ทดสอบ(formula)
LEXUS NX 450H+
LEXUS หนึ่งในค่ายรถหรูสัญชาติอเมริกัน เชื้อชาติญี่ปุ่น กับรถยนต์ครอสส์โอเวอร์สไตล์ เอสยูวี รุ่นล่าสุด นั่นคือ รหัส NX มีบทบาทสำคัญ คือ การเป็นรถยนต์พลัก-อิน ไฮบริดรุ่นแรกของค่าย แม้จะตามหลังค่ายรถหรูของคู่แข่งอยู่บ้าง แต่การมาช้าในครั้งนี้ ย่อมมีทีเด็ดอย่างแน่นอน เรามาทดสอบกันกับ LEXUS NX 450H+
EXTERIOR ภายนอก
สายพันธุ์ LEXUS NX (เลกซัส เอนเอกซ์) เปิดตัวมาเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว กับการเป็นครอสส์โอเวอร์สไตล์ เอสยูวี ขนาดกลาง ทำตลาดด้วยเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ และไฮบริด จัดเป็นคู่แข่งของค่ายรถหรูอย่าง BMW X3 (บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 3) หรือ MERCEDES-BENZ GLC (เมร์เซเดส-เบนซ์ จีแอลซี) กับ NX รุ่นล่าสุด ยังคงมีเส้นสายทู่คุ้นตาจากรุ่นก่อนหน้านี้ เน้นสันเหลี่ยมรอบคัน กระจังหน้าแบบหลอดด้ายอันเป็นเอกลักษณ์ในปัจจุบันของ LEXUS การออกแบบโดยรวมมีความเรียบหรูกว่ารุ่นก่อนหน้านี้เล็กน้อย ไฟส่องสว่างเวลากลางวันฝังในตัวโคม ดูเฉียบคมไม่เบา ไฟท้ายพาดยาวตลอดช่วงความกว้างของส่วนท้ายมีความโดดเด่นกว่าเดิม รุ่นที่เรานำมาทดสอบ คือ NX 450H+ PREMIUM (เอนเอกซ์ 450 เอช พลัส พรีเมียม) ตกแต่งเน้นความหรูหรา ล้อแมกขนาด 20 นิ้ว สีเงิน (ใครที่ต้องการมาดสปอร์ทจะมีรุ่นตกแต่งสปอร์ทกับ F-SPORT การตกแต่งจะมีโทนสีดำมากกว่า)
สำหรับมิติตัวถังโดยรวม NX 450H+ มีความยาว 4,660 มม. และระยะฐานล้อ 2,690 มม. ขณะที่ BMW X3 คือ 4,708 และ 2,864 มม. และ MERCEDES-BENZ คือ 4,655 และ 2,973 มม. แสดงให้เห็นว่า LEXUS NX รุ่นล่าสุด จะเน้นตัวถังที่มีความกระชับมากกว่า และมีความสปอร์ท คล่องแคล่ว มิติตัวถังโดยรวมจะเล็กกว่า จากการเป็นรถยนต์นำเข้า ทำให้มีราคาใกล้เคียงกัน
INTERIOR ภายใน
สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างชัดเจนสำหรับ NX 450H+ คือ การออกแบบห้องโดยสาร จากเดิมค่ายรถแห่งนี้มักจะมีห้องโดยสารเน้นโทนอนุรักษนิยม กับมาดหรูหรา แต่ใน NX รุ่นล่าสุดมีการออกแบบทู่ ทันสมัยกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด จอแสดงผลตรงกลางขนาดใหญ่ตามสมัยนิยม หน้าจอมีความคมชัด ทำมุมเอียงเข้าหาผู้ขับเล็กน้อย พร้อมการแสดงผลการส่งกำลังของระบบไฮบริด คอนโซลเกียร์มีขนาดใหญ่ กินพื้นที่ตรงกลางค่อนข้างมาก
บรรดาปุ่มใช้งานติดตั้งฝั่งขวาใกล้ชิดผู้ขับ แม้เรามีความรู้สึกว่าปุ่มเปลี่ยนโหมดการขับเคลื่อนอยู่ห่างมือไปเล็กน้อย คันเกียร์ขนาดกะทัดรัด รูปแบบการเปลี่ยนเกียร์มีความแตกต่างจากรถยนต์ทั่วไป มีลักษณะคล้ายกับรถยนต์ไฟฟ้า พร้อมปุ่มใช้งาน และการปรับแต่งต่างๆ ด้านในเป็นแท่นชาร์จมือถือแบบไร้สาย (เลื่อนเปิดได้ จะพบที่เก็บของข้างใต้) ส่วนผู้ขับเน้นความกระชับแบบรถสปอร์ท แผงหน้าปัดเป็นจอดิจิทอล ปรับเปลี่ยนรูปแบบได้หลากหลาย แพดเดิล ชิฟท์ ขนาดใหญ่ ปุ่มใช้งานแบบมัลทิฟังค์ชันบนพวงมาลัยเป็นแบบสัมผัส สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของปุ่มกดได้ตามใจ แต่ช่วงแรกที่ใช้งานต้องทำความคุ้นเคยพอสมควร การแสดงผลของปุ่มใช้งานสามารถเลือกได้ว่าจะปรากฏบนหน้าจอของแผงหน้าปัด หรือบนการแสดงผลสะท้อนบนกระจกหน้า
เบาะนั่งทรงสปอร์ท ทรงโค้งโอบกระขับสรีระ คุณภาพการตัดเย็บไร้ที่ติสมกับการเป็นรถยนต์หรูนำเข้า นอกจากนี้การเป็นรถยนต์สไตล์ เอสยูวี ทำให้มีความสูงมากกว่ารถเก๋ง ทัศนวิสัยดีมาก เบาะปรับตำแหน่งได้หลากหลายตามต้องการ รวมถึงตำแหน่งของพวงมาลัย เบาะด้านหลังมื้นที่ส่วนขามาว่าที่คิด แม้มิติตัวถังโดยรวมจะน้อยกว่าคู่แข่ง แต่การออกแบบ และวางตำแหน่งของห้องโดยสาร ทำให้มีพื้นที่โดยรวมไม่แพ้คู่แข่ง อย่างไรก็ตาม การออกแบบตัวถังส่วนท้ายที่ลาดเททำให้พื้นที่เก็บสัมภาระด้านท้ายมีความจุลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะสัมภาระทรงสูง อย่างไม่มีผลกับระยะเหนือศีรษะของผู้โดยสารด้านหลังแต่อย่างใด แต่การพับเก็บได้แบบ 60:40 ทำให้ได้ความจุเพิ่มขึ้นอย่างได้ผลตามแบบฉบับรถยนต์สไตล์ เอสยูวี
ENGINE เครื่องยนต์
ระบบพลัก-อิน ไฮบริด อาจไม่ใช่ของใหม่สำหรับรถยนต์หรู โดยเฉพาะ เอสยูวี ที่มีการทำตลาดหลายเจ้าแล้ว แต่ LEXUS NX 450H+ ประเดิมทำตลาดครั้งแรกของขุมพลังประเภทนี้ มีความทันสมัยที่น่าสนใจไม่น้อย ระบบไฮบริดจะประกอบด้วยเครื่องยนต์เบนซิน ขนาด 2.5 ลิตร กำลังสูงสุด 182 แรงม้า และมอเตอร์ไฟฟ้า (สำหรับล้อคู่หน้า) กำลังสูงสุดถึง 180 แรงม้า และแตกต่างจากคู่แข่ง คือ การติดตั้งมอเตอร์ขับเคลื่อนสำหรับล้อคู่หลังอีกชุด กำลังสูงสุด 54 แรงม้า ทางผู้ผลิตระบุว่า กำลังสูงสุดทั้งระบบของรถรุ่นนี้ คือ 304 แรงม้า พร้อมระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา (แต่พละกำลังส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ล้อคู่หน้า)
คู่เปรียบเทียบสมรรถนะ คือ รถยนต์ระดับเดียวกัน นั่นคือ BMW X3 XDRIVE 30E (บีเอมดับเบิลยู เอกซ์ 3 เอกซ์ดไรฟ 30 อี) เอสยูวี ระบบพลัก-อิน ไฮบริด ประกอบด้วยเครื่องยนต์เบนซิน เทอร์โบ ขนาด 2.0 ลิตร กำลังสูงสุด 184 แรงม้า มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 109 แรงม้า คิดเป็นกำลังสูงสุดทั้งระบบที่ 292 แรงม้า ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาเช่นกัน แต่ระบบส่งกำลังจากเครื่องยนต์สันดาป
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. LEXUS NX มีตัวเลขที่ 6.8 วินาที ส่วนคู่แข่งอย่าง BMW X3 คือ 7.1 วินาที ถือว่าใกล้เคียงกันมาก ทาง LEXUS อาศัยการส่งกำลังจากมอเตอร์ไฟฟ้าที่มีพละกำลังมากกว่า การตอบสนองในช่วงตีนต้นให้ความรู้สึกคล้ายกับรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่ทาง BMW ยังเป็นการส่งกำลังร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์สันดาป และมอเตอร์ไฟฟ้า มีอัตราเร่งที่ดีเช่นกัน
ต่อกันด้วยอัตราเร่งช่วงความเร็วตีนปลาย ระยะ 0-1,000 ม. LEXUS NX ทำเวลาที่ 27.2 วินาที (ที่ความเร็ว 195.0 กม./ชม.) ส่วน BMW X3 คือ 27.0 วินาที (ที่ความเร็ว 199.7 กม./ชม.) ความเร็วช่วงตีนปลายก็มีความใกล้เคียงกันมาก การส่งกำลังมีความไหลลื่นต่อเนื่อง จนเกือบถึงความเร็วระดับ 200 กม./ชม. ทาง NX ใช้เครื่องยนต์เบนซินบลอคใหญ่กว่า แต่ไร้ระบบอัดอากาศ การส่งกำลังร่วมกันกับมอเตอร์ไฟฟ้าทั้ง 2 ชุด (สำหรับล้อคู่หน้า และคู่หลัง) ทำได้ดีมาก ช่วงความเร็วตีนปลายเป็นหน้าที่ของเครื่องยนต์สันดาป แต่ยังมีความเร็วปลายที่สูง เช่นเดียวกับ X3
อัตราเร่งยืดหยุ่นที่ความเร็ว 60-100 และ 80-120 กม./ชม. NX 450H+ ทำเวลาที่ 3.5 และ 4.2 วินาที ตามลำดับ ขณะที่ X3 XDRIVE 30E คือ 3.8 และ 4.1 วินาที เรียกได้ว่าอัตราเร่งของ เอสยูวีหรูของ 2 คู่แข่งในครั้งนี้ ไม่มีใครยอมน้อยหน้ากันเลยทีเดียว ระบบส่งกำลังของ LEXUS คือ เกียร์อัตโนมัติแปรผันแบบ E-CVT ขณะที่ทาง BMW คือ เกียร์อัตโนมัติ 8 จังหวะ แต่ยังส่งกำลังได้ดีในส่วนอัตราเร่งยืดหยุ่นเสมือนการเร่งแซง เราพบว่าการตองสนองของคันเร่งใน LEXUS NX มีความฉับไวที่ดี ไม่มีอาการรอรอบ ส่วนหนึ่งมาจากเครื่องยนต์แบบไร้ระบบอัดอากาศ และการขับเคลื่อนที่อาศัยมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นหลัก
ส่วนความจุแบทเตอรีของระบบพลัก-อิน ไฮบริด LEXUS NX 450H+ คือ 18.1 กิโลวัตต์ชั่วโมง สามารถแล่นด้วยไฟฟ้าล้วนเป็นระยะทางสูงสุดเมื่อชาร์จเต็ม คือ 87 กม. (รองรับการชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับสูงสุด หรือ AC ที่ 6.6 กิโลวัตต์ ชาร์จจาก 0-100 % ในเวลาประมาณ 2:30 ชม.) ขณะที่ BMW X3 XDRIVE 30E มีความจุที่ 12.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง แล่นด้วยไฟฟ้าไกลสุดที่ 47 กม. ความทันสมัยของตัวรถทำให้ เอสยูวี พลัก-อิน ไฮบริด จาก LEXUS มีความจุแบทเตอรีมากกว่า และแล่นด้วยไฟฟ้าล้วนไกลกว่า แต่เราคิดว่าระบบน่าจะรองรับการชาร์จด้วยไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ที่ชาร์จไฟฟ้าได้ไวขึ้น
SUSPENSION ระบบรองรับ
ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาของ LEXUS NX รุ่นนี้ มีความแตกต่างจากคู่แข่ง นั่นคือ มีมอเตอร์ไฟฟ้าสำหรับขับเคลื่อนถึง 2 ชุด สำหรับล้อคู่หน้า/คู่หลัง (จากเดิมที่เป็นการขับเคลื่อนด้วยเพลาขับจากเครื่องยนต์สันดาปโดยตรง) อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนของพละกำลังส่วนใหญ่จะส่งกำลังไปยังล้อคู่หน้า การขับเคลื่อนล้อคู่หลังโดยมอเตอร์ไฟฟ้าช่วยเสริมในเรื่องของความมั่นคงของการขับบนทางเรียบมากกว่า (ไม่ใช่การขับเคลื่อนสำหรับทางสมบุกสมบัน) การขับขี่โดยรวมจึงให้ความรู้สึกคล้ายกับรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า ระบบรองรับถูกปรับแต่งเน้นความนุ่มนวล แต่ยังเข้าโค้งได้ดี ผนวกกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลาดังที่กล่าวไปแล้ว การตอบสนองของพวงมาลัยมีความแม่นยำดีมาก แต่ยังเผื่อเหลือให้กับความสะดวกสบาย น้ำหนักพวงมาลัยไม่มากเกินไป เหมาะกับการใช้งานเป็นรถยนต์หรู และรถยนต์สำหรับครอบครัว สะดวกสบาย ใครที่ต้องการความสปอร์ทที่มากขึ้น คงต้องหันไปมองรุ่นทอพ F-SPORT ที่ปรับแต่งให้เฉียบคมขึ้นเล็กน้อย
พลัก-อิน ไฮบริด ที่ใกล้เคียงรถยนต์ไฟฟ้า
LEXUS NX 450H+ คือ เอสยูวี ขุมพลังพลัก-อิน ไฮบริด ยุคใหม่ นั่นคือ บทบาทของการขับเคลื่อนจะเป็นหน้าที่ของมอเตอร์ไฟฟ้ามากขึ้น เครื่องยนต์เบนซิน 2.5 ลิตร ทำหน้าที่สร้างกระแสไฟฟ้า พร้อมกับการขับเคลื่อนในจังหวะที่กลมกลืนกัน การตอบสนองที่น่าพอใจตั้งแต่ช่วงออกตัว จนถึงช่วงความเร็วตีนปลาย จากกำลังสูงสุดทั้งระบบที่ 304 แรงม้า อัตราเร่งน่าพอใจ ไม่แพ้คู่แข่งที่เน้นความสปอร์ท โดยทาง LEXUS มีความได้เปรียบที่ความสดใหม่ รูปทรงคมเข้ม พร้อมบรรดาออพชันที่จัดเต็มตามแบบฉบับรถยนต์หรู ภายใต้ราคาที่ 3,950,000-4,320,000 บาท อาจสูงกว่าคู่แข่งบ้าง เนื่องจากเป็นรถยนต์นำเข้าทั้งคัน แต่มีความลงตัวสำหรับผู้ที่ต้องการรถยนต์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างเครื่องยนต์สันดาป และรถยนต์ไฟฟ้าเต็มตัว