ข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า Munro & Associates บริษัทให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรม และผู้ชำนาญในการทำวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineering) ได้นำแพคแบทเตอรีขนาด 99.8 กิโลวัตต์ชั่วโมง ของ Kia EV9 (เกีย อีวี 9) มาแยกชิ้นส่วน และวิเคราะห์ตามหลักการวิทยาศาสตร์ จึงได้ข้อสรุปที่น่าประทับใจว่า แพคแบทเตอรีดังกล่าวถูกออกแบบอย่างเหมาะสม ทั้งสามารถซ่อมบำรุงได้ง่ายด้วย
การถอดแพคแบทเตอรีออกจากใต้ท้องรถทำได้ไม่ยาก เพียงถอดขั้วต่อไฟฟ้าคู่เดียว ถอดท่อของเหลวระบบหล่อเย็นสองช่อง และถอดสลักเกลียวยึดแพคแบทเตอรีอีกจำนวนหนี่ง เพียงเท่านี้แพคแบทเตอรีก็หลุดออกจากตัวรถได้ โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ หรือต้องทำความสะอาดกาวยึดชิ้นส่วนต่างๆ
วิศวกรของ Kia ติดตั้งแผ่นฝาปิดโลหะสองตำแหน่ง โดยฝาแรกเป็นฝาปิดระบบฟิวส์ และอีกแผ่นสำหรับการซ่อมแซมหน่วย BMS (Battery Management Supervisor) ทั้งสองระบบสามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องถอดแพคแบทเตอรีออกมาทั้งชุด ดังนั้นไม่ว่าช่าง หรือเจ้าของก็ไม่ต้องกังวลถึงความยุ่งยากในการซ่อมแซม
เมื่อถอดแพคแบทเตอรีจากตัวรถ จะเห็นโมดูลแบทเตอรีทั้ง 38 หน่วย คาดว่าการถอด หรือติดตั้งแบทเตอรี น่าจะทำอย่างง่ายดาย แต่ละโมดูลมีชุดแบทเตอรี 4 ชุด แต่ละชุดมีแบทเตอรี 3 เซลล์ ต่อกันแบบขนาน ส่วนชุดแบทเตอรีต่อกันแบบอนุกรม ทางบริษัทฯ ไม่ได้แจ้งมาว่าระบบนี้สามารถซ่อมแซม หรือเปลี่ยนแบทเตอรีได้หรือไม่ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ในระหว่างการถอดแพคแบทเตอรี บริษัทกำหนดให้แพคแบทเตอรีต้องมีแรงดันกระแสไฟฟ้าอยู่ระหว่าง 462-643 โวลท์
การออกแบบถาดของแพคแบทเตอรีมีคุณภาพการเชื่อมโลหะในระดับสูง ทั้งออกแบบระบบหล่อเย็นอย่างดี ด้วยแนวคิดที่เรียบง่าย โดยใช้แผ่นนำความเย็นอลูมินัมขนาดใหญ่แผ่นเดียว วางไว้ที่ก้นถาดเพื่อให้ความเย็นกับโมดูลแบทเตอรี มีทางเข้า และทางออกสารหล่อเย็นอย่างละหนึ่งช่อง ช่วยให้การติดตั้งง่ายขึ้น ทั้งมีแผ่นวัสดุสังเคราะห์ติดตั้งใต้แผ่นนำความเย็นอีกที เพื่อช่วยทั้งการลดแรงกระแทก และเป็นฉนวนกันความร้อน
เจ้าของ Kia EV9 น่าจะสบายใจมากขึ้นเมื่อเห็นความเรียบง่ายของแพคแบทเตอรี รุ่น E-GMP ซึ่งถูกใช้ในรถ Kia และ Hyundai รุ่นอื่น เช่น EV6 และ Ioniq 5 รวมถึงช่างซ่อมบำรุงก็น่าจะสบายใจมากขึ้น เมื่อทราบว่าการซ่อมบำรุงแพคแบทเตอรีของรถสองค่ายนี้ ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลต่อไป