมแพทย์ 6 คน และพยาบาล 34 คนที่ช่วยกันยื้อชีวิตของเขา Lauda ถูกไฟเผาอย่างรุนแรง ผิวหนังของเขาถูกไฟไหม้ระดับ 3 บริเวณศีรษะ และข้อมือ กระดูกซี่โครงหักหลายซี่ กระดูกไหปลาร้า และโหนกแก้มแตก ที่น่าเป็นห่วงกว่านั้น คือ ความเสียหายของปอดซึ่งเกิดจากการสูดควันพิษ และสารพิษจากถังดับเพลิงที่นำมาดับเพลิงในที่เกิดเหตุ แม้ว่าสุดท้าย Hunt จะชนะการแข่งที่สนามแข่งประเทศเยอรมนี แต่วันต่อมาข่าวอุบัติเหตุของ Lauda และการแข่งขันที่เฉียดตายกลับเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เพียงสร้างรอยแผลเป็นที่ศีรษะของเขา แต่เขายังสูญเสียหูข้างขวาทั้งหมดไป เช่นเดียวกับผมด้านขวา คิ้ว เปลือกตาทั้ง 2 ข้าง และตาของเขาเกือบบอด Lauda ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "ในการแข่งขันไม่เคยมีคำว่ามิตรภาพ" แต่เหตุการณ์ที่เกิดในเยอรมนี เขาได้พบกับมิตรภาพจากเพื่อนนักขับด้วยกันหลายคน ที่ลงจากรถตัวเองมาช่วยเขาออกจากกองเพลิง หลังจากอาการดีขึ้น เขาวางแผนกลับไปแข่งทันทีในฤดูกาลเดียวกัน นอกจากบาดแผลไฟไหม้ขั้นรุนแรงบริเวณใบหน้า เปลือกตาทั้ง 2 ข้างก็ถูกไหม้ไปด้วย บรรดาศัลยแพทย์พลาสติคเสนอการรักษาเขาแตกต่างกันไป แต่ Lauda เลือกศัลยแพทย์ชาวสวิสส์ที่ใช้ผิวหนังจากหลังใบหูมาสร้างเป็นเปลือกตาใหม่ให้เขา เมื่อ Lauda ออกจากการแข่งขัน Hunt ก็ทำคะแนนขึ้นนำ เขาได้อันดับที่ 4 ในการแข่งขันที่ออสเตรีย ตามมาด้วยอันดับ 1 ที่เนเธอร์แลนด์ กวาดคะแนนขึ้นนำ Lauda 2 คะแนนเป็น 58/56 เหลืออีกเพียง 2 สนาม และดูเหมือน Lauda จะไม่กลับมาแข่งได้ในปีนั้นแล้ว แชมพ์โลกจึงน่าจะตกเป็นของ Hunt และแล้วเรื่องอันน่าเหลือเชื่อก็เกิดขึ้น แชมพ์เก่าคนนี้ได้คืนสนาม ในการแข่งขันที่อิตาลี ในวันที่ 12 กันยายน 1976 หลังอุบัติเหตุเฉียดตายเพียง 6 สัปดาห์ และพลาดการลงสนามแข่งขันไป 2 สนาม ด้วยสภาพร่างกายมีผ้าพันแผลที่ศีรษะ และต้องสวมหมวกนิรภัยที่ดัดแปลงเป็นพิเศษ แต่ Lauda สามารถจบการแข่งขันด้วยอันดับที่ 4 ส่งผลให้แต้มของเขาขึ้นนำ Hunt ขณะที่ Hunt เกือบไปไม่ถึงเส้นชัย Hunt คืนฟอร์มด้วยการคว้าชัยที่แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ Lauda ได้อันดับที่ 8 และ 3 ตามลำดับ ระหว่างนั้น สหพันธ์รถยนต์นานาชาติได้ถอนชัยชนะวันที่ 18 กรกฎาคม ที่ประเทศอังกฤษของ hunt ขณะนี้ Lauda มีแต้มเหนือ Hunt อยู่ที่ 68/65 และเหลือการแข่งขันอีกเพียงสนามเดียวของฤดูกาล นั่นคือ ที่ประเทศญี่ปุ่น แม้คะแนนของ Hunt จะตาม Lauda อยู่ ขณะที่ Lauda คว้าชัย 4 ครั้งใน 6 สนามแรกของฤดูกาล Hunt ก็คว้าชัย 4 ครั้งใน 6 สนามหลัง มาถึงสนามสุดท้ายของฤดูกาลที่ญี่ปุ่น Hunt และ Lauda ออก Start ในอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ตามหลัง Mario Andretti Lauda กังวลเรื่องสภาพอากาศ เมื่อเกิดฝนตกตลอดทั้งคืนบนสนามแข่งนานาชาติฟูจิ ตามด้วยหมอก และฝนที่ตกหนักขึ้นในวันแข่ง นอกจากนี้เขายังกังวลเรื่องดวงตา และความสามารถในการมองเห็นที่ลดลงในสภาพฝนตกด้วย Hunt และ Lauda เสนอให้ผู้จัดงานเลื่อนการแข่งขันออกไป แต่ไม่มีใครฟัง แม้ว่าการแข่งขันจะช้ากว่ากำหนดเกือบ 2 ชั่วโมง แต่ก็ยังคงมีการแข่งขันตามกำหนดการ Hunt ออกตัวได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ Lauda ตกไปรั้งท้าย หลัง 2 รอบการแข่งขัน Lauda ชะลอจอดและดับเครื่องยนต์ เขากล่าวว่า "มันอันตรายเกินไป" ก่อนจะจบฤดูกาลด้วยตำแหน่งรองแชมพ์โลก ด้วยคะแนนตามหลัง James Hunt คู่ปรับคนสำคัญแค่คะแนนเดียว Hunt ครองอันดับที่ 3 ถัดจาก Andretti และ Patrick Depailler เขาได้ 4 แต้มจากการแข่งขัน เฉือนเอาชนะและโค่นแชมพ์เก่าอย่าง Lauda ไปเพียง 1 แต้ม Hunt เองยังแปลกใจกับตำแหน่งแชมพ์ที่ได้ เพราะเขาเข้าเส้นชัยค่อนข้างช้า "ผมคิดว่า Lauda กล้าหาญมากที่ตัดสินใจหยุด ผมเห็นใจเขา" Hunt ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Sports พูดตามตรง ผมคิดว่าไม่ควรให้มีการแข่งขันในสภาพอากาศแบบนั้นด้วยซ้ำ การตัดสินใจไม่แข่งต่อของ Lauda ถือว่าเหมาะสมแล้วในสถานการณ์แบบนั้น ด้วยอุบัติเหตุที่ Nürburgring และอะไรต่างๆ ที่เค้าเจอหลังเหตุการณ์วันนั้น เป็นใครก็ต้องตัดสินใจเหมือนเขา หลังจากปี 1979 Hunt ก็เกษียณตัวเองจากการแข่งขัน และทำงานเป็นนักพากย์กีฬารถแข่งที่ BBC อยู่หลายปี อีกทั้งรับหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่นักแข่งรุ่นใหม่ด้วย Hunt เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวาย ในปี 1993 ขณะอายุเพียง 45 ปี Lauda ออกจากสนามทันทีเพราะไม่ต้องการตอบคำถามสื่อหลังการแข่งขัน หลายปีต่อมาเขาแสดงความเสียใจเล็กน้อยกับการตัดสินใจครั้งนั้น ผมมองการเสียแชมพ์ในปี 1976 ต่างออกไปจากทีแรก ถึงแม้จะไม่ได้โทษตัวเองก็เถอะ ถ้าผมเครียดน้อยลงสักนิดในตอนนั้น ถ้าผมใจเย็น และฝืนทำแต้มอีกสักหน่อย ผมอาจจะได้แชมพ์ Lauda กลับมาทวงตำแหน่งแชมพ์คืนในปี 1977 กับทีม Ferrari ในปี 1979 เขาถอนตัวจากการแข่ง ก่อนจะเลิกขับ ด้วยเหตุผลว่า "ขาดแรงบันดาลใจ" และเพื่อทำธุรกิจสายการบิน Lauda Air แต่เพราะต้องการเงินมาสานต่อธุรกิจ ในปี 1982 เขาจึงคืนสนามกับทีม McLaren และคว้าแชมพ์โลกได้อีกครั้งในปี 1984 โดยเฉือนชนะ Alain Prost เพื่อนร่วมทีมไปเพียง 0.5 คะแนน ก่อนถอนตัวจากการเป็นนักแข่ง Formula One อย่างถาวรหลังจบฤดูกาล 1985 หลังฤดูกาลแข่งขันปี 1985 Lauda เกษียณตัวเองจากสนามแข่ง แผลไฟไหม้ฉกรรจ์บริเวณศีรษะจากการแข่งขันที่ประเทศเยอรมนีในปี 1976 ทำให้ Lauda มีแผลเป็นขนาดใหญ่ เขาเสียหูด้านขวาไปเกือบหมด เช่นเดียวกับเส้นผมบนศีรษะฝั่งขวา คิ้ว และเปลือกตา เขาได้รับการผ่าตัดศัลยกรรมสร้างเปลือกตา และทำให้มันใช้งานได้ แต่ก็ไม่เป็นปกติ นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุ เขาต้องสวมหมวกแคพเพื่อปกปิดแผลเป็นบนศีรษะ ในปี 1993 Lauda กลับมาที่ Formula One ในตำแหน่งผู้บริหาร เมื่อ Luca di Montezemolo แต่งตั้ง Lauda ให้เป็นที่ปรึกษาของทีม Ferrari ปี 2001 เป็นหัวหน้าทีมของทีม Jaguar Formula One และในเดือนกันยายน 2012 Lauda ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บริหาร The Mercedes-AMG Petronas F1 Team และมีส่วนสำคัญในการดึงตัว Lewis Hamilton นักขับชาวอังกฤษ มาร่วมทีมจนเป็นแชมพ์โลกถึง 5 สมัยในปัจจุบัน ขณะที่ Mathias Lauda ลูกชายของเขาก็เป็นนักแข่งรถอาชีพในสังกัด Mercedes อีกด้วย Lauda Air ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงเวียนนา แต่ทว่าทางสายการบินประสบปัญหา และได้ถูกควบรวมเข้ากับสายการบิน Austrian Airlines เมื่อเดือนเมษายน 2013 และได้ถูกเปลี่ยนชื่อในการให้บริการเป็น สายการบิน Austrian myHoliday ซึ่งมีบริการแบบเช่าเหมาลำ เป็นการให้บริการด้านการท่องเที่ยวแทน ด้านชีวิตส่วนตัว Lauda มีบุตรชาย 2 คนกับภรรยาคนแรก Marlene Knaus (แต่งงานในปี 1976, หย่าร้างปี 1991) ลูกชายคนโต Mathias เป็นนักแข่งรถ และ Lukas ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้จัดการของ Mathias 25 สิงหาคม 2008 เขาแต่งงานอีกครั้งกับ Birgit Wetzinger พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินของเขา (ในปี 2005 เธอบริจาคไตให้ Lauda เมื่อไตที่เขาได้รับจากพี่ชายของเขาในปี 1997 ล้มเหลว) ในเดือนกันยายน 2009 Birgit ให้กำเนิดฝาแฝดเด็กชายและเด็กหญิง
ABOUT THE AUTHOR
พ
พรเทพ คงลาภอำนวย
ดูคุณพ่อจนขับรถได้ตั้งแต่ 8 ขวบ หลงใหลยานยนต์ จนได้วุฒิ Automotive Engineering ติดตัว ปัจจุบันเป็น บก.นักเขียน นักทดสอบรถ และ Instructor ที่พร้อมถ่ายทอดความรู้ แบบไม่มีกั๊ก !
คอลัมน์ Online : เรื่องน่ารู้