บีเอมดับเบิลยู ต่อยอดวิสัยทัศน์นวัตกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ตอบรับกระแสโลกเข้าสู่ยุคของยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า จัดงานเสวนา “The Future of Mobility” ระดมนักคิดและผู้เชี่ยวชาญในแวดวงยานยนต์ ร่วมพูดคุยถึงทิศทางของระบบคาร์แชริง (Car Sharing) ในประเทศไทย
คริสเตียน วิดมานน์ ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ปี 2561 บีเอมดับเบิลยู กรุพ สร้างสถิติใหม่ด้วยอัตราการเติบโตปีต่อปีของรถยนต์ บีเอมดับเบิลยู ที่ 20 % ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในเครือข่าย บีเอมดับเบิลยู ทั่วโลกถึง 2 ปีซ้อน สะท้อนการเป็นบแรนด์ชั้นนำในตลาดอย่างต่อเนื่อง อีกหนึ่งองค์ประกอบที่ยืนยันถึงความสำเร็จของเราก็คือ ยอดการส่งมอบรถยนต์พลัก-อิน ไฮบริด (PHEV) ในประเทศไทยที่พุ่งสูงขึ้นถึง 122 % ในปีที่ผ่านมา
ตามแผนงาน บีเอมดับเบิลยู จะแนะนำรถยนต์พลัก-อิน ไฮบริดรุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาดในเมืองไทยอย่างแน่นอน เพื่อต่อยอดความสำเร็จหลังจากการเปิดตัวของ บีเอมดับเบิลยู 530e บีเอมดับเบิลยู 740Le บีเอมดับเบิลยู i8 Coupe และบีเอมดับเบิลยู i8 Roer ด้วยความมุ่งมั่นของ บีเอมดับเบิลยู ที่จะเดินหน้าไปสู่การเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน และยังคงขยายเครือข่ายการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์พลัก-อิน ไฮบริดอย่างต่อเนื่อง สานต่อจากการริเริ่มโครงการ ChargeNow เมื่อปี 2560 โดยปัจจุบันมีสถานีให้บริการทั้งหมด 121 หัวจ่าย ใน 57 แห่งทั่วประเทศไทย
“นอกจากนี้ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ยังขยายพันธกิจความยั่งยืนสู่อนาคตของยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ด้วยการประกาศเริ่มต้นการประกอบแบทเตอรีแรงดันสูงในประเทศไทย ทั้งการประกอบโมดูลแบทเตอรีและการประกอบตัวแบทเตอรี ซึ่งจะเริ่มต้นสายการประกอบในปี 2562 นี้ โดย บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง และดแรคเซิล ไมเออร์ กรุพ วางแผนที่จะลงทุนร่วมกันกว่า 400 ล้านบาท เพื่อสร้างหลักชัยใหม่แห่งนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และในภูมิภาคนี้”
ทั้งนี้ โรงงานประกอบแบทเตอรีแรงดันสูงแห่งใหม่ ภายใต้ความร่วมมือกับ ดแรคเซิล ไมเออร์ กรุพ ผู้นำด้าน การผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ บีเอมดับเบิลยู กรุพ มาตั้งแต่ปี 2509 จะเริ่มต้น สายการประกอบอย่างเต็มกำลังภายในปีนี้ โดยแบทเตอรีแรงดันสูงที่ประกอบสมบูรณ์แล้ว จะถูกส่งไปยังโรงงาน บีเอมดับเบิลยู ที่ระยอง เพื่อติดตั้งในรถยนต์พลัก-อิน ไฮบริด ในตระกูล บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 5 และบีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 7 เริ่มต้นเฟสแรก ภายในปี 2019 นี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย ยังได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการลงทุนเพิ่มเติมด้วยมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท สำหรับการประกอบรถยนต์พลัก-อิน ไฮบริดในอนาคต
ดร. อันดเรอัส อัลมานน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้า และบเอ็มดับเบิลยู ไอ บีเอมดับเบิลยู กรุพ ได้ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้านนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้บแรนด์ บีเอมดับเบิลยู ไอ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของ บีเอมดับเบิลยู กรุพ ในการสร้างสรรค์ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าที่อยู่บนพื้นฐานแนวคิดของความยั่งยืน โดยความนิยมในยานยนต์ไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทั่วโลก และยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีกมากในอนาคต
ในระดับโลก บีเอมดับเบิลยู กรุพ ทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจด้วยยอดการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้า และพลัก-อิน ไฮบริดทั่วโลก มากกว่า 140,000 คัน ในปี 2561 โดย บีเอมดับเบิลยู กรุพ มียอดการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้บแรนด์ บีเอมดับเบิลยู และมีนี ทั่วโลก รวมทั้งสิ้น 142,617 คัน นับเป็นอัตราการเติบโตถึง 38.4 %
“การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า คือ หนึ่งในเสาหลักของกลยุทธ์ NUMBER ONE > NEXT ของ บีเอมดับเบิลยู กรุพ และเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สู่ยานยนต์แห่งโลกอนาคต ACES (Autonomous ระบบขับขี่อัตโนมัติ, Connected ระบบเชื่อมต่อครบวงจร, Electrified ระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และ Services/Shared การให้บริการ) หลังจากการเปิดตัวของ บีเอมดับเบิลยู ไอ 3 บีเอมดับเบิลยู กรุพ เป็นผู้ริเริ่มและก้าวสู่ความเป็นผู้นำในนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ภายในปี 2564 บีเอมดับเบิลยู กรุพ จะมีรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด 5 รุ่น คือ บีเอมดับเบิลยู ไอ 3 มีนี อีเลคทริค บีเอมดับเบิลยู ไอเอกซ์ 3 บีเอมดับเบิลยู ไอ 4 และบีเอมดับเบิลยู ไอ เนกซ์ และภายในปี 2568 บีเอมดับเบิลยู ไอ จะมีรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ารวมทั้งหมด 25 รุ่น ประกอบด้วยรถยนต์ไฟฟ้าโดยสมบูรณ์ถึง 12 รุ่น ขณะที่บแรนด์และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ภายใต้ความดูแลของ บีเอมดับเบิลยู กรุพ ก็ยังมีเป้าหมายที่จะพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องเพื่อเดินหน้าไปสู่ความสำเร็จต่อไป”
ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป การสร้างสายการประกอบรถยนต์จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ระบบไฟฟ้าโดยสมบูรณ์ ระบบพลัก-อิน ไฮบริด และเครื่องยนต์สันดาป จะใช้สายการประกอบร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ขับขี่ว่า บีเอมดับเบิลยู กรุพ จะสามารถรองรับความต้องการของผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและฉับไว ภายในสิ้นปี 2562 นี้ บีเอมดับเบิลยู กรุพ คาดว่าจะต้องมีรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 5 แสนคันบนท้องถนนทั่วโลก
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ได้ร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับทั้งภาครัฐ และพันธมิตรภาคเอกชน ในการสนับสนุน พัฒนาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยนตรกรรมไฟฟ้า และการติดตั้งสถานีชาร์จแบทเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า โดยในปี 2559 บริษัทฯ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เพื่อดำเนินโครงการนำร่อง “Electric Vehicle Charging and Car Sharing Zones” หรือ Charge & Share โดย บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ได้นำรถยนต์ บีเอมดับเบิลยู ไอ 3 ซึ่งขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าโดยสมบูรณ์และปราศจากการปล่อยไอเสีย พร้อมด้วยรถยนต์พลัก-อิน ไฮบริด บีเอมดับเบิลยู 330 อี และบีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 5 เอกซ์ดไรฟ 40 อี ให้ทางมหาวิทยาลัยทดลองใช้ในโครงการดังกล่าว
ดร. ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และประธานคลัสเตอร์วิจัยยานยนต์ มจธ. กล่าวว่า Charge & Share เป็นโครงการที่ริเริ่มขึ้นโดยกลุ่มคลัสเตอร์วิจัยยานยนต์ของ มจธ. ด้วยเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในรั้ว มจธ. ให้เป็นรูปธรรม และเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางมาเป็น Car Sharing เพื่อศึกษาพฤติกรรมของคนไทยในการใช้งานระบบดังกล่าวด้วย ความร่วมมือกับ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เชื่อมั่นว่าโครงการนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะนำประเทศไทยนำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน
โครงการ Charge & Share นั้น มจธ. ได้เปิดสถานีประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขึ้น โดยมีรถยนต์ให้บริการในรูปแบบ Car Sharing ซึ่งหนึ่งในนั้นคือรถยนต์ไฟฟ้า บีเอมดับเบิลยู ไอ 3 ซึ่งบุคลากรของมหาวิทยาลัยนำไปใช้ในงานราชการ พร้อมเก็บข้อมูลพฤติกรรมการขับขี่ เพื่อศึกษาลักษณะการใช้งาน รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ของการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ควบคู่กับการศึกษาพฤติกรรมของคนไทยในการใช้บริการระบบ Car Sharing และ EV Car Sharing เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และระบบ Car Sharing นั้นได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด ผู้ให้บริการ Car Sharing แห่งแรกในประเทศไทย ในการช่วยบริหารจัดการระบบการจองและคืนรถ รวมไปถึงให้บริการผู้ใช้อีกด้วย
เพื่อรองรับการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน และตอบรับแผนระยะยาวของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ที่ได้ตั้งเป้ายอดการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์พลัก-อิน ไฮบริดในประเทศไทยไว้ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ร่วมกับพันธมิตรในโครงการ ChargeNow จึงได้เดินหน้าขยายเครือข่ายการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะในโครงการ ChargeNow อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ซึ่งในปัจจุบันมีสถานีพร้อมให้บริการทั้งหมดมากกว่า 121 หัวจ่าย กระจายอยู่ 57 แห่งทั่วประเทศไทย รวมถึงภายในศูนย์บริการของผู้จำหน่าย บีเอมดับเบิลยู อย่างเป็นทางการ และมีเป้าหมายที่จะติดตั้งให้ครบทั้งหมด 150 หัวจ่าย ภายในสิ้นปี 2563 และเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้รถยนต์พลัก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าทุกคน โครงการ ChargeNow พร้อมให้บริการได้ในทุกเครือข่ายฯ ในมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน และมีระบบการให้บริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
บทความแนะนำ