เรื่องเด่น Quattroruote
SUBARU CROSSTREK
รุ่น 2.0I MHEV PREMIUM
ราคา
ของรถทดสอบ 42,150 ยูโร (ประมาณ 1,312,000 บาท ไม่รวมภาษีนำเข้า)
เครื่องยนต์
แบบ เบนซิน 4 สูบนอน + มอเตอร์ไฟฟ้า 1,995 ซีซี
กำลังสูงสุด 136 แรงม้า
อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
จากผู้ผลิต 13.0 กม./ลิตร
จากการทดสอบ 13.3 กม./ลิตร
ความคุ้มค่าโดยรวม 13.32 ยูโร/100 กม.
อัตราการปล่อยไอเสีย
จากผู้ผลิต 174 กรัม/กม.
จุดแข็ง
หากเปรียบเทียบกับครอสส์โอเวอร์รุ่นอื่นๆ รถคันนี้มี ประสิทธิภาพการลุยทางสมบุกสมบัน ที่ดีมาก รุ่นย่อยของรถทดสอบ มีการติดตั้งอุปกรณ์ใช้งานที่ครบครันติดตั้งมาให้จากโรงงาน
จุดอ่อน
ระบบเครื่องยนต์แบบไฮบริดกลับมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากเกินคาด แต่ทำตัวเลขได้น่าพอใจขึ้นบ้างในการขับบนทางไกล ห้องโดยสารมีความกว้างขวาง แต่ที่เก้บสัมภาระท้ายมีความจุลดลงเล็กน้อย
ครั้งหนึ่งค่าย SUBARU (ซูบารุ) เคยทำตลาดครอสส์โอเวอร์ในภูมิภาคประเทศสหรัฐอเมริกากัลป์รถยนต์ที่มีชื่อว่า XV (เอกซ์วี) และต่อมามีชื่อต่อท้ายกว่า CROSSTREK (ครอสส์เทรค) มาถึงปัจจุบัน ชื่อนี้ถูกนำมาใช้เป็นรุ่นรถยนต์ของค่ายโดยตรง เหลือแต่คำว่า CROSSTREK กับการเป็นครอสส์โอเวอร์ระดับ ซี เซกเมนท์ ซึ่งที่มาของชื่อก็มีความหมายที่ค่อนข้างตรงตัว นั่นคือ การผสมผสานระหว่างครอสส์โอเวอร์ที่ครบครัน และการรองรับการใช้งานแบบสมบุกสมบัน แม้การใช้งานส่วนใหญ่จะอยู่บนทางเรียบก็ตาม จัดเป็นรถยนต์ที่ทางค่ายรถมีความคาดหวังเอาไว้สูงพอสมควร นับตั้งแต่รุ่น XV ที่เริ่มทำตลาดในปี 2018 สามารถสร้างยอดจำหน่ายเป็นสัดส่วนถึงกว่า 50 % ในประเทศอิตาลี ยอดจำหน่ายรวมทั้งหมดอาจไม่มากมายเท่ากับค่ายรถยนต์หลัก แต่ต้องยอมรับว่ายังคงมีเหล่าแฟนพันธุ์แท้รอคอยรถยนต์รุ่นใหม่จากค่ายรถแห่งนี้เสมอมา รวมถึงครอสส์โอเวอร์รุ่นใหม่คันนี้ที่มีความยาวในระดับ 4.5 ม. CROSSTREK ยังมาพร้อมจุดเด่นหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น เครื่องยนต์แบบสูบนอน ระบบเกียร์แบบอัตโนมัติแปรผัน ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา และการเสริมกำลังด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าตามสมัยนิยม กับราคาเริ่มต้นที่ 37,900 ยูโร สำหรับรุ่นย่อยเริ่มต้นแบบ STYLE มีอุปกรณ์มาให้ค่อนข้างครบครันพอสมควร จนถึงรุ่นย่อยระดับบนอย่าง PREMIUM และรุ่นพิเศษอย่าง STYLE XTRA
พลังการขับเคลื่อนแบบผสมผสาน
โดยปกติแล้วขุมพลังที่มีการขับเคลื่อน 2 รูปแบบจะถูกนิยามว่าเป็นระบบไฮบริด แต่บางครั้งรูปแบบการส่งกำลังทำให้นิยามดังกล่าวมีความแตกต่างออกไป ในกรณีของ CROSSTREK คือ หนึ่งในนั้น แม้ทาง SUBARU จะระบุว่าเครื่องยนต์บลอคนี้มีชื่อว่า E-BOXER กับระบบไฮบริดที่ไม่ได้ส่งกำลังผ่านชุดสายพานเท่านั้น แต่มีการเชื่อมต่อมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ากับชุดเกียร์ ส่งกำลังคู่กับเครื่องยนต์สันดาปแบบ 4 สูบ หรือสามารถขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ ได้ด้วย สำหรับรถยนต์ของค่ายรถแห่งนี้ ถือเป็นรูปแบบการขับเคลื่อนที่แตกต่างจากที่เคย (มีรายละเอียดในหน้าถัดๆ ไป) หากให้พูดโดยรวม คือ เครื่องยนต์จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนได้หลากหลายกว่าเดิม กับเครื่องยนต์สูบนอน BOXER ขนาด 2.0 ลิตร มีความสมดุลระหว่างการประหยัดเชื้อเพลิง และการปล่อยไอเสียที่เหมาะสมขึ้น แลกกับแรงม้าที่ลดลง 20 แรงม้า แต่ถูกชดเชยด้วยพละกำลังของชุดมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีแรงบิดสูงโดยมากกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ที่ 6.7 กก.-ม. ส่วนแรงบิดของเครื่องยนต์สันดาปลดลง 1.3 กก.-ม. เมื่อพิจารณาพละกำลังทั้งระบบของ CROSSTREK ถือว่าไม่ได้มากมายนักสำหรับสมรรถนะโดยรวม อย่างไรก็ตามโหมดขับเคลื่อนที่ปรับแต่งพละกำลังให้ฉับไวขึ้นกับโหมด S และ I ก็ช่วยได้ไม่น้อย
อัตราเร่งไหลลื่น ไม่หวือหวา
ระบบเกียร์อัตโนมัติแปรผัน มีชื่อว่า ECVT ใช้ระบบอีเลคทรอนิคแบ่งออกเป็น 7 จังหวะแบบเสมือน สำหรับการใช้งานทั่วไปมีการส่งกำลังที่ต่อเนื่อง การไต่ความเร็วทำได้ฉับไว สัมพันธ์กับรอบเครื่องยนต์ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม มี 2 ปัจจัยที่ดูจะขัดแย้งกันเองเล็กน้อยหากมองในแง่ของสมรรถนะโดยรวม หรือในกรณีที่ผู้ขับกดคันเร่งสุดทันทีทันใดสำหรับการเร่งแซง การตอบสนองของเครื่องยนต์ BOXER ในกรณีนี้กลับมีจังหวะสะดุดเล็กน้อย ถัดมา คือ ปัจจัยด้านน้ำหนักโดยรวมของตัวรถที่ 1,700 กก. ขึ้นไป ทำให้ภาระตกอยู่กับเครื่องยนต์มากยิ่งขึ้น และทำให้มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงค่อนข้างสูงสำหรับการขับทางไกล รถคันนี้สามารถทำตัวเลขจากการทดสอบที่ 13.3 กม./ลิตร ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขที่ทางผู้ผลิตระบุมาที่ประมาณ 13 กม./ลิตร นับเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นเสียทีเดียว เนื่องจากตามปกติแล้วเครื่องยนต์ไฮบริดจะประหยัดเชื้อเพลิงได้ดีกว่านี้ แม้จะเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาก็ตาม
ในแง่ของความมั่นคงขณะขับขี่ ตัวถังที่มีความสูงจากพื้นถนนค่อนข้างมาก และระบบรองรับที่เน้นความนุ่มนวล ทั้งจากชุดสปริง และชอคอัพ มีผลกระทบค่อนข้างชัดเจนในกรณีขับเคลื่อนบนพื้นถนนเปียก การทดสอบความคล่องแคล่วของเรา พบว่าตัวรถมีอาการโอเวอร์สเตียร์ค่อนข้างชัดเจน แม้จะใช้ความเร็วที่ไม่สูงมากนัก ส่วนการขับบนพื้นถนนแห้งมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้น แม้ระบบ อีเอสพี จะเข้ามาทำงานในหลายจังหวะ สิ่งที่ช่วยได้ คือ การตอบสนองของพวงมาลัยที่แม่นยำ และมั่นคง อาจไม่เด่นที่ความฉับไว แต่มีความต่อเนื่อง และแม่นยำในระดับที่น่าพอใจ ส่วนระบบเบรค มีประสิทธิภาพที่น่าพอใจในภาพรวม มีความมั่นคงเป็นอย่างดีแม้ทำการเบรคบนพื้นผิวที่มีความลื่นแตกต่างกัน และตัวรถไม่เสียความสมดุลแม้แต่น้อยขณะทำการเบรค
พื้นที่เก็บของลดลง 30 ลิตร
ในอีกแง่หนึ่ง ระบบรองรับที่เน้นความนุ่มนวล ช่วยให้การโดยสารมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่การใช้ความเร็วเกินกว่า 100 กม./ชม. ขึ้นไป กลับมีเสียงรบกวนจากลมปะทะค่อนข้างมาก สุดท้ายแล้ว พื้นที่ใช้สอยมีให้อย่างเหลือเฟือ และหลากหลายสำหรับพื้นที่ของห้องโดยสารทั้งหมด ส่วนที่เก็บสัมภาระถูกกินเนื้อที่บางส่วนจากการติดตั้งชุดแบทเตอรี ทำให้ความจุของที่เก็บสัมภาระท้ายจะลดลง 30 ลิตร เมื่อเทียบกับรุ่น XV
ภายในห้องโดยมีคุณภาพสูง
เบาะนั่งหุ้มด้วยชุดหนังแท้ชั้นดี ติดตั้งมาให้รุ่นย่อย PREMIUM มีระบบทำความอุ่น และปรับตำแหน่งด้วยไฟฟ้า เบาะผู้ขับสามารถปรับระดับการรองรับสรีระช่วงเอวได้ เบาะคู่หน้ามีรูปทรงที่เหมาะสม รองรับสรีระได้ดีมากขณะที่เข้าโค้งด้วยความเร็วสูง ขณะที่เบาะด้านหลังสามารถเก็บลงมาได้ โดยพับแยกแบบ 60:40 และมีการติดตั้งช่องต่อ USB จำนวน 2 ช่อง โดยหนึ่งในนั้นเป็นช่องต่อแบบ TYPE C แต่กลับไม่มีช่องแอร์สำหรับเบาะหลังซะงั้น ช่องเก็บของมีให้ใช้งานเฉพาะบริเวณคอนโซลเกียร์เท่านั้น รวมถึงบริเวณช่องเก็บของบนคอนโซลหน้า แต่โดยรวมแล้วพื้นที่ใช้สอยโดยรวมยังคงมีให้อย่างเหลือเฟือในห้องโดยสาร
รูปแบบดั้งเดิม การออกแบบที่คุ้นเคย
การออกแบบคอนโซลหน้าของค่าย SUBARU มีความน่าสนใจเสมอมา ภายใต้รูปแบบที่มีความคุ้นเคยจากรถยนต์ร่วมค่ายหลายรุ่น ยกตัวอย่าง เช่น ส่วนบนของคอนโซลหน้ามีการออกแบบให้ต่อเนื่องกับชุดแผงประตูด้านใน การออกแบบองค์ประกอบอื่นๆ มีลักษณะ “อนุรักษ์นิยม” ตามแบบฉบับรถยนต์ของค่ายรถแห่งนี้ ผลลัพธ์ คือ รูปแบบการใช้งานแบบดิจิทอลอาจถูกลดทอนลง และมีปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิมในหลายจุด เน้นการใช้งานที่ลงตัวมากกว่ารูปแบบที่ตื่นตาตื่นใจ โดยรวมแล้ว จุดที่ดูทันสมัยอย่างชัดเจน คือ ปุ่มสตาร์ทเครื่องยนต์เท่านั้น นอกนั้นแล้ว รูปแบบการใช้งานยังมีลักษณะดั้งเดิม ไม่ว่าจะเป็นส่วนคันเกียร์พร้อมโหมดเปลี่ยนเกียร์แบบธรรมดา หรือ แผงหน้าปัดที่แสดงผลมาตรวัดแบบทรงกลมขนาดใหญ่จำนวน 2 ชุด แสดงผลด้วยเข็มมาตรวัดที่คุ้นเคย มีข้อดี คือ ความชัดเจนของการแสดงผลที่มองเห็นได้ง่าย รวมถึงปุ่มใช้งานต่างๆ ที่มีความสะดวกเป็นอย่างดี ยกเว้นเพียงปุ่มใช้งานมัลทิฟังค์ชันบนพวงมาลัย มีจำนวนปุ่มที่มากมาย และเป็นจุดที่แสดงให้เห็นรูปแบบดั้งเดิมของการออกแบบได้ชัดเจนที่สุด โดยฝั่งซ้ายมือของพวงมาลัย มีปุ่มหมุนสำหรับปรับความสูงของลำแสงจากไฟหน้า ชวนให้นึกถึงรถยนต์เมื่อประมาณ 10 ปีก่อน หรือ ปุ่มใช้งานที่ทำความอุ่นของเบาะนั่ง มีรูปแบบเหมือนกันรถยนต์ของ SUBARU เมื่อ 20 ปีก่อน ขนาดนั้นเชียว แม้การใช้งานจะมีความสะดวกสบายก็ตามที
การใช้งานแบบแอนาลอก
CROSSTREK จะทำให้ผู้โดยสารที่ชื่นชอบการใช้งานแบบดั้งเดิมมีความพึงพอใจได้เต็มที่ ปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิมมีติดตั้งมากมาย เห็นได้จากคันเกียร์ทรงยาว ขนาดใหญ่ ช่องเสียบใช้งานต่างๆ ที่คุ้นเคย รวมถึงช่องต่อเครื่องเสียงแบบ AUX ที่หาได้ยากแล้วในปัจจุบัน รวมถึงปุ่มหมุนบริเวณฝั่งซ้ายมือของพวงมาลัยสำหรับปรับความสูงของลำแสงจากชุดไฟหน้า (ในภาพตรงกลางด้านบน) สิ่งที่แปลกตาสำหรับรถยนต์จากค่ายรถแห่งนี้ คือ ปุ่มปรับโหมดการส่งกำลัง ติดตั้งบริเวณเหนือปุ่มใช้งานระบบครูสคอนทโรล
ประสิทธิภาพการลุย ระดับการยึดเกาะถนนที่ยอดเยี่ยม
แม้รถยนต์รุ่นนี่ไม่ใช่ เอสยูวี สายพันธุ์ลุยเต็มพิกัด ยังเน้นการใช้งานทั่วไป เปรียบได้กับการชวนใครบางคนในวันหยุดสุดสัปดาห์ไปเดินขึ้นภูเขาเอเวอร์เรสท์ ซึ่งคงไม่มีใครทำอย่างนั้นกกันอยู่แล้ว รถคันนี้มีการขับขี่ที่ดีนอกเหนือจากทางเรียบบนถนนทั่วไป ภายใต้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ส่งกำลังสู่ล้อคู่หน้า/หลังในอัตราส่วน 50:50 พอดี มีข้อจำกัดอยู่บ้าง คือ รูปทรงของตัวรถ กับความสูงจากพื้นถนนที่ 220 มม. การเสี่ยงต่อการระทบกระทั่งกับข้างใต้ตัวถังหากลุยทางสมบุกสมบันเต็มพิกัด เช่น เนินสลับ และเนินชัน การลุยเส้นทางที่เป็นหลุมบ่อขนาดใหญ่ (มีความชันระดับ 30-40 %) ส่วนหน้าของตัวรถแสดงอาการอย่างชัดเจน กระตุ้นให้ระบบช่วยเบรคอัตโนมัติทำงานขึ้นมาได้ เพื่อป้องกันไม่ให้รถไถลไปโดนอุปสรรคข้างหน้า ส่วนขณะลงทางลาดชัน ระบบอีเลคทรอนิคช่วยชะลอความเร็วอย่างได้ผล เป็นผลดีประการหนึ่งของระบบ X-MODE ช่วยปรับแต่งการส่งกำลังให้เหมาะกับสภาพพื้นผิวที่มีความลื่นเป็นพิเศษ และยังรวมถึงพื้นผิวโคลนเลน หรือพื้นหิมะที่มีความหนา สามารถเคลื่อนผ่านด้วยความเร็วที่คงที่ ผนวกกับการทำงานของระบบควบคุมเสถียรภาพตัวรถ แปรผันการส่งแรงบิดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม CROSSTREK สามารถแล่นผ่านสนามทดสอบทางลุยได้อย่างไม่มีปัญหา และผ่านเนินชันระดับ 60 % ได้สบายๆ
ครบครันในระบบเดียว
ภายใต้โหมด OFF-ROAD จอแสดงผลจะแสดงให้เห็นรูปแบบการส่งกำลังนับตั้งแต่ระดับของแรงบิด และมุมองศาของตัวรถ พื้นที่ที่เป็นเนินชันอาจมีปัญหาสำหรับตัวถังส่วนหน้าได้