ประพล พรประภา กรรมการ และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ผู้ให้บริการเช่าซื้อรถจักรยานยนต์รายใหญ่ในประเทศไทย เปิดเผยว่า TK ยังมีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งโดย ในไตรมาสที่ 2/2563 มีกระแสเงินสด 1,200 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดได้มีการชำระหุ้นกู้อายุ 3 ปี ที่ออกไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 มูลค่า 800 ล้านบาท พร้อมจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ถือหุ้นกู้ 2.56 % ตามกำหนด ทั้งนี้ ที่ผ่านมา TK ชำระหุ้นกู้ตรงตามกำหนดมาโดยตลอด สืบเนื่องจากการบริหารจัดการการเงินอย่างรัดกุม ปัจจุบัน TK มีหนี้สินต่อทุน (D/E) ระดับต่ำเพียง 0.4 เท่า อีกทั้งยังมีเงินสดเกิน 1,000 ล้านบาท ณ ปัจจุบัน และยังรักษาระดับ Coverage Ratio หรือค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ ในไตรมาส 2 อยู่ที่ 116 % โดย TK เลือกที่จะตั้งสำรองไว้ 765 ล้านบาท คิดเป็น 11.5 % ของยอดหนี้ทั้งหมด โดยเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิ์ในการตั้งสำรองตามข้อผ่อนปรนการจัดชั้นลูกหนี้ตามแนวปฏิบัติทางการบัญชีที่ออกโดยสภาวิชาชีพบัญชี เนื่องจากมองว่าการตั้งสำรองตามเกณฑ์ปกติจะเป็นการวางแผนรองรับที่ดีกว่าต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป
ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังยังคงกลยุทธ์การตั้งสำรองไว้สูง ประกอบกับคงความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ กลุ่มลูกค้าเกษตรกร พนักงานโรงแรม และพนักงานโรงงาน จัดเป็นกลุ่มลูกค้าที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และภัยแล้งค่อนข้างมาก ซึ่งจะทำให้ TK สามารถบริหารจัดการธุรกิจภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวไปได้ แม้จะมีการแพร่ระบาดระลอก 2 จนนำไปสู่การลอคดาวน์อีกครั้ง ด้วย TK ประกอบธุรกิจมายาวนาน 48 ปี การผ่านวิกฤตในแต่ช่วง อาทิ ต้มยำกุ้ง น้ำท่วมใหญ่ ทำให้มีประสบการณ์ และแนวทางการในการรับมือกับสภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี และเมื่อเศรษฐกิจมีสัญญาณฟื้นตัว TK ก็พร้อมขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะความพร้อมด้านทีมงานที่มีความเชียวชาญ ระบบ IT และเงินสด
ปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 พบว่าตลาดรถมือสอง โดยเฉพาะตลาดรถจักรยานยนต์มือสองมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงลอคดาวน์ทำให้การผลิตรถหยุดชะงัก รถมอเตอร์ไซค์หลายรุ่นโดยเฉพาะรุ่นยอดนิยมเริ่มขาดตลาด ประกอบกับการปล่อยสินเชื่อรถจักรยานยนต์ใหม่เริ่มเข้มงวดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อรถจักรยานยนต์มือสองทดแทน เนื่องจากได้รถตรงรุ่นตามความต้องการในราคาที่ย่อมเยา ประกอบกับอัตราดอกเบี้ย และค่างวดลดลงตามราคาไปด้วย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลดีต่อ TK ให้สามารถหันมาเน้นการปรับสภาพรถเพื่อนำออกมาจำหน่าย/จัดผ่อนเพื่อรองรับตลาดในส่วนนี้มากขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนแผนเข้าซื้อกิจการ Myanmar Finance International Limited (MFIL) ในประเทศเมียนมา กำลังดำเนินการ แต่เนื่องจากมีสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ส่งผลให้การเจรจาต่างๆ ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ พยายามจะเจรจาปิดดีลให้แล้วเสร็จ และคาดว่าน่าจะสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดีภายในปีนี้ หรืออย่างช้าต้นปีหน้า จากความล่าช้าดังกล่าว นับเป็นผลดีต่อ TK โดยเฉพาะเป็นโอกาสให้มีการเจรจาทบทวนราคาซื้อขายใหม่เนื่องจากวิกฤตที่ผ่านมาส่งผลให้มูลค่าของกิจการแปรผันไปตามสถานการณ์ โดยภายหลังจากการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการเติบโตในอนาคต รวมถึงทำให้สัดส่วนลูกหนี้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันสัดส่วนลูกหนี้ต่างประเทศและในประเทศอยู่ที่ราว 22:78 จะเพิ่มเป็น 35:65 โดยจะมีสาขาในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 16 สาขา เป็น 31 สาขา ใน 3 ประเทศ คือ กัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมา TK จะยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศตามกลยุทธ์ ด้วยการมองหาโอกาสในต่างประเทศ และจะดำเนินการทันทีเมื่อสามารถเดินทางไปดูธุรกิจต่างๆ ในต่างประเทศได้
บทความแนะนำ