ทดสอบ(formula)
มาซดา 3
การกลับมาของแฮทช์แบคมาดสปอร์ท มาซดา 3 รุ่นใหม่ล่าสุดทั้งที งานนี้ซ่อนจุดเด่นเอาไว้หลายประการ พิสูจน์มาแล้วจากสารพัดรางวัลที่คว้ามาได้ ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ยอดเยี่ยมของสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย หรือรถยนต์ยอดเยี่ยมของประเทศจีนในปีล่าสุด รถยนต์คันนี้คู่ควรหรือไม่ ? เราจะมาพิสูจน์กันจากการทดสอบครั้งนี้
EXTERIOR ภายนอก
มาซดา 3 รุ่นที่เรานำมาทดสอบ คือ รุ่นทอพของตัวถังแฮทช์แบค เส้นสายมีการเปลี่ยนแปลงในหลายส่วน จากเดิมที่จะเน้นสันเหลี่ยมที่คมเข้ม เปลี่ยนมาเป็นแนวทางที่เน้นความเรียบหรู ลดเส้นสายบางส่วนลง ความโฉบเฉี่ยวโดยรวมมาจากรูปทรงของชุดไฟหน้า พร้อมกระจังหน้าที่มีความต่อเนื่องกัน รวมถึงไฟท้ายรูปแบบใหม่ เป็นการออกแบบสไตล์ โคโดะ ที่มีพัฒนาการล่าสุด นอกจากนี้แนวกระจกหน้าต่างจะมีรูปทรงเพรียว กระจกของประตูบานท้ายจะตวัดเฉียงขึ้น เพิ่มความปราดเปรียวทางสายตา แต่จุดที่น่าแปลกใจเล็กน้อย คือ บริเวณเสาซี มีขนาดใหญ่มาก และมีลักษณะเป็นผิวเรียบ ปราศจากเส้นสายใดๆ ทำให้ มาซดา 3 ตัวถังแฮทช์แบคมีบุคลิกที่เรียบหรูกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ และให้ความรู้สึกแปลกตาเมื่อแรกเห็น
รุ่นทอพ 2.0 เอสพี มีจุดแตกต่างจากรุ่นย่อย อื่นๆ นั่นคือ ไฟหน้าแบบมีไฟส่องสว่างเวลากลางวัน นอกเหนือจากนั้นจะมีความใกล้เคียงกับรุ่นย่อยระดับกลาง นั่นคือ รุ่น 2.0 เอส หากใครที่ต้องการรูปทรงภายนอกที่ใกล้เคียงกับรุ่นทอพ การหันมาเลือกรุ่น 2.0 เอส ก็อาจจะเพียงพอ เพราะได้ล้อแมกขนาด 18 นิ้วเท่ากัน แต่แน่นอนว่า อุปกรณ์ใช้สอย และระบบความปลอดภัย ในรุ่นทอพ 2.0 เอสพี มีติดตั้งให้มากกว่าหลายรายการ ซึ่งเราจะนำเสนอในหัวข้อต่อไป
INTERIOR ภายใน
มาซดา 3 คือ รถยนต์ระดับ ซี-เซกเมนท์ ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสปอร์ท แต่ในรุ่นล่าสุดถูกพัฒนาขึ้นมาอีกขั้นให้มีมาดหรูเกินคาด เมื่อขึ้นมานั่งในห้องโดยสาร ความรู้สึกแรกที่เราสัมผัสได้ คือ ความกระชับแน่น แผงคอนโซลแบบโอบล้อมรอบผู้ขับ ทำมุมเอียงเข้ามาเล็กน้อย คอนโซลเกียร์ขนาดใหญ่ เป็นแนวทางของรถสปอร์ทที่ มาซดา รังสรรค์เสมอมาในรถยนต์หลายรุ่นของค่าย การตกแต่งใช้วัสดุที่ดีขึ้นกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ คุณภาพการประกอบน่าพอใจ ยกระดับสู่การเป็นรถยนต์หรูได้เต็มตัว จุดที่น่าสนใจ คือ ระบบเครื่องเสียงของ BOSE (ติดตั้งในรุ่นทอพ 2.0 เอสพี เท่านั้น) พร้อมลำโพงถึง 12 ตัว ด้านหน้ามีคุณภาพเสียงดีมาก แต่สิ่งที่น่าพอใจยิ่งกว่า คือ ความสามารถในการเก็บเสียงรบกวนจากภายนอก ห้องโดยสารมีความเงียบ แม้แล่นในช่วงความเร็ว 100-120 กม./ชม. เสียงของยางค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการหันมาใช้ยางที่เน้นความนุ่มเงียบอย่าง โยโกฮามา แอดวานศ์ เดซิเบล นอกเหนือจากนี้การเก็บเสียงจากระบบเครื่องเสียงในห้องโดยสารมีการเล็ดลอดออกมาสู่ภายนอกต่ำมาก เราทดสอบด้วยการเปิดเครื่องเสียงในระดับความดังพอสมควร ยามเมื่อเปิด/ปิดประตูของผู้ขับระดับเสียงมีความแตกต่างกันมาก แสดงให้เห็นว่าจุดเชื่อมต่อ และยางกันเสียงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพราวกับรถยนต์ระดับหรูขนานแท้ และทำได้ดีกว่ารุ่นก่อนหน้านี้อย่างชัดเจน
ENGINE เครื่องยนต์
ขุมพลังของ มาซดา 3 ยังคงอิงจากบลอคที่ใช้ในรุ่นก่อนหน้านี้ แต่มีการปรับปรุงภายในเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เป็นแบบเบนซิน ขนาด 2.0 ลิตร กำลังสูงสุด 165 แรงม้า ที่ 6,000 รตน. ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ พิจารณาจากกำลังสูงสุด และแรงบิดสูงสุด ถือว่าไม่แตกต่างจากรุ่นก่อนหน้านี้ แต่จะมีความแตกต่างในรายละเอียดจากการทดสอบในส่วนต่างๆ หรือไม่ เรามาพิสูจน์กัน โดยมีคู่เปรียบเทียบสมรรถนะ คือ อีกหนึ่งแฮทช์แบคของค่ายคู่แข่ง นั่นคือ ฮอนดา ซีวิค แฮทช์แบค เครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ ขนาด 1.5 ลิตร กำลังสูงสุด 173 แรงม้า เกียร์อัตโนมัติแปรผัน
เริ่มจากอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. มาซดา ทำเวลาได้ที่ 10.7 วินาที ส่วน ฮอนดา ซีวิค แฮทช์แบค คือ 8.5 วินาที เมื่อวัดกันยาวจนถึงช่วงตีนปลาย กับระยะ 0-1,000 ม. มาซดา ทำเวลาได้ที่ 31.8 วินาที (ที่ความเร็ว 171.4 กม./ชม.) ส่วน ซีวิค แฮทช์แบค ตัวเลขออกมาที่ 29.6 วินาที (ที่ความเร็ว 179.4 กม./ชม.) ในส่วนนี้จะเห็นว่า อัตราเร่งของ มาซดา 3 เป็นรองคู่แข่งเครื่องยนต์เทอร์โบอย่าง ซีวิค แฮทช์แบค พอประมาณ แต่ก็ไม่ถึงกับทิ้งห่างกันมากนัก แม้เครื่องยนต์ของ มาซดา จะเป็นแบบไร้ระบบอัดอากาศขนาด 2.0 ลิตร แต่แรงบิดที่ส่งออกมาจะอยู่ในรอบเครื่องยนต์ที่คงที่ (แรงบิดสูงสุด 21.7 กก.-ม. ที่ 4,000 รตน.) ต่างจากเครื่องยนต์พ่วงเทอร์โบของ ซีวิค แฮทช์แบค มีช่วงการตอบสนองแรงบิดที่กว้างกว่า (แรงบิดสูงสุด 22.4 กก.-ม. ที่ 1,700-5,500 รตน.)
มาที่อัตราเร่งยืดหยุ่น ช่วงความเร็ว 60-100 และ 80-120 กม./ชม. มาซดา 3 มีตัวเลขที่ 5.3 และ 6.8 วินาที ตามลำดับ ขณะที่ทางคู่แข่ง ซีวิค แฮทช์แบค ทำเวลาที่ 4.6 และ 5.8 วินาที ทาง มาซดา อาจยังเป็นรองในแง่ของอัตราเร่ง แต่ยังสามารถตามมาได้ในระยะไม่ห่างมากนัก อัตราเร่งของเครื่องยนต์ที่มีระบบอัดอากาศยังคงมีความได้เปรียบ โดยเฉพาะลักษณะการกดคันเร่งสุดแบบคิคดาวน์
อีกหนึ่งหัวข้อที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ความเร็ว 60/80/100/120 กม./ชม. มาซดา 3 สามารถทำตัวเลขได้ดังนี้ 31.0/26.0/19.0/15.6 กม./ลิตร นับเป็นตัวเลขที่น่าทึ่งพอสมควร กับเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร และมีพื้นฐานจากบลอคเดิมของรุ่นก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของเครื่องยนต์ สกายแอคทีฟ-จี คือ การประหยัดเชื้อเพลิงที่น่าพอใจเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การปรับปรุงเครื่องยนต์ทำให้จุดเด่นดังกล่าวมีความชัดเจนยิ่งขึ้นอีก หันมาทางคู่แข่งที่ทำอัตราเร่งได้ดีกว่า ฮอนดา ซีวิค แฮทช์แบค มีตัวเลขอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ 27.3/18.1/16.2/14.3 กม./ลิตร เรียกได้ว่ามีการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยมากกว่า มาซดา 3 ทุกช่วงความเร็ว แม้จะหันมาใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กแบบอัดเทอร์โบก็ตามที โดยแลกกับอัตราเร่งที่ดีกว่าก็ตาม นอกจากนี้การตอบสนองคันเร่งของเครื่องยนต์แบบไร้ระบบอัดอากาศของ มาซดา 3 มีการตอบสนองที่ดีแม้ในช่วงความเร็วต่ำ โดยเฉพาะการขับขี่ในสภาพการจราจรที่หนาแน่น สามารถเลี้ยงคันเร่งได้ง่ายกว่าเล็กน้อย
SUSPENSION ระบบรองรับ
การขับขี่ที่สนุก มีความเฉียบคมในตัว คือ อีกหนึ่งบุคลิกสปอร์ทที่ มาซดา ทำได้ดีเสมอมา และใน มาซดา 3 รุ่นนี้ ค่ายรถสามารถทำได้ดียิ่งขึ้นอีกขั้น กับการปรับแต่งระบบรองรับให้มีความหนึบนุ่มที่ลงตัว ภายใต้ระบบรองรับด้านหน้าแบบอิสระ แมคเฟอร์สันสตรัท แต่ด้านหลังเป็นแบบทอร์ชันบีม เป็นจุดที่หลายคนแปลกใจในทีแรก เนื่องจากระบบรองรับดังกล่าวมักถูกนำมาใช้กับรถยนต์ระดับคอมแพคท์ลงไป และ มาซดา 3 รุ่นก่อนหน้านี้ก็มีระบบรองรับด้านหลังแบบอิสระ ปีกนกคู่ การตัดสินใจมาใช้ระบบรองรับแบบทอร์ชันบีม จะมีความเหมาะสมกับรถยนต์ระดับนี้มากน้อยแค่ไหน จากการทดสอบของเรา พบว่า ประเภทของระบบรองรับไม่มีผลอะไรกับการขับขี่ ความหนึบที่พอเหมาะ ทำให้เข้าโค้งได้มั่นใจ แต่สามารถดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดี อย่างไรก็ตาม จุดที่ต้องระวัง คือ การแล่นผ่านพื้นต่างระดับฝั่งซ้าย/ขวา การใช้ระบบรองรับแบบกึ่งคานแข็ง แบบทอร์ชันบีม อาจมีแรงสั่นสะเทือนด้านข้างมากกว่าระบบรองรับแบบอิสระเล็กน้อย
มาซดา 3 รุ่นล่าสุด มีพัฒนาการที่ดีขึ้นรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของห้องโดยสาร ความหรูหรา การเก็บเสียง ที่ยกระดับขึ้นมาอย่างชัดเจน เข้าใกล้กับความเป็นรถยนต์หรูขนานแท้ แต่อารมณ์ความสปอร์ท คือ สิ่งที่ มาซดา สามารถรังสรรค์ได้ดีอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง โดยเฉพาะการขับขี่ที่สนุก มั่นคง กับเครื่องยนต์ที่มีอัตราเร่งน่าพอใจ มีจุดเด่นที่แท้จริง คือ การประหยัดเชื้อเพลิงที่ทำได้ดีกว่าคู่แข่ง ทั้งขณะแล่นที่ความเร็วคงที่ และขณะทำอัตราเร่ง แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ที่มีความสมดุลเป็นอย่างดี เสริมด้วยระบบความปลอดภัยที่ทันสมัย สมแล้วที่สามารถคว้ารางวัลมาครอบครองได้มากมาย !!!