ใครที่กำลังสนใจรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ ต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “หัวชาร์จ” ในรถยนต์ไฟฟ้ากันเสียก่อน ว่ามีกี่ประเภท และแต่ละประเภทสามารถชาร์จไฟแตกต่างกันอย่างไร “autoinfo” จะพามาไขข้อข้องใจกัน...1. การชาร์จแบบธรรมดา (Normal Charge) การชาร์จไฟจากการต่อจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง มิเตอร์ไฟของบ้านต้องสามารถรองรับกระแสไฟฟ้าขั้นต่ำ 15 (45) A และเต้ารับไฟในบ้านต้องได้รับการติดตั้งใหม่ เป็นเต้ารับเฉพาะการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง เนื่องจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ไม่สามารถใช้เต้ารับแบบธรรมดาได้ ทั้งนี้การติดตั้งต้องได้รับมาตรฐานจากผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยในการใช้งานในระยะยาว การชาร์จในลักษณะนี้ เป็นการชาร์จจากไฟกระแสสลับ จึงใช้ระยะเวลาในการชาร์จมากขึ้นกว่าการชาร์จแบบ Wall Box อยู่ที่ประมาณ 12-15 ชั่วโมง โดยหัวชาร์จที่ใช้ ดังนี้ - Type 1 หัวชาร์จที่นิยมใช้ในทวีปอเมริกาเหนือ และประเทศญี่ปุ่น เป็นหัวชาร์จพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ ใช้กับแรงดันไฟฟ้าที่ 120V หรือ 240V - Type 2 หัวชาร์จที่นิยมใช้ในแถบทวีปยุโรป และประเทศไทย เป็นหัวชาร์จพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ รองรับแรงดันไฟฟ้าอยู่ที่ 120V หรือ 240V 2. การชาร์จแบบรวดเร็ว (Double Speed Charge) แบบมี Wallbox การชาร์จแบบรวดเร็ว ในบ้านเราเรียกว่า Wallbox เป็นการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสสลับ (Ac Charging) เช่น ตู้ชาร์จติดผนัง ที่ถูกติดตั้งตามบ้าน หรือห้างสรรพสินค้า การชาร์จแบบรวดเร็วนี้ จะใช้เวลาชาร์จมากกว่าแบบด่วน (Quick Charge) อยู่ที่ประมาณ 4-7 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับกำลังไฟของเครื่องชาร์จ Wallbox ขนาดของแบทเตอรี และสเปคของรถด้วย ทั้งนี้ การชาร์จจาก Wallbox สามารถชาร์จได้รวดเร็วกว่าการต่อจากเต้ารับภายในบ้านโดยตรง โดยหัวชาร์จที่นิยมใช้จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ - Type 1 เป็นหัวชาร์จที่ใช้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น - Type 2 เป็นหัวชาร์จที่นิยมใช้กับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในแถบทวีปยุโรป และในประเทศไทย 3. การชาร์จแบบด่วน (Quick Charge) การชาร์จแบบด่วน หรือ Quick Charge ในรถยนต์ไฟฟ้า ต้องชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (Dc Charging) เท่านั้น โดยสามารถชาร์จแบทเตอรีจาก 0-80 % ได้ในเวลาประมาณ 40-60 นาที ขึ้นอยู่กับความจุพลังงานแบทเตอรี (กิโลวัตต์ชั่วโมง) ความเร็วจากแหล่งจ่าย และความเร็วการรับพลังงานของรถยนต์แต่ละรุ่นด้วย การชาร์จแบบด่วนนี้ เหมาะกับผู้ที่ต้องการความรวดเร็วในการชาร์จ ซึ่งประเภทหัวชาร์จของ Ouick Charge ได้แก่ CHAdeMo, GB/T และ CCS - หัวชาร์จ CHAdeMo เป็นคำย่อจากคำว่า CHArge de Move แปลว่า “ชาร์จไฟแล้วขับต่อไป” จึงเป็นชื่อระบบชาร์จไฟฟ้าแบบเร็ว สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งระบบ CHAdeMo มีการใช้แพร่หลายในประเทศญี่ปุ่น - หัวชาร์จแบบ GB/T เป็นหัวชาร์จที่ประเทศจีนเป็นผู้พัฒนาขึ้น สำหรับใช้ภายในประเทศ เพื่อตอบรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในประเทศจีน - หัวชาร์จแบบ CCS คำว่า CCS ย่อมาจาก Combined Charging System ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกได้อีก 2 ประเภท คือ 1. “CCS Type 1” เป็นหัวชาร์จที่ใช้กับรถยนต์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ลักษณะของหัวชาร์จมีขนาดเล็กกว่า CCS Type 2 และรองรับแรงดันไฟฟ้าที่ 200-500V และ 2. “CCS Type 2” เป็นหัวชาร์จที่นิยมใช้ในทวีปยุโรป หัวชาร์จประเภทนี้จะมีขนาดใหญ่กว่า และมีกำลังไฟมากกว่าหัวชาร์จ CCS Type 1 ในประเทศไทยนิยมใช้หัวชาร์จประเภทนี้ อยากติด Wallbox ต้องเพิ่มขนาดมิเตอร์หรือไม่ ? สำหรับใครที่กำลังเล็งว่าจะซื้อรถไฟฟ้า แล้วต้องการติดตั้งเครื่องชาร์จไฟฟ้า (Wallbox) ควรต้องทำความเข้าใจระบบไฟฟ้าในบ้านของตัวเองก่อน ไม่เช่นนั้นระบบไฟฟ้าภายในบ้านคุณจะเกิดปัญหาได้ ดังนั้น เราควรทำความเข้าใจกับ 5 สิ่งต่อไปนี้ 1. ขนาดมิเตอร์ไฟฟ้า สำรวจมิเตอร์ไฟฟ้าในบ้าน โดยปกติขนาดมิเตอร์ของบ้านพักอาศัยจะเป็นแบบ 15 (45) 1 เฟส (1P) หมายถึง มิเตอร์ขนาด 15 แอมป์ (A) และสามารถใช้ไฟได้มากถึง 45 (A) แต่สำหรับท่านที่ต้องการชาร์จไฟกับรถยนต์ด้วย ทางการไฟฟ้าแนะนำให้เปลี่ยนขนาดมิเตอร์เป็นขนาด 30 (100) โดยให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อป้องกันการใช้ไฟฟ้าที่มากเกินปกติ ส่วนคำถามยอดฮิทที่ว่า “ต้องเปลี่ยนระบบไฟเป็น 3 เฟส” หรือไม่ ? คำตอบ คือ ขึ้นอยู่กับความเร็วที่ต้องการในการชาร์จ หากต้องการชาร์จในช่วง 3.7-7.4 กิโลวัตต์ชั่วโมง ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน แต่หากต้องการชาร์จให้เร็วกว่านี้ควรเปลี่ยนเป็น 3 เฟส แต่ก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ และการประเมินของการไฟฟ้าด้วย 2. เปลี่ยนสายเมน และลูกเซอร์กิท สำหรับสายเมนของเดิมใช้ขนาด 16 ตร.มม. ต้องปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 25 ตร.มม. และเปลี่ยนลูกเซอร์กิท (MCB) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันร่วมกับตู้ MDB ที่แต่เดิมรองรับได้สูงสุด 45 (A) เปลี่ยนเป็น 100 (A) เพื่อให้ขนาดมิเตอร์ ขนาดสายเมน และขนาดลูกเซอร์กิท สอดคล้องกัน 3. ตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB) ตรวจสอบภายในตู้ว่ามีช่องว่างสำรองเหลือให้ติดตั้ง Circuit Breaker อีก 1 ช่องหรือไม่ เพราะการชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้าต้องใช้เฉพาะ ไม่ควรร่วมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ แต่หากตู้หลักไม่มีช่องว่างพอ ก็ควรเพิ่มตู้ควบคุมย่อยใหม่อีก 1 จุด 4. เครื่องตัดไฟรั่ว (RCD) เป็นเครื่องตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ ที่จะตัดวงจรไฟฟ้าเมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านเข้า/ออกมีค่าไม่เท่ากัน ซึ่งอาจส่งผลให้ไฟฟ้าลัดวงจร และเกิดเพลิงไหม้ได้ในอนาคต หากบ้านไหนมีระบบตัดไฟภายในบ้านอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องติดตั้งเพิ่ม แต่ควรมีระบบตรวจจับ Dc Leakage Protection 6 Ma เพื่อป้องกันกระแสไฟตรงรั่วไหล 5. เต้ารับ (EV Socket) สำหรับการเสียบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจะเป็นชนิด 3 รู (มีสายต่อหลักดิน) ต้องทนกระแสไฟฟ้าได้ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 16 (A) โดยรูปทรงสามารถปรับได้ตามรูปแบบของปลั๊กรถยนต์แต่ละรุ่น (ในกรณีชาร์จแบบ Normal Charge) ชาร์จที่บ้านปลอดภัยไหม ? สายชาร์จที่แถมมากับรถ เป็นเพียง Emergency Charge ไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเท่านั้น เพื่อให้มีไฟพอขับกลับบ้านได้ เพราะหากใช้งานเป็นประจำ อาจเกิดความร้อนสะสมที่เต้าเสียบไฟ เนื่องจากสายไฟบ้านทั่วไป ทนกระแสไฟได้ 10A หรือน้อยกว่า แต่สายชาร์จแถม (Mode 2) สามารถดึงกระแสไฟได้สูงสุดถึง 12A ซึ่งเกินจากสายไฟบ้านรับได้ ! Wallbox เนื้อคู่รถ EV มีคำแนะนำจากการไฟฟ้านครหลวงว่า หากต้องการชาร์จรถ EV ที่บ้านอย่างเหมาะสม ต้องติดตั้ง Wallbox EV Charger (เครื่อง Mode 3) เพื่อความปลอดภัย ซึ่งรับกระแสไฟได้ 16-32A ทำให้สามารถชาร์จได้เต็มประสิทธิภาพของรถยนต์แต่ละรุ่น และมีระบบตัดไฟเมื่อชาร์จเต็ม หรือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น กระแสไฟเกิน ความร้อนเกิน เป็นต้น ** รถ EV ควรชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้งทุกสัปดาห์/การชาร์จไฟเข้ารถ EV จนเต็มทุกสัปดาห์ ก็เพื่อกระตุ้นเซลล์เก็บประจุให้ทำงาน ช่วยลดการเสื่อมของแบทเตอรี ในการใช้งานระยะยาว** อ่านต่อ : 5 คำถาม-คำตอบ ก่อนออกรถ EV ! อ่านต่อ : พ่วงแบทเตอรีอย่างถูกวิธี ใครๆ ก็ทำได้
บทความแนะนำ