ค่ายรถ Juneyao Auto รุกหนักกับการทำตลาดในประเทศไทย หลังจากเปิดตัว และจัดแสดงที่งาน Motor Expo 2024 กับซีดานพลังไฟฟ้าคันเก่งของค่าย นั่นคือ JY Air (เจวาย แอร์) ล่าสุด มีการจัดกิจกรรมของสื่อมวลชนสายยานยนต์มาทดลองขับกันต่อเนื่อง (เส้นทาง กรุงเทพฯ-พัทยา) โดยรุ่นที่เราได้ทดลองขับ คือ รุ่น Standard (ราคา 759,000 บาท) แม้เป็นรุ่นพื้นฐาน แต่มีความน่าสนใจอยู่หลายประการ เรามาดูกันเลย
รถยนต์ไฟฟ้าสไตล์เครื่องบิน !
ค่าย Juneyao Auto คือ ส่วนหนึ่งของธุรกิจจากกลุ่มทุนใหญ่จากประเทศจีน โดยมีอีกหนึ่งกิจการ นั่นคือ Juneyao Airlines กับเที่ยวบินทั้งในประเทศจีน และต่างประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) แนวคิดการพัฒนารถยนต์ของค่ายจึงอิงกับรูปแบบของอากาศยานเชิงพาณิชย์ การออกแบบ JY Air จึงมีแนวคิดที่แปลกใหม่ในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น ไฟหน้าที่มีรูปทรงคล้ายปีกเครื่องบิน หรือ ไฟท้ายทรงเรียวสีแดงในแนวนอน ได้รับแรงบันดาลใจจากไฟส่องสว่างของรันเวย์
นอกจากนี้ตัวรถยังถูกออกแบบให้มีความลู่ลม ภายใต้ตัวถังแบบ One Box หรือมีเส้นสายที่ไหลลื่นต่อเนื่องแบบซีดาน Fastback ตัวถังจึงมีสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศเพียง 0.23 เท่านั้น ส่วนกันชนมีช่องให้อากาศไหลเวียนได้สะดวก รวมถึงแผ่นจัดเรียงอากาศบริเวณส่วนล่างของกันชนท้าย รวมถึงช่องรับอากาศบริเวณด้านล่างกันชนหน้าสามารถเปิด/ปิดได้อัตโนมัติ (ตามแต่รูปแบบการใช้งาน) ขณะที่มิติตัวถัง ความยาว 4,550 มม. และระยะฐานล้อที่ 2,800 มม. จัดเป็นรถยนต์ระดับ C-Segment รุ่น Standard ใช้ล้อแมกขนาด 17 นิ้ว (ยางจากประเทศจีน Sentury Qirin EV ขนาด 215/60 R17)
นอกจากสเปคเบื้องต้นตามที่กล่าวมา ทางผู้ผลิตยังระบุอีกว่า โครงสร้างตัวถังของ JY Air ได้รับการออกแบบจากทีมผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ รวมถึงโครงสร้างรอบชุดแบทเตอรี มีการใช้วัสดุที่เหมาะสม ทำให้ได้ความแข็งแรงของโครงสร้างอย่างทั่วถึง ทีมงานของ Juneyao Auto จึงพัฒนา JY Air จากแนวคิดหลักของค่ายรถได้อย่างชัดเจน (ไม่ใช่การนำโครงสร้างของรถยนต์รุ่นอื่นๆ มาพัฒนา)
ห้องโดยสารล้ำสมัย ทัศนวิสัยดี
มาถึงห้องโดยสารของ JY Air เบาะคู่หน้ามีความกว้างขวางที่น่าพอใจ ทัศนวิสัยของผู้ขับมีความปลอดโปร่ง รุ่น Standard มีการใช้วัสดุสำหรับเบาะนั่ง และบริเวณต่างๆ แบบผ้า+PVC แต่การเลือกสีสันที่ใช้กับห้องโดยสาร ทำให้มีความโปร่งโล่ง และยังคงดูดีมีราคา พวงมาลัยแบบ 2 ก้าน พร้อมปุ่มมัลทิฟังค์ชันที่ทำหน้าที่ควบคุมการใช้งานระบบอื่นๆ เช่น การปรับแต่งระบบความปลอดภัย หรือ การใช้งานกระจกมองข้าง โดยต้องเปลี่ยนโหมดการใช้งานจากหน้าจอหลัก (ขนาด 15.6 นิ้ว) ไม่มีปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิมตามสไตล์รถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่น (จัดเป็นหนึ่งในสิ่งที่ต้องทำความคุ้นเคยในระยะแรก) นอกจากนี้ยังมีจอแสดงผลการขับขี่ด้านหน้าผู้ขับ มองเห็นการแสดงผลได้ชัดเจน จุดที่น่าเสียดาย คือ เบาะคู่หน้าปรับทิศทางด้วยมือ ไม่มีระบบปรับเบาะด้วยไฟฟ้ามาให้
เบาะด้านหลังสามารถได้สบายสำหรับระยะช่วงขา แต่เราสังเกตว่าตัวเบาะมีระยะความสูงจากพื้นห้องโดยสารค่อนข้างน้อย ผู้โดยสารด้านหลังจะมีลักษณะชันเข่าเล็กน้อย โดยทางผู้ผลิตออกแบบเบาะด้านหลังให้เป็นลักษณะดังกล่าว เพื่อให้การพับเบาะด้านหลังลงมาจะเป็นลักษณะราบสนิท ขนสัมภาระได้สะดวก และหลากหลายยิ่งขึ้น ส่วนพนักพิงหลังทำมุมเอนได้พอเหมาะ ทัศนวิสัยของผู้โดยสารด้านหลังค่อนข้างดี ไม่อึดอัด
ระบบใช้งานของ JY Air มีชื่อว่า Crystal OS ถูกออกแบบขึ้นมาโดย Juneyao Auto ที่มีความรู้เกี่ยวกับการออกแบบซอฟท์แวร์ของเครื่องบินเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อนำมาใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าทำให้คาดหวังได้เรื่องความเสถียรของพโรแกรมใช้งาน เราเห็นได้จากการแสดงผลบนหน้าจอมีลูกเล่นที่หลากหลาย ภาพมีความคมชัด ตอบสนองการสัมผัสได้ดีเทียบเท่ามือถือ สามารถจำลองหน้าจอของมือถือ/แทบเลท และเครื่องเล่นเกมก็ได้ เพื่อความบันเทิงของผู้โดยสาร เป็นข้อดีของการเลือกใช้ CPU ประสิทธิภาพสูง สามารถเลือกใช้งานคล้ายโหมดตัวการ์ตูน และหากระบบเปิดใช้งานเต็มตัว ผู้ขับสามารถใช้แต้มจากการขับขี่แบบประหยัดพลังงานไฟฟ้า มาซื้ออุปกรณ์ตกแต่งฉากเพิ่มเติมได้ (ฟังค์ชันนี้จะเปิดใช้หลังจากที่มีการส่งมอบ JY Air ช่วงปลายเดือน มกราคม)
รุ่น Standard 201 แรงม้า
มาถึงการขับบนถนนจริงกับ JY Air ภายใต้มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 201 แรงม้า ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง (รุ่นทอพ Plus จะมีกำลังสูงสุดที่ 214 แรงม้า) ส่วนแบทเตอรีมีความจุ 51 กิโลวัตต์ชั่วโมง ผู้ผลิตระบุระยะทำการสูงสุดที่ 430 กม. (NEDC) และมีความเร็วสูงสุดที่ 170 กม./ชม. รองรับการชาร์จไฟฟ้าแบบ DC ที่ 70 กิโลวัตต์ ส่วนการชาร์จแบบ AC สูงสุดที่ 11 กิโลวัตต์ เราพบว่าการส่งกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้าของ JY Air Standard เน้นความไหลลื่นต่อเนื่อง ไม่ใช่การปล่อยพละกำลังทันทีทันใด แม้เราจะลองกดคันเร่งสุดทันทีก็ตาม ตัวรถมีการไต่ความเร็วที่ต่อเนื่อง ไม่มีอาการล้อหมุนฟรี หรือเสียงดังจากล้อรถ แม้จะดูไม่หวือหวา แต่หลังจากนั้นความเร็วจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วง 130-140 กม./ชม. แบบแทบไม่รู้ตัว หากชื่นชอบการขับขี่แบบไหลลื่นต่อเนื่องตามแบบฉบับของรถซีดาน JY Air ถูกปรับแต่งให้มีบุคลิกของการขับเคลื่อนในลักษณะดังกล่าว
ส่วนระบบรองรับ มการตอบสนองที่เน้นความนุ่มนวล แต่ก็มีความหนึบในระดับที่พอเหมาะ การขับทางไกลที่ความเร็วช่วง 100-110 กม./ชม. ในส่วนทางตรง ตัวรถมีความนิ่งที่น่าพอใจ การแล่นผ่านคอสะพานไม่สั่นสะเทือนมากเกินไป (ส่วนหนึ่งอาจมาจากการใช้ล้อแมกขนาด 17 นิ้ว ของรุ่น Standard) การเข้าโค้งหากใช้ความเร็วที่เหมาะสมก็สามารถควบคุมตัวรถได้ไม่ยาก แต่ระบบรองรับที่ยังเผื่อเหลือให้ความนุ่มนวลตามสไตล์ซีดาน หากใช้ความเร็วสูงขึ้นในโค้ง JY Air จะมีอาการโคลงให้สัมผัสได้เหมือนกัน ในแง่ของความุน่มนวลเราคิดว่าซีดานพลังไฟฟ้าคันนี้มีความนุ่มนวลมากกว่าคู่แข่งสไตล์แฮทช์แบค เช่น Ora Good Cat หรือ MG4 Electric
ค่ายรถใหม่มาแรง ตัวรถน่าสนใจ แม้ยังต้องดูกันยาวๆ
JY Air เป็นการประเดิมรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของการทำตลาดในประเทศไทย กับทางเลือกราคาที่ 7-8 แสนบาท++ จัดเป็นราคาของรถยนต์ระดับ B-Segment ด้วยซ้ำ (ในรุ่นพื้นฐาน Standard) แต่ได้รถยนต์ระดับ C-Segment มาใช้งาน นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะคู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้าระดับราคาดังกล่าวมีแต่รถยนต์สไตล์แฮทช์แบค ระบบใช้งานมีความทันสมัย และมีลูกเล่นที่ไม่จำเจ เบาะคู่หน้ากว้างขวาง ส่วนเบาะคู่หลังมีพื้นที่พอเหมาะ และการพัฒนาตัวรถจากค่าย Juneyao Auto โดยตรง โดยมีโครงการจะผลิตในประเทศไทยในช่วงปลายปีหน้าเป็นอย่างเร็ว และเพิ่มจำนวนศูนย์บริการอย่างต่อเนื่อง บ่งบอกให้เห็นว่าค่ายรถแห่งนี้แม้จะยังเป็น “น้องใหม่” แต่มีความตั้งใจไม่น้อย เหลือแค่การพิสูจน์ความน่าเชื่อถือในระยะยาวสำหรับการทำตลาดในประเทศไทยจะ “ได้ใจ” ลูกค้าชาวไทยมากน้อยไหน !