ปิด “ระเบียงรถใหม่” ในเดือนแรกของปีมะเส็งงูเล็ก ด้วยผล-งานใหม่ของ McLAREN GROUP (แมคลาเรน กรุพ) บริษัทรถยนต์สัญชาติอังกฤษ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ทั้งในฐานะผู้ผลิตรถสปอร์ท ระดับ “เทพ” และเจ้าของทีมแข่งรถฟอร์มูลา วัน ชิงแชมพ์โลก ซึ่งคว้าตำแหน่งแชมพ์โลกผู้ผลิตมาแล้ว 8 สมัย ในปี 1974, 1984, 1985, 1988, 1989, 1990, 1991 และ 1998 กับมีทีท่าว่าจะสามารถคว้าตำแหน่งเป็นครั้งที่ 9 ในปี 2024 นี้
นอกจากนั้น ยังมีผลงานในการปั้นแชมพ์โลกนักขับมาแล้ว 7 คน คือ EMERSON FITTIPALD (เอเมร์สัน ฟิตติปาลดี) แชมพ์โลก 2 สมัย ชาวบราซิล JAMES HUNT (เจมส์ ฮันท์) แชมพ์โลก 1 สมัยชาวอังกฤษ ผู้ล่วงลับ NIKI LAUDA (นิคิ เลาดา) แชมพ์โลก 3 สมัย ชาวออสเตรีย ผู้ล่วงลับ ALAIN PROST (อแลง พโรสต์) แชมพ์โลก 4 สมัย ชาวฝรั่งเศส AYRTON SENNA (อาอีร์ตง เซนนา) แชมพ์โลก 3 สมัย ชาวบราซิล ผู้ล่วงลับ MIKA HAKKINEN (มิคา ฮัคคิเนน) แชมพ์โลก 2 สมัย ชาวฟินแลนด์ และ LEWIS HAMILTON (ลูอิส แฮมิลทัน) แชมพ์โลก 7 สมัย ชาวอังกฤษ
รถสปอร์ท “ซูเพอร์คาร์” ติดป้ายชื่อ McLAREN W1 (แมคลาเรน ดับเบิลยู 1) เปิดตัวในเมืองผู้ดีเมื่อต้นเดือนตุลาคมปีมังกรไฟ พร้อมคำประกาศว่า นี่คือ ทายาทสายตรงของรถสปอร์ท “ซูเพอร์คาร์” 2 รุ่น 2 แบบ ของค่ายนี้ ที่เคยโด่งดังในอดีต คือ McLAREN F1 (แมคลาเรน เอฟ 1) กับ McLAREN P1 (แมคลาเรน พี 1) รถ 2 แบบนี้ สำคัญอย่างไร ? และมีดีอะไร ?
McLAREN F1 รถสปอร์ท “ซูเพอร์คาร์” ซึ่งผลิตรวม 106 ในช่วงปี 1992-1998 และเป็นรถ ULTIMATE SERIES แบบแรกของค่ายนี้ เป็น REAR MID-ENGINE/REAR-WHEEL DRIVE CAR หรือรถวางเครื่องยนต์กลางลำค่อนท้าย/ขับเคลื่อนล้อหลัง ในตัวถัง 2 ประตู คูเป 2 ที่นั่ง ประตูปีกผีเสื้อ ยาว 4.287 ม. กว้าง 1.820 ม. และสูง 1.140 ม. ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน วี 12 สูบ 6,064 ซีซี 461 กิโลวัตต์/627 แรงม้า ของ BMW (บีเอม ดับเบิลยู) และส่งกำลังสู่ล้อคู่หลังผ่านระบบเกียร์ธรรมดา 6 จังหวะ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในบรรดารถติดตั้งเครื่องยนต์หายใจอากาศธรรมดาที่วิ่งได้เร็วที่สุดในโลกในยุคนั้น เพราะวิ่งได้เร็วกว่า 370 กม./ชม.
McLAREN P1 รถ ULTIMATE SERIES แบบที่ 2 และหนึ่งในบรรดารถพลังสูงแบบแรกๆ ของโลกที่ใช้เทคโนโลยีระบบขับไฮบริด ก็เป็น REAR-MID-ENGINE/REAR-WHEEL DRIVE CAR หรือรถวางเครื่องยนต์กลางลำค่อนท้าย/ขับเคลื่อนล้อหลัง ในตัวถัง 2 ประตูคูเป 2 ที่นั่ง ประตูปีกผีเสื้อเช่นกัน แต่มีขนาดตัวถังโตขึ้นเล็กน้อย เป็นตัวถังคาร์บอนไฟเบอร์ที่ ยาว 4.588 ม. กว้าง 1.946 ม. และสูง 1.188 ม. เริ่มการผลิตด้วยมือเมื่อเดือนตุลาคม 2013 และปลดจากสายการผลิตเมื่อเดือนธันวาคม 2015 ติดตั้งระบบขับ PLUG-IN HYBRID (พลัก-อิน ไฮบริด) หรือไฮ-บริดชนิดต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งใช้เครื่องยนต์ทวินเทอร์โบเบนซิน วี 8 สูบ 3,799 ซีซี 542 กิโล-วัตต์/737 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 132 กิโลวัตต์/179 แรงม้า แบทเตอรี LITHIUM-ION (ลิเธียม-ไอออน) ขนาดความจุ 4.7 กิโลวัตต์ชั่วโมง และระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 7 จังหวะ ได้กำลังรวมสูงสุด 674 กิโลวัตต์/916 แรงม้า สามารถทำอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ในเวลาแค่ 2.8 วินาที ทำอัตราเร่ง 0-200 กม./ชม. ใน 6.8 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 350 กม./ชม. เป็นรถไฮบริดที่วิ่งด้วยพลังไฟฟ้าล้วนๆ ได้ไกลเพียง 11 กม. เมื่อวัดตามมาตรฐาน NEDC
ส่วน McLAREN W1 ซึ่งเป็นรถ ULTIMATE SERIES แบบที่ 3 และเป็นทายาทสายตรงของ McLAREN F1 และ McLAREN P1 ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น เป็นรถที่ผู้ผลิตยืนยันสรรพคุณว่า (1) ผสมผสานเทคโนโลยีด้านอากาศพลศาสตร์จากสนามแข่งรถฟอร์มูลา วัน เข้ากับระบบขับไฮบริดที่พัฒนาขึ้นใหม่ และให้กำลังที่ล้นเหลือ (2) สร้างสถิติใหม่ให้แก่ McLAREN (แมคลาเรน) ทั้งในด้านพละกำลัง และสมรรถนะการวิ่ง (3) วิศวกรรมน้ำหนักเบาส่งผลให้มีน้ำหนักตัวเปล่าแค่ 1,399 กก. และมี POWER-TO-WEIGHT RATIO หรือค่าอัตราส่วนกำลังต่อน้ำหนัก สูงกว่ารถระดับเดียวกันทุกแบบทุกรุ่น คือ สูงถึง 911 แรงม้า/ตัน (4) เป็น “ซูเพอร์คาร์” ซึ่งมีห้องโดยสารที่ออกแบบให้สอดรับเป็นอย่างดีกับร่างกายของผู้ขับ และมีทัศนวิสัยที่ปลอดโปร่งที่สุด ทั้งเมื่อวิ่งบนถนน และเมื่อวิ่งในสนามแข่ง (5) เป็นรถที่มีอัตราเร่งเยี่ยมยอดกว่ารถ McLAREN แบบใดๆ ทั้งในอดีต และปัจจุบัน
เป็น LONGITUDINAL MID-ENGINE/REAR-WHEEL DRIVE CAR หรือรถวางเครื่องยนต์กลางลำตามยาว/ขับเคลื่อนล้อหลัง ในตัวถัง 2 ประตูคูเป 2 ที่นั่ง ประตูปีกนกนางนวล ที่ออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยทีมงานซึ่งมี TOBIAS SUHLMANN (โทเบียส ซูห์ลมันน์) นักออกแบบรถยนต์ชาวเยอรมันเป็นผู้นำ เป็นตัวถังคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งยาว 4.635 ม. กว้าง 2.074 ม. (รวมกระจกมองข้างขณะพับ) และสูง 1.182 ม.
ติดตั้งระบบขับไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ ซึ่งผู้ผลิตยืนยันว่าชิ้นส่วนมีน้ำหนักเบากว่าระบบที่ใช้ในรถ McLAREN P1 ร้อยละ 40 แต่ให้กำลังที่สูงกว่ากันถึงร้อยละ 40 เป็นระบบซึ่งใช้เครื่องยนต์ที่ค่ายนี้เพิ่งออกแบบ/พัฒนาขึ้นใหม่ และไม่เคยใช้กับรถแบบใดๆ มาก่อน คือ เครื่องยนต์ทวินเทอร์โบเบนซิน วี 8 สูบ 90 องศา 3,988 ซีซี ป้อนเชื้อเพลิงทั้งด้วยหัวฉีด PORT FUEL INJECTION และด้วยหัวฉีดโดยตรง DIRECT FUEL INJECTION ให้กำลังสูงสุด 683 กิโลวัตต์/928 แรงม้า ทำงานร่วมกันกับ E-MODULE ซึ่งใช้มอเตอร์ไฟฟ้า RADIAL FLUX ELECTRIC MOTOR ขนาด 255 กิโลวัตต์/347 แรงม้า แบทเตอรีขนาดความจุ 1.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง และระบบเกียร์อัตโนมัติคลัทช์คู่ 8 จังหวะ ได้กำลังรวมสูงสุด 938 กิโลวัตต์/1,275 แรงม้า และได้แรงบิดสูงสุด 1,340 นิวทันเมตร/136.7 กก.ม. ที่ 4,500-5,000 รตน.
ติดตั้งระบบรองรับ (กันสะเทือน) อิสระ DOUBLE WISHBONE ทั้งหน้า และหลัง ระบบห้ามล้อซึ่งทำให้สามารถห้ามล้อ 100-0 กม./ชม. ในระยะทางแค่ 29 ม. และห้ามล้อ 200-0 กม./ชม. ในระยะทาง 100 ม. ใช้ห้ามล้อจานขนาด 390 มม. ทั้งชุดหน้า และชุดหลัง
สมรรถนะความเร็วตามตัวเลขของผู้ผลิต เห็นตัวเลขแล้วไมเกรนกำเริบ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ในเวลาแค่ 2.7 วินาที อัตรา-เร่ง 0-200 กม./ชม. ทำได้ในเวลาแค่ 5.8 วินาที อัตราเร่ง 0-300 กม./ชม. ทำได้ในเวลาไม่ถึง 12.7 วินาที ส่วนความเร็วสูงสุดจำกัดไว้ที่ 350 กม./ชม. ถ้าไม่จำกัด ไม่รู้ว่าจะไปได้เร็วแค่ไหน ?
ตั้งราคาค่าตัวรวมภาษีไว้ที่ระดับ 2.0 ล้านปอนด์อังกฤษ หรือประมาณ 88.0 ล้านบาทไทย ยืนยันว่าจะผลิตเพียง 399 คัน และทุกคันมีชื่อผู้ซื้อแล้ว แม้ว่าต้องรอจนถึงปี 2026 นั่นแหละ จึงจะเริ่มการผลิต
McLAREN W1
รถสปอร์ทซูเพอร์คาร์ วางเครื่องกลางลำตามยาว ขับเคลื่อนล้อหลัง
มิติตัวถัง 4.635x2.074 (รวมกระจกข้างขณะพับ)x1.182 ม. ห้องโดยสาร 2 ที่นั่ง
ระบบขับไฮบริดชนิดไม่ต้องเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จไฟ 938 กิโลวัตต์/1,275 แรงม้า
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ใน 2.7 วินาที ความเร็วสูงสุด 350 กม./ชม. (จำกัด)
ราคารวมภาษีในสหราชอาณาจักร 2.0 ล้านปอนด์ (ประมาณ 88.0 ล้านบาทไทย)