ตลาดรถยนต์กลุ่มมีนีเอมพีวีมีความหลากหลายกว่าเดิม ล่าสุดทางค่ายรถจากญี่ปุ่นอัพเดทรถยนต์คันเก่งของค่ายกับ Suzuki XL7 Hybrid เครื่องยนต์ไฮบริดขนาดเล็ก แต่มีผลดีหลายประการ เรามาทดลองขับในเส้นทางที่หลากหลายทั้งทางเรียบ และทางลุย
ความแตกต่างของ Suzuki XL7 Hybrid เมื่อเทียบกับรุ่นเครื่องยนต์สันดาป ได้แก่
· กระจังหน้าดีไซจ์นใหม่ คาดกลางด้วยแถบโครเมียม
· ทางด้านหลัง อกแบบ Chrome Back Garnish พร้อมป้าย HYBRID
· ระบบไฟหน้าเปิด/ปิดอัตโนมัติ พร้อมฟังค์ชัน Guide Me ที่ระบบจะทำงานอัตโนมัติ เพื่อส่งทางเข้าบ้าน และเมื่อเดินเข้าหาตัวรถ
· Idling Stop ที่ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อรถหยุดสนิท และสตาร์ทโดยอัตโนมัติด้วยชุดแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน
· ระบบครูสคอนทโรล
· โหมดแสดงการทำงานของระบบ Hybrid ผ่านชุดจอ MID (Multi Information Display)
· ระบบไฮบริดใช้แบทเตอรีขนาด 10 แอมพ์ชั่วโมง (เทียบกับรุ่น Ertiga Hybrid มีความจุที่ 6 แอมพ์ชั่วโมง)
· ปรับปรุงหน้าจอสัมผัส ขนาด 10.1 นิ้ว รองรับ Android Auto/Apple CarPlay
· ระบบพับ/กางกระจกมองข้างอัตโนมัติ
ความรู้สึกจากการทดลองขับ Suzuki XL7 Hybrid
เส้นทางเรียบ: การทดลองขับครั้งนี้ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ ไปยัง จ. ราชบุรี เส้นทางแบบ On Road จึงเริ่มด้วยการจราจรที่ค่อนข้างหนาแน่น การขับขี่โดยรวมยังคงมีความคล่องตัว อัตราเร่งไม่หวือหวามากนัก แต่สามารถขับเคลื่อนไปบนการจราจรได้สบาย ระบบรองรับค่อนข้างนุ่ม และการบังคับเลี้ยวค่อนข้างเบาแรง แต่ยังควบคุมได้ดี การโดยสารในทริพนี้มีผู้โดยสารทั้งหมด 4 คน พร้อมสัมภาระจำนวนหนึ่ง ซึ่งน่าจะตรงกับการใช้งานจริงของ Suzuki XL7 Hybrid ที่มีทั้งการโดยสาร และการขนสัมภาระ รวมถึงการขับขี่ทางไกล
หลังจากเข้าเขต จ. ราชบุรี เส้นทางรอบนอกเป็นถนนที่ตัดผ่านภูเขา การกดคันเร่งเพื่อเพิ่มความเร็ว หรือการเร่งแซง อาจต้องเผื่อระยะเล็กน้อย การตอบสนองตามแนวทางของเครื่องยนต์ขนาด 1.5 ลิตร แต่ต้องขับเคลื่อนตัวถังแบบเอมพีวี ที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ ส่วนระบบไฮบริดจะเข้ามาช่วยเสริมการส่งกำลังในกรณีที่ผู้ขับเติมคันเร่งแบบค่อยเป็นค่อยไป กับช่วงรอบเครื่องยนต์ที่ 1,000-3,900 รตน. ระบบจะส่งกำลังเข้ามาเสริมแรงผ่านชุดสายพานของเครื่องยนต์ อัตราเร่งจะทำได้เนียนกว่าเดิม แม้เป็นระบบไฮบริดขนาดเล็กก็ตาม
บางช่วงเป็นเขตชุมชน เป็นทาง 2 เลน มีความกว้างไม่มากนัก แต่การบังคับควบคุมของ Suzuki XL7 Hybrid ยังคงทำได้ดี เลี้ยวไปตามเส้นทางได้สบาย ทัศนวิสัยโดยรวมทำได้น่าพอใจ โดยเฉพาะเบาะแถวที่ 2 ให้ความรู้สึกที่ปลอดโปร่ง กระจกหน้าต่างบานใหญ่ ไม่อึดอัด มีช่องแอร์สำหรับผู้โดยสารด้านหลัง แต่ไม่มีที่ชาร์จแบบ USB มาให้ เป็นช่องต่อทรงกลมแบบ 12V ดั้งเดิม เบาะแถวที่ 2 สามารถเลื่อนหน้า/หลังได้ หากไม่ได้ใช้งานเบาะแถวที่ 3 แล้วเลื่อนเบาะแถวที่ 2 ไปข้างหลังจนสุด จะมีพื้นที่ช่วงขาอย่างเหลือเฟือ ตัวเบาะมีความสูงที่พอเหมาะ นั่งเป็นธรรมชาติ ส่วนเบาะแถวที่ 3 สามารถใช้สำหรับการโดยสารเป็นระยะเวลาไม่นาน เนื่องจากเนื้อที่ค่อนข้างจำกัด เหมาะกับการขนสัมภาระมากกว่า หรือการโดยสารเฉพาะกิจ
เส้นทางลุย: แม้ Suzuki XL7 Hybrid เป็นรถยนต์ที่มีพื้นฐานจากรถเอมพีวี (นั่นก็คือ Suzuki Ertiga) แต่การปรับปรุงให้มีรูปทรงที่เน้นความบึกบึนมากกว่าเดิม รวมถึงส่วนหน้าที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และมีความสูงจากพื้นถนนเพิ่มขึ้นเป็น 200 มม. (Suzuki Ertiga Hybrid คือ 180 มม.) คุณสมบัติตามที่กล่าวมาทำให้ Suzuki XL7 Hybrid ขับขี่ไปบนเส้นทางสมบุกสมบันแบบเบาๆ ได้ โดยทางผู้จัดได้นำทางไปยังเส้นทางลูกรัง ลัดเลาะผ่านภูเขา และลำธาร (ที่มีระดับน้ำไปสูงนัก) รวมถึงเส้นทางขึ้น/ลงภูเขาที่มีความชัน เราพบว่า XL7 Hybrid สามารถแล่นผ่านได้ไม่ยากเย็น แม้จะใช้ระบบเกียร์แบบอัตโนมัติ 4 จังหวะ การลงทางลาดชันสามารถเปลี่ยนมาที่โหมดเกียร์แบบ L เพื่อใช้งาน Engine Brake ตัวถังที่ค่อนข้างสูงของรถยนต์รุ่นนี้ทำให้แล่นผ่านเส้นทางตามที่กล่าวมาได้ไม่ยากเย็น เหมาะสำหรับการเดินทางเป็นครอบครัว และใช้งานสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งได้ดีในระดับหนึ่ง
จุดเด่นของ Suzuki XL7 Hybrid
· ห้องโดยสารกว้างขวาง: Suzuki XL7 Hybrid เป็นรถยนต์ที่ออกแบบให้นั่งสบายทั้ง 7 ที่นั่ง โดยคำนึงถึงการขับขี่ในเมือง และนอกเมือง สามารถโดยสารกันได้หลายคน พร้อมกับพื้นที่เก็บสัมภาระที่กว้างขวาง
· Suzuki XL7 Hybrid เป็นรถยนต์อเนกประสงค์ที่มีสมรรถนะในการขับขี่ที่ดี ประหยัดน้ำมันใช้งานได้ทั้งในเมือง และนอกเมือง โดยเฉพาะนอกเมืองประหยัดถึง 19.2 กม./ลิตร (ตามมาตรฐาน Eco Sticker) ส่วนค่าเฉลี่ยทั่วไปอยู่ที่ 17.9 กม./ลิตร
· เทคโนโลยีระบบไฮบริด ที่พัฒนาให้ช่วยเสริมประสิทธิภาพการขับขี่ ทั้งในเมืองที่ต้องออกตัวสลับหยุดนิ่งบ่อยๆ และการเดินทางไกล ที่ให้การเร่งแซงที่ดียิ่งขึ้น ด้วยชิ้นส่วนของทั้งระบบที่ราคาไม่แพง ทำให้ Suzuki XL7 Hybrid เป็นเอมพีวีสไตล์ครอสส์โอเวอร์ พร้อมเทคโนโลยีไฮบริดขนาดเล็ก มีข้อดี คือ การดูแลรักษาง่าย อะไหล่มีราคาถูก และค่าดูแลรักษาระยะยาวที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับระบบไฮบริดแบบอื่นๆ
· เครื่องยนต์รับภาระในช่วงการออกตัว และเร่งแซงน้อยลง ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น กินน้ำมันน้อยลง จากการเสริมแรงของมอเตอร์ ISG (Integrated Starter Generator) ที่ใช้แรงดันไฟฟ้าจากแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ช่วยเสริมการทำงานของเครื่องยนต์
· ในโหมดการใช้งานของ Idling Stop เครื่องยนต์สตาร์ทโดยอัตโนมัติอย่างรวดเร็ว และนิ่งเงียบไม่สั่นสะเทือน
· ทางค่าย Suzuki มีการออกแบบระบบ ISG (หรือ Integrated Starter Generator) เสริมแรงบิดสูงถึง 5.1 กก.-ม. (หรือกว่า 36 % ของแรงบิดจากเครื่องยนต์เบนซิน) ในทันทีที่เริ่มกดคันเร่ง และเสริมกำลังอย่างต่อ เนื่องจากช่วงรอบเครื่องยนต์ที่ 1,000-3,900 รตน. โดยเครื่องยนต์บลอคนี้เป็นแบบเบนซิน ขนาด 1.5 ลิตร กำลังสูงสุด 106 แรงม้า ที่ 6,000 รตน. แรงบิดสูงสุด 14.1 กก.-ม. ที่ 4,400 รตน. ช่วยให้รถออกตัวได้ดี ตอบสนองในแต่ละช่วงย่านความเร็วรอบของเครื่องยนต์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม
· แบทเตอรีลิเธียม-ไอออนวางอยู่ในตำแหน่งที่สูง โดย Suzuki XL7 Hybrid มีความสูงจากพื้นถนนที่ 200 มม. ทำให้ปลอดภัยจากสภาพการใช้งานในเส้นทางน้ำท่วมขัง หรือเส้นทางทุรกันดาร และแบทเตอรีลิเธียม-ไอออน ยังมีขนาดเล็ก น้ำหนักโดยประมาณเพียง 7 กก. ทำให้น้ำหนักของรถยนต์เพิ่มขึ้นไม่มากนัก (เมื่อเทียบกับ XL7 รุ่นเครื่องยนต์สันดาปปกติ)
· การดูแลบำรุงรักษาง่าย และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาไม่สูง ค่าใช้จ่ายตลอดอายุ การใช้งานในการเปลี่ยนชิ้นส่วนอุปกรณ์ในอนาคตของ Suzuki XL7 Hybrid จะมีราคาซ่อม และเปลี่ยนอะไหล่ที่ถูกกว่า ลดความเสี่ยงเรื่องค่าใช้จ่ายเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ภัยธรรมชาติ หรือเมื่อรถเกิดอุบัติเหตุ ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายของแบทเตอรี และระบบไฮบริด หากต้องเปลี่ยนทั้งระบบ ก่อนถึงระยะเสื่อมสภาพ หรือเหตุที่นอกเหนือการรับประกัน
สรุปเบื้องต้น: รถยนต์สำหรับครอบครัว เสริมความประหยัดในตัวเมือง ขับขี่สบายทั้งทางเรียบ และทางลุย (เบาๆ)
Suzuki XL7 Hybrid คือ รถยนต์ที่เหมาะสำหรับกิจกรรมที่เน้นความอเนกประสงค์ รวมถึงการใช้งานที่หลากหลายทั้งในแง่การโดยสาร และการขนสัมภาระ เบาะ 2 แถวแรกนั่งได้สบายดีมาก การขับขี่นุ่มนวล (รองรับได้สบายไม่ว่าผู้ขับจะเป็นชาย หรือหญิง) สมรรถนะไม่หวือหวา แต่สามารถขับขี่ไปตามการจราจรได้สบาย ระบบไฮบริดขนาดเล็กช่วยเสริมการขับเคลื่อนขณะออกตัว และการเพิ่มความเร็ว ทำให้มีการประหยัดเชื้อเพลิงที่โดดเด่นยิ่งขึ้นในตัวเมือง และลดภาระของเครื่องยนต์ขณะขับทางไกลแล้วมีการกดคันเร่งเพื่อเพิ่มความเร็ว
จุดสังเกตของเรา คือ Suzuki XL7 Hybrid มีออพชันที่ไม่ล้ำสมัยมากนัก (รวมถึงระบบช่วยเหลือการขับขี่ต่างๆ) ภายใต้ความเรียบง่าย ขับขี่สบายเช่นนี้ ราคา...ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ โดย Suzuki XL7 รุ่นเครื่องยนต์สันดาปมีราคาที่ 734,000 บาท ดังนั้น หากรุ่น Suzuki XL7 Hybrid ทำราคาได้ต่ำกว่า 8 แสนบาท ! น่าจะเรียกความสนใจได้มาก (ค่ายผู้ผลิตจะเผยราคาในช่วงสิ้นเดือนมีนาคมนี้)
ตารางสเปคของ Suzuki Xl7 Hybrid