ค่ายรถยนต์ เชื่อหลังวิกฤติ COVID-19 จะกระตุ้นยานยนต์ไฟฟ้าให้เติบโตเร็วยิ่งขึ้น หวังภาครัฐส่งเสริมการลงทุน ลดภาษีฯ-เพิ่มหัวจ่ายชาร์จไฟฟ้าที่สาธารณะสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ฯ จัดเสวนาออนไลน์เรื่อง "แนวโน้มและการปรับตัวอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย หลังวิกฤต โควิด-19” เพื่อนำเสนอมุมมองของผู้ผลิต และค่ายรถชั้นนำถึงการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย โดยมี ดร. ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ, กฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย, สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และสรรเพชญ ตั้งเสาวภาคย์ รองประธานสายงานวางแผนองค์กรและกลยุทธ์การตลาดและขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นวิทยากร ดร. ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เผยว่า สถานการณ์ไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้น สิ่งหนึ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน คือ ปัญหาฝุ่น PM2.5 หายไป โดยส่วนหนึ่งมาจากการจราจรบนท้องถนนที่ลดลง ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดเจนว่ายานยนต์ไฟฟ้าเป็นคำตอบ และเป็นแนวทางสำคัญที่จะมาแก้ปัญหามลพิษบนท้องถนนของประเทศไทย โดยอยากให้ประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น เพื่อรักษามลภาวะสิ่งแวดล้อมในประเทศ สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า หากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน จะเป็นโอกาสให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยภาพรวมเศรษฐกิจปัจจุบันยังไม่ถึงกับดีนัก ค่ายรถยนต์จึงจำเป็นต้องปรับกระบวนการผลิต ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะช้าหรือเร็วคงต้องรอดูต่อไป อีกทั้ง สถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในช่วง COVID-19 ฝุ่น PM2.5 ลดลง ปัจจัยเหล่านี้เป็นอีกมุมที่สะท้อนให้คนเร่งหันไปใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานไฟฟ้าในระยะยาวมากขึ้น ด้าน กฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ชี้ให้เห็นว่า เมื่อผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19 ไปแล้ว จะเป็นการช่วยเร่งปฏิกิริยาการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า ให้เร็วยิ่งขึ้น เนื่องจากค่ายรถยนต์ต่างมีเทคโนโลยี และมีการวางแผนสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ ประกอบกับระบบสาธารณูปโภคในประเทศไทยที่รองรับยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยสิ่งที่จะกระตุ้นตลาดในไทยก็คือความต้องการซื้อ ซึ่งภาครัฐต้องสร้างแรงจูงใจ ทั้งการส่งเสริมการลดภาษีฯ และเพิ่มหัวจ่ายชาร์จไฟฟ้าในที่สาธารณะให้มากขึ้น พร้อมกับการขยายโมเดลรถยนต์ไฟฟ้าไปยังระบบขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ เพื่อช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรม ขณะที่ สรรเพชญ ตั้งเสาวภาคย์ รองประธานสายงานวางแผนองค์กรและกลยุทธ์การตลาดและขาย บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า ขณะนี้ Nissam (นิสสัน) ในประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีนโยบายชัดเจนว่า ญี่ปุ่นจะปรับตัวมีรถยนต์ไฟฟ้า 100 % เมื่อไร แต่ทาง ์Nissan มีเทคโนโลยี และมีรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ต้นแบบ ซึ่งในประเทศไทย Nissan ขอเสนอระบบ e-Power ไปก่อน จนกว่ารัฐจะมีความชัดเจนในการสนับสนุนให้เกิดรถ BEV
บทความแนะนำ