เรื่องน่ารู้
3 สถานที่สุดว้าว ที่ต้องไปตั้งแต่ต้นปี !
"Autoinfo" ขอแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว ที่ต้องไปตั้งแต่ต้นปี นอกจากจะได้พบความงามตามธรรมชาติแล้ว ยังได้สัมผัสบรรยากาศที่ยังหนาวเย็นอยู่ จะมีที่ไหนบ้าง ไปดูกัน
1. ชมดอกพญาเสือโคร่งที่ "ภูลมโล"
สิ่งที่มาพร้อมกับอากาศหนาวเย็น คือ ความสวยงามของดอกไม้สีชมพูจากต้นนางพญาเสือโคร่ง หรือที่รู้จักในชื่อ ซากุระเมืองไทย โดยเฉพาะที่ "ภูลมโล" แหล่งปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งกว่า 10,000 ต้น บนเนื้อที่กว่า 1,200 ไร่ ที่ปีนี้ เหล่านางพญาแสนสวยพร้อมใจกันผลิดอกสีชมพูบานสะพรั่งพร้อมกันทุกแปลง
และเมื่อถึงฤดูกาล ก็จะทยอยบานพร้อมกันทั้งแปลง ทำให้หุบเขาภูลมโลแห่งนี้ กลายเป็นหุบเขาสีชมพู เย้ายวนให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันมาชื่นชมเป็นประจำทุกต้นปี ซึ่งในปี 2567 นี้ ดอกนางพญาเสือโคร่งจะเริ่มผลิบานเมื่อใด *** สามารถติดตามข่าวสารจากทางอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ผ่านสื่อโซเชียลของอุทยานฯ ในแต่ละปีจะดีที่สุด
ภูลมโล อยู่ที่ไหน ?
ภูลมโล ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ซึ่งเป็นรอยต่อของ 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,664 เมตร จึงมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี เป็นแหล่งปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งกว่า 10,000 ต้น ในพื้นที่กว่า 1,200 ไร่ ทำให้เป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวในช่วงหน้าหนาว สำหรับคนรักความสวยงามของดอกนางพญาเสือโคร่งที่มีมากที่สุดในประเทศไทย
ดอกนางพญาเสือโคร่ง บานช่วงเวลาไหน ?
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวภูลมโล คือ ช่วงฤดูหนาว ประมาณปลายเดือนธันวาคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์ (อาจคลาดเคลื่อนในแต่ละปี) โดยส่วนใหญ่ดอกนางพญาเสือโคร่งจะบานประมาณปลายเดือนมกราคมของทุกปี ซึ่งช่วงเวลาในการบานจะไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้าปีไหนมีอากาศหนาวเย็นต่อเนื่อง ไม่มีอากาศอบอุ่นเข้ามาแทรก ดอกจะออกตามไทม์ไลน์ดังต่อไปนี้
เดือน ตุลาคม ต้นนางพญาเสือโคร่งจะเข้าสู่การผลัดใบทิ้ง เดือน พฤศจิกายน ต้นนางพญาเสือโคร่งจะผลัดใบทิ้งมากขึ้น และเริ่มมีปุ่มดอกให้ได้เห็น เดือน ธันวาคม ต้นนางพญาเสือโคร่งผลัดใบทิ้งเกือบหมด และดอกนางพญาเสือโคร่งเริ่มมีดอกในบางแปลงช่วงปลายเดือนธันวาคม
เดือน มกราคม เริ่มมีดอกนางพญาเสือโคร่งมากขึ้น ประมาณสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนจะบานสวยสะพรั่งทั้งหุบเขา เดือน กุมภาพันธ์ ยังคงมีดอกให้ชมจนถึงกลางเดือน
ต้องใช้บริการรถนำเที่ยว เท่านั้น !
ในฤดูท่องเที่ยวดอกนางพญาเสือโคร่งบาน ทางอุทยานฯ ไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวนำรถทุกชนิดขึ้นไปเอง เพราะเส้นทางบางช่วงชัน และแคบ อาจเกิดอันตรายจากอุบัติเหตุได้ อีกทั้งควรเตรียมผ้ากันฝุ่นไปด้วย เพราะเส้นทางเป็นดินแดง มีร่องหลุมเป็นระยะๆ ฝุ่นฟุ้งเยอะ รวมทั้งอุปกรณ์กันหนาวกันลม เนื่องจากบนภูลมโลอากาศเย็น และมีลมพัดแรงเป็นระยะๆ
ซึ่งเราสามารถนำรถไปจอด เพื่อใช้บริการรถนำเที่ยวได้ 2 จุด คือ "บ้านร่องกล้า" ตั้งอยู่ ต. เนินเพิ่ม อ. นครไทย จ. พิษณุโลก ใช้ทางเดียวกับภูทับเบิก จ. เพชรบูรณ์ และจุดที่ 2 "บ้านกกสะทอน" ตั้งอยู่ที่ ต. กกสะทอน อ. ด่านซ้าย จ. เลย โดยนักท่องเที่ยวสามารถขึ้นชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่ภูลมโล ด้วยรถบริการนำเที่ยวได้ 2 จุด เช่นกัน คือ
"บ้านร่องกล้า" มีบริการรถนำเที่ยวชมภูลมโลทุกวัน (เฉพาะช่วงที่ดอกนางพญาเสือโคร่งบาน) ตั้งแต่เวลา 05.00-16.00 น. ราคาเหมาไป-กลับ คันละ 1,000 บาท นั่งได้ไม่เกิน 10 คน สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เบอร์โทรศัพท์ 08-6205-9376 และ Facebook ชมรมคนรักบ้านร่องกล้า-ภูลมโล
"อบต.กกสะทอน" ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน มีบริการรถนำเที่ยวชมภูลมโลทุกวัน (เฉพาะช่วงที่ดอกนางพญาเสือโคร่งบาน) ตั้งแต่เวลา 05.00-16.00 น. ราคาเหมาไป-กลับ คันละ 1,500 บาท สำหรับ 1-5 คน และคันละ 2,000 บาท สำหรับ 6-10 คน (ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลง กรุณาตรวจสอบอีกครั้ง) สอบถามเพิ่มเติมที่ เบอร์โทรศัพท์ 06-2557-0912 และ Facebook ภูลมโล, ซากุระเมืองไทย, นางพญาเสือโคร่ง, กกสะทอน
บ้านร่องกล้า หมู่บ้านไทยสไตล์ญี่ปุ่น
หากมาเที่ยวภูลมโล ยังมีอีกหนึ่งสถานที่ห้ามพลาด คือ "หมู่บ้านร่องกล้า" หรือ "บ้านใหม่ร่องกล้า" ตั้งอยู่ที่ อ. นครไทย จ. พิษณุโลก เป็นหมู่บ้านชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ภายในเขตอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า หมู่บ้านนี้มีอากาศเย็นตลอดปี และหนาวมากในฤดูหนาว (ช่วงดอกนางพญาเสือโคร่งบานเมื่อปี 2566 อุณหภูมิต่ำสุดที่หมู่บ้าน -2 องศาเซลเซียส มีน้ำค้างแข็งให้เห็นในตอนเช้า)
บ้านร่องกล้า เป็นที่รู้จัก และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งตั้งแต่ "ภูลมโล" ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นจุดแวะพักค้างคืน ก่อนขึ้นไปชมภูลมโลตั้งแต่เช้าตรู่ และยังเป็นจุดต่อรถเพื่อขึ้นไปยังภูลมโลที่สะดวก และใกล้ที่สุด หากมาจากกรุงเทพฯ จึงมีทั้งที่พัก ร้านอาหาร และจุดขายผลผลิตทางการเกษตรของหมู่บ้าน รวมถึงของที่ระลึกต่างๆ
นอกจากนี้ ในหมู่บ้านร่องกล้า ยังนิยมปลูกต้นนางพญาเสือโคร่งกันไว้ในบ้านของตัวเองเกือบทุกหลัง ดังนั้นหากมาในช่วงฤดูหนาว ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับเทศกาลเที่ยวภูลมโล เรายังจะได้เห็นดอกพญาเสือโคร่งพร้อมใจกันออกดอกเบ่งบานเป็นสีชมพูไปทั่วทั้งหมู่บ้านอีกด้วย และเมื่อถ่ายรูปจากจุดชมวิวบริเวณ "วัดป่าภูหินร่องกล้า" จะเห็นหมู่บ้านนี้เต็มไปด้วยสีชมพูจากดอกนางพญาเสือโคร่ง และเนื่องจากที่นี่มีอากาศหนาว จึงให้ความรู้สึกคล้ายหมู่บ้านในชนบทของประเทศญี่ปุ่นมากๆ
2. เที่ยว “เมืองคอง” ลองไปแล้วจะรัก
“เมืองคอง” หมู่บ้านเล็กๆ ที่หลบซ่อนอยู่หลังดอยหลวงเชียงดาว ใน อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่ โอบล้อมด้วยขุนเขารอบด้าน และธรรมชาติสวยงาม เหมาะกับการพักผ่อน “ชีวิตอิสระ” จะพาไปสัมผัสหมู่บ้านที่น่าทึ่งแห่งนี้
วิถีชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติ
คุณยายชาวปกาเกอะญอยิ้มให้เราด้วยไมตรี เมื่อมาถึงเมืองคอง จะรับรู้ได้ถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายแบบพื้นบ้าน อากาศบริสุทธิ์ และความเงียบสงบ ชาวบ้านที่นี่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาป่าเป็นอย่างดี ส่งผลให้เมืองคอง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผักป่า และสมุนไพรนานาชนิด รวมถึง “ปลา” ที่มีอยู่ชุกชุม
คนเมืองคองสามารถพึ่งพาตัวเองได้ จากทรัพยากรที่มีอยู่มากมาย ด้วยการทำนา เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช โดยมีลำน้ำคองที่ไหลผ่านทั่วหมู่บ้าน หล่อเลี้ยงชีวิตของคนที่นี่ และด้วยความเป็นชุมชนขนาดเล็ก จึงมีความถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เราจะรู้สึกได้ถึงความเป็นมิตรจากทุกคนที่เราพูดคุยด้วย ทุกครัวเรือนที่นี่รู้จักกันหมด แม้แต่โฮมสเตย์ต่างๆ ก็ยังแนะนำลูกค้าให้กันและกัน
นาขั้นบันได มีให้เห็นรอบหมู่บ้าน
ฤดูที่เรามาเป็นฤดูฝน ดังนั้นไม่ว่ามองไปทางไหน ก็จะเห็นชาวบ้านช่วยกันปลูกข้าว ดำนา โดยใช้วิธีเพาะต้นกล้า แล้วนำมาปักดำ ไม่ได้ใช้วิธีหว่านเมล็ดแบบภาคกลางที่เราคุ้นเคย ดังนั้น เวลาข้าวเริ่มโต จะเห็นต้นข้าวเรียงกันเป็นแนวสวยงาม และด้วยภูมิประเทศเป็นแบบที่ราบสูง การทำนาจึงต้องแบ่งเป็นแปลงๆ แบบขั้นบันได ทำให้ยิ่งสวยงามขึ้นไปอีก
หากมาในช่วงหน้าแล้ง ที่ไม่สามารถทำนาได้ ชาวบ้านจะจักสานตะกร้าไม้ไผ่กันเกือบทุกครัวเรือน บ้านไหนทำเสร็จก็วางไว้หน้าบ้าน จะมีรถรับไปส่งขายยังที่ต่างๆ เป็นรายได้เสริมในครัวเรือน
ขับรถเที่ยว ชมวิถีชีวิต 4 หมู่บ้าน
ใครมาเมืองคอง แนะนำให้ปั่นจักรยานชมหมู่บ้านในตอนเช้า และตอนเย็น แต่ผมเลือกวิธีขับรถไป เพราะช่วงนี้ฝนตกเกือบทั้งวัน แม้จะอยู่ห่างไกล เรียกได้ว่า อยู่หลังเขา แต่ถนนหนทางเป็นคอนกรีทเกือบทั้งหมู่บ้าน แถมร้านขายของชำก็มีอยู่ทั่วไป
เมืองคอง มี 4 หมู่บ้าน นับถือศาสนาพุทธ 3 หมู่บ้าน สังเกตได้จากการมีวัดประจำหมู่บ้าน ได้แก่ วังมะริว เมืองคอง และบ้านใหม่ ส่วนอีก 1 หมู่บ้าน นับถือศาสนาคริสต์ คือ บ้านหนองบัว คนหมู่บ้านนี้เป็นชาวเขาเผ่าปกาเกอะญอ มีภาษา และตัวหนังสือของตัวเอง ภายในหมู่บ้านมีโบสถ์คริสต์ให้เที่ยวชม นิยมการทอผ้า ใครสนใจสามารถเลือกซื้อกลับบ้านได้
ใช้ชีวิตให้ช้าลง ทบทวนวันเวลาที่ผ่านมา
หากจะหาที่เที่ยวสวยๆ เอาไว้ถ่ายรูปเชคอิน โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เมืองคอง อาจไม่ตอบโจทย์เท่าใดนัก แต่หากต้องการสถานที่พักผ่อน สูดอากาศบริสุทธิ์ท่ามกลางธรรมชาติที่แท้จริง เพื่อทบทวนชีวิตที่ผ่านมา เมืองคอง คือ คำตอบอย่างไม่ต้องสงสัย
มาถึงเมืองคอง แนะนำให้รับประทานอาหารที่ร้าน “หัวดอย” ร้านดังของที่นี่ มีขายตั้งแต่อาหารตามสั่งทั่วไปจนถึงหมูกระทะ ซึ่งเป็นอาหารที่ขายดีที่สุด เพราะสามารถสั่งไปกินที่โฮมสเตย์ของตัวเองได้ ผมสั่งหมูกระทะชุดกลาง ในราคา 499 บาท โดยให้มาส่งยังที่พัก น้ำซุปหอมอร่อยอย่างไม่น่าเชื่อ และที่สำคัญ หมูเยอะมาก ใครมาพักเมืองคอง ต้องไปชิมให้ได้
โฮมสเตย์ในเมืองคองมีหลายแห่ง ผมเลือกพัก “บ้านวังริมคอง” เพราะเป็นที่เดียวที่อยู่ติดลำน้ำคอง โดยมีสะพานไม้เก๋ๆ ให้เดินข้ามไป ด้านหลัง คือ วิวนา และภูเขา แถมอยู่ใกล้ถนนสายหลัก และร้านขายของชำด้วย เครื่องอำนวยความสะดวกมีให้เพียงพัดลม และไฟส่องสว่างเท่านั้น ห้องน้ำยังเป็นแบบรวมอยู่ ค่าที่พักคิดเป็นรายหัว หัวละ 350 บาท ถ้าต้องการอาหารช่วงเย็น และเช้า เพิ่มเงินอีกคนละ 250 บาท คุณป้าเจ้าของน่ารัก และเป็นกันเอง
ชิมกาแฟรสเลิศ ที่ดอยผาฮี้ สัมผัสชีวิตดี๊ดี ของชาวอาข่า
"ดอยผาฮี้" แหล่งปลูกกาแฟชั้นดีของ จ. เชียงราย ที่ตั้งอยู่บนเทือกเขานางนอน ที่เหล่านักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าไปติดอยู่ในถ้ำหลวงนั่นแหละ ที่นี่นอกจากจะได้ชิมกาแฟรสเลิศแบบไม่อั้นแล้ว วิวทิวทัศน์ก็สวยงาม แถมอากาศดีมากอีกด้วย
ดอยผาฮี้ แหล่งปลูกกาแฟชั้นดีบนดอยสูง
ดอยผาฮี้ คือ ที่ตั้งของชุมชนชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่า ที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น และยังเป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟชั้นดีของจังหวัดเชียงราย ที่ได้รับการยอมรับถึงคุณภาพของเมล็ดกาแฟพันธุ์อราบิกาคุณภาพสูง และส่งออกทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ ไม่เพียงชื่อเสียงด้านกาแฟเท่านั้น เรื่องความสวยงามของวิวทิวทัศน์รอบๆ หมู่บ้านก็ไม่เป็นรองใคร เนื่องจากมีพื้นที่อยู่บนดอยสูง โดยมีเทือกเขานางนอนล้อมรอบหมู่บ้านเอาไว้ ไม่ว่าจะมองมุมไหนก็สวยงามแปลกตา นอกจากนี้ ยังมีร้านกาแฟผาฮี้ ให้นักท่องเที่ยวได้ดื่ม พร้อมชมทิวทัศน์ภูเขาสูงอย่างเพลิดเพลิน รวมถึงมีโฮมสเตย์ให้พักผ่อนในราคาหลักร้อยเท่านั้น
กาแฟผาฮี้ การันตีรางวัลชนะเลิศ
สำหรับคอกาแฟพันธุ์แท้ คงเคยได้ยินชื่อเสียงของ "กาแฟผาฮี้" กันมาบ้าง เพราะเป็นกาแฟไทยภูเขาคุณภาพคับแก้ว มีรางวัลชนะเลิศจากเวทีประกวดเมล็ดกาแฟพันธุ์อราบิกา จากมหกรรมพืชสวนโลก ปี 2554 เป็นเครื่องยืนยัน ก่อนจะมาเป็นกาแฟชั้นเลิศแบบนี้ ในอดีตชาวอาข่าบ้านผาฮี้มีอาชีพหลัก คือ ถางป่าเพื่อปลูกฝิ่น เนื่องจากมีพื้นที่อยู่แนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมาร์ แต่ด้วยพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี "สมเด็จย่า" ที่ต้องการส่งเสริมให้ชาวบ้านเลิกปลูกฝิ่น และไม่ตัดไม้ทำลายป่า โครงการพัฒนาดอยตุงจึงเข้ามาที่หมู่บ้านในปี 2531 และสอนให้เรียนรู้วิธีอยู่ร่วมกับป่าอย่างยั่งยืน โดยสนับสนุนให้ชาวบ้านหันมาปลูกกาแฟพันธุ์อราบิกา ซึ่งได้ผลดีในภูมิประเทศภูเขาสูง ที่ระดับความสูง 1,200-1,400 ม. เหนือระดับน้ำทะเล จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่ชาวบ้านเผ่าอาข่าบ้านผาฮี้ จนปัจจุบันทุกครัวเรือนหันมาปลูกกาแฟเป็นอาชีพหลัก โดยชูสโลแกน "ปลูกกาแฟดีกว่าปลูกฝิ่น"
ผมได้พบกับผู้ใหญ่อรัญ พรจิไพศาล เจ้าของร้านกาแฟผาฮี้ และโฮมสเตย์กาแฟผาฮี้ รวมถึงเป็นผู้ใหญ่บ้านผาฮี้ ท่านเล่าว่า กาแฟผาฮี้ เป็นกาแฟที่ปลูกบนป่าดอยตุง ที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 1,200 ม. ทำให้ได้กาแฟพันธุ์อราบิกาเมล็ดใหญ่ และรสชาติเยี่ยม การปลูกกาแฟของที่นี่จะปลูกกับต้นไม้ใหญ่ เน้นให้คนอยู่ร่วมกับป่า ไม่ทำลายต้นไม้ การเก็บกาแฟทุกเมล็ดต้องคัดสรรด้วยมือทุกครั้ง และเลือกเมล็ดที่สุกงอมแล้วเท่านั้น กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนมีความพิถีพิถัน ทำให้ได้กาแฟที่มีความหอมที่โดดเด่น เข้มข้น และนุ่มนวล มีรสหอมหวานคล้ายผลไม้ อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกาแฟผาฮี้
ผู้ใหญ่ยังบอกอีกว่า เราต้องการให้นักท่องเที่ยวได้ชิมรสชาติกาแฟผาฮี้อย่างเต็มที่ นักท่องเที่ยวทุกคนที่มาพักที่โฮมสเตย์กาแฟผาฮี้ สามารถสั่งกาแฟอะไรแบบใดก็ได้ ทั้งร้อน หรือเย็นได้แบบฟรีๆ แถมยังมีมุมนั่งเล่นเก๋ๆ ชมวิวห้อยขา จิบกาแฟ ถ่ายรูปแบบจุใจ ที่สำคัญยังมีชุดชาวไทยภูเขาเผ่าอาข่าให้ใส่ถ่ายรูปอีกด้วย
ชมวิถีชีวิตยามเช้า พิธีเชิดชูรองหัวหน้าเผ่า
ใครมานอนพักที่ดอยผาฮี้ อยากแนะนำให้ตื่นแต่เช้า เพราะนอกจากจะได้ชมพระอาทิตย์ขึ้น รวมถึงทะเลหมอกที่สวยงามแล้ว ถ้ามาในช่วงเวลาที่มีพิธีกรรม จะได้เห็นประเพณีความเชื่อต่างๆ ของชาวบ้านที่หาดูได้ยาก
ชาวอาข่าที่นี่ยังคงอนุรักษ์ประเพณีความเชื่อต่างๆ ไว้เป็นอย่างดี พวกเขายังคงนับถือผี หรือบรรพบุรุษดั้งเดิมเอาไว้ ปีๆ หนึ่งจะจัดพิธีกรรม 12 ครั้ง เพื่อเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เช่น ประเพณีโล้ชิงช้า หรือประเพณีปีใหม่ลูกข่าง
ผมโชคดีที่เช้าวันนี้ได้มีโอกาสเห็นพิธีกรรมแสดงความเคารพของรองหัวหน้าเผ่า ในตอนเช้าจะมีผู้หญิงชาวเผ่า แต่งกายชุดไทยภูเขาเผ่าอาข่าเต็มยศ มารวมตัวกันที่บ้านผู้นำชุมชน เพื่อรอเดินเรียงแถวไปตักน้ำที่บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ท้ายหมู่บ้าน แต่ละคนจะแบกตะกร้าที่สานจากไม้ไผ่ ภายในมีน้ำเต้าอยู่ 2-3 ลูก เพื่อใช้บรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์ ผมแอบเดินตามไปห่างๆ หวังได้เห็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของหมู่บ้าน แต่ก็โดนผู้ใหญ่ห้ามไว้เสียก่อน เพราะชาวบ้านเขาไม่อยากให้คนนอกที่ไม่ใช่คนในเผ่าเข้าไป เนื่องจากเกรงว่าจะไปทำอะไรที่ผิดผี หลังจากได้น้ำศักดิ์สิทธิ์แล้ว ทุกคนก็แยกกันไปทำพิธีกรรมที่บ้านใครบ้านมัน ด้วยการบูชา และเซ่นไหว้ พอสายๆ ก็เสร็จพิธี
ชาวเขาเผ่าอาข่าในประเทศไทยมีด้วยกันอยู่หลายที่ แต่ส่วนใหญ่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์กันหมด มีเพียงชาวอาข่าบ้านผาฮี้เท่านั้น ที่ยังคงนับถือผี หรือบรรพบุรุษอยู่ ใครที่มีโอกาสได้มาเที่ยวบ้านผาฮี้ จะได้เห็นสถานที่สำคัญต่างๆ ที่เป็นความเชื่อของคนในหมู่บ้าน เช่น บ้านหมอผีประจำหมู่บ้าน (ทำหน้าที่ปัดรังควานเรื่องที่ไม่ดี) บ้านผู้นำชุมชน (เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในหมู่บ้าน) ประตูผี (ใครลอดผ่านประตูผีจะรอดพ้นจากสิ่งชั่วร้าย) และความเชื่อต่างๆ อีกมากมาย สำหรับผมมันมีเสน่ห์ และทรงคุณค่าอย่างบอกไม่ถูก
สักการะพระธาตุดอยช้างมูบ และพระธาตุดอยตุง
ขากลับถ้ามีเวลาพอให้ขับรถไปสักการะพระธาตุดอยช้างมูบ และพระธาตุดอยตุง เสียหน่อย เนื่องจากอยู่ไม่ไกลกับดอยผาฮี้ พระธาตุดอยช้างมูบ ถ้ามาจากบ้านผาฮี้จะถึงก่อน ตั้งอยู่ริมถนนสายพระธาตุดอยตุง ห่างจากทางแยกวัดน้อยดอยตุง ประมาณ 4 กม. พระสถูปช้างมูบเป็นเจดีย์ขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนก้อนหินขนาดใหญ่ ที่มีลักษณะเหมือนช้างหมอบอยู่ สภาพโดยรอบเป็นต้นโพธิ์ใหญ่ มีความสวยงาม สามารถจอดรถ และสักการะได้แบบสบายๆ
ถัดไปอีกไม่ไกลเป็นที่ตั้ง "พระธาตุดอยตุง" ปูชนียสถานสำคัญของจังหวัดเชียงราย พระธาตดอยตุง เป็นพระธาตุประจำคนเกิดปีกุน ประดิษฐานอยู่บนยอดดอยตุง สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,000 ม. องค์พระบรมธาตุเจดีย์ มีอยู่ด้วยกัน 2 องค์ ภายในประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนไหปลาร้า และพระธาตุย่อยของพระพุทธเจ้า