ทดสอบ(formula)
MG4 ELECTRIC & MG ZS EV
ยุคสมัยของรถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ในบ้านเรา ความหลากหลายของการทำตลาดก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายรถสัญชาติจีน ที่ตบเท้าเข้ามาทำตลาดอย่างคึกคัก แต่อย่าลืมว่ามีค่ายรถแห่งหนึ่งที่เป็นเหมือน “ผู้บุกเบิก” การจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่สูงเกินไป นั่นคือ ค่าย MG ซึ่งมีรถยนต์หลากรุ่น หลายรูปแบบของเครื่องยนต์ รวมถึงขุมพลังมอเตอร์ไฟฟ้า ครั้งนี้เราจึงนำรถยนต์ไฟฟ้าของค่ายรถมาทดสอบพร้อมกันถึง 2 รุ่น กับ MG4 ELECTRIC และ MG ZS EV พลังงานไฟฟ้า 2 สไตล์ จะมีความลงตัวมากน้อยแค่ไหน มาพิสูจน์กัน
EXTERIOR ภายนอก
เราเริ่มกันที่รูปทรงภายนอกของ MG4 ELECTRIC (เอมจี 4 อีเลคทริค) โดยเป็นรุ่นทอพ X มีการติดตั้งชุดตกแต่งตัวถังเต็มพิกัด ตัวรถจึงมีมาดเข้ม สปอร์ท มากกว่าเดิม จากเดิมที่เปี่ยมด้วยสันเหลี่ยมคมรอบคันอยู่แล้ว สปอยเลอร์ท้ายแบบคู่ ติดตั้ง 2 ชิ้นแยกซ้าย/ขวา ไฟหน้าแอลอีดี (ทุกรุ่นย่อย) รุ่นทอพจะติดตั้งไฟท้ายที่ส่องสว่างแบบเรียงตัว ล้อแมกขนาด 17 นิ้ว (ยาง 215/50 R17 ของ CONTINENTAL PREMIUM CONTACT C) อย่างไรก็ตาม ความปราดเปรียวของแฮทช์แบคคันนี้ มีจุดต้องแลกบางประการ เช่น หลังคากระจกบานท้ายไม่มีที่ปัดน้ำฝน (แต่คู่แข่งอย่าง ORA GOOD CAT (โอรา กูด แคท) ก็ไม่มีที่ปัดน้ำฝนด้านหลังเช่นกัน) นอกจากนี้ แม้พิจารณาโดยรวม ตัวถังของ MG4 ELECTRIC จะค่อนข้างสูง หากดูจากลักษณะของซุ้มล้อ แต่ความสูงจากพื้นถนนเพียง 117 มม. เท่านั้น เมื่อก้มมองด้านล่างจะพบว่าโครงสร้างตัวถังรอบแบทเตอรีจะเป็นส่วนที่อยู่ต่ำสุด (ไม่ใช่ขอบด้านข้างของตัวถัง) การขับขี่ต้องระมัดระวังเล็กน้อย
หันมาที่ครอสส์โอเวอร์ MG ZS EV (เอมจี เซดเอส อีวี) รุ่นทอพ X เช่นกัน และเป็นตัวถังที่ปรับโฉมล่าสุด การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจน คือ ตัวถังส่วนหน้า มีการออกแบบที่ดูทันสมัยกว่าเดิมมาก กระจังหน้า และกันชนจะปิดทึบเป็นชิ้นเดียวกัน และออกแบบส่วนล่างของกันชนให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น ชุดชาร์จไฟฟ้ายังคงอยู่ด้านหน้าเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนจากแผ่นเปิดขนาดใหญ่รอบโลโก MG เป็นฝาเปิดขนาดพอเหมาะ (เปิดออกด้านข้าง ไม่ใช่ยกขึ้นมาตรงๆ เหมือนรุ่นก่อนหน้านี้) โดยรวมแล้วทำให้รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้มีความทันสมัยกว่าเดิม ขณะที่องค์ประกอบอื่นๆ ไม่แตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นตัวถังด้านข้าง ไล่เรียงมาจนถึงตัวถังส่วนท้าย มีเพียงการปรับเปลี่ยนการจัดวางของไฟท้ายให้ดูดีขึ้น ส่วนล้อแมกขนาด 17 นิ้ว ลวดลายใหม่ ทรงปิดทึบเพื่อลดอากาศหมุนวนขณะขับขี่ (ยาง MAXXIS BRAVO HP ขนาด 215/55 R17) อย่างไรก็ตาม โครงสร้างตัวถังของ ZS EV ถูกใช้มานานระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ ZS (เครื่องยนต์เบนซิน 1.5 ลิตร) มาจนถึง VS (เครื่องยนต์ไฮบริด) ขนาดของตัวถังจึงเล็กกว่าคู่แข่งโดยตรงที่เปิดตัวทีหลัง นั่นคือ BYD ATTO 3 (บีวายดี อัตโต 3)
INTERIOR ภายใน
เข้ามาในห้องโดยสาร เริ่มกับ MG4 ELECTRIC เราพบว่า การตกแต่งโดยรวมเน้นความทันสมัยในแบบฉบับรถยนต์ไฟฟ้ายุคหน้า มีความเรียบง่ายแบบที่เรียกกันว่าสไตล์ “มีนีมอล” (MINIMAL) ปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิมมีจำนวนลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด การใช้งานต่างๆ จะกระทำผ่านหน้าจอหลักขนาด 10.3 นิ้ว หน้าจอมีความคมชัดดี ระบบสัมผัสไม่มีการหน่วงมากนัก อย่างไรก็ตาม การใช้งานทั่วไปบางอย่าง เมื่ออยู่ในหน้าจออาจลดทอนความสะดวกของการใช้งานด้วย เช่น การใช้งานระบบปรับอากาศ หรือแม้แต่การปรับแต่งระดับการหน่วงของมอเตอร์ไฟฟ้า (KERS) ไม่มีปุ่มใช้งานภายนอก หรือแม้แต่โหมดการขับขี่ก็ต้องทำผ่านหน้าจอเช่นกัน หากมีปุ่มใช้งานดั้งเดิมภายนอกน่าจะเหมาะสมกว่านี้ (นอกจากนี้ ตัวหนังสือภาษาไทยในจอยังมีขนาดค่อนข้างเล็ก) พวงมาลัยทรง 2 ก้าน กับจอแผงหน้าปัดขนาด 7.0 นิ้ว รูปทรงสี่เหลี่ยม การแสดงผลมีความหลากหลาย แต่ขนาดของหน้าจอแผงหน้าปัดที่ค่อนข้างเล็ก การอ่านตัวเลขบางหัวข้อต้องใช้การสังเกตค่อนข้างมาก (เช่น ตัวเลขของระยะทำการที่เหลืออยู่) หากเป็นไปได้ น่าจะติดตั้งหน้าจอแผงหน้าปัดให้มีขนาดใหญ่กว่านี้ เมื่อขึ้นมานั่งบนเบาะ เรามีความรู้สึกว่า ตัวเบาะมีตำแหน่งการนั่งค่อนข้างสูงขึ้นมา ช่วยให้มีทัศนวิสัยที่ดี กระจกหน้าต่างของประตูด้านหน้ามีขนาดใหญ่มากพอ มองเห็นได้ชัดขณะเลี้ยว ส่วนมุมมองของกระจกมองหลังอาจแคบลงมาเล็กน้อย เนื่องจากกระจกบานท้ายมีขนาดเล็ก และทำมุมลาดเอียง แต่โดยรวมแล้วยังมองเห็นทัศนวิสัยด้านหลังได้ครอบคลุม เบาะนั่งมีความกว้างขวางที่น่าพอใจ รุ่นทอพใช้สีทูโทนเทา/ดำ (เบาะสีดำจะอยู่ในรุ่นย่อย D เท่านั้น) ที่เก็บสัมภาระมีพื้นที่น้อยกว่าที่คิด แต่ยังใช้งานทั่วไปได้สบาย
สำหรับ MG ZS EV นอกจากการปรับปรุงตัวถังภายนอกแล้ว ยังปรับปรุงห้องโดยสารให้มีความทันสมัยกว่าเดิม โดยเฉพาะส่วนหน้าจอ และการแสดงผลต่างๆ มีความเป็นดิจิทอลมากขึ้น จอแสดงผลหลักขนาด 10 นิ้ว ตำแหน่งการติดตั้งแตกต่างจากรุ่นก่อนปรับโฉม และจอแผงหน้าปัดติดตั้งแบบฝังลึกเข้าไปในคอนโซลเหมือนเดิม แต่การแสดงเป็นแบบดิจิทอลอย่างทั่วถึง (ชวนให้นึกถึงรถยนต์ร่วมค่ายขนาดใหญ่กว่าอย่าง MG HS (เอมจี เอชเอส) หน้าจอแต่ละตำแหน่งมีความคมชัด สีสันสดใส มองเห็นการแสดงผล และตัวเลขต่างๆ ได้ง่ายดาย ส่วนการใช้งานหลายอย่างสามารถทำได้ผ่านปุ่มภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานระบบปรับอากาศ ระบบแรงหน่วงของมอเตอร์ไฟฟ้า และโหมดการขับขี่ หากใช้งานขณะขับขี่จะมีความสะดวกมากกว่าการใช้งานผ่านหน้าจอ ผู้ขับไม่ต้องละสายตาจากถนน เป็นคุณสมบัติที่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่องจาก ZS EV รุ่นก่อนหน้านี้ ขณะที่ความกว้างขวางยังมีเหลือเฟือ รวมถึงพื้นที่ใช้สอยโดยรวม อเนกประสงค์ตามแบบฉบับครอสส์โอเวอร์ เบาะด้านหลังนั่งได้สบาย ทัศนวิสัยปลอดโปร่งทุกตำแหน่ง เพิ่มความปลอดโปร่งด้วยหลังคาซันรูฟพาโนรามิค พื้นที่เก็บสัมภาระมีให้พอสมควร เมื่อพับเบาะแถวที่ 2 ลงมา ตัวเบาะจะสูงขึ้นมาเล็กน้อย ไม่ได้มีลักษณะเป็นพื้นราบเสียทั้งหมด ด้านในห้องโดยสาร ส่วนที่บุด้วยผ้ามีการประกอบที่ดี แน่นหนาอย่างทั่วถึง
ENGINE เครื่องยนต์
มาถึงหัวข้อของการทดสอบอัตราเร่ง MG4 ELECTRIC ใช้มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 170 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 25.5 กก.-ม. ขับเคลื่อน 2 ล้อหลัง (เป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในปัจจุบัน) ขณะที่คู่เปรียบเทียบ คือ อีกหนึ่งแฮทช์แบคพลังไฟฟ้า ORA GOOD CAT 500 ULTRA (โอรา กูด แคท 500 อุลทรา) มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 143 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 21.4 กก.-ม. มาดูอัตราเร่งกันเลย (การทดสอบของเราใช้โหมด NORMAL ทั้ง 2 รุ่น)
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. MG4 ELECTRIC ทำเวลาที่ 8.4 วินาที ส่วน ORA GOOD CAT ตามหลังมาที่ 9.4 วินาที แสดงให้เห็นว่า กำลังสูงสุด และแรงบิดสูงสุดที่แตกต่างของทั้ง 2 คัน ย่อมมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน
ขณะที่ช่วงความเร็วตีนปลายที่ระยะ 0-1,000 ม. MG4 ELECTRIC ทำตัวเลขออกมาที่ 29.9 วินาที (ที่ความเร็ว 169.8 กม./ชม.) ส่วน ORA GOOD CAT คือ 31.3 วินาที (ที่ความเร็ว 154.9 กม./ชม.) แม้ในช่วงความเร็วตีนปลาย (ที่เป็นจุดอ่อนของรถยนต์ไฟฟ้าหลายรุ่น) รถยนต์ไฟฟ้าของ MG ยังมีความได้เปรียบ จากความเร็วสูงสุดที่มีมากกว่าคู่แข่งจาก ORA อัตราเร่งที่ต้องลากกันยาวๆ จึงฉับไวกว่า
ส่วนอัตราเร่งยืดหยุ่นที่ความเร็ว 60-100 และ 80-120 กม./ชม. MG4 ELECTRIC ทำเวลาที่ 4.1 และ 5.4 วินาที ส่วน ORA GOOD CAT คือ 4.6 และ 6.2 วินาที ตามลำดับ ในช่วงความเร็วต่ำอาจมีความใกล้เคียงกันบ้าง ตามลักษณะของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ตอบสนองไว แต่ในช่วงความเร็วสูงขึ้นมา ความแตกต่างมีมากขึ้นเล็กน้อย แต่ทาง MG ยังคงมีความได้เปรียบ
ส่วนอีกหนึ่งรุ่นที่มีความแรงมากเป็นพิเศษกับ ORA GOOD CAT GT (กำลังสูงสุด 171 แรงม้า) มีอัตราเร่งตามนี้ 0-100 กม./ชม. ใน 7.8 วินาที ระยะ 0-1,000 ม. ใน 26.6 วินาที (ที่ความเร็ว 165.3 กม./ชม.) อัตราเร่งยืดหยุ่นที่ 60-100 และ 80-120 กม./ชม. คือ 3.6 และ 4.7 วินาที ตามลำดับ
หันมาที่อัตราเร่งของครอสส์โอเวอร์ MG ZS EV มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 177 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 28.6 กก.-ม. โดยมีคู่เปรียบเทียบ คือ BYD ATTO 3 กำลังสูงสุด 201 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 31.6 กก.-ม. มาดูสมรรถนะของแต่ละคันกันเลย (ใช้โหมด NORMAL ทั้ง 2 รุ่น)
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. MG ZS EV ทำเวลาที่ 8.3 วินาที (เร็วกว่า MG4 ELECTRIC เฉือนกันที่ 0.1 วินาที เท่านั้น !) ส่วน BYD ATTO 3 ทำได้ที่ 8.2 วินาที ถือว่าเฉือนกันเพียงเสี้ยววินาที ! หรือแทบไม่แตกต่างกันมาก แม้กำลังสูงสุดของแต่ละคันจะแตกต่างกันพอสมควร
อัตราเร่ง 0-1,000 ม. MG ZS EV ทำเวลาที่ 30.0 วินาที (ที่ความเร็ว 172.7 กม./ชม.) ส่วน BYD ATTO 3 คือ 29.4 วินาที (ที่ความเร็ว 169.3 กม./ชม.) แม้จะกดคันเร่งกันยาวๆ แต่อัตราเร่งของครอสส์โอเวอร์พลังไฟฟ้าทั้ง 2 รุ่น ยังคงใกล้เคียงกัน ATTO 3 อาศัยพละกำลังที่มากกว่า มีความได้เปรียบในช่วงแรก แต่ช่วงความเร็วตีนปลาย ZS EV มีความได้เปรียบมากกว่าเล็กน้อย (เป็นความเร็วสูงสุดของรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นด้วย)
อัตราเร่งยืดหยุ่น 60-100 และ 80-120 กม./ชม. MG ZS EV ทำได้ที่ 3.9 และ 5.4 วินาที ส่วน BYD ATTO 3 มีตัวเลข คือ 3.9 และ 4.9 วินาที ช่วงความเร็วต่ำ การตอบสนองของ ZS EV ทำน่าพอใจทีเดียว มีตัวเลขเท่ากับ ATTO 3 พอดี แต่ในช่วงความเร็วสูงขึ้นมา อาจโดนทิ้งห่างเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ หากพิจารณากำลังสูงสุดของแต่ละคัน
นอกเหนือจากอัตราเร่งแล้ว คุณสมบัติด้านการชาร์จไฟฟ้าก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน MG4 ELECTRIC ใช้แบทเตอรีที่ความจุ 51.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง รองรับการชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ที่ 6.6 กิโลวัตต์ และไฟฟ้ากระแสตรง (DC) สูงสุดที่ 88.0 กิโลวัตต์ ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จแบทเตอรีเต็ม (ตามที่ผู้ผลิตระบุ) คือ 425 กม. ส่วน MG ZS EV ใช้แบทเตอรีความจุ 50.3 กิโลวัตต์ชั่วโมง รองรับการชาร์จไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) ที่ 7.0 กิโลวัตต์ และไฟฟ้ากระแสตรง (DC) สูงสุดที่ 76.0 กิโลวัตต์ ระยะทำการสูงสุดเมื่อชาร์จแบทเตอรีเต็ม (ตามที่ผู้ผลิตระบุ) คือ 403 กม. นอกจากนี้ ยังรองรับการจ่ายกระแสไฟฟ้าสู่ภายนอกได้ทั้ง 2 รุ่น (ระบบ V2L)
SUSPENSION ระบบรองรับ
ระบบรองรับของ MG4 ELECTRIC ด้านหน้าแบบอิสระ แมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังแบบอิสระ มัลทิลิงค์ จุดเด่น คือ ระบบบังคับเลี้ยวแบบดูอัลพิเนียน ให้การควบคุมที่เที่ยงตรง แต่ยังคงเบาแรง สำหรับการใช้งานทั่วไป ช่วงล่างของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้เน้นความสมดุลของความหนึบแน่น ไม่แข็งกระด้างเกินไป การเข้าโค้งที่ความเร็วสูงอาจมีอาการให้สัมผัสบ้าง แต่โดยรวมยังควบคุมได้สบาย ขณะที่แล่นผ่านพื้นผิวถนนขรุขระมีการดูดซับแรงสั่นสะเทือนได้ดีมาก ไม่มีการสะเทือนมายังผู้โดยสารมากเกินไป ในแง่ของระบบรองรับ เรามีความเห็นว่า MG4 ELECTRIC มีการตอบสนองที่หลากหลาย ทั้งการใช้งานทั่วไป และการขับสนุก อย่างไรก็ตาม ใครที่ต้องการความหนึบแน่นมากกว่านี้ คงต้องไปติดตั้งระบบรองรับยี่ห้ออื่นมาใช้งาน แต่อย่าลืมว่าแบทเตอรีจะอยู่ใกล้กับพื้นถนนมากขึ้น หากกดความสูงลงมาจากปกติ เป็นจุดที่ต้องระวังให้ดี
สำหรับ MG ZS EV ระบบรองรับด้านหน้าแบบอิสระ แมคเฟอร์สันสตรัท ด้านหลังแบบทอร์ชันบีม (เป็นผลจากระบบรองรับของโครงสร้างรถยนต์ขนาดเล็ก) การขับขี่โดยรวมมีความลงตัวมากกว่ารุ่นก่อนหน้านี้ นั่นคือ ความนุ่มนวล สะดวกสบาย ทั้งผู้ขับ และผู้โดยสารด้านหลัง แต่ยังมีความมั่นคงที่เหมาะสม ขณะใช้ความเร็ว 100-120 กม./ชม. การขับขี่ยังให้ความมั่นคงเป็นอย่างดี พวงมาลัยเบาแรง แต่ยังมีน้ำหนักมากพอสำหรับการขับขี่บนท้องถนนควบคุมดังใจ การตอบสนองขณะหักเลี้ยวเน้นความต่อเนื่อง จุดได้เปรียบของตัวถังแบบครอสส์โอเวอร์ คือ ความสูงจากพื้นถนนที่ค่อนข้างมากกว่ารถเก๋งทั่วไป (ที่ 161 มม.) แม้ไม่มากเท่ากับครอสส์โอเวอร์หลายยี่ห้อ แต่ก็เพียงพอสำหรับการขับผ่านทางขรุขระ หรือพื้นต่างระดับจากการใช้งานในชีวิตประจำวันได้สบายๆ แล้ว
รถยนต์ไฟฟ้าจาก MG ทั้ง 2 รุ่น 2 สไตล์ แฮทช์แบค และครอสส์โอเวอร์ แสดงให้เห็นถึงจุดเด่นที่น่าสนใจจากค่ายรถแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงที่โฉบเฉี่ยว ทันสมัย ตลอดจนระบบรองรับ และการบังคับควบคุมที่ลงตัว หนึบไว้ใจได้ แต่ไม่แข็งกระด้างแต่อย่างใด พร้อมคุณสมบัติของรถยนต์ไฟฟ้าที่ครบครัน ทั้งอัตราเร่งที่ทันใจ การประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่เหมาะกับการใช้งานทั่วไป ระยะทำการสูงสุดที่มากพอ รวมถึงระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าสู่ภายนอกที่ติดตั้งมาให้ทั้ง 2 รุ่น ใครที่ต้องการความคล่องแคล่ว ขับสนุก มีตัวเลือก คือ MG4 ELECTRIC ส่วนใครที่ต้องการความอเนกประสงค์ ใช้งานหลากหลาย MG ZS EV ยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมาก แม้ปัจจุบันตัวเลือกของรถยนต์ไฟฟ้าระดับราคาใกล้เคียงกันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่าได้มองข้ามรถยนต์ไฟฟ้าจาก MG ทั้ง 2 รุ่นนี้ทีเดียวเชียว !