กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย พร้อมด้วย วราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จํากัด ร่วมเปิดงานเสวนาครั้งสำคัญเเห่งปี EV Tech Forum 2023 ภายใต้คอนเซพท์ "สร้างธุรกิจใหม่ ตอบโจทย์ระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งงานเสวนาดังกล่าวจัดโดยสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) ร่วมกับ บริษัท อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ จํากัด จัดขึ้น ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ 203 ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
เสวนาโดย กฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมสนับสนุนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ เเละโอกาสทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการต่อยอดเเนวคิดการทำธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตสูง เเละสอดคล้องกับนโยบายสากลเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน จากการที่เราได้เห็นถึงสถิติการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย และการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจในระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังขยายตัว เพื่อรองรับความต้องการตั้งแต่ชิ้นส่วน ซอฟท์แวร์ ระบบการบริหารจัดการในภาคการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ และระบบการบริหารจัดการแบทเตอรีที่ใช้งานแล้ว รวมไปถึงการรีไซเคิลแบทเตอรี รวมถึงแอพพลิเคชัน และระบบการจ่ายเงินต่างๆ (Payment Gateway) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท
ต่อด้วยช่วงไฮไลท์งานเสวนา EV Tech Forum 2023 ในคอนเซพท์ “สร้างธุรกิจใหม่ ตอบโจทย์ระบบนิเวศน์ยานยนต์ไฟฟ้า” เริ่มด้วย รศ.ดร. ยศพงษ์ ลออนวล หัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เเละนายกกิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า “สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ตั้งเเต่ปี 2015 ในช่วงนั้นยานยนต์ไฟฟ้ายังถูกตั้งคำถามในสังคม เเละส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อว่ายานยนต์ไฟฟ้าจะสามารถเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย เเต่เรามองว่ามันเป็นอนาคตแน่นอน ถ้าประเทศไทยไม่เริ่มในตอนนั้น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าไทยจะยังไม่สามารถก้าวหน้าได้เท่านี้ ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยยังเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย โดยหลายปีก่อนชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า หรือเเบทเตอรีในยานยนต์ไฟฟ้ายังไม่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในประเทศ ยังต้องนำเข้าเกือบทุกอย่าง นอกจากนี้ เมื่อประมาณ 6 ปีที่เเล้ว สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยก็ได้มีส่วนสำคัญในการผลักดันในการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าขึ้นในประเทศ และได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐในตอนนั้น ซึ่งเราถือเป็นองค์กรเเรกๆ ที่ริเริ่มสร้างผู้ประกอบการที่สามารถให้บริการการอัดประจุไฟฟ้า นอกจากนี้ ในฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ผมได้มีส่วนในการก่อตั้งศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยตอนนี้ศูนย์วิจัย MOVE มีโครงการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่มีนวัตกรรมเป็นของตนเอง ให้สามารถขอทุนสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการนำผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาด ภายใต้โครงการสนับสนุนนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ ในสาขาธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง จากทางสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้ทาง https://mandatory.nia.or.th และได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้-15 ธันวาคม 2566
วิญญู เหล่าวัฒนา รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท โฟตอน ซีพี มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า Foton เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยานยนต์เพื่อการพาณิชย์ อันดับ 1 ในจีน ดำเนินธุรกิจมามากกว่า 27 ปี มียอดผลิต และจำหน่ายมากกว่า 460,000 คัน ในปีที่ผ่านมา และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือ ซีพี กลุ่มเครือข่ายธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีเป้าหมายสำคัญในการที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อส่งมอบคุณค่าให้แก่ประเทศชาติ และสังคมอย่างยั่งยืน ซีพี โดยกลุ่มธุรกิจยานยนต์ และอุตสาหกรรม (จีน) ได้ร่วมทุนกับ Foton ทำการผลิต เเละจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศไทย โดยร่วมกับ ธนบุรีประกอบยนต์ฯ จัดตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า สู่ไลน์การผลิต เเละจำหน่ายทั้งในไทย และส่งออกสู่ภูมิภาคเอเชีย
เมื่อกล่าวถึงปัญหา เเละอุปสรรค จากช่วงเริ่มต้นในการนำเข้า และทำตลาดรถบรรทุกไฟฟ้าในประเทศไทย ผู้ประกอบการฯ ในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับต้นทุนการขนส่งมากที่สุด ราคาจึงเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ที่ผู้ประกอบการใช้พิจารณา แต่สิ่งที่เหนือไปกว่านั้น คือ เรื่องของการบริการหลังการขาย และอะไหล่ ซึ่งรถบรรทุกไฟฟ้าเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย และทางเรามีความเข้าใจ และให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะ Foton คือ ผู้พัฒนา และผลิตยานยนต์เพื่อการพาณิชย์โดยตรง ที่มีทั้งองค์ความรู้ และการวางแผนงานเรื่องอะไหล่ และการซ่อมบำรุงเป็นอย่างดี สำหรับประเทศไทย เรามีโชว์รูมขายพร้อมศูนย์บริการ และอะไหล่มาตรฐานกว่า 20 แห่ง พร้อมให้บริการกับผู้ประกอบการอยู่ทั่วประเทศ พร้อมการรับประกันคุณภาพทั้งตัวรถ และระบบไฟฟ้า ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งได้อย่างแน่นอน
ในส่วนของโอกาสทางธุรกิจ Foton กำลังก่อตั้งโรงงาน เเละมองหา Sourcing Supplier ที่จะต่อยอดธุรกิจในอนาคต ซึ่งทางเรามีการร่วมมือกับสมาคมยานยนต์ไฟฟ้า ในการร่วมมือสรรหา Supplier ภายในประเทศ เพื่อดำเนินธุรกิจร่วมกันอีกด้วย
วิศิษฎ์ พิทยะวิริยากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด (ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ BYD) กล่าวว่า BYD ถือเป็นน้องใหม่ในวงการรถยนต์ในประเทศไทย เราเป็นผู้จัดจำหน่าย หรือดิสตริบิวเตอร์ ในไทย โดยเริ่มเปิดตัวเมื่อวันที่ 8 เดือน 8 ปี 2022 ซึ่งในจีน BYD ก่อตั้งขึ้นในปี 1995 โดยเริ่มจากการผลิตเเบทเตอรีมือถือ ก่อนสู่ไลน์การผลิตรถยนต์ในปี 2003 และแนะนำรถยนต์ไฟฟ้า Plug-in Hybrid ออกจำหน่ายเป็นรายแรกของโลก สู่รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน สร้างยอดขายกว่า 5 ล้านคัน ตั้งเเต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในประเทศไทยยอดการจัดจำหน่ายของ BYD มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จาก มาร์เกทเเชร์ ยอดการจัดจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้า เดือนที่ผ่านมา เดือนตุลาคม 2566 มีส่วนแบ่งตลาดในปี 2566 กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าสูงถึง 33.3 % เเละทาง เรเว่ ออโตโมทีฟฯ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน ตามนโยบายของ BYD ที่ตั้งเป้าผลิตรถพลังงานทางเลือกที่ดี สร้างสิ่งเเวดล้อมที่ดีสู่สังคม ในประเทศจีน BYD เป็นยี่ห้อรถที่มียอดการจำหน่ายรถยนต์พลังงานทางเลือกใหม่ (NEV: New Energy Vehicle) อันดับ 1 ในประเทศจีน จากการเล็งเห็นถึงศักยภาพของเเบรนด์ในประเทศจีน โดยคุณประธานวงศ์ เเละประธานพร พรประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เเละรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด จึงเห็นว่าเเบรนด์ BYD เท่านั้นที่มีความพร้อมทั้งด้าน เทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์ และวิสัยทัศน์ ในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวนโยบายของเรา เราจึงมุ่งเน้นทำแบรนด์ BYD เท่านั้น เพื่อนำมาจัดจำหน่ายในไทย ส่วนความท้าทายถัดมา คือ ทำอย่างไรให้ผู้ใช้รถชาวไทยมีความกล้าในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสิ่งที่ตามมาหลายคนก็ได้ทราบเเล้วว่าสิ่งนี้ไม่ได้ใช้ยากอย่างที่คิด สามารถชาร์จไฟได้ทั้งใน เเละนอกบ้าน รวมไปถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่เรานำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ดีให้ลูกค้า ประเด็นถัดมา ในเรื่องของบริการ การช่วยเหลือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า โดยการมีวารันตี 8 ปี มอบให้ลูกค้า เพื่อดูเเลพวกเขา เพราะเรามองภาพกว้าง เเละภาพไกล เเละอีกหน่อยในโชว์รูมของเราทุกโชว์รูมซึ่งจะขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จะมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่เปิดให้ผู้ใช้รถทุกยี่ห้อสามารถมาชาร์จที่โชว์รูมของเราได้อีกด้วย
ซุน เฉิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดโก้ กรีน เอนเนอร์จี้ จำกัด ผู้ผลิต เเละจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กล่าวว่า เรามองว่า ปี 2008 เราได้ทำการศึกษาตั้งเเต่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้ายังไม่เริ่มต้น จนปี 2018 เรามองว่าควรริเริ่มจัดตั้งการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ก่อตั้งบริษัท เดโก้ กรีน เอนเนอร์จี้ จำกัด ตั้งเเต่ปี 2018 เริ่มตั้งเเต่ไลน์การผลิต และจัดจำหน่าย โดยมีโรงงานอยู่ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ซึ่งโรงงานเเห่งนี้ได้รับการส่งเสริมจาก BOI อีกด้วย ที่เราพร้อมจะผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จำหน่ายมากกว่า 2 เเสนคัน/ปี เเต่ชิ้นส่วนอะไหล่ยนต์ด้านอีเลคทรอนิคส์ในไทย เรายังมีการนำเข้าจากจีน เเต่ในอนาคตเรามีเเผนการในการผลิตอะไหล่รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเองด้วย เพื่อส่งออกรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายทั้งในไทย เเละภูมิภาคเอเชีย
บทความแนะนำ