ข่าวจากประเทศอังกฤษ ระบุว่า Honda เชื่อว่าเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงมีความเป็นไปได้สูงสำหรับรถยนต์ในอนาคต และยังมี Toyota และ Hyundai ที่พัฒนารถพลังไฮโดรเจนมาตลอด
Honda เปิดตัว Honda FCX Clarity เมื่อปี 2551 และตามมาด้วยเจเนอเรชันที่ 2 ในปี 2560
เมื่อไม่นานนี้ Honda ได้เปิดตัว CR-V ขุมพลังเซลล์เชื้อเพลิงในสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยเป็นการพัฒนาร่วมกับ General Motors
Inoue Katsushi กรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้นำในการส่ง Honda พลังไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดยุโรป และจีน มองอนาคตของรถเชื้อเพลิงไฮโดรเจนว่า เมื่อการพัฒนารถยนต์ขุมพลังแบทเตอรีถึงจุดสูงสุด ยุคของรถเซลล์เชื้อเพลิงจะมาถึง แต่อาจต้องใช้เวลายาวนานถึงปี 2583 ที่รถเซลล์เชื้อเพลิงจะมีความเป็นไปได้ โดยในเวลานั้น Honda จะผลิตเฉพาะรถไฟฟ้า และรถเชื้อเพลิงไฮโดรเจนเท่านั้น
เขาไม่กังวลกับยอดขายของรุ่น Clarity ที่มีจำนวนไม่มาก เพราะไม่ได้ชี้วัดอะไร เนื่องจากสถานีบริการไฮโดรเจนยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ทั้งยังเป็นรถรุ่นทดลองที่มีต้นทุนสูงมาก ในอนาคตบริษัทฯ จะทดลองใช้ขุมพลังเซลล์เชื้อเพลิงกับรถเพื่อการพาณิชย์อย่างแน่นอน
สำหรับ CR-V รุ่นต่อไป ที่ใช้ขุมพลังเซลล์เชื้อเพลิง เชื่อว่ามีศักยภาพมากพอ ที่จะแข่งขันในท้องตลาดได้ โดยจะเปิดเผยรายละเอียดในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
นอกจากนี้ เขายังมีความเห็นว่ารถ FCEV ยังมีความเป็นไปได้สูง หากมีเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานมารองรับการใช้งานได้อย่างเพียงพอ ทั้งเป็นที่ต้องการของตลาด จึงทำให้ Honda เริ่มให้ความสำคัญกับการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนกับรถเพื่อการพาณิชย์ และภาคอุตสาหกรรมเป็นกลุ่มแรก
แนวคิดธุรกิจรถพลังเซลล์เชื้อเพลิง ต้องเริ่มจากรถเพื่อการพาณิชย์เป็นกลุ่มแรก จากนั้นจึงเข้าไปสู่กลุ่มรถยนต์นั่ง โดยขณะนี้ได้นำโมเดลนี้ไปใช้ในประเทศจีน และอีกหลายประเทศ จากนั้นจะเพิ่มไปยังกลุ่มรถยนต์นั่งต่อไป
Honda ร่วมมือกับ Isuzu ในการพัฒนารถบรรทุกเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน เรียกว่า Giga Fuel Cell และกำลังทดสอบการใช้งานรถต้นแบบในถนนสาธารณะ โดยมีแผนจะเปิดตัวภายในปี 2570
นอกจากนั้น Honda ยังร่วมมือกับ Mitsubishi และบริษัทด้านเคมีคัล Tokuyama Corporation ในการพัฒนาโรงผลิตไฟฟ้าที่ใช้เซลล์เชื้อเพลิงจากรถมาฟื้นฟูสภาพ เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ลูกค้า และนำระบบเซลล์เชื้อเพลิงเก่ามาใช้งาน ซึ่งสามารถช่วยลดการปล่อยคาร์บอนของโรงผลิตไฟฟ้าให้น้อยลง
Toshihiro Mibe ซีอีโอ Honda เชื่อว่าเทคโนโลยีระบบเซลล์เชื้อเพลิงสามารถนำมาใช้กับรถใช้งานหนักได้ ไม่จำกัดเฉพาะกับรถยนต์นั่งเท่านั้น โดยนำระบบเซลล์เชื้อเพลิงมาใช้ทดแทนเครื่องยนต์ดีเซลได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะใช้กับรถขนาดใหญ่ หรือในภาคอุตสาหกรรม
สำหรับ Toyota ก็เห็นด้วยกับแนวคิดการนำระบบเซลล์เชื้อเพลิงมาใช้กับรถเพื่อการพาณิชย์ และภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ Toyota Mirai ทำยอดขายได้ไม่ดี จากเครือข่ายสถานีบริการไฮโดรเจนไม่เพียงพอ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานนี้ Toyota Crown ขุมพลังเซลล์เชื้อเพลิง เพิ่งเปิดตัวเป็นทางการในประเทศญี่ปุ่น
ส่วน Hyundai พยายามผลักดัน ให้รถเชื้อเพลิงไฮโดรเจนได้รับความนิยมในปี 2583 และจะทำให้ราคาของรถ FCEV เท่ากันกับรถไฟฟ้า BEV ภายในสิ้นทศวรรษนี้