สะเทือนวงการรยานยนต์ หลัง 4 แบรนด์ดัง ถูกตรวจพบว่า ผลทดสอบด้านความปลอดภัยมีความผิดปกติ
กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่น แจ้งให้บริษัทรถยนต์ทั้ง 4 แบรนด์ ยุติการส่งมอบรถบางรุ่นในญี่ปุ่น หลังจากพวกเขาได้รายงานว่า 4 บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรฐานในการรับรองยานพาหนะสำหรับการขนส่ง นั่นคือ Toyota, Honda, Mazda, Suzuki โดยการสอบสวนการทำงานของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นหลายรายเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2014 พบว่าการทดสอบรถยนต์มีความผิดปกติจริง
เรื่องอื้อฉาวครั้งนี้ ทั้ง 4 แบรนด์ได้ออกมายอมรับถึงความผิดปกติในการทดสอบสมรรถนะของยานพาหนะหลายรุ่นที่ผ่านมา ซึ่งการสอบสวนภายในได้รับการร้องเรียนจากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) โดย Toyota ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นออกมายอมรับว่า ได้มีการส่งข้อมูลเท็จในการทดสอบความปลอดภัยในรุ่น Corolla Fielder, Corolla Axio และ Yaris Cross ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ในการผลิต นอกจากนี้ การตรวจสอบยังเผยให้เห็นถึงการดัดแปลงการทดสอบในรุ่นที่เลิกผลิตไปแล้ว คือ Toyota Crown, Toyota Isis, Toyota Sienta และ Lexus RX
จากกรณีดังกล่าว Toyota, Honda, Mazda, Suzuki ล้วนออกมายอมรับว่ามีพฤติกรรมบิดเบือนข้อมูลการทดสอบอันเป็นเท็จในลักษณะดังกล่าว สำหรับรถยนต์บางรุ่นที่ผลิต มีผลให้พวกเขาต้องยุติการผลิต การส่งออก และการจำหน่ายรถยนต์รุ่นที่ได้รับผลกระทบในตลาดในปัจจุบันไปก่อน Toyota กล่าวว่า การตรวจสอบภายในได้ยืนยันการปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยทั้งหมดสำหรับรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งบ่งชี้ว่าเจ้าของไม่จำเป็นต้องดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม ส่งผลให้บริษัทรถยนต์ในเครืออย่าง Daihatsu ที่มีการผลิต การจัดส่ง และการขายรถยนต์รุ่นที่ได้รับผลกระทบ จะถูกระงับการจำหน่ายจนกว่าการปฏิบัติตามกฎระเบียบจะได้รับการตรวจสอบแล้วเสร็จ
อากิโอะ โตโยดะ ประธานบริษัท Toyota กล่าวว่า Toyota ขายรถยนต์นั่งโดยสารไปกว่า 11 ล้านคัน ในปี 2566 โดยระบุว่าการค้นพบนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของยานพาหนะที่อยู่บนท้องถนน “เราละเลยกระบวนการรับรอง และผลิตรถยนต์ของเราจำนวนมากโดยไม่ได้ทำตามขั้นตอนการป้องกันที่เหมาะสมก่อน” โตโยดะ กล่าว พร้อมโค้งคำนับ ซึ่งเป็นธรรมเนียมในญี่ปุ่นเมื่อบริษัทต่างๆ ขอโทษสำหรับการกระทำผิด
นอกจากนี้ Mazda ได้ออกมาเปิดเผยว่าซอฟท์แวร์ควบคุมเครื่องยนต์ของรุ่น MX5 และ Mazda2 รถยนต์ Subcompact Hatchback ที่วางจำหน่ายอยู่นั้นได้รับการเขียนซอฟท์แวร์ใหม่ในระหว่างการทดสอบ บริษัทฯ ยังได้ใช้เซนเซอร์ในการดัดแปลงกับรถทดสอบการชนของ Atenza หรือ Mazda6 และ Axela หรือ Mazda 3 รุ่นก่อนหน้าที่เลิกผลิตแล้ว แม้ว่าจะยืนยันว่ารุ่นที่ผลิตออกมาจะตรงตามมาตรฐานความปลอดภัยก็ตาม ถือเป็นการบิดเบือนข้อมูลที่ชัดเจน
สำหรับการสอบสวน Honda ได้เผยให้เห็นข้อความอันเป็นเท็จในการทดสอบระดับเสียงภายในห้องโดยสาร สำหรับรถยนต์ทั้ง 22 รุ่นที่เลิกผลิตแล้ว ซึ่งรุ่นที่ได้รับผลกระทบ ได้แก่ Inspire, Fit, Fit Shuttle, Shuttle, CR-Z, Acty, Vamos, Stepwgn, Legend, Accord, Insight, Exclusive, CR-V, Freed, N-Box, N-One, Odyssey, N-WGN, Vezel, Grace, S660, Jade และ NSX โดยการปล่อยมลพิษ และการทดสอบความปลอดภัยที่ไม่ตรงตามความเป็นจริงนั้น มีผลทำให้การขายรถยนต์ JDM บางส่วนต้องหยุดชะงักเช่นกัน
ในกรณีของ Suzuki ก็มีพฤติกรรมที่บิดเบือนข้อมูลตัวเลขเช่นเดียวกัน แต่มีอยู่เพียงรุ่นเดียวที่ได้รับการตรวจสอบ นั่นคือ รุ่น Alto LCV รุ่นก่อนหน้าที่ผลิตระหว่างปี 2014 ถึง 2017 พบว่าระยะการหยุดรถที่ระบุไว้ในการทดสอบการเบรคนั้นสั้นกว่าการทดสอบจริง โดย Suzuki ระบุว่าเพื่อให้ผลลัพธ์เป็นไปตามกฎหมายระบุ และเพื่อให้ตรงตามกำหนดมาตรฐาน พวกเขาต้องปรับให้ระบบทำงานดีกว่าในการทดสอบอย่างละเอียด
เรื่องอื้อฉาวครั้งนี้จะเป็นผลกระทบที่ทำให้ความไว้วางใจในผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นลดลง ดังนั้น กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่น ได้สั่งให้ผู้ผลิตเกือบ 90 รายตรวจสอบขั้นตอนการทดสอบของตนอีกครั้งโดยมีบริษัท 17 แห่งที่ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้หลายๆ แบรนด์นั้นต้องสั่งยุติการผลิต และส่งออกรุ่นที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งปัจจุบันมีจำหน่ายในญี่ปุ่น และตลาดอื่นๆ ทั่วโลก คงต้องรอดูกันว่าทางการญี่ปุ่นจะสามารถจัดการปัญหาตามกฎระเบียบได้เร็วแค่ไหน ต้องรอดูกันอย่างใกล้ชิด