การแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เป็นวาระปกติของการปกครอง แถลงไป-อภิปรายมา เป็นดรามาทางการเมือง มากกว่าเป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญเห็นใจอดีตทหารเสือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเริ่มก้าวแรกของสถานภาพ “นายกรัฐมนตรี” ท่ามกลาง สมาชิกรัฐสภาที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา เรามีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 28 คน ลุงตู่ เป็นนายกฯ คนที่ 29 หลายคนได้รับฉายาไปตามสื่อมวลชนติดป้าย เริ่มตั้งแต่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม-นายกฯ คนที่ 3 ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาล 8 สมัยยาวนานสุดตั้งแต่ปี 2481 จนถึงปี 2500 ฉายาท่านคือ “นายกตลอดกาล” ลุงตู่ แถลงนโยบายต่อรัฐสภาด้วย “การอ่านเร็ว” นโยบายที่พิมพ์เป็นเล่ม หากคิดว่าเป็นนโยบายที่พิมพ์แจกสมาชิกรัฐสภาถือว่า อ่านกันแล้ว รู้กันแล้วก็คงไม่มีใครเดือดร้อน นอกจากประชาชนที่รับชมการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์ของรัฐสภาช่อง 10 ซึ่งอาจตามไม่ทัน การแถลงนโยบายของรัฐบาล บนบรรทัดฐานความน่าฟัง หรือน่านอนฟัง จะร้อนแรงคั่วกลิ้งปานใด ก็อยู่ที่การแสดงออกซึ่งที่สุดความร้อนแรงเกิดขึ้นหลัง พลตอ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย อภิปรายถึงระดับคนฟัง คือ ลุงตู่-นายกฯ ตัดพี่ตัดน้อง เดินออกจากห้องประชุม “ควง อภัยวงศ์” นายกฯ คนที่ 4 ได้รับฉายาจากพรรคฝ่ายค้านว่า “ตลกหลวง” ขณะสื่อมวลชนให้ฉายาท่าน “โหรหน้าสนามกีฬา” เพราะบ้านพักท่านอยู่หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ และท่านชอบทำนายทายทักเรื่องของการเมือง “หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช” นายกฯ คนที่ 6 ดำรงตำแหน่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ฉายาของท่านผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ คือ “ฤาษีเลี้ยงลิง” ลิงในที่นี้หมายถึง ความวุ่นวายของลูกพรรค “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” นายกฯ คนที่ 14 มีฉายา “รัฐบาลหอย” ไม่ใช่เพราะเรามีปั๊มน้ำมันเชลล์ แต่เป็นเพราะรัฐบาลของท่าน มีคณะทหารทำหน้าที่เสมือนเปลือกหอยคุ้มกันรัฐบาล “อานันท์ ปันยารชุน” นายกฯ คนที่ 18 มีฉายา “ผู้ดีรัตนโกสินทร์” ท่านเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งองค์กรกลาง เพื่อสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง สส. 22 มีค. 35 ให้บริสุทธิ์ยุติธรรมมากขึ้น นายกฯ ลุงตู่ ควรได้รับฉายาอย่างไร เริ่มคิดกันหรือยัง ?