ธุรกิจ
Ford สานต่อ “เปลี่ยนความรู้...สู่อาชีพ”

Ford (ฟอร์ด) ลงนามความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สานต่อโครงการ “เปลี่ยนความรู้...สู่อาชีพ” ประจำปี 2564 สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคสายงานช่างเมคคาทรอนิคส์ และช่างยนต์ ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรม และพัฒนาฝีมือช่างที่ Ford ออกแบบร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสประสบการณ์เรียนรู้จากการทำงานจริง
Ford มอบทุนการศึกษา และฝึกอบรม จำนวน 11 ทุน รวมมูลค่า 572,000 บาท พร้อมมอบรถกระบะ Ford Ranger (ฟอร์ด เรนเจอร์) 1 คัน ให้วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบใช้ประกอบการเรียนการสอนเป็นเวลา 3 ปี เพื่อพัฒนาศักยภาพ เสริมสร้างความรู้ ความสามารถ ทั้งในภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ โดยมีผู้ได้รับทุนโครงการ “เปลี่ยนความรู้...สู่อาชีพ” ในสายงานช่างเมคคาทรอนิคส์ จากโรงงาน ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (FTM) 3 คน นักเรียนสาขาช่างเมคคาทรอนิคส์ จากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ 3 คน และนักเรียนจากสายงานช่างยนต์ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ อีก 5 คน
อรทัย โยธินรุ่งเรือง สุดสงวน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กล่าวว่า เราเริ่มโครงการเปลี่ยนความรู้...สู่อาชีพกับ Ford มาตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา มีนักเรียนสาขาเมคคาทรอนิคส์จบออกไปทำงานแล้ว 28 คน ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่นักเรียนบางส่วนได้ตัดสินใจเข้าร่วมงานกับ Ford ทันทีที่เรียนจบ การร่วมโครงการกับ Ford อย่างต่อเนื่องเป็นแรงผลักดันที่ทำให้วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบได้รับการคัดเลือกเป็นศูนย์บริหารเครือข่ายการผลิต และพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา สาขาวิชาเมคคาทรอนิคส์ และหุ่นยนต์ ประจำปีงบประมาณ 2564 จากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
วินโค ซาริค ผู้จัดการโรงงาน ฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง กล่าวว่า Ford ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยด้วยการมอบความรู้ และสร้างทักษะให้กับช่างเมคคาทรอนิคส์ โดยในปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่เราจัดโครงการนี้ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เรายินดีที่ได้มีส่วนผลักดันให้พนักงานของเรา และนักเรียนจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบได้เรียนรู้ และปฏิบัติงานในสถานการณ์จริง เพื่อสัมผัส และเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานกับครอบครัว Ford ที่โรงงาน FTM ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่สำคัญในการทำงานร่วมกับผู้อื่นต่อไป
นอกจากความร่วมมือในการพัฒนาความรู้ความสามารถด้านเมคคาทรอนิคส์แล้ว ในปีนี้ Ford ยังได้นำเอาหลักสูตรการฝึกอบรม และพัฒนาช่างยนต์ของ Ford มาออกแบบร่วมกับทางวิทยาลัย และมอบรถ Ford Ranger 1 คันให้แก่สถาบันเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้มีโอกาสสัมผัสกับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในรถยนต์ Ford
วิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ Ford ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่เราทำโครงการนำร่องร่วมกับศูนย์บริการ Ford ของผู้แทนจำหน่าย เนื่องจากเราเล็งเห็นโอกาสในการส่งเสริมความรู้ และทักษะให้แก่นักเรียนสาขาช่างยนต์ โดยนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการสามารถสอบเทียบรับรองทักษะช่างระดับ 1 ตามมาตรฐานของ Ford ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้วนักเรียนจะมีโอกาสเข้าทำงานที่ศูนย์บริการ Ford ของผู้แทนจำหน่ายได้ทันที
ผู้ที่ได้รับทุนในสาขาช่างเมคคาทรอนิคส์ จะได้ฝึกฝน และพัฒนาทักษะการเป็นช่างเทคนิคในโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มข้นจากวิทยากรมืออาชีพ ทั้งในห้องเรียน และจากการปฏิบัติงานจริง ส่วนผู้ที่ได้รับทุนในสาขาช่างยนต์จะเรียนทฤษฏีเกี่ยวกับการซ่อมบำรุงรถยนต์ในห้องเรียน ฝึกการปฏิบัติงานกับรถยนต์ Ford ที่ทางโรงงานมอบให้ และยังมีโอกาสได้ทดลองฝึกงานจริงที่ศูนย์บริการ Ford ที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ภายใต้การแนะนำของช่างผู้เชี่ยวชาญ
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับทุนจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย เพื่อการศึกษาตามโครงสร้างหลักสูตร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ใช้ในการฝึกอบรม โดยผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับใบรับรอง และประกาศนียบัตรจาก Ford และได้รับวุฒิการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
ถิรวุฒิ สายสุพัฒน์ผล กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ชลบุรี ท็อป คาร์ (พัทยา) กล่าวเสริมว่า ในฐานะผู้ให้บริการลูกค้าที่ศูนย์บริการ Ford เราเป็นด่านหน้าในการดูแลลูกค้า เราจึงพยายามมองหาโอกาสในการเพิ่มทักษะ และพัฒนาศักยภาพให้กับทีมงานของเราอยู่เสมอ แน่นอนว่าโครงการนี้จะช่วยให้ช่างยนต์ในอนาคตของเรามีทักษะที่ดี จากการได้สัมผัส และเรียนรู้เทคโนโลยีในรถยนต์ Ford จริงๆ ตลอด 2 ปีที่ร่วมโครงการ
ชัยยง พะเนียงทอง รองกรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด เอกกรุ๊ป กล่าวเพิ่มเติมเสริมอีกว่า นักเรียนที่เรียนจบจากโครงการนี้ จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการดูแลลูกค้า Ford ให้เหมือนคนในครอบครัว ด้วยการให้บริการที่ดี และน่าประทับใจ เพื่อที่เราจะสามารถส่งมอบรถยนต์ที่มีคุณภาพ และบริการที่ดีให้แก่ลูกค้าชาวไทยต่อไป