สำนักข่าว Nikkei รายงานข่าวจากไทเป ระบุว่า ค่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนสมาร์ทโฟน Foxconn ของไต้หวัน ซึ่งประกาศความร่วมมือกันกับผู้ผลิตรถไฟฟ้า น้องใหม่ Byton ให้ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนชิ้นส่วนในการผลิตรถไฟฟ้า รุ่นแรกของค่าย ให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2565 ได้เตรียมระงับความร่วมมือดังกล่าว อันเนื่องมาจากสถานการณ์ทางด้านการเงินได้ประกาศความร่วมมือเมื่อเดือนมกราคม และเตรียมระงับภายในเวลาไม่ถึง 6 เดือน จากการที่ค่ายไต้หวัน เปลี่ยนความสนใจเพื่อมุ่งไปในโครงการรถไฟฟ้า และประเทศไทย ก็ได้อานิสงค์จากโครงการรถไฟฟ้า ซึ่ง Foxconn ประกาศความร่วมมือกันกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประเทศไทย ดังเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว แหล่งข่าวระบุว่า “โครงการ Byton ยังไม่ล้มเลิกอย่างเป็นทางการ แต่ค่อนข้างไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการต่อไปขณะนี้” ขณะที่พนักงานของ Foxconn ยังคงประจำการอยู่ในโรงงานของ Byton และ “แต่ดูเหมือนว่า พวกเขากำลังเก็บข้าวของเพื่อย้ายกลับสำนักงานใหญ่ ทันทีที่มีคำสั่ง” แหล่งข่าวระดับสูงกล่าวว่า “Foxconn ไม่ให้ความสนใจกับโครงการ Byton อีกต่อไป” หนี้สินของ Byton เริ่มปรากฏเพิ่มมากขึ้น ขณะที่โครงสร้างผู้ถือหุ้น ก็ค่อนข้างสับสน โดยมีบางส่วนในภาครัฐของข้าราชการจีนร่วมด้วย ในความสับสนที่เกิดขึ้น ทำให้เกินความคาดหมายของ Foxconn สำนักข่าว Bloomberg รายงานข่าวเมื่อเดือนกรกฎาคม ว่า ความร่วมมือของทั้งสองฝ่าย เริ่มมีรอยร้าวฉาน เมื่อกลุ่มนายทุนของ Byton เข้ามาควบคุมการดำเนินงานตั้งแต่เริ่มต้น และ Foxconn ตอบโต้โดยการถอดผู้ชำนาญงานออกจากโครงการ การระงับความร่วมมือครั้งนี้ ค่อนข้างเป็นที่ผิดหวังกับ Foxconn ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจรถไฟฟ้า ความร่วมมือครั้งนี้ Young Liu ประธาน Foxconn ลงมาดูแลด้วยตนเอง เพื่อต้องการปรับเปลี่ยนจากธุรกิจผู้ผลิตสมาร์ทโฟน ไปสู่ธุรกิจอื่น ที่สามารถเติบโตได้ต่อไปในอนาคต คาดหวังจะให้ทดแทนธุรกิจเดิมที่เริ่มซบเซา ประธาน Young Liu เข้ามารับตำแหน่งต่อจากผู้ก่อตั้ง Terry Gou เมื่อ 2 ปีที่แล้ว คุยไว้ว่า Foxconn จะสามารถออกแบบพัฒนาชิ้นส่วน และอุปกรณ์ หรือซอฟท์แวร์ภายในรถไฟฟ้า ได้ถึง 5 % ของตลาดโลก ภายในปี 2568 ขณะที่ Byton ก่อตั้งเมื่อปี 2560 โดยอดีตผู้บริหารจาก BMW แต่พลาดหวังจากการผลิตรถไฟฟ้าออกสู่ตลาด ตามแผนงาน ในปีหน้า แม้ว่าครั้งหนึ่งจะเคยได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 4 มังกร ของบริษัทน้องใหม่ในการผลิตรถไฟฟ้า ในสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมด้วย Xpeng Motors, Nio และ Li Auto โครงการผลิตรถไฟฟ้าของ Foxconn-Byton ที่ประกาศเมื่อเดือนมกราคม เป็นโครงการที่ให้ผลประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย ด้าน Foxconn จะกลายเป็นหนึ่งผู้บริหารในการจัดหาชิ้นส่วน และสนับสนุนการผลิต ขณะที่ Byton ทำการผลิตได้ตามแผนงานที่วางไว้ หลังจากเคยเลื่อนมาครั้งหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากปัญหาด้านการเงิน รวมทั้ง Foxconn ไม่มีประสบการณ์ในการผลิตรถยนต์มาก่อน ก็จะได้ความรู้ในการผลิต และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ด้วยตนเอง สำหรับแนวคิดของ Foxconn ปัญหาด้านการเงิน ถือว่าเล็กมาก ไม่น่าจะกระทบกระเทือนถึงกับต้องระงับโครงการ หลังจากที่ส่งพนักงานเข้าร่วมงาน และลงทุนซื้ออุปกรณ์ด้านการบริหารจัดการ นับแต่เดือนมกราคม เป็นต้นมา แต่ยังไม่ถึงกับจัดซื้ออุปกรณ์ในสายการผลิต ก็ประกาศระงับเสียก่อน Foxconn มุ่งหวังกับโครงการรถไฟฟ้านี้มาก โดยลงทุนร่วมเป็นพันธมิตรกันกับผู้พัฒนาเทคโนโลยีมากกว่า 10 ราย และได้พูดคุยกับผู้ผลิตชิ้นส่วน, นักพัฒนาซอฟท์แวร์ และผู้จัดหาวัสดุ ที่ผ่านมาในช่วง 1 ปีครึ่ง รวมทั้งร่วมเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม Stellantis เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบสำหรับการเชื่อมต่อของรถยนต์