ทดสอบ(formula)
BMW IX3
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากำลังมาแรง จากประสิทธิภาพที่ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายในเร็ววันนี้ เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้หลายคนหันมาให้ความสนใจรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น หนึ่งในค่ายรถที่เน้นประสิทธิภาพการขับขี่ของรถอย่างเข้มข้น BMW ก็มีรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่น ครั้งนี้เรามาทดสอบ เอสยูวี ขนาดตัวระดับกลาง ราคาเหมาะสม นั่นคือ IX3
EXTERIOR ภายนอก
แม้ระบบขับเคลื่อนจะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ IX3 (ไอเอกซ์ 3) ใช้ตัวถังร่วมกันกับ X3 (เอกซ์ 3) แทบทุกกระเบียด อย่างไรก็ตาม ทั้ง X3 และ IX3 เป็นรุ่นที่ถูกปรับโฉมแล้ว (ทาง BMW (บีเอมดับเบิลยู) จะเรียกว่า LCI หรือ LIFE CYCLE IMPULSE) แม้รูปทรงโดยรวมยังคงดูคุ้นเคย แต่ถูกเพิ่มสันเหลี่ยมคมเข้มเข้ามาในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงของกันชนหน้า กันชนท้าย และรูปทรงของไฟท้ายที่ดุดันกว่าเดิมมาก รวมถึงกระจังหน้าไตคู่ที่ถูกเพิ่มสันเหลี่ยมเข้ามาเช่นกัน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง IX3 จะมีความแตกต่างจาก X3 คือ การตกแต่งตัวถังภายนอกด้วยสีฟ้าสดในบางจุด และโลโกของรุ่น IX3 ขณะที่ล้อแมกขนาด 20 นิ้ว ลวดลายเหมือนรถยนต์ปกติ ไม่ใช่ทรงทึบเหมือนรถยนต์ไฟฟ้าบางรุ่น อย่างไรก็ตาม เรามีความเห็นว่า IX3 น่าจะมีรูปทรงที่แตกต่างจาก X3 รุ่นปกติมากกว่านี้ เพื่อความเป็นเอกเทศของรถยนต์ไฟฟ้า
INTERIOR ภายใน
นอกเหนือจากรูปทรงภายนอกของ IX3 ที่ใกล้เคียงกับ X3 รุ่นเครื่องยนต์สันดาป หรือพลัก-อิน ไฮบริด ห้องโดยสารของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ก็ยังถอดแบบจากรุ่นปกติอื่นๆ เช่นกัน บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยความคุ้นเคยตามแบบฉบับของ BMW พวงมาลัยทรงหนา จับกระชับมือ ปุ่มใช้งานระบบปรับอากาศในตำแหน่งที่มีมาแล้วหลายรุ่น การตกแต่งที่เน้นความหรูหรา ส่วนผู้ขับที่ออกแบบให้มีความกระชับ โอบล้อมผู้โดยสาร สมกับมาดสปอร์ทของค่ายรถแห่งนี้ คันเกียร์ขนาดใหญ่เหมือนรุ่นอื่นๆ (แม้รถยนต์ไฟฟ้าบางเจ้าจะใช้แป้นหมุนเท่านั้น) สิ่งที่จะเห็นความแตกต่าง ได้บ้าง คือ รูปแบบของการแสดงผลของระบบไฟฟ้า รวมถึงปุ่มใช้งานโหมดขับเคลื่อนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และตัวอักษร IX3 ที่ถูกตกแต่งในบางจุด (แต่ก็มองเห็นได้ไม่มากเท่าไรนัก) เรามีความคิดว่า เทคโนโลยีของ IX3 ถูกพัฒนาขึ้นมาพร้อมๆ กับ X3 ซึ่งเป็นเวลาหลายปีมาแล้ว รูปแบบการแสดงผลจึงไม่แตกต่างกันมากนัก รวมถึงรูปแบบของห้องโดยสาร ความแตกต่างจึงไปอยู่ในหน้าจอแสดงผลเสียส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม มีข้อดี คือ ความกว้างขวาง และอรรถประโยชน์ต่างๆ ตอบสนองได้ดีไม่แพ้ X3 รุ่นปกติ เพราะการติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้า และชุดแบทเตอรี ไม่กินเนื้อที่ภายในห้องโดยสารแม้แต่น้อย
ENGINE เครื่องยนต์
มอเตอร์ไฟฟ้าของ BMW IX3 มี 1 อัน ส่งกำลังสู่ล้อคู่หลัง กำลังสูงสุด 382 แรงม้า อย่างที่เราบอกไปแล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ถูกพัฒนาหลายปีก่อนหน้านี้ (เริ่มทำตลาดที่สาธารณรัฐประชาชนจีน) ระบบขับเคลื่อนจึงยังเป็นแบบ 2 ล้อหลัง ต่างจาก คู่แข่งหลายรายที่ใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาแล้ว (หรือมีทางเลือกทั้งแบบ 2 ล้อ และ 4 ล้อตลอดเวลา) เอสยูวี พลังไฟฟ้าคันนี้ไม่มีทางเลือกอื่นเลย ไม่ว่าจะรุ่นที่ทำตลาดในบ้านเรา หรือในภูมิภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่า BMW เรื่องสมรรถนะไม่เป็นรองใครอยู่แล้ว เราจึงมาทดสอบสมรรถนะกัน คู่เปรียบเทียบสมรรถนะ คือ รถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายคู่แข่ง นั่นคือ AUDI E-TRON SPORTBACK (เอาดี อี-ทรอน สปอร์ทแบค) กำลังสูงสุด 410 แรงม้า ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ 2 อัน ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา ขนาดตัวถังใหญ่กว่า และแน่นอนว่า ราคาสูงกว่า BMW IX3 ด้วย อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. IX3 ทำได้ที่ 6.6 วินาที ส่วน E-TRON SPORTBACK ใช้เวลาที่ 6.0 วินาที แม้จะฉับไวกว่า แต่อัตราเร่งมีความใกล้เคียงกันเกินคาด เราจึงต่อด้วยอัตราเร่งตีนปลาย 0-1,000 ม. รถยนต์ไฟฟ้าของ BMW ทำเวลาที่ 27.5 วินาที (ที่ความเร็ว 174.4 กม./ชม.) ส่วนทาง AUDI คือ 26.3 วินาที (ที่ความเร็ว 195.9 กม./ชม.) จากการทดสอบในส่วนนี้ เราพบว่าความแตกต่างของตัวเลขมาจากความเร็วสูงสุดที่แตกต่างกันมาก ทาง IX3 สามารถไต่ความเร็วได้อย่างต่อเนื่อง ตอบสนองฉับไวไม่แพ้กัน แต่ความเร็วปลายที่ถูกลอคเอาไว้ที่ประมาณ ไม่เกิน 180 กม./ชม. อัตราเร่งในช่วงความเร็วสูงจึงเสียเปรียบทาง E-TRON SPORTBACK ถูกทิ้งห่างออกมาเล็กน้อย อัตราเร่ง 60-100 และ 80-120 กม./ชม. IX3 ทำได้ที่ 3.1 และ 4.0 วินาที ตามลำดับ ส่วน E-TRON SPORTBACK คือ 2.6 และ 3.3 วินาที เราสังเกตว่า ในช่วงความเร็วต่ำกว่า ความแตกต่างของอัตราเร่งถือว่าไม่มากมายเท่าใดนัก แต่ในช่วงความเร็วที่สูงขึ้น อัตราเร่งย่อมแตกต่างมากขึ้น แสดงให้เห็นว่า อัตราเร่งของ BMW จะทำได้ดีในช่วงออกตัว และช่วงความเร็วต่ำ แม้ใช้มอเตอร์เพียง 1 อันสำหรับการขับเคลื่อน แต่การตองสนองก็ใกล้เคียงรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้มอเตอร์ 2 อัน นอกเหนือจากสมรรถนะโดยรวมแล้ว การชาร์จประจุไฟฟ้าของ BMW IX3 สามารถรองรับไฟฟ้ากระแสตรงได้สูงสุดที่ 120 กิโลวัตต์ กับความจุแบทเตอรีที่ 58.5 กิโลวัตต์ชั่วโมง ระยะเวลาในการชาร์จจึงไม่นานเกินไป เราลองทำการชาร์จแบบเร่งด่วน พบว่า ใช้เวลาเพียง 30 นาทีกว่าๆ ก็ได้ระดับแบทเตอรีเกือบเต็ม (เริ่มต้นชาร์จมีระดับแบทเตอรีที่ประมาณ 30 %) และระหว่างการขับขี่ทั่วไป แบทเตอรีก็ไม่ลดลงมาเร็วเกินไป ถือว่ามีการจัดสรรพลังงาน และการประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่ทำได้ดีไม่น้อยเลยทีเดียว ส่วนระยะทำการที่ผู้ผลิตระบุมา คือ สูงสุดที่ 386 กม. (ใช้งานจริงจะอยู่ที่ประมาณ 300 กม. กว่าๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะการขับขี่)
SUSPENSION ระบบรองรับ
แม้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า แต่ IX3 ก็มีจุดเด่นที่การบังคับควบคุม รวมถึงระบบรองรับที่มีความหนึบแน่นอย่างเหมาะสมตามแบบฉบับ BMW พวงมาลัยมีน้ำหนักค่อนข้างมาก แต่การเลี้ยวขณะจอดรถก็ยังทำได้ไม่ยากเย็น ช่วงความเร็วสูง หรือการกด คันเร่งลึกเพื่อเรียกอัตราเร่ง พวงมาลัยยังคงนิ่ง มั่นคง ระบบรองรับที่หนึบแน่นพอเหมาะ ทำให้ตัวรถไม่มีอาการส่าย หรือโยกไปมาแม้แต่น้อย รวมถึงระบบขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง อาการลักษณะท้ายปัด หรือโอเวอร์สเตียร์ก็ไม่มีให้เห็นเช่นกัน ส่วนหนึ่งมาจากการติดตั้งชุดแบทเตอรีบริเวณใต้ห้องโดยสาร ทำให้ตัวรถมีจุด ศูนย์ถ่วงที่ต่ำ ผนวกกับช่วงล่างที่ถูกปรับแต่งมาอย่างลงตัว โอกาสที่จะเสียการทรงตัวน้อยลงด้วย หากจะมีก็เพียงการหักพวงมาลัยกะทันหัน อาการโคลงจากน้ำหนักของตัวรถที่มากกว่า X3 รุ่นปกติ อาจมีให้สัมผัสเล็กน้อย นอกจากนี้รุ่นที่เราทดสอบ คือ M SPORT (เอม สปอร์ท) ได้ช่วงเวลาแบบสปอร์ทมาอีกแรง
รถยนต์ไฟฟ้าที่ลงตัวในงบ 3,000,000 บาท
แม้ BMW IX3 จะมีมอเตอร์ไฟฟ้าที่ถูกพัฒนามาเมื่อปลายปีที่แล้ว ระบบขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง แต่ประสิทธิภาพโดยรวมก็ไม่ได้ด้อยกว่ารถยนต์ไฟฟ้าราคาแพงกว่ามากนัก การตอบสนองโดยรวมยังคงทำได้ดีอย่างน่าพอใจ ช่วงล่าง และการบังคับควบคุมที่ลงตัว และสำคัญที่สุดของรถยนต์ประเภท เอสยูวี นั่นคือ ความกว้างขวาง และความอเนกประสงค์ของการใช้งานภายในห้องโดยสารทำได้ดีไม่แพ้ X3 รุ่นปกติ เนื่องจากชุดแบทเตอรี และมอเตอร์ไฟฟ้าไม่กินเนื้อที่แม้แต่น้อย รวมถึงราคาที่ใกล้เคียงกับรุ่นขุมพลังดีเซล และพลัก-อิน ไฮบริด เป็นการบ่งบอกว่า รถยนต์ไฟฟ้าใกล้จะเป็นหนึ่งในทางเลือกสายหลักของรถยนต์อนุกรมต่างๆ แล้ว