“รถติด” ไม่เป็นเพียงปัญหาบนท้องถนนเท่านั้น แต่มันยิ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และสภาพจิตใจของผู้คนในหลายพื้นที่ การเลือกใช้เส้นทางที่เหมาะสมเป็นการลดผลกระทบวิธีหนึ่ง ทีมงาน autoinfo.co.th ขอนำเสนอถนนที่มีการจราจรติดขัดมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร จากรายงานข้อมูลของ “จส. 100” จะมีย่านไหนบ้าง ไปดูกันถนนลาดพร้าว เป็นถนนที่มีการจราจรติดขัดเป็นประจำอยู่แล้ว เนื่องด้วยลักษณะของถนนที่มีตรอกซอยต่างๆ มากมายแถมช่วงนี้ยังมีงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ที่กำลังดำเนินงานอยู่ ยิ่งส่งผลให้สภาพการจราจรบนถนนลาดพร้าว ติดขัดมากขึ้น จุดพีคที่สุดของถนนเส้นนี้ คือ บริเวณแยกภาวนา และซอยลาดพร้าว 130 บ่อยครั้งส่งผลกระทบไปถึงถนนรัชดาภิเษก ถนนรามคำแหง และถนนศรีนครินทร์ ถนนรามคำแหง ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ถนนรามคำแหงรถติดเป็นอันดับต้นๆ มาจากผลกระทบจากถนนลาดพร้าว ฝั่งขาเข้า ที่ท้ายแถวสะสมเข้ามาแยกลำสาลี ต่อเนื่องถึงถนนรามคำแหงขาออก อีกทั้งถนนรามคำแหงยังเป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพการจราจรทั้งพื้นราบ และทางยกระดับ ทำให้ต้องปิดช่องทางการจราจรหลายจุด ถนนศรีนครินทร์ เดิมทีถนนศรีนครินทร์มีช่องทางจราจรฝั่งละ 3-4 ช่องทาง แต่ผลกระทบจากงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ทำให้ช่องจราจรลดลงเหลือ 1-2 ช่องทางจราจร ทำให้ปริมาณรถที่มีมากเป็นปกติอยู่แล้วเหลือพื้นที่วิ่งน้อยลง โดยเฉพาะแยกศรีนุช และบริเวณใกล้ห้างสรรพสินค้าที่เกิดปัญหาการจราจรติดขัดแบบคอขวดอย่างหนัก ถนนรามอินทรา-แจ้งวัฒนะ ถนนรามอินทราต่อเนื่องถนนแจ้งวัฒนะ เป็นอีกสายหนึ่งที่มีปัญหาการจารจรติดขัดจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (มีนบุรี-แคราย) อย่างมาก ส่งผลให้มีการปิดการจราจรหลายจุด ทำให้ช่องทางการจราจรแต่เดิมที่มีอยู่ 3-4 ช่องทาง เหลือ 1-2 ช่องทาง อาทิ บริเวณ กม. 1 สนามกีฬากองทัพบก, กม. 3 ใกล้ศูนย์การค้าบิกซี, กม. 4 แยกมัยลาภ, กม. 8 แยกคู้บอน, ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และ CP ALL Academy ถนนติวานนท์ เส้นนี้มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (มีนบุรี-แคราย) ทำให้การเบี่ยงการจราจรบริเวณหน้าโรงพยาบาลหูตาคอจมูก ส่งผลกระทบให้ถนนงามวงศ์วาน และถนนรัตนาธิเบศร์ ติดขัดอย่างหนัก เพราะไม่สามารถผ่านแยกแครายได้ รวมถึงแนวก่อสร้างแยกสนามบินน้ำ และหน้ากรมชลประทาน ถูกจำกัดช่องทางจราจรให้เหลือเป็นคอขวดเช่นกัน แม้ว่าการปิดเส้นทางระหว่างก่อสร้างรถไฟฟ้าจะเต็มไปด้วยการจราจรที่ติดขัด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหากรถไฟฟ้าสร้างเสร็จแล้ว ก็จะเพิ่มทางเลือกในการเดินทางให้หลากหลายมากขึ้น รวมถึงจะช่วยลดปัญหาการจราจรที่ติดขัดในเมือง และปริมณฑลอย่างถาวร
บทความแนะนำ