ธุรกิจ
Michelin ตั้งเป้าผลิตยางล้อที่ยั่งยืน 100 % ภายในปี 2593

Michelin (มิเชอแลง) ตั้งเป้าที่จะผลิตยางล้อซึ่งมีความยั่งยืนเต็มร้อยภายในปี 2593 โดยได้รับแรงบันดาลใจจากยางต้นแบบภายใต้แนวคิด Vision ซึ่งเปิดตัวในปี 2560 โดยเป็นโซลูชันยางล้อที่ยั่งยืนเต็มรูปแบบ, ดอกยางสามารถพิมพ์ขึ้นใหม่ได้ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (Rechargeable), ทำงานบนระบบเครือข่ายเชื่อมต่อ (Connected) และไม่ต้องเติมลมยาง (Airless)
ปัจจุบัน ส่วนประกอบเกือบร้อยละ 30 [i] ที่ใช้ในการผลิตยางของกลุ่ม Michelin มาจากวัตถุดิบที่มีความยั่งยืน วัตถุดิบที่ได้จากการรีไซเคิล หรือวัตถุดิบจากธรรมชาติอยู่แล้ว
ยาง Michelin เป็นผลิตภัณฑ์ไฮเทคที่ประกอบขึ้นจากส่วนประกอบมากกว่า 200 ชนิด โดยมียางธรรมชาติเป็นส่วนประกอบหลัก และมีส่วนประกอบอื่นๆ อาทิ ยางสังเคราะห์, โลหะ, เส้นใย (Fibers) และส่วนประกอบที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่โครงสร้างยางล้อ ได้แก่ คาร์บอนบแลค (Carbon Black), ซิลิคา (Silica) และสารเพิ่มความยืดหยุ่น (Plasticizers) เช่น เรซินส์ (Resins) ส่วนประกอบในสัดส่วนที่เหมาะสมเหล่านี้ต่างมีส่วนช่วยให้ยางมีความสมดุลสูงสุด ทั้งในแง่สมรรถนะ ประสิทธิภาพในการขับขี่ และความปลอดภัย ทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเชิงวัสดุของ Michelin มีรากฐานมาจากศักยภาพด้านการวิจัย และพัฒนาที่แข็งแกร่ง โดยมีทีมบุคลากรกว่า 6,000 คน ทำงานอยู่ในศูนย์วิจัย และพัฒนาทั่วโลกรวม 7 แห่ง ตามความเชี่ยวชาญเฉพาะทางรวม 350 สาขา ความมุ่งมั่นทุ่มเทของวิศวกร นักวิจัย นักเคมี และนักพัฒนาเหล่านี้ส่งผลให้มีการยื่นจดสิทธิบัตรซึ่งครอบคลุมการออกแบบ และผลิตยางล้อรวม 10,000 ฉบับ ในแต่ละวันบุคลากรเหล่านี้ต่างทำงานอย่างหนักเพื่อคิดค้นวิธีที่จะพัฒนายางให้ปลอดภัย ทนทาน รวมทั้งมีสมรรถนะด้านการขับขี่ และอื่นๆ ที่ดียิ่งขึ้น ตลอดจนทำให้ยางมีความยั่งยืน 100 % ภายในปี 2593
Michelin ตระหนักดีว่าการพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้น และเป็นไปได้อย่างรวดเร็วนั้นจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือในรูปแบบใหม่ๆ ดังนั้นจึงได้ผสานพันธมิตรกับธุรกิจสตาร์ทอัพซึ่งนำเสนอนวัตกรรมล้ำหน้าที่สร้างโอกาสความเป็นไปได้ไม่สิ้นสุด เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นสามารถใช้ได้ดีกับอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการผลิตยางล้อ โดยช่วยให้อุตสาหกรรมเหล่านั้นได้ประโยชน์จากวัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ไม่สิ้นสุด นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังทำให้สามารถรีไซเคิลโพลีสไตรีน (Polystyrene) และนำคาร์บอนบแลค หรือน้ำมันไพโรไลซิส (Pyrolysis Oil) จากยางใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้
แอคเซนส์ (Axens) และไอเอฟพี เอเนอจีส์ นูเวลล์ส (IFP Energies Nouvelles) 2 บริษัทซึ่งรับหน้าที่เป็นหัวหอกดำเนินโครงการ Bio Butterfly ได้ทำงานร่วมกับ Michelin ในการผลิตบิวทาไดอีนจากชีวมวล (Bio-Sourced Butadiene) [ii] เพื่อนำมาใช้แทนบิวทาไดอีนที่ได้จากปิโตรเลียมมาตั้งแต่ปี 2562 การใช้ชีวมวลจากไม้, แกลบ, ใบไม้, ซังข้าวโพด และของเหลือทิ้งจากพืชประเภทอื่น ๆ จะส่งผลให้มีการนำเศษไม้สับ (Wood Chips) ปริมาณสูงถึง 4.2 ล้านตัน/ปี มาใช้เป็นส่วนประกอบของยาง Michelin
Michelin และไพโรเวฟ (Pyrowave) บริษัทซึ่งมีฐานการดำเนินงานอยู่ในประเทศแคนาดา ได้ลงนามเป็นพันธมิตรกันในเดือนพฤศจิกายน 2563 เพื่อผลิตสไตรีนจากการรีไซเคิลพลาสติคซึ่งใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ เช่น ถ้วยโยเกิร์ท และถาดใส่อาหาร หรือใช้เป็นแผ่นฉนวนกันความร้อน ทั้งนี้ สไตรีน (Styrene) เป็น “โมโนเมอร์” (Monomer) หรือสารตั้งต้นที่สำคัญของโพลีเมอร์ ใช้ในการผลิตโพลีสไตรีน และยางสังเคราะห์สำหรับยางล้อ และสินค้าอุปโภคบริโภคมากมาย ในอนาคตจะสามารถนำขยะโพลีสไตรีนหลายหมื่นตัน/ปีมารีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เดิมหรือผลิตเป็นยาง Michelin ได้
คาร์ไบโอส์ (Carbios) บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติฝรั่งเศสซึ่งจะมีฐานการดำเนินงานอยู่ภายในเขตพื้นที่ปฏิบัติงานของ Michelin ตั้งแต่ปลายปี 2564 เป็นต้นไป ได้พัฒนากระบวนการล้ำหน้าด้วยการนำเอนไซม์มาใช้แยกโครงสร้างขยะพลาสติค ประเภท PET [iii] ให้คืนสภาพกลับไปอยู่ในรูปโมโนเมอร์บริสุทธิ์แบบดั้งเดิม ซึ่งสามารถนำไปใช้งานใหม่ หรือนำไปใช้ผลิตพลาสติค PET ขึ้นใหม่ซ้ำได้ไม่สิ้นสุด หนึ่งในพลาสติคที่ได้จากกระบวนการรีไซเคิลดังกล่าว คือ เส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ซึ่งใช้ในการผลิตยางรถยนต์ ในอนาคตขวดพลาสติกราว 4,000,000 ขวด/ปีอาจถูกนำมารีไซเคิลเพื่อผลิตเป็นยาง Michelin ได้
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา Michelin ได้ประกาศเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลยางล้อแห่งแรกในโลกของ Michelin ขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับ เอนไวโร (Enviro) บริษัทสัญชาติสวีเดนซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่ได้รับสิทธิบัตรในการนำคาร์บอนบแลค, น้ำมันไพโรไลซิส, เหล็กกล้า, แกส และวัสดุใหม่ชนิดนำกลับมาใช้ซ้ำได้คุณภาพสูงอื่นๆ จากยางที่สิ้นอายุใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่ โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้สามารถแปรรูปทุกส่วนของยางที่สิ้นอายุใช้งานแล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หรือนำกลับมาใช้ซ้ำในกระบวนการผลิตหลากหลายรูปแบบที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบหลัก
นอกจากนี้ Michelin ยังสนับสนุนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ดังจะเห็นได้จากการเข้าร่วมสมาคมแบลคไซเคิลประจำยุโรป (European Black Cycle Consortium) โดยโครงการนี้ซึ่งประสานงานโดยกลุ่ม Michelin และได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพยุโรป เป็นการนำพันธมิตรจากภาครัฐ และเอกชนรวม 13 รายมาร่วมกันออกแบบกระบวนการผลิตยางล้อรุ่นใหม่จากยางล้อที่สิ้นอายุใช้งานแล้ว