ธุรกิจ
กรมการขนส่งทางบก คุมเข้ม COVID-19

กรมการขนส่งทางบก คุมเข้ม COVID-19 ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 13 จังหวัด !!! การให้บริการรถโดยสารสาธารณะ และการขนส่งสินค้า “งดให้บริการเดินรถเข้า-ออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด” ต้องปฏิบัติตามประกาศ ศบค. อย่างเคร่งครัด
จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังมีอัตราการเพิ่มของจำนวนผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 13 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นราธิวาส นนทบุรี ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา โดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 (ศบค.) ได้มีคำสั่งเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 กรมการขนส่งทางบก จึงกำหนดมาตรการให้สอดคล้องกับคำสั่งดังกล่าว ทั้งในส่วนของการให้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ และการขนส่งสินค้า โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง ดังนี้
การให้บริการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด 13 จังหวัด “งดให้บริการเดินรถเข้า-ออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด” และ “จำกัดการเดินรถระหว่างเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวด” เฉพาะเท่าที่จำเป็นสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังขั้นสูงสุด ส่วนมาตรการบังคับใช้เพื่อควบคุมการให้บริการรถโดยสารสาธารณะภาพรวมทั้งประเทศ ต้องปฏิบัติตามประกาศ ศบค. ด้านอื่นๆ อย่างเคร่งครัด อาทิ ต้องหยุดการให้บริการตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น กำหนดจำนวนผู้โดยสารไม่เกินร้อยละ 50 ของจำนวนที่นั่งทั้งหมด และต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่าง จัดที่นั่งของรถโดยสารประจำทาง และรถโดยสารไม่ประจำทาง ให้จัดที่นั่ง 1 ที่นั่ง เว้น 1 ที่นั่ง ห้ามลงจากรถระหว่างทาง หรือในสถานที่ซึ่งมิใช่ที่หยุด หรือจอดตามที่กำหนดไว้ เพื่อให้สามารถตรวจคัดกรองผู้โดยสารตามมาตรการสาธารณสุขได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
การขนส่งสินค้าภาพรวมทั่วประเทศ “งดการขนส่งในช่วงตั้งแต่เวลา 21.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น” เว้นแต่ผู้ที่มีความจำเป็นในการขนส่งสินค้าเพื่อประโยชน์ของประชาชน ได้แก่ ผู้ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ สินค้าอุปโภคบริโภค ผลผลิตทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ไปรษณียภัณฑ์ พัสดุภัณฑ์ สิ่งพิมพ์ หรือสินค้าเพื่อการส่งออก นำเข้า สามารถขนส่งสินค้าได้ รวมถึงการขนส่งเที่ยวเปล่า หรือตู้สินค้าเปล่าในกรณีเดินทางไปรับสินค้า และเดินทางกลับ โดยจัดเตรียมใบอนุญาตขับรถ บัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวพนักงาน หรือหนังสือรับรองการทำงาน และเอกสารรับรองความจำเป็นเกี่ยวกับสินค้า และการเดินทางของผู้ขนส่งสินค้าเพื่อใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
ผู้ประกอบการขนส่งต้องควบคุม กำกับ ดูแล ผู้โดยสารให้ลงทะเบียนไทยชนะ หมอชนะ หรือกรอกแบบฟอร์มที่กรมการขนส่งทางบกกำหนด และในระหว่างการเดินทางต้องมีการระบายอากาศภายในรถโดยสารปรับอากาศ รถตู้โดยสารปรับอากาศ โดยให้พนักงานขับรถพิจารณาการจอดพักรถ และเปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศภายในรถขณะเดินทางทุก 2 ชม. และทำความสะอาดภายในตัวรถ และพื้นผิวสัมผัสภายในรถด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ เพื่อความปลอดภัยของผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะ และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท และงดการพูดคุยขณะให้บริการ รวมถึงต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดการเดินทาง ไม่ว่าจะเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะประเภทใดก็ตาม