คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เดินหน้าโครงการถไฟฟ้า จ. พิษณุโลก เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร เริ่มสร้างสายแรก ม. พิษณุโลก-เซนทรัลพลาซา คาดเปิดให้บริการปี 2569คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินกิจการรถไฟฟ้า เพื่อรองรับโครงการรถไฟฟ้าในจังหวัดพิษณุโลกตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยเป็นการพัฒนาระบบคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองหลักในภูมิภาค และแก้ไขปัญหาการจราจรจากเมืองหลักในภูมิภาคสู่ปริมณฑล และกรุงเทพฯ ด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใน 6 เมืองหลัก ได้แก่ จ. เชียงใหม่ จ. ภูเก็ต จ. สงขลา จ. นครราชสีมา จ. ขอนแก่น และ จ. พิษณุโลก โดยก่อนหน้านี้ ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการใน จ. นครราชสีมา จ. เชียงใหม่ จ. พังงา และ จ. ภูเก็ต ไปแล้ว สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข). ได้ว่าจ้าง ม. นเรศวร ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และออกแบบระบบขนส่งสาธารณะเมืองพิษณุโลก ซึ่งให้ดำเนินการตามแผนระยะที่ 1 คือ เส้นทางสายสีแดง ม. พิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซนทรัลพิษณุโลก เป็นลำดับแรก โดยเป็นระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบ รถรางล้อยาง ระยะทาง 12.6 กม. จำนวน 15 สถานี โดยจะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมทุนในรูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าลงทุนก่อสร้างโครงการ 3,440 ล้านบาท ซึ่งจะประกาศเชิญชวนเอกชนลงทุนได้ในเดือน กย. 2565-ตค. 2566 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2566 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2569 แนวเส้นทางเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยพิษณุโลก ผ่านสถานีขนส่งพิษณุโลกแห่งที่ 2 แนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศเหนือตามแนวทางหลวงหมายเลข 126 ไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 12 ที่สี่แยกอินโดจีน จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งไปยังทิศตะวันตกตามแนวทางหลวงหมายเลข 12 และสิ้นสุดแนวเส้นทางที่ห้างสรรพสินค้าเซนทรัลพลาซาพิษณุโลก ผ่านสถานที่สำคัญ เช่น ห้างสรรพสินค้าแมคโคร ห้างสรรพสินค้าเทสโก โลตัส หมู่บ้านชินลาภ สถานีขนส่งพิษณุโลกแห่งที่ 1 เทคนิคพาณิชย์การพิษณุโลก ห้างสรรพสินค้าทอrแลนด์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร ศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก วัดคูหาสวรรค์ หมู่บ้านพิษณุโลกเมืองใหม่ เป็นต้น โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดง (ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก–เซนทรัลพลาซา) เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงเมืองหลักในภูมิภาค และแก้ไขปัญหาจราจรจากเมืองหลักในภูมิภาคสู่ปริมณฑล และกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนให้สามารถเดินทางจากต้นทางไปถึงปลายทางได้อย่างต่อเนื่อง สะดวกสบายและปลอดภัย ตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย 2558-2565