“รถหรูนำเข้า” กลายเป็นประเด็นร้อนทันที หลังเกิดคดี “ผู้กำกับโจ้” ซึ่งผู้ต้องการซื้อ หรือประมูลรถยนต์จากต่างประเทศ จำเป็นต้องศึกษา และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อเครือข่ายมิจฉาชีพซื้อรถนำเข้าให้ถูกกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญการนำเข้ารถหรูในประเทศไทย แนะนำว่า การซื้อ “รถหรูนำเข้า” อย่างปลอดภัย ไร้ปัญหา มีวิธีง่ายๆ คือ เลือกซื้อกับโชว์รูมรถที่ได้มาตรฐาน มีเงื่อนไขการรับประกัน และการบริการที่ชัดเจน รวมถึงเป็นสมาชิกสมาคมผู้นำเข้า และจำหน่ายรถยนต์ใหม่ พร้อมมีใบรับรองการนำเข้าจากกรมศุลกากร (แบบ 32) มาแสดง หรือซื้อจากการจัดประมูลรถของกลาง ประจำปี ของกรมศุลกากร โดยรถของกลางนี้สามารถจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้ เนื่องจากกรมศุลกากร ได้ส่งรายละเอียดรถที่จะประมูลให้แก่กรมการขนส่งทางบกตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ หากมีการประมูลรถไปแล้ว แต่ไม่สามารถจดทะเบียนได้ ภายในเวลา 5 เดือน สามารถนำรถที่ประมูลไปกลับมาที่กรมศุลกากร เพื่อขอคืนเงินได้ รถประมูลมาจากไหน ? รถที่นำมาประมูลแบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 1. รถจากสถาบันการเงิน ที่ยึดมาขายทอดตลาด 2. รถอุบัติเหตุรุนแรง เรียกง่ายๆ ขายซากนั่นเอง 3. รถปลดระวางจากบริษัท หรือหน่วยราชการ 4. รถของกลาง คือ รถที่โดนตำรวจยึดมา หรือนำเข้าผิดกฎหมาย ส่วนมากจะเป็นรถสปอร์ทหรู 4 มาตรการสกัดขบวนการค้ารถหรู 1. ลดรางวัลนำจับ แต่เดิม รัฐจะจ่ายรางวัลนำจับให้แก่สายลับในอัตรา 30 % ผู้จับกุม 25% ของเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด หรือค่าปรับ ปัจจุบันมีการแก้กฎหมายรางวัลนำจับ (ตาม พรบ. ศุลกากร 2560 และระเบียบกรมศุลกากรว่าด้วยการจ่ายเงินสินบนและรางวัล พศ. 2560 มีผลเมื่อ 13 พย. 60) โดยปรับสูตรจ่ายแบบมีเพดานขั้นสูง ให้สายลับ 20 % ของราคารถที่ประมูลได้ แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ผู้จับกุม 20 % แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท 2. กรมการขนส่งทางบกเข้มงวดในการจดทะเบียนรถมากขึ้น โดยก่อนที่กรมศุลกากรจะนำรถยนต์ออกขายทอดตลาด รถทุกคันต้องจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจะถูกตรวจสอบข้อมูลอย่างเข้มงวด เช่น สอบประวัติการแจ้งหายกับตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) สอบการนำเข้าชิ้นส่วน หากมีก็จะตีเป็นรถจดประกอบ ทำให้จดทะเบียนไม่ได้ 3. ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 13 มิย. 62 กำหนดให้รถยนต์ใช้แล้ว รวมถึงรถจักรยานยนต์ เป็นสินค้าที่ต้องห้าม หรือต้องขออนุญาตในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พศ. 2562 รถที่นำเข้ามาแบบผิดกฎหมาย ทุกคันจะต้องทำลายทิ้งสถานเดียว ห้ามนำออกไปขายทอดตลาด ทุกวันนี้รถยนต์ที่กรมศุลกากรนำออกประมูล จึงเป็นรถยนต์ตกค้างก่อนปี 2562 ซึ่งเหลือไม่มากแล้ว 4. ปรับกติกาใหม่ โดยรถที่กรมศุลกากรนำออกขายทอดตลาด ต้องสามารถขับขี่ได้ รถที่อุปกรณ์ไม่ครบ ขับเคลื่อนไม่ได้ จะไม่ถูกนำขายทอดตลาดเด็ดขาด ง่าย แถมชัวร์ ! 2 วิธีตัดปัญหาซื้อรถผิดกฎหมาย 1. ตรวจสอบเอกสารกับตัวรถ ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดในเล่มทะเบียนรถว่า ตรงกับตัวรถหรือไม่ เช่น ยี่หัอ รุ่น ปี เลขเครื่อง เลขตัวถัง เลขทะเบียน สี ฯลฯ 2. ตรวจสอบกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อความมั่นใจสูงสุดว่า รถมือสองคันที่คุณจะซื้อนั้นเป็นรถที่ถูกกฎหมาย สามารถซื้อ-ขาย โอนเปลี่ยนชื่อเจ้าของได้ ไม่ใช่รถที่เคยนำไปก่อคดี ให้นำเลขทะเบียนไปตรวจสอบกับกรมการขนส่งทางบก เชครถสวมป้ายทะเบียน กรณีรถมือสอง ตัวรถ และเอกสารรถต้องตรงกัน ทั้งยี่ห้อ สี หมายเลขรถ หมายเลขตัวเครื่อง ป้ายวงกลม ป้ายทะเบียน ซึ่งต้องสังเกตให้ดี แผ่นป้ายทะเบียนจริง ด้านหน้าจะมีตัวเลข 10 หลัก ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะยิงด้วยเลเซอร์อยู่มุมล่างซ้ายมองเห็นชัดเจน พร้อมลายน้ำสัญลักษณ์ตราขนส่งทางบกทั้งแผ่นป้าย รวมถึงตัวอักษร ขส. ปั๊มนูนที่มุมล่างขวา กรณีรถหรูนำเข้า ต้องซื้อกับบริษัทนำเข้ารถยนต์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และราคาไม่ควรถูกเกินจริง หากราคาถูกมากๆ ตั้งข้อสังเกตไว้เลยว่า นำเข้าแบบผิดกฎหมาย ให้นำเล่มทะเบียนไปตรวจสอบความถูกต้องกับกรมการขนส่งทางบก และตรวจสอบรถผิดกฎหมายกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ห้ามนำเข้ารถใช้แล้ว ! ประกาศกระทรวงพาณิชย์ พศ. 2562 ห้ามนำรถยนต์ใช้แล้วเข้าประเทศ รวมถึงรถใช้แล้วที่มีอายุเกิน 100 ปี (รถโบราณ) เว้นแต่ รถยนต์ที่นำมาจัดแสดง หรือรถยนต์ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรสาธารณกุศล รถยนต์ที่นำเข้าโดยผู้มีเอกสิทธิ์ทางการทูต รถยนต์ที่นำเข้าตามแผนการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ รถยนต์เพื่อการศึกษาและวิจัย และรถยนต์ที่นำเข้าเพื่อปรับสภาพการส่งออก เป็นต้น **ภาษีรถนำเข้าคิดอย่างไร** กรมศุลกากรจะใช้ราคา CIF หรือ Cost+Insurance+Freight ซึ่งคือ ราคาขายของรถ รวมค่าอากร ค่าประกันภัย และค่าขนส่งจากต่างประเทศมาถึงที่ท่าเรือ ประเทศไทย เป็นฐานในการคำนวณภาษีรถยนต์นำเข้า ราคา CIF จะถูกกำหนดไว้ในเอกสารการนำเข้าอย่างชัดเจน โดยภาษีที่ต้องจ่ายประกอบด้วย 1. อากรขาเข้า ภาษีแรกที่ผู้นำเข้าต้องจ่าย ณ ท่าเรือก่อนนำรถออกจากท่าเรือ ในอัตรา 80 % ของราคา CIF 2. ภาษีสรรพสามิต ซึ่งกรมศุลกากรจะเก็บภาษีนี้พร้อมกับอากรขาเข้า ในอัตราต่างกันตั้งแต่ 30-50 % ขึ้นอยู่กับความจุกระบอกสูบ หรือขนาดเครื่องยนต์ เช่น รถยนต์ขนาดไม่เกิน 2,000 ซีซี จัดเก็บในอัตรา 30 % ของราคา CIF 3. ภาษีมหาดไทย อัตรา 10 % ของภาษีสรรพสามิต เพื่อส่งให้กระทรวงมหาดไทยนำไปบริหารประเทศ 4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7 % ของราคา CIF+อากรขาเข้า+ภาษีสรรพสามิต+ภาษีมหาดไทย