ธุรกิจ
8 จุดสำคัญ ควรเชคสภาพ ก่อนเดินทางไกล
ปีใหม่ เป็นการต้อนรับสิ่งใหม่ของทุกคน สำหรับการทำงานหนักกันมาทั้งปี พอถึงช่วงวันหยุดยาว หลายคนมีแผนเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัว พาครอบครัวเดินทางไปท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบัน นอกจากเดินทางโดยเครื่องบินแล้วการขับรถยังเป็นที่นิยมกันมากขึ้น ดูได้จากจำนวนยอดขายรถยนต์ที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี โดยเฉพาะในช่วงปลายปีที่ลูกค้าจะซื้อรถเพื่อเดินทาง เพื่อให้การเดินทางในช่วงวันหยุดยาว ราบรื่น ปลอดภัย ไม่สะดุดเพราะปัญหารถเสียกลางทาง ควรเตรียมตัวให้พร้อมโดยการตรวจเชครถก่อนเดินทางไกล วันนี้ เราขอแนะนำ 8 จุดที่ควรเชคสภาพรถเบื้องต้น ก่อนออกเดินทางไกล
การเชคสภาพรถไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอย่างที่คิด คุณสามารถตรวจเชคแบบคร่าวๆ ได้ด้วยตนเอง หากมีจุดไหนที่ไม่พร้อม หรือเกิดความผิดปกติ คุณจะได้รู้ล่วงหน้าก่อนที่มันจะลุกลามกลายไปเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้การเดินทางของคุณหมดสนุก และอาจต้องเสียเงินเสียทองไปกับการซ่อมครั้งใหญ่ สำหรับจุดที่ควรต้องเชคเป็นพิเศษ มีดังนี้
1. แบทเตอรีรถยนต์
แบทเตอรี เป็นหัวใจหลักของการสตาร์ทเครื่องยนต์ มี 3 แบบ ได้แก่ น้ำ แห้ง และกึ่งแห้ง ถ้าเป็นแบบน้ำจะต้องเติมน้ำกลั่น และได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นประจำ เพราะเมื่อใช้ไปสักระยะ น้ำที่อยู่ภายในจะระเหยออกไป จึงต้องคอยเติมอยู่เสมอไม่ให้ขาด และอย่าเติมล้นเกินไป เพราะเมื่อน้ำเดือด กรดจะล้นออกมากัดขั้ว หรือตัวถังรถได้
ส่วนแบบแห้งไม่ต้องดูแลอะไรมาก แต่แบบแห้งแท้ๆ ราคาค่อนข้างสูง และอายุการใช้งานจะสั้นกว่าแบบน้ำ
แบบที่นิยมใช้กันมากที่สุด คือ แบบกึ่งแห้ง ซึ่งจะต้องเติมน้ำกลั่นปีละ 1-2 ครั้ง หากละเลยไม่เติมน้ำกลั่นก็จะทำให้แบทเตอรีเสียหาย และรถสตาร์ทไม่ติด
ควรตรวจดูสภาพของแบทเตอรีว่าอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ หมั่นทำความสะอาดคราบขี้เกลือที่ขั้วแบทเตอรี ตรวจสอบความแน่นของขั้ว และฉนวนหุ้มสาย เชคระดับน้ำกลั่นให้อยู่ในระดับที่กำหนด และเติมน้ำกลั่นให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม และอย่าลืมเชควันหมดอายุการใช้งานของแบทเตอรีเพื่อให้แน่ใจว่ายังใช้งานได้ดีอยู่หรือไม่ หมั่นสังเกตอาการ ถ้าเมื่อไรที่เริ่มสตาร์ทติดยาก แบทเตอรีอาจหมดอายุการใช้งาน (โดยทั่วไปมีอายุการใช้งานประมาณ 3 ปี) ให้เตรียมเปลี่ยนตัวใหม่ได้เลย
2. ล้อ และยางรถยนต์
ล้อ และยางรถยนต์เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน เป็นอีกจุดสำคัญที่ไม่ควรพลาด เพราะอุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนหนึ่งเกิดจากยางระเบิดขณะขับขี่ ดังนั้น สิ่งที่ควรเชค คือ ความดันลมยาง รอยแตกของยาง และความลึกของดอกยาง
ยางทั้ง 4 ล้อ รวมทั้งยางอะไหล่ ต้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ไม่รั่วซึม ไม่มีรอยแตก มีดอกยางเพียงพอ ส่วนล้อก็ควรอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่บิดเบี้ยว และที่สำคัญ ต้องเชคให้แน่ใจว่ามีการขันนอทล้อจนแน่นหรือไม่
วิธีเชคลมยางรถยนต์ ให้เคาะยางดูว่าลมยางอ่อนหรือไม่ ลมยางของแต่ละล้อควรอยู่ในปริมาณที่พอดีตามที่คู่มือประจำรถกำหนด ถ้ามีล้อไหนลมหายไปเยอะผิดปกติกว่าเส้นอื่น ควรรีบหาสาเหตุ และถ้ายางรั่วควรนำไปปะทันที ถ้าจะให้ดีควรเติมลมเพิ่มอีกสักหน่อยก่อนออกเดินทาง โดยเลือกปริมาณลมตามมาตรฐานของยางที่ใช้ คุณสามารถวัดปริมาณลมยางได้โดยใช้มาตรวัดลมยางที่มีให้บริการตามปั๊มน้ำมัน หรือจะซื้อหามาไว้ใช้เอง ปัจจุบันก็มีขายทั่วไปแล้ว และราคาไม่แพง
เชคหน้ายางว่ามีรอยฉีกขาด หรือรอยแตกหรือไม่ และมีดอกยางเหลือมากน้อยแค่ไหน ถ้าหน้ายางมีรอยแตกมาก หรือมีดอกยางเหลือน้อย สภาพยางไม่ไหวแล้ว แนะนำให้คุณเปลี่ยนยางเส้นใหม่
3. น้ำมันเบรค และระบบเบรค
ระบบเบรคเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในการขับขี่ทางไกล ถ้าเบรคมีสภาพไม่สมบูรณ์อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น ควรสังเกตผ้าเบรค และเสียงเบรคว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ปกติหรือไม่ วิธีเชค คือ เหยียบเบรค แล้วฟังว่ามีเสียงดังผิดปกติหรือไม่ หากมี แสดงว่าผ้าเบรคอาจมีปัญหา ควรเข้าอู่ให้ช่างแก้ไขโดยด่วน
ในส่วนของน้ำมันเบรค ซึ่งมีระดับอยู่ระหว่าง Min กับ Max ถ้าในระดับปกติต้องไม่เกิน Max และไม่ต่ำกว่า Min แต่ถ้าเห็นว่าน้ำมันเบรคพร่องหายไป ควรรีบหาสาเหตุความผิดปกตินั้นทันที หรือนำรถไปให้ช่างผู้ชำนาญ เชคสภาพรถ และแก้ไขทันที เพราะในความเป็นจริง ระบบเบรคเป็นระบบปิด น้ำมันเบรคจะไม่สามารถระเหยออกไปได้เอง เว้นแต่กรณีผ้าเบรคสึก หรือมีจุดรั่วไหล
4. ช่วงล่าง
การตรวจสอบช่วงล่างของรถยนต์เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะต้องมีเครื่องมือ และอาศัยความชำนาญด้านช่างยนต์เป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีสุดสำหรับการตรวจเชคช่วงล่างรถยนต์ด้วยตัวเองทำได้โดยสังเกตจากอา การที่บ่งบอกว่าช่วงล่างกำลังมีปัญหา ดังนี้
การออกตัวรถ และกำลังหยุดรถ ทั้งเดินหน้า และถอยหลัง ถ้ามีเสียงดังกึกกักเบาๆ แสดงว่าบูชปีกนกอาจจะมีปัญหา
เมื่อทดลองขับขี่บนถนนขรุขระจะมีเสียงดังกุกกัก แสดงว่าลูกหมากปีกนกอาจจะมีปัญหา
เมื่อลองขับขี่บนถนนขรุขระแล้วรถสะเทือนขึ้นมาจนถึงพวงมาลัย แสดงว่าลูกหมากแรคอาจจะมีปัญหา หรือถ้าลูกหมากแรคแน่นอยู่แล้ว ยางรัดแรคอาจจะมีปัญหา
เมื่อลองขับขี่บนถนนเรียบทางตรงแล้วพวงมาลัยมีอาการเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง แสดงว่าบูชปีกนกอาจจะมีปัญหา
เมื่อลองขับขี่ในทางตรง แต่รู้สึกได้ว่าล้อไม่ตรง และไม่สามารถควบคุมให้รถนิ่งได้ แสดงว่าลูกหมากแรคอาจจะมีปัญหา
เมื่อลองขับขี่บนถนนขรุขระแล้วพวงมาลัยดึง และหลวม มีเสียงดังกุกกัก แสดงว่าลูกหมากคันชักอาจจะมีปัญหา
ชอค ก็เช่นเดียวกัน ตรวจเชคคราบน้ำมันบริเวณแกนชอคว่ารั่วหรือไม่ เพราะระบบช่วงล่างทั้งหมดมีผลต่อการทรงตัวขณะขับขี่
อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณความผิดปกติที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ให้รีบนำรถเข้าศูนย์ หรืออู่ซ่อมรถเพื่อตรวจเชคโดยด่วน อย่าฝืนใช้รถต่อไปเรื่อยๆ เพราะผลเสียหายจะไม่คุ้มกันเลย
5. น้ำมันเครื่อง
น้ำมันเครื่องช่วยหล่อลื่นให้เครื่องยนต์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ น้ำมันเครื่องที่ดีจะต้องผ่านการใช้งานไม่เกินระยะทางที่คู่มือกำหนด ระดับน้ำมันเครื่องจะต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งคุณสามารถตรวจเชคได้จากก้านวัดน้ำมันเครื่อง
ควรหมั่นตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่องอย่างส่ำเสมอ ทำได้โดยจอดรถให้อยู่แนวราบ เปิดกระโปรงรถ มองหาก้านวัดระดับน้ำมันเครื่อง แล้วดึงก้านวัดขึ้นมา ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดน้ำมันเครื่องที่ติดอยู่บนก้านวัด เสียบก้านวัดคืนจุดเดิมแล้วดึงขึ้นมาเพื่อเชคอีกครั้ง ให้สังเกตแถบน้ำมันเครื่องที่ติดอยู่บนก้านวัด ควรอยู่ระหว่างขีด F กับ L หรือ Max กับ Min แต่ถ้ามาก หรือน้อยเกินไปควรเติม หรือลดน้ำมันเครื่องให้อยู่ในระดับปกติ
อย่าปล่อยให้น้ำมันเครื่องแห้งเด็ดขาด ไม่เช่นนั้นเครื่องยนต์อาจพังได้ และอย่าลืม ก่อนออกเดินทางไกล ควรมีน้ำมันเครื่องสำรองติดรถไว้อย่างน้อย 1 ลิตร เผื่อได้ใช้ในยามฉุกเฉิน
6. น้ำมันเกียร์อัตโนมัติ น้ำมันคลัทช์ น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์
การเชคสภาพรถในส่วนของน้ำมันเกียร์อัตโนมัติ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ จอดรถบนทางราบ และใส่เบรคมือ จากนั้นสตาร์ทเครื่องยนต์แล้วเปลี่ยนเกียร์ ไล่ไปตั้งแต่ตำแหน่ง P จนถึง L หรือ 1 เมื่อเปลี่ยนเกียร์แต่ละตำแหน่งให้ค้างไว้ที่ตำแหน่งนั้นๆ สักครู่ แล้วจึงค่อยเลื่อนเปลี่ยนเกียร์ถัดไป เสร็จทุกเกียร์แล้วจึงเลื่อนมา P หรือ N ดึงก้านวัดระดับเกียร์อัตโนมัติออกมาแล้วเช็ดทำความสะอาดก่อน จากนั้นใส่ก้านวัดกลับเข้าไปแล้วดึงออกมาใหม่ คราวนี้สังเกตดูว่าระดับน้ำมันที่ติดออกมาอยู่ตรงตำแหน่งไหน ซึ่งถ้ายังอยู่ตรง H หรือ Hot แสดงว่าระดับน้ำมันเกียร์อัตโนมัติปกติ
สำหรับรถยนต์เกียร์ธรรมดา ให้สังเกตระดับ Min กับ Max โดยระดับน้ำมันคลัทช์ต้องอยู่ระหว่างกลาง ไม่มากไม่น้อยไปกว่าจุดที่กำหนด และถ้าเห็นว่าน้ำมันคลัทช์หายมากจนผิดปกติ ให้รีบหาสาเหตุ หรือนำรถไปให้ช่างผู้เชี่ยวชาญตรวจเชค และแก้ไขทันที
ส่วนน้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ มีวิธีเชคแบบเดียวกัน คือ ดูระดับ Min กับ Max ซึ่งต้องไม่น้อย หรือเกินกว่าจุดที่กำหนด และถ้าระดับน้ำมันหายไปมากผิดปกติ ควรรีบตรวจหาสาเหตุ หรือให้ช่างแก้ไขทันที
7. หม้อน้ำ ท่อยาง และระบบหล่อเย็น
ระบบระบายความร้อนถือเป็นหัวใจหลักอีกส่วนหนึ่งของเครื่องยนต์ เพราะถ้ามีความร้อนสะสมในขณะที่เครื่องยนต์ทำงาน บวกกับอุณหภูมิภายนอกที่ร้อน หากระบบระบายความร้อนไม่ดี หรือมีปัญหา อาจทำให้เครื่องยนต์นอคได้
ดังนั้น คุณควรควรตรวจสอบระบบหล่อเย็นอยู่เสมอ เชคระดับน้ำหล่อเย็นในหม้อพัก และหม้อน้ำว่ายังมีน้ำอยู่ไหม เชคว่าพัดลมหม้อน้ำ และมอเตอร์ยังทำงานเป็นปกติหรือไม่ ตรวจสอบรอยรั่วของหม้อน้ำ ท่อยาง และข้อต่อต่างๆ หากตรวจพบว่ามีน้ำไหลซึม ควรรีบแก้ไขโดยด่วน
แนะนำให้ตรวจเชคน้ำยาหล่อเย็นในหม้อน้ำในตอนเช้าๆ ก่อนสตาร์ทเครื่องยนต์ หรือเชคในตอนที่เครื่องยนต์ไม่มีความร้อนดีที่สุด ส่วนการสังเกตความผิดปกตินั้น ให้เปิดฝาหม้อน้ำ หรือถังพักน้ำสำรอง ดูสี และสภาพว่ายังดูดีอยู่หรือไม่ ถ้าน้ำลดหายไป ควรเติมเข้าไปโดยใช้น้ำยาหล่อเย็น (Coolant) หรือใช้น้ำเปล่าสะอาดผสมกันในอัตราส่วน 50:50 ลงในหม้อน้ำจนถึงขีด Max (เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น) และถ้าพบว่าสภาพน้ำมีสีคล้ายสนิม ควรเปลี่ยนถ่ายทันที
รถบางรุ่นกำหนดระยะเวลาให้เติมน้ำยาหล่อเย็นทุกๆ 2 ปี หรือ 40,000 กม. บางรุ่นกำหนดไว้ที่ 100,000-200,000 กม. หากมีการเชคตามระยะอยู่เสมอ ระบบหล่อเย็นก็จะไม่มีปัญหา
8. ระบบไฟส่องสว่าง
คุณจำเป็นต้องเชคระบบไฟส่องสว่าง และสัญญาณไฟต่างๆ เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง โดยเฉพาะในตอนกลางคืน หรือเมื่อขับขี่ผ่านจุดที่มีแสงน้อย โดยควรตรวจเชคระบบไฟทุกส่วน ทั้งไฟหน้าสูง-ต่ำ ไฟท้าย ไฟเบรค ไฟเลี้ยว ไฟถอยหลัง ไฟตัดหมอก ไฟฉุกเฉิน ฯลฯ ต้องใช้งานได้ครบทุกจุด แสงต้องสว่างเต็มศักยภาพ ไม่มัว
วิธีเชค ให้ตรวจดูไฟส่องสว่างทุกดวงว่าอยู่ในสภาพใช้งานได้ปกติหรือไม่ หากจุดไหนไม่สว่าง หรือติดๆ ดับๆ ควรรีบนำรถไปให้ช่างแก้ไข หรือหาหลอดใหม่เปลี่ยนเข้าไปแทน
ชิ้นส่วนที่ไม่ควรละเลย
นอกจาก 8 จุดสำคัญข้างต้น ไส้กรองอากาศรถยนต์ก็เป็นอีกส่วนที่ควรดูแลก่อนเดินทางไกล จะได้ไม่มีฝุ่นละออง หรือสิ่งสกปรกผ่านเข้าไปในห้องเผาไหม้ คุณสามารถทำความสะอาดส่วนนี้ได้เอง ถ้าเป็นแบบแห้ง ให้ถอดมาเป่าไล่เศษฝุ่นออกให้หมด ถ้าเป็นแบบเปียก ให้นำไปล้างแล้วลงน้ำยาใหม่ หรือถ้าสกปรกมาก และสภาพไม่ค่อยดีแล้ว ควรเปลี่ยนใหม่
ส่วนไส้กรองระบบปรับอากาศภายในรถยนต์ ซึ่งเป็นส่วนที่จะทำให้อากาศภายในรถยนต์สะอาด คุณจะได้หายใจโล่งปอดไปตลอดทาง ถ้าพบว่าสกปรก หรือเสื่อมสภาพ ควรถอดออกมาแล้วเปลี่ยนอันใหม่เข้าไป ไม่แนะนำให้ทำความสะอาดแล้วใช้ซ้ำ เพราะปัจจุบันไส้กรองชนิดนี้ราคาไม่แพงแล้ว
อย่าลืมเตรียมเครื่องมือประจำรถไว้ด้วย
เหตุฉุกเฉินเป็นอะไรที่คาดไม่ถึง ดังนั้น คุณควรเตรียมเครื่องมือประจำรถไว้ให้พร้อม เช่น ล้อ-ยางอะไหล่ แม่แรง ชุดเครื่องมือในการถอดล้อ ที่เติมลมฉุกเฉิน สายพ่วงแบทเตอรี สายลากรถ ไฟฉาย แผ่นรองพื้นกันเปื้อน ผ้าอเนกประสงค์สำหรับเช็ดเบาะรถยนต์ (เผื่อว่ามีอะไรหกเลอะระหว่างทาง) ฯลฯ ซึ่งควรมีติดรถไว้ นอกจากจะช่วยให้คุณอุ่นใจยามเดินทางแล้ว บางครั้งยังได้แสดงน้ำใจช่วยเหลือรถคันอื่นที่ประสบปัญหาได้อีกด้วย
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้นเกี่ยวกับวิธีดูแลรถยนต์ของคุณก่อนเดินทางไกล หากพบอะไรผิดปกติก็จงอย่ารีรอที่จะแก้ไข อย่างไรก็ตาม หากเป็นเรื่องที่ไม่มีความรู้ ความชำนาญ หรือไม่แน่ใจ ควรนำรถยนต์ไปเข้าศูนย์ หรือให้อู่ซ่อมรถที่เชื่อถือได้ช่วยตรวจเชคจะดีที่สุด
ABOUT THE AUTHOR
นุสรา เงินเจริญ
บรรณาธิการข่าวธุรกิจและสังคม รักการอ่าน ขอบงานเขียน ชอบพบปะผู้คน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้บริหารในวงการยานยนต์ไทย ท่องเที่ยว เป็นประสบการณ์ที่ดี พร้อมได้ เปิดโลก ได้พัฒนาตัวในแวดวงสื่อสารมวลชน
ภาพโดย : บริษัทผู้ผลิตคอลัมน์ Online : ธุรกิจ (บก. ออนไลน์)