ธุรกิจ
ปตท. ผนึก โทรคมนาคมแห่งชาติฯ

ปตท. ผนึก โทรคมนาคมแห่งชาติฯ ผสานความสามารถด้านนวัตกรรม วางกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ตอบรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพิ่มทางเลือกเพื่อตอบโจทย์แก่ผู้ใช้งานในปัจจุบัน พร้อมส่งเสริมประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ ยานยนต์ไฟฟ้าด้วยพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน
หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ประธานกรรมการ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจเพื่อส่งเสริมการใช้ และให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ที่จัดขึ้นในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) โดยมี อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นพดล ปิ่นสุภา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรม และดิจิทัล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และจันทนา เตชะศิรินุกูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยี บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามเพื่อวางกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกัน รวมถึงต่อยอดเทคโนโลยีการสื่อสาร ดิจิทอลสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์การให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริม และสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิต และเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในระดับสากลมากยิ่งขึ้น
อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กล่าวว่า รูปแบบการใช้พลังงานของสังคมในปัจจุบัน มุ่งไปด้านพลังงานไฟฟ้า และพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ปตท. จึงพัฒนา และปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่ทิศทางพลังงานในอนาคตอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน และสร้างการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. ได้วางแผนลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ทั้งระบบกักเก็บพลังงาน แบทเตอรี โครงสร้างพื้นฐาน และพแลทฟอร์ม โดยจับมือพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ในการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า และรองรับกลุ่มผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นการตอบสนองนโยบาย และทิศทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของภาครัฐที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยังเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่จะช่วยประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำอีกด้วย
“สำหรับความร่วมมือที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ปตท. นำเอาความแข็งแกร่งด้านธุรกิจพลังงาน ตลอดจนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และ นวัตกรรม ผนวกเข้ากับความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจการสื่อสาร และดิจิทอลของโทรคมนาคมแห่งชาติฯ เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิจให้บริการยานยนต์ไฟฟ้า ในรูปแบบที่มีจุดแข็ง และมีความโดดเด่น ตอบสนองรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม ด้วยทางเลือกของบริการที่หลากหลาย อันจะนำไปสู่การสร้างอนาคตแห่งการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สนับสนุนได้ทั้งความมั่นคงทางพลังงาน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน”
นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ กรรมการ และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ด้วยความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจเพื่อส่งเสริมการใช้ และให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าของทั้ง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ มีการทดสอบตลาด และศึกษาความต้องการของลูกค้า การออกแบบทางธุรกิจ การศึกษาความคุ้มทุนในการลงทุน การพัฒนาด้าน IOT และ Application ต่างๆ ระบบการให้บริการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การติดตาม การจัดเก็บข้อมูล การชำระค่าบริการ และเพื่อสร้างความร่วมมือด้านธุรกิจร่วมกันต่อไป ซึ่ง NT มีโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านสื่อสาร เทคโนโลยีดิจิทอล รวมถึงการนำเทคโนโลยี 5G ที่ NT มีคลื่นความถี่ที่พร้อมตอบสนองความต้องการใช้ในทุกรูปแบบมาประยุกต์ใช้ด้วย เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนรูปแบบการดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ ของ ปตท. และ NT ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นการผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ โอกาสในการนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของ NT ในธุรกิจสื่อสาร และดิจิทอล มาใช้ในการพัฒนารูปแบบการใช้บริการยานไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นด้าน Charger และด้านการบริหารจัดการระบบรถส่วนกลาง (Fleet Management) ซึ่งระบบบริหารจัดการของยานพาหนะในธุรกิจเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ และสร้างจุดแข็งทางธุรกิจที่ช่วยให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดำเนินงาน ทั้งด้านการบริหารจัดการ และด้านความปลอดภัย เชื่อว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะนำไปสู่การต่อยอดในการสร้างความแข็งแกร่ง และความมั่นคงด้านการสื่อสาร ดิจิทอล และอุตสาหกรรมด้านยานยนต์ในอนาคตให้แก่ทั้ง 2 องค์กรร่วมกัน และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน ประเทศชาติเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจด้านพลังงาน และเทคโนโลยีดิจิทอลต่อไป