ธุรกิจ
ปตท. เสริมมาตรการเร่งด่วน ตั้งวอร์รูมฝ่าสงครามเศรษฐกิจโลก

ปตท. ปักหมุดความสำเร็จครบรอบ 1 ปี เดินหน้าตามวิสัยทัศน์ “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน”
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2568 สะท้อนทิศทางการบริหารใน 2 เรื่องหลัก คือ เน้นธุรกิจ Hydrocarbon ที่ถนัด ปรับพอร์ทธุรกิจสู่สมดุลใหม่ และเร่งสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ จํานวน 23,315 ล้านบาท นำส่งรายได้เข้ารัฐในรูปแบบภาษี จำนวน 7,256ล้านบาท
ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา มีความก้าวหน้าการดำเนินงานตามกลยุทธ์ที่สำคัญ ประกอบด้วยการมุ่งเน้นธุรกิจหลัก Hydrocarbon สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศ โดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เพิ่มกำลังการผลิตแกสธรรมชาติในแหล่งอาทิตย์ เป็น 330 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการสินภูฮ่อม แหล่งปิโตรเลียมบนบกที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ช่วยให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยเพิ่มขึ้น พร้อมขยายการเติบโตของธุรกิจปัจจุบันในต่างประเทศ โดยเข้าถือหุ้น 10 ใน Ghasha หนึ่งในแหล่งแกสธรรมชาติใหญ่ที่สุดของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้ง บริษัท โกลบอลเพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) มีการขยายพอร์ทธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดีย และไต้หวัน สอดรับกับความต้องการใช้พลังงานสะอาดที่เติบโต
พร้อมกันนี้ยังสร้างมูลค่าเพิ่มในธุรกิจ LNG ให้เกิดประโยชน์สูงสุด วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในภูมิภาค โดยใช้จุดแข็งด้านโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมนำเข้า LNG รวมปริมาณ 11 ล้านตัน/ปี ครอบคลุมทั้งสัญญาระยะยาว และสัญญาซื้อขายแบบ Spot LNG Hub ของภูมิภาค ธุรกิจปิโตรเคมี และการกลั่นที่มีความท้าทายจาก Industry Landscape ที่เปลี่ยนไป จึงต้องเร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบปิโตรเคมีในระยะยาว โดยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) จะนำเข้าอีเทนจากสหรัฐอเมริกาปริมาณ 400,000 ตัน/ปี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ P1 และ D1 ซึ่งเป็นการบริหารจัดการ Supply & Market ร่วมกัน
นอกจากนี้ ปตท. ยังเร่งแสวงหา Strategic Partner เพื่อเสริมแกร่งธุรกิจ ซึ่งจะเป็นผลดีกับ ปตท. และ flagship โดย ปตท. ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ปรับพอร์ทธุรกิจ Non-Hydrocarbon
โดยประเมินธุรกิจใน 2 มุม คือ 1. ธุรกิจต้องมีความน่าสนใจ (Attractiveness) และ 2. ปตท. มี Right to Play มีความถนัด หรือมีจุดแข็ง สามารถเข้าไปต่อยอดในธุรกิจนั้นๆ ได้ และมี Partner ที่แข็งแรง หลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง ทั้งนี้ ปตท. มีแนวทางการลงทุนในธุรกิจ Non-Hydrocarbon ดังนี้
1. ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ EV Value Chain ปตท. จะมุ่งเน้นไปที่ธุรกิจบรรจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดสัดส่วนการถือหุ้นใน Horizon Plus และธุรกิจที่มีความเสี่ยง
2. ธุรกิจลอจิสติคส์ ซึ่ง ปตท. ออกจากธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของกลุ่ม ปตท. มุ่งเน้นเฉพาะที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลัก และสามารถสร้าง Synergy ภายในกลุ่มได้
3. ธุรกิจ Life Science ปรับพอร์ทมุ่งเน้นเฉพาะ Pharmaceutical และ Nutrition มีแผนการเติบโตที่ชัดเจนร่วมกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญ และสามารถพึ่งพาตัวเองได้ทางการเงิน (Self-funding) ทั้งนี้จากการปรับกลยุทธ์ธุรกิจ Non-Hydrocarbon ข้างต้น ทำให้สามารถรักษาเงินลงทุน (Capital Preservation) ไว้ได้ แทนที่จะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจที่มีความเสี่ยง และไม่สร้างผลกำไร
การดำเนินงานด้านความยั่งยืน
กลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่การลดการปล่อยแกสเรือนกระจก โดยดำเนินการอย่างบูรณาการร่วมกันทั้งกลุ่ม ปตท. ทั้งนี้ได้มีการ Reconfirm เป้าหมาย Net Zero 2050 และกำหนดแผนงานชัดเจน มีการพิจารณาปัจจัยรอบด้าน อาทิ ต้นทุนของการลดคาร์บอนด้วยวิธีต่างๆ เทียบกับค่าใช้จ่ายของการปล่อยคาร์บอน เช่น ภาษีคาร์บอนที่จะเกิดขึ้น โดยจะต้องมีความคุ้มค่าในการลงทุนเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ยังมีความก้าวหน้าในการศึกษาความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับ และกักเก็บแกสคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) รวมถึงพัฒนา CCS Hub Model เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยแกสเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ซึ่งจะเป็นต้นแบบสำคัญในการขยายผลเทคโนโลยี CCS ระดับประเทศในอนาคต สำหรับการศึกษาด้านธุรกิจไฮโดรเจนในภาคอุตสาหกรรม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหารือกับพันธมิตรทั้งในด้านการจัดหาไฮโดรเจน และแอมโมเนียคาร์บอนต่ำ และการประยุกต์ใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้า เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลเชิงธุรกิจ ตลอดจนสนับสนุนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan: PDP) ของประเทศไทยในอนาคต
นอกจากนี้ ปตท. มีการบริหารทางการเงินที่เป็นเลิศ โดยมีการจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2567 ที่ 2.10 บาท/หุ้น นับเป็นการจ่ายเงินปันผลสูงสุดตั้งแต่ ปตท. เข้าตลาดฯ และปตท. ได้มีการขยายระยะเวลาเครดิททางการค้า (ETC) เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่บริษัทในกลุ่ม โดยยังคงยึดหลักการรักษาวินัยทางการเงิน (Financial Discipline) อย่างเคร่งครัด โดยในปี 2568 ปตท. มีการซื้อหุ้นคืนเพื่อเป็นการบริหารสภาพคล่องอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ถือหุ้น และเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหุ้น
จากสัญญาณสถานการณ์พลังงานที่มีความผันผวน และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเผชิญภาวะถดถอย อันเนื่องจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ปริมาณการผลิตน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก และความต้องการใช้พลังงานที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ปตท. จึงได้ดำเนินเชิงรุกจัดตั้งวอร์รูม เตรียมแผนรับมือเศรษฐกิจถดถอยครอบคลุมการดำเนินงานใน 5 ด้าน ได้แก่ 1. Strategy ทบทวนกลยุทธ์เดิมพร้อมพิจารณาความท้าทายใหม่ที่จะเข้ามากระทบ พบว่ากลยุทธ์กลุ่ม ปตท. มาถูกทาง เหมาะสมสามารถรับมือกับปัจจัยภายนอก และความท้าทายจากเรื่องสงครามการค้าได้ เพียงแต่บางเรื่องต้องเร่งให้เร็วขึ้น เช่น การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. 2. Financial Management รักษาวินัยการเงิน บริหารต้นทุนการเงิน เสริมสภาพคล่องกระแสเงินสด รักษาระดับ Credit Rating 3. Supply Chain & Customer ดูแลคู่ค้าลูกค้า เพื่อสร้างความต่อเนื่องตลอด Supply Chain พร้อมเร่งดำเนินโครงการสร้างมูลค่าเพิ่ม 4. Project Management ทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการ และการลงทุน โดยต้องพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ รวมถึงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Asset Monetization) ของ flagship 5. Communication สื่อสาร และสร้างความเข้าใจการดำเนินธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง
“1 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่ ปตท. ได้ปรับกลยุทธ์ มั่นใจว่ากลยุทธ์มาถูกทาง สะท้อนจากผลประกอบการที่แข็งแกร่งท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยภายนอก นอกจากนี้ กลุ่มปตท. พร้อมเร่งสร้างความแข็งแรงภายใน สร้างมูลค่าเพิ่มจากความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. ผ่านโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการ P1 และ D1 ซึ่งเป็น PTT Group Synergy บริหารงานแบบ Centralized Supply and Market Management มีเป้าหมาย 3,000 ล้านบาท/ปี ภายในปี 2028 โครงการ MissionX ยกระดับ Operational Excellence เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าทั้งกลุ่ม ปตท. ประมาณ 30,000 ล้านบาท/ปี ภายในปี 2027 มีแผนงานชัดเจน และเป้าหมายเป็นรูปธรรม ซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว โครงการ Axis นำเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งจะสร้างมูลค่าได้อีก 11,000 ล้านบาท/ปี ภายในปี 2029 รวมถึงการทำ Asset Monetization ของกลุ่ม ปตท. ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน รวมทั้งเสริมความแข็งแกร่งด้วยการรักษาวินัยทางการเงิน และการลงทุนอย่างเคร่งครัด ตลอดจนบริหารสภาพคล่องกระแสเงินสดภายในกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างคุณค่าให้แก่สังคม และผู้ถือหุ้นอย่างยั่งยืน”
นอกจากภารกิจในด้านพลังงาน กลุ่ม ปตท. ยังคงยืนหยัดเคียงข้างสังคมไทย โดยส่งเจ้าหน้าที่ PTT Group SEALs ร่วมภารกิจค้นหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุแผ่นดินไหว สนับสนุนอาหาร เครื่องดื่ม และอุปกรณ์ที่จำเป็นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนแก่สภากาชาดเมียนมาร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาร์ด้วย