เมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เกิดเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์หรูอย่าง Mercedes-Benz (เมร์เซเดส-เบนซ์) รุ่น EQE (อีคิวอี) ที่ลานจอดรถใต้ดินของอพาร์ทเมนท์แห่งหนึ่งในอินชอน เกาหลีใต้ ทำให้ไฟลุกลามอย่างรวดเร็ว และทำให้รถยนต์เสียหายมากถึง 140 คัน นอกจากนี้ ยังทำให้ครัวเรือนกว่า 1,600 หลังไม่มีไฟฟ้า และน้ำประปาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคเสียหาย ทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกจนเป็นประเด็นใหญ่ระดับโลก
ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสว่าภาครัฐของสาธารณรัฐเกาหลีใต้ จะออกกฎห้ามไม่ให้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีแบทเตอรีชาร์จเกิน 90 % เข้าไปในที่จอดรถบริเวณชั้นใต้ดิน และสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อแจ้งที่มา และยืนยันว่าแบทเตอรี EV ที่บริษัทรถของตนผลิตนั้นเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยในท้องถิ่น
รัฐบาลเกาหลีใต้ และพรรคพลังประชาชน (People Power Party-PPP) ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมของเกาหลีใต้ เปิดเผยว่าพวกเขาจะนำโครงการมาตรฐานการรับรองแบทเตอรีใหม่ มาบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2024 แทนที่จะเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ซึ่งเป็นกำหนดเดิมที่จะเริ่มใช้
โดยมาตรการครั้งนี้จะต้องให้ผู้ผลิตแบทเตอรีอย่าง CATL, NMC Farasis Energy, Samsung SDI, LG Energy Solution และ SK on เหล่านี้ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวเกาหลีใต้ทุกเจ้า เพื่อยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของตนเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งก่อนหน้านี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นเพียงความสมัครใจของผู้ผลิตเท่านั้น นั่นเป็นความหละหลวมในด้านความปลอดภัยก็ว่าได้
สำหรับแง่อุตสาหกรรมผู้ผลิตแบทเตอรีในประเทศเกาหลีใต้นั้น ไม่มีเหตุที่จะคัดค้านในมาตรการดังกล่าว แต่มีเพียงหมายเหตุเตือนประชาชนไม่ควรสรุปเพียงข้างเดียวว่า “แบทเตอรีรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในตอนนี้ เป็นสาเหตุของไฟไหม้รถยนต์ไฟฟ้าเสมอไป” นอกจากนี้ หลังเกิดเหตุยังมีการแสดงความกังวลว่าการให้ข้อมูลแบบนี้จะไม่เป็นผลดี และไม่ได้ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ปลอดภัยมากขึ้น เนื่องจากไม่มีข้อมูลทดสอบที่ชัดเจนออกมาว่าแบทเตอรียี่ห้อใดบ้างอาจเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้มากกว่ากัน ซึ่งนั่นเป็นเพียงแค่คำเตือนปากเปล่า
แต่ละแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์จะใช้บริษัทผลิตแบทเตอรีดังนี้
Mercedes-Benz ใช้แบทเตอรีผลิตจาก CATL เป็นหลัก ตามมาด้วย NMC Farasis Energy, LG Energy Solution และ SK on ในบางรุ่น
BMW ใช้แบทเตอรีผลิตจาก Samsung SDI และ CATL ในบางรุ่น
Hyundai ใช้แบทเตอรีผลิตจาก LG Energy Solution, SK on และ CATL
Kia ใช้แบทเตอรีผลิตจาก LG Energy Solution, SK on และ CATL ในบางรุ่น
เมื่อเดินหน้ามาตรฐานการรับรองให้รถยนต์ไฟฟ้ามีความปลอดภัยมากขึ้นแล้วนั้น การดำเนินการขั้นต่อไปในเรื่องของจำนวนเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับประชาชนผู้ใช้รถ จะต้องมีระบบป้องกันไม่ให้ระบบไฟฟ้าร้อนเกินไป จากการจำกัดการชาร์จไฟที่ชาร์จสาธารณะแบบ DC ให้ชาร์จไฟได้ไม่เกิน 80 % และขยายสถานีชาร์จเพิ่มเป็น 90,000 เครื่องทั่วประเทศ ภายในสิ้นปี 2024 รวมถึงต้องติดตั้งระบบสปริงเกอร์ หรือระบบรดน้ำที่ทำงานด้วยการบีบอัดน้ำ ทำงานโดยอัตโนมัติเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้สำหรับพื้นที่ใต้อาคาร หรือพื้นที่จอดรถใต้ดินได้
โดยรวมกฎระเบียบใหม่เหล่านี้จะประกาศใช้เป็นที่แน่นอน หลังจากทางการของเกาหลีใต้ได้ประชุมฉุกเฉินเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และกำลังดำเนินการตรวจสอบแนวทางเพิ่มเติม เพื่อลดอุณหภูมิความตึงเครียด และความหวาดผวาในหมู่คนท้องถิ่นเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้รถยนต์ไฟฟ้าแบรนด์ดัง ที่ตอนนี้สาเหตุยังไม่สามารถสรุปได้ อาจเกิดขึ้นจากการระเบิดของแบทเตอรีภายในก็มีความเป็นไปได้
การกำหนดให้ผู้ผลิตเปิดเผยซัพพลายเออร์แบทเตอรีของตน และแนะนำมาตรฐานการรับรองแบทเตอรีใหม่ จะเป็นสิ่งที่สร้างมาตรฐานใหม่เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และรัดกุมในการผลิตรถยนต์ยิ่งขึ้นให้ผู้บริโภคที่จะเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตมั่นใจ และไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำรอยอีก สถานการณ์ยังคงต้องติดตามต่อหลังประกาศใช้มาตรการไปจนถึงปีหน้าเป็นอย่างน้อย