ชีวิตคือการต่อสู้ การต่อสู้มีทั้ง รุกและรับ ลุงตู่ วันนี้ มีชีวิตน่าสมเพช ทั้งการรุกและการรับคนไทยทั้งประเทศ ต้องต่อสู้กับ COVID-19 แบบไม่มีทางเลี่ยง สู้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ด้วยคติธรรม “ตกกระไดพลอยโจน” ระลอกล่าสุดของไวรัสโคโรนา เฉพาะเมืองไทยของเรา น่าหวาดกลัวทุกวัน ตามรายงานของศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุ พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ประจำวันด้วยยอดหมื่นกว่ารายอย่างต่อเนื่อง ลุงตู่ เป็นนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องรับผิดชอบแบบไม่มีทางเลี่ยง คนเราเมื่อมีอำนาจสูงสุด การใช้อำนาจย่อมต้องรอบคอบ และมองการณ์ไกล ไม่ผิดอะไร หากจำเป็นต้องฟังคณะที่ปรึกษา และไม่ใช่ความผิดของ ลุงตู่ ที่ต้องฟัง หู ย่อมได้ยินคำปรึกษาหารือ แต่ใจควรอยู่ที่ปวงชนชาวไทย ขึ้นอยู่ว่า ท่านรักปวงชนชาวไทยของท่านหรือไม่ ? ไม่น่าเชื่อ เมืองไทยของเรามีผู้ติดเชื้อสะสม เกินกว่า 4 แสนคนแล้ว อีกทั้งยอดผู้เสียชีวิตก็ใส่เซิร์พสเกท ใกล้จะ 5 พันราย เป็นธรรมชาติทางการเมือง นายกรัฐมนตรี ย่อมมีทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายตรงข้าม ก่อนจะถึงขั้นนั้น จำเป็นหรือไม่ หากขึ้นอยู่กับการรุกและการรับของผู้นำ ? การรุก ย่อมต้องระวังไม่ให้เป็นการแสดงอำนาจ และการรับ ก็ต้องอยู่กับขั้นตอนของกฎหมายในบ้านในเมือง สำคัญอย่างมาก การรับไม่ควรเปิดการ์ดให้ฝ่ายตรงข้ามตะบันหมัดฮุค เห็นการยั่วยวนของชุมชนตามข่าวแล้ว เห็นใจเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษาความสงบ การ์ด เป็นสิ่งสำคัญ มิฉะนั้น รัฐก็คงไม่เชิญชวนให้ปวงชนชาวไทย ยกการ์ดให้สูง เพื่อเราไปด้วยกัน หลังคนไทยคว้าชัยชนะเหนือ COVID-19 ไม่น่าเชื่อ ลำพังวัคซีนป้องกันเชื้อร้าย คำเดียว อะไรมันจะสับสนอลเวง จับต้นชนปลายไม่ถูกถึงขนาดนั้น ? คนหนึ่ง พูดเรื่องหนึ่ง คนต่อมา ก็พูดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าคนไหน ก็หน้านั้น/คนนั้น เรื่องที่พูดออกมาไม่พ้นคำว่า วัคซีน คนพูดที่พลเมืองควรรับฟัง คือ นายแพทย์ น่าสมเพชหรือเปล่า เมื่อคณะนายแพทย์กี่คนต่อกี่คน พูดเรื่องเดียวกัน ทว่า ฟังไม่รู้เรื่อง มีแต่ความไม่ชัดเจน ไม่ชัดเจนถึงขนาด หน่วยงานบางหน่วยงานขึ้นป้ายคำว่า “รอความชัดเจน” ก่อนความรับผิดชอบจะถึงผู้นำ กระทรวงสาธารณสุข ย่อมต้องเปิดหน้ากากอนามัยก่อนคนอื่น กระทรวงสาธารณสุข ควรมีความชัดเจนกับเรื่องนี้อย่างยิ่ง เพื่อสุขภาพและพลานามัยของปวงชน อะไร ควรพูด ? และอะไรนั้น สมควรแก่กาลเวลาหรือไม่ที่จะเปล่งถ้อยคำ ? รัฐมนตรี พึงสำเหนียกอยู่แล้ว ว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องความเป็นความตาย การเอาใจใส่ประชาชน ย่อมอยู่เหนือกว่าเรื่องอื่นใด การเอาใจใส่ หรือพึงสำเหนียก เป็นพันธะที่แสดงไว้ก่อนรับตำแหน่ง ผู้นำกระทรวง อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ก็เป็นเพียง หนึ่งกระทรวงของรัฐบาล ถึงอย่างไร ก็ต้องอยู่ในคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี ผู้นำรัฐบาล เป็นผู้รู้ดี รู้ว่า ค่าความสำคัญของแต่ละเรื่องนั้น ควรเป็นของหน่วยงานใด ไม่ใช่เปรอะเลอะเทอะ มากความโดยใช่เหตุ ลุงตู่ ชอบแสดงให้ปวงชนประจักษ์ว่า เรามาไปด้วยกัน มาร่วมมือกัน เหมือนจะแสดงว่า ท่านรักประชาชนของท่าน พยายามจะคล้องแขนไปกับปวงชน ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ ขอให้รักจริงไม่ทิ้งกันเท่านั้น และไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่ผู้นำรัฐบาล จะโยนความรับผิดชอบไปยังหน่วยงาน แต่สำคัญที่ขาดตกบกพร่องไม่ได้ คือ ความชัดเจน ประโยชน์ของปวงชน วางบนโต๊ะประชุมคณะรัฐมนตรี เป็นประจำอยู่แล้ว เรารักและนับถือ ลุงตู่ เสมอ ท่านเป็นผู้นำประเทศมาหลายปีแล้ว แต่ความรักและความนับถือของเราไม่คลายคลอน ท่านเป็นชายชาติทหาร ท่านเป็นผู้มอบความสงบของบ้านเมืองให้แก่พลเรือน เพื่อตั้งหน้าประกอบอาชีพหารายได้เข้ากระเป๋าคลัง เราเป็นพลเมืองคนหนึ่งของประเทศนี้มาหลายปี เห็นนายกรัฐมนตรี ที่มาจากความเป็นนายทหาร หลายคน เราพิมพ์ใจ กับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในบทบาท “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่ผู้เดียว” ยิงเป้า เพราะอัคคีภัยก็ยิง เราชื่นชมความเป็นชายชาติทหาร ของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ท่านคือ นายกรัฐมนตรีที่อยู่ได้หลายปี แต่ท่านปฏิเสธคำเชิญสุดท้าย ขอความเพียงพอ ไม่ขอเป็นอีกแล้ว และเรา...ก็ประทับใจ นายกรัฐมนตรีที่เป็นนายทหาร อย่าง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เพราะท่าน ประกาศลาออกจากตำแหน่งอย่างเกริกไกร ท่านลาออก (29 กุมภาพันธ์ 2523) ในวันที่รัฐบาลจะแถลงนโยบายต่อสภา ด้วยเหตุผลที่คาดไม่ถึง ด้วยคำพูดประวัติศาสตร์ของท่าน คือ “ได้เกิดการขัดแย้งระหว่างรัฐบาล กับรัฐสภา ในปัญหาสำคัญหลายเรื่อง และหลายครั้ง จนยากที่จะบริหารงานของชาติให้ดำเนินการไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้” เราขอเขียนเพียงเท่านี้ ลุงตู่อย่าคิดมากนะ...!