ธุรกิจ
Changan ลงทุนตั้งฐานผลิตในไทย

ดับบลิวเอชเอ ปิดดีลเอฟดีไอครั้งใหญ่แห่งปี ! กับ ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชียฯ ซื้อขายที่ดิน 250 ไร่ ตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแห่งแรกเพื่อส่งออกทั่วโลก ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ด้วยมูลค่าโครงการเฟสแรกกว่า 8,862 ล้านบาท
เซิน ซิงหัว (Shen Xinghua) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชีย จำกัด และกรรมผู้จัดการและประธานกรรมการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชียฯ ได้ลงนามซื้อขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ภายใต้การสนับสนุนจากบีโอไอ ในการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญในการตัดสินใจลงทุนครั้งใหญ่นี้ เนื่องจากประเทศไทย และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เป็นตัวเลือกที่สมบูรณ์แบบ ด้วยทำเลที่ตั้ง และชื่อเสียงของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในฐานะผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมชั้นนำของภูมิภาค ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 มีสิ่งที่เรามองหา ทั้งทำเลที่ตั้งอันโดดเด่นบนพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี ทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ ระบบสาธารณูปโภค และบริการระดับเวิร์ลด์คลาสส์ รวมไปถึงการขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง นอกจากนั้นแล้ว ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ยังมีบทบาทสำคัญในการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนของ ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชียฯ โดยเรามีแผนใช้เงินลงทุนในเฟสแรกกว่า 8,862 ล้านบาท เพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวา ทั้งประเภท BEV, PHEV, REEV (Range Extended EV) สำหรับจำหน่ายในไทย และส่งออกสู่ภูมิภาคอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ และแอฟริกาใต้ ด้วยกำลังการผลิตรถยนต์ 100,000 คัน/ปี รวมถึงจัดตั้งโรงงานผลิตแบทเตอรีรถยนต์ไฟฟ้า คาดว่าจะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2568 นอกจากนี้ เรายังเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยมากกว่าการเป็นฐานการผลิต จึงมีแผนจัดตั้งศูนย์วิจัย และพัฒนารถยนต์ในไทยในระยะต่อไปอีกด้วย โดยเฟสที่ 2 ขยายพื้นที่เพิ่มอีก 300 ไร่ และจะเพิ่มการผลิตเป็น 200,000 คัน
จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การซื้อขายที่ดินครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่แห่งปีของความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ตลอดจนเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าประเทศไทย คือ จุดหมายด้านการลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทคจากต่างประเทศที่สำคัญของเอเชีย
นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 เป็นนิคมอุตสาหกรรมลำดับที่ 9 ของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในประเทศไทย มีพื้นที่ทั้งหมด 2,443 ไร่ (รวมพื้นที่ส่วนขยาย) ตั้งอยู่ในทำเลยุทธศาสตร์ของอีอีซีที่เอื้อต่อการส่งออกสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ได้รับการออกแบบให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์อัจฉริยะ (Smart ECO Industrial Estate) โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานระดับโลก เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทอล และนวัตกรรมล่าสุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง การรักษาความปลอดภัย การควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการผลิต และการบำบัดน้ำเสีย และมีการเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมส่วนกลางของดับบลิวเอชเอ (Unified Operation Center หรือ UOC) ที่สำนักงานใหญ่ ดับบลิวเอชเอ ทาวเวอร์ ย่านบางนา ทำให้บริษัทฯ สามารถตรวจสอบสภาวะด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน The Ultimate Solution for Sustainable Growth
ทั้งนี้ การเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของโลกจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการขยายคลัสเตอร์ยานยนต์ในอีอีซีอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยมีมูลค่าการลงทุนกว่า 1.44 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นหนึ่งในศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าสำคัญของโลกต่อไป โดยที่ผ่านมา บีโอไอได้อนุมัติโครงการยานยนต์ไฟฟ้าไปแล้ว 23 โครงการ จาก 16 บริษัท และภายในปี 2573 รถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะมีสัดส่วน 30 % ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของประเทศไทย หรือ 725,000 คัน/ปี
“การตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยของ ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชียฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าบนเวทีโลก เพราะนอกจากแสดงถึงความเชื่อมั่นของ ฉางอาน ออโต้ เซ้าท์อีส เอเชียฯ ที่มีต่อประเทศไทย ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ศักยภาพของตลาด นโยบายเชิงรุกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งระบบลอจิสติคส์ และซัพพลายเชนที่ครบวงจร พร้อมรองรับการผลิต ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป พร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์ชาติในการผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ตลอดจนการขยายเครือข่ายสถานีชาร์จ และการผลิตแบทเตอรีสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจร สู่การบรรลุเป้าหมายการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle) ภายในปี 2573 หรือ 2030 ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของ ดับบลิวเอชเอ กรุ๊ป ที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยแกสเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (Net Zero Greenhouse Gas by 2050)”