ในยุคสมัยที่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทอลได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคม ไม่เพียงเทคโนโลยีจะนำมาซึ่งความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ยังช่วยเปิดประตูสู่ “โอกาส” ในการทำงานและการสร้างรายได้ให้กับผู้คนมากมาย อย่างไรก็ตาม ยังมีคนจำนวนไม่น้อยในสังคมที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในการใช้ชีวิต และขาดโอกาสในการแสดงศักยภาพของตัวเอง หนึ่งในนั้น คือ กลุ่มคนพิการซึ่งมีสัดส่วนราว 3 % ของจำนวนประชากรไทยที่มีอยู่ถึง 66 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มคนหูหนวก ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 375,000 คน[1] การมีข้อจำกัดในด้านการสื่อสาร รวมถึงการขาดโอกาสในการเข้าถึงอาชีพและการสร้างรายได้ถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่พวกเขาต้องเผชิญ
เนื่องในโอกาส “สัปดาห์หูหนวกโลก” (International Week of the Deaf) ซึ่งตรงกับวันที่ 21–30 กันยายนของทุกปี Grab อยากชวนทุกคนมาเปิดใจรับฟังเสียงของสองสามี-ภรรยาผู้พิการทางการได้ยิน โค้ก-สง่า กองทิพย์ และ โบว์-สุพรรษา ขาวผ่อง ทั้งยังเป็นคุณพ่อและคุณแม่ของน้องใบบัววัย 5 ขวบและน้องบุษบาวัย 2 ขวบ ทั้ง 2 เป็นตัวแทนของกลุ่มคนหูหนวกที่แม้จะมีข้อจำกัดทางด้านร่างกายจากความพิการทางการได้ยิน แต่กลับไม่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตและการทำงาน ยังคงเดินหน้าสร้างโอกาสอย่างไม่เคยย่อท้อเพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นถึงศักยภาพที่ซุกซ่อนอยู่ใน “หัวใจ” ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังบวก
“โอกาส” ที่แลกมาด้วยการพิสูจน์ตัวเอง
สุพรรษา เล่าผ่านภาษามือว่า “บ่อยครั้งที่คนทั่วไปจะชอบคิดว่าเราไม่สามารถทำงานได้เหมือนคนอื่นเพียงเพราะเราเป็นคนหูหนวก บางคนแสดงความไม่มั่นใจในตัวเราเพราะเราไม่ได้ยินเสียงของเขา แต่จริงๆ แล้วคนหูหนวกอย่างเราสามารถติดต่อสื่อสารได้ เรารับรู้ได้จากสีหน้า ท่าทางและการอ่านปาก พอเราเจอเหตุการณ์แบบนั้นทำให้เกิดแรงผลักดันเพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนได้รู้ว่า เราสามารถทำทุกอย่างได้เหมือนคนปกติและยังทำได้ดีกว่าที่หลายคนเคยคิดด้วย”
“ทักษะด้านการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน เราต้องพยายามพัฒนาการสื่อสารของเราให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าถึงแม้เราจะไม่สามารถพูดออกมาเป็นเสียงได้ แต่ก็ยังคุยกับคนอื่นได้แบบไร้ข้อจำกัด อย่างตอนที่โบว์ทำงานเป็นพนักงานบริษัทเอกชน เราต้องหาวิธีในการสื่อสารหรือประสานงานกับเพื่อนร่วมงานเพื่อให้งานราบรื่นไปด้วยดี หรือในปัจจุบันที่โบว์หันมาทำอาชีพอิสระอย่างการขับ Grab แทนงานประจำ เพราะอยากมีเวลาในการดูแลลูกสาวทั้ง 2 คนมากขึ้น ก็ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะ Grab มีลูกค้ามาใช้บริการหลากหลาย บางคนที่ไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมรับก็ยังปฏิเสธที่จะใช้บริการจากคนหูหนวก แต่เราก็ไม่เคยท้อ ถึงจะเป็นอย่างนั้นเราก็ยังตั้งใจทำงานและให้บริการอย่างดีที่สุด เพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าไม่มีอุปสรรคใดที่เราจะฝ่าฟันไปไม่ได้”
“ที่ผ่านมาพวกเราเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามผ่านความท้าทายต่างๆ โดยเฉพาะมุมมอง และความเข้าใจของคนทั่วไปที่มีต่อคนหูหนวกที่บางครั้งทำให้เรารู้สึกไม่ดี แต่ด้วยความพยายาม และการลงมือทำอย่างไม่ยอมแพ้ ทำให้หลายคนเริ่มให้การยอมรับคนหูหนวกมากขึ้น ไม่ตัดสินเราจากภายนอก นอกจาก ผมและโบว์จะเป็นกำลังใจซึ่งกันและกันแล้ว อีกหนึ่งแรงใจสำคัญ คือ ลูกสาวทั้ง 2 คน เราทุ่มเททั้งพลังกาย และพลังใจ เพื่อสร้างโอกาสและอนาคตให้กับพวกเขาเป็นหลัก โดยเลือกทำงานที่ตอบโจทย์ทั้งรายได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถบริหารจัดการเวลาให้เหมาะสมเพื่อจะได้ดูแลพวกเขาได้อย่างใกล้ชิด ตัวผมเองนอกจากจะช่วยเหลือธุรกิจครอบครัวแล้ว ยังใช้เวลาว่างไปขับ Grab Car เพื่อรับส่งผู้โดยสารด้วยรถยนต์ ส่วนโบว์จะเน้นขับรถมอเตอร์ไซค์เพื่อส่งอาหารและสิ่งของ ด้วยรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นทำให้เรามีอิสระในการรับงานและมีเวลาดูแลครอบครัว รายได้ที่เข้ามาก็ถือเป็นรายได้เสริมที่ทำให้การดำเนินชีวิตคล่องตัวยิ่งขึ้น” สง่า กล่าวเสริม
เทคโนโลยีช่วยเปิดประตูสู่ “โอกาส”
หนึ่งในอุปสรรคของผู้พิการทางการได้ยินคงหนีไม่พ้นเรื่อง “การสื่อสาร” ด้วยข้อจำกัดทางการพูด ทำให้ทางเลือกในการสื่อสารจำกัดไว้เพียงการเขียนผ่านตัวอักษรและการใช้ภาษามือ ซึ่งเปรียบเสมือนภาษาหลักที่พวกเขาใช้ในการพูดคุย แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ทโฟนที่มีฟังค์ชันการใช้งานที่หลากหลาย และการเข้าถึงของอินเตอร์เนทที่ครอบคลุมในแทบทุกพื้นที่ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงตัวเลือกในการสื่อสารให้กับผู้พิการทางการได้ยินมากยิ่งขึ้น
“สำหรับโบว์เองมองว่าเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกในการสื่อสารได้มากขึ้น อย่างการพูดคุยกับคนทั่วไป เราก็สามารถใช้การแชท หรือพิมพ์ข้อความแล้วยื่นให้เขาดูได้ หรือแม้แต่การทำงานอย่างการขับ Grab ก็มีฟีเจอร์ Grab Chat ให้คนขับสามารถติดต่อกับลูกค้าได้ ทั้งยังมีพโรแกรมแปลภาษา ทำให้เราไม่มีปัญหาในการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าต่างชาติด้วย”
“เวลาที่ขับรถไปส่งอาหาร พอลูกค้าทราบว่าเราเป็นคนหูหนวก บางคนก็จะยื่นรูปภาษามือที่บอกว่า "ขอบคุณ" ให้กับโบว์ ตรงนี้ช่วยทำให้ช่องว่างในการสื่อสารลดลง โบว์มองว่าแอพพลิเคชันต่างๆ ช่วยอำนวยความสะดวกให้เรามากขึ้น และยังเปิดโอกาสให้ได้ลองอะไรใหม่ๆ จากเดิมที่คนหูหนวกมักถูกจำกัดในเรื่องอาชีพ แต่พอมีแอพพลิเคชันอย่าง Grab เข้ามา ก็ทำให้พวกเรามีทางเลือกในการทำงานมากขึ้น โดยไม่มีข้อจำกัดในด้านอายุ การศึกษาหรือแม้แต่ความพิการ นอกจากจะมีรายได้เสริมแล้ว เรายังได้เปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ได้เจอผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ได้เรียนรู้เส้นทางและคำศัพท์ใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เราสนุกกับการทำงานในทุกวัน” สุพรรษา กล่าวเสริม
ขอเพียงเปิดใจและให้ “โอกาส”
ทุกชีวิตล้วนต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายในรูปแบบที่แตกต่างกันไป กลุ่มผู้พิการทางการได้ยินก็เช่นกัน หลายครั้งพวกเขาต้องรับมือกับการไม่ยอมเปิดใจจากคนในสังคม อย่างที่คุณโค้กได้แสดงมุมมองในประเด็นนี้ว่า “เมื่อมีโอกาสได้ลองทำสิ่งใหม่ๆ เรามักจะพบเจอกับความท้าทายในช่วงแรก ซึ่งถือเป็นบทพิสูจน์ให้เราต้องเรียนรู้และก้าวผ่านมันไปให้ได้ อย่างผมเองตอนที่เริ่มมาขับ Grab แรกๆ บางครั้งก็เคยถูกปฏิเสธจากลูกค้า บางคนพอรู้ว่าเราเป็นคนหูหนวกก็อาจจะไม่เชื่อมั่น แสดงท่าทีหรือสีหน้าไม่ยอมรับ ซึ่งถือเป็นแรงผลักดันให้ผมต้องพยายาม และพิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่าเราก็สามารถให้บริการได้เหมือนคนปกติเช่นกัน ถ้าเป็นไปได้ผมอยากขอโอกาสให้ทุกคนลองเปิดใจให้กับพวกเรา อย่าเพิ่งด่วนตัดสินว่าเราทำไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่น่ารักและให้การยอมรับ บางคนให้ทิพเพิ่ม บางคนแบ่งขนมให้ หรือแม้แต่การมอบรอยยิ้มและส่งภาษามือ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ถือเป็นกำลังใจให้พวกเรายังคงก้าวเดินต่อไป”
สุพรรษา และ สง่า ยังได้ทิ้งท้ายโดยฝากส่งกำลังใจให้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือคนปกติ โดยเฉพาะในช่วงที่หลายคนอาจจะประสบกับความยากลำบากในการใช้ชีวิตจากวิกฤติการณ์ COVID-19 “หากเจออุปสรรคหรือความท้าทายใดๆ ก็ตาม จงอย่ายอมแพ้ ให้หาทางสู้ เริ่มลงมือทำจากอะไรที่ใกล้ตัวก่อน แล้วค่อยมองหาหนทางที่จะขยับขยายต่อไป ทุกอย่างอยู่ที่ใจ โอกาสจะเป็นของคนที่ลงมือทำเสมอ”