คนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีเฮ ! หลังบอร์ด EV เคาะมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 ต่อเนื่องจากมาตรการ EV 3.0 พร้อมผลักดันไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของภูมิภาค
บอร์ด EV ไฟเขียว มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ครอบคลุมระยะเวลา 4 ปี ที่จะเริ่มตั้งแต่ 2 มกราคม 2567-2570 เพื่อส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงเปิดให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่เข้ามาลงทุนเพิ่ม ซึ่งเป็นมาตรการสนับสนุนต่อเนื่องจากมาตรการ EV 3.0 ที่สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2566
มาตรการสนับสนุน EV 3.0 เดิม
มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะแรก หรือ EV 3.0 ที่ผ่านมา มีผู้นำเข้า และผู้ประกอบอุตสาหกรรมเข้าร่วมมาตรการ จำนวน 19 ราย มีรถยนต์ที่ได้รับเงินอุดหนุน จำนวน 28,841 คัน และรถไฟฟ้าที่มีการนำเข้า แต่ยังไม่ได้ยื่นขอรับเงินอุดหนุน จำนวน 61,436 คัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พย. 66) โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 66 (มค.-พย. 66) มียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 67,056 คัน เพิ่มขึ้นกว่า 7.9 เท่า สร้างผลสำเร็จในการกระตุ้นการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นอย่างมาก
เงื่อนไข EV 3.0
รถยนต์นั่ง หรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ประเภท BEV ราคาขายปลีก ไม่เกิน 2 ล้านบาท
- ขนาดความจุของแบทเตอรีตั้งแต่ 10 กิโลวัตต์ชั่วโมง แต่น้อยกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง รับเงินอุดหนุนคันละ 70,000 บาท
- ขนาดความจุของแบทเตอรีตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป รับเงินอุดหนุนคันละ 150,000 บาท
รถยนต์กระบะประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท (เฉพาะที่ผลิตในประเทศ)
- ขนาดความจุของแบทเตอรีตั้งแต่ 30 กิโลวัตต์ชั่วโมงขึ้นไป รับเงินอุดหนุนคันละ 150,000 บาท
รถจักรยานยนต์ประเภท BEV ที่มีราคาขายปลีกไม่เกิน 150,000 บาท รับเงินอุดหนุนส่วนลดคันละ 18,000 บาท
EV 3.5 ให้เงินอุดหนุนลดลง แต่เเบทเตอรีใหญ่ขึ้น
เงื่อนไขในการสนับสนุนระหว่างมาตรการ EV 3.0 และ EV 3.5 มีความแตกต่างกันพอสมควร หากเปรียบเทียบมาตรการกัน ก็ถือว่า EV 3.5 มีการปรับเกณฑ์ใหม่ทั้งขนาดแบทเตอรีที่ใหญ่ขึ้น และเงินอุดหนุนที่ลดลง โดยของเดิม EV 3.0 ให้เงินอุดหนุนตั้งแต่ 70,000-150,000 บาท ขณะที่ EV 3.5 ให้เงินอุดหนุนตั้งแต่ 50,000-100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขต่างกันดังนี้
เงื่อนไข EV 3.5
รถยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท
- ขนาดแบทเตอรีตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง รับเงินอุดหนุนระหว่าง 50,000-100,000 บาท/คัน
- ขนาดแบทเตอรีต่ำกว่า 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง รับเงินอุดหนุนระหว่าง 20,000-50,000 บาท/คัน
รถกระบะไฟฟ้าราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท
- ขนาดแบทเตอรีตั้งแต่ 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน (เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ)
รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท
- ขนาดแบทเตอรีตั้งแต่ 3 กิโลวัตต์ชั่วโมง รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน (เฉพาะส่วนที่ผลิตในประเทศ)
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยว่ามาตรการ EV 3.5 จะช่วยกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมรถ EV ได้อย่างมาก เพราะเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนที่ยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจจะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคไม่ว่าจะเป็นรถสันดาป และการเป็นศูนย์กลางการผลิตรถไฟฟ้า รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้รถยนต์ เพราะหลังจากนี้จะเห็นการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จะทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่ลดลงไปได้อีก เพราะรัฐสนับสนุนอยู่ไม่เกิน 100,000 บาท ก็จะทำให้ดีมานด์รถไฟฟ้าในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัจจัยหลักต่อการจับจ่ายใช้สอย และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แต่เชื่อว่ากลุ่มรถไฟฟ้าจะไปต่อได้ หากเทียบกับกลุ่มรถพิคอัพ เพราะกลุ่มซื้อรถไฟฟ้ามีกำลังซื้อมากกว่า
สรุปแล้ว มาตรการ EV 3.5 เป็นมาตรการที่ต้องการสนับสนุนอุตสาหกรรม EV อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฮับยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค การออกมาตรการ EV 3.5 ในครั้งนี้ จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในประเทศไทย ทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายเดิมเปลี่ยนผ่านไปสู่ EV รวมถึงการดึงบริษัทรถยนต์รายใหม่ๆ ให้เข้ามาตั้งฐานผลิตในประเทศเพิ่ม
อ่านต่อ : เคาะแล้ว ! มาตรการ EV 3.5 ลดสูงสุด 1 แสนบาท เริ่ม 2 มค. 67