ข่าวจากสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ภายใน 10 ปีข้างหน้า สหภาพยุโรปจะไม่อนุญาตให้จำหน่ายรถยนต์ใหม่ ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน/ดีเซล โดยข้อกำหนดไม่ได้ “ห้ามใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน” แต่เงื่อนไขกำหนดว่าเครื่องยนต์ที่ใช้ “ต้องมีค่า CO2 เท่ากับศูนย์” เป็นการเปิดช่องว่างให้กับเชื้อเพลิงที่มีค่าคาร์บอนเป็นกลาง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเชื้อเพลิงสังเคราะห์ หรือเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจนเป็นที่ยอมรับภายในระยะเวลา 10 ปีคงเป็นไปได้ยาก
แม้มีการโต้แย้งค่อนข้างมากเนื่องจากส่งผลกระทบการจำหน่ายรถเครื่องยนต์สันดาปภายในของสมาชิกสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ สหภายยุโรปยังยึดมั่นการประกาศครั้งแรกในปีที่แล้วว่า จะไม่มีรถใหม่ที่ปล่อยมลพิษ CO2 ตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไป โดยผู้ผลิตรถยนต์ต้องลดปริมาณ CO2 ลง 55 % ภายในปลายทศวรรษนี้ (2570) แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการได้เตรียมการพิจารณาทบทวนข้อกำหนดมาตรฐาน CO2 สำหรับรถยนต์นั่ง และรถแวนอีกครั้งในอนาคต
ขณะนี้บริษัทผู้ผลิตจะได้รับการสนับสนุน เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะกลาง โดยกำหนดว่า ภายในปี 2568 ค่า CO2 ต้องต่ำกว่าค่ามาตรฐานของปี 2564 ถึง 15 % ทำให้หลายบริษัทมีความเสี่ยงต้องจ่ายค่าปรับสำหรับรถที่มีค่ามลพิษเกินกำหนด เช่น ค่าย Volkswagen Group ได้ประมาณการค่าปรับที่ต้องจ่ายถึง 1.5 พันล้านยูโร (ประมาณ 59 พันล้านบาท) ภายในสิ้นปีนี้
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยุโรปยังให้เวลากับบริษัทผู้ผลิตในการบรรลุเป้าหมาย CO2 ที่กำหนด แทนการบังคับใช้ข้อกำหนดใหม่ทันทีในปี 2568 แต่เปิดโอกาสให้บริษัทฯ มีเวลาปรับปรุงให้บรรลุข้อกำหนด จนถึงปี 2570 โดยต้องบรรลุค่ามลพิษเฉลี่ยตลอดระยะเวลา 3 ปี (2568-2570) แทนการถูกปรับทันทีในปีที่กำหนด (2568) บริษัทผู้ผลิตจึงไม่ต้องจ่ายค่าปรับหากสามารถควบคุมให้ปริมาณไอเสียต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในแต่ละปี
สหภาพยุโรปยังมีแผนช่วยเหลือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ เพื่อเร่งผลิตรถไฟฟ้าด้วยการช่วยสนับสนุนต้นทุนการผลิตแบทเตอรี ด้วยแพคเกจ “แบทเตอรีบูสเตอร์” (Battery Booster) ที่มีมูลค่าถึง 1.8 พันล้านยูโร (ประมาณ 70.8 พันล้านบาท) สำหรับการเร่งการผลิตเซลล์แบทเตอรี และอุปกรณ์ส่วนควบที่ผลิตในยุโรป
นอกจากนั้นยังสนับสนุนการจัดหาวัตถุดิบให้ง่ายขึ้น ทั้งเร่งรัดกระบวนการผลิตวัตถุดิบสำหรับแบทเตอรี และมีโปรแกรมเงินทุน 1 พันล้านยูโร (ประมาณ 39.35 พันล้านบาท) สำหรับการพัฒนาแบทเตอรีเทคโนโลยีใหม่
สหภาพยุโรปยังช่วยฝั่งลูกค้า โดยการกระตุ้นการใช้รถไฟฟ้า ด้วยการเพิ่มการจูงใจ (เงินชดเชย) และโครงการเช่าซื้อรถไฟฟ้าทั้งรถใหม่ และรถมือสอง บริษัทผู้ผลิตพยายามดึงดูดลูกค้าด้วยการเปิดตัวรถไฟฟ้าราคาจับต้องได้ เช่น Citroen e-C3, Volkswagen ID.1 และ Renault Twingo แม้แต่ Dacia ก็จะเปิดตัวรถไฟฟ้าใหม่ ในรูปแบบรถซิทีคาร์ราคาต่ำกว่า 18,000 ยูโร (ประมาณ 7.08 แสนบาท)