ทดสอบ(formula)
BMW IX
BMW คือ หนึ่งในค่ายรถที่หันมาพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง มีรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ทำตลาดมากมาย แต่มีอยู่รุ่นหนึ่งที่พิเศษไม่เหมือนใคร เพราะรุ่นนี้ถูกพัฒนาเพื่อการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าโดยตรง ไม่มีทางเลือกขุมพลังรูปแบบอื่นๆ เสมือนเป็นการแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของค่ายรถแห่งนี้ กับการปูทางไปสู่รูปแบบใหม่ในอนาคตที่แตกต่างจากเดิมแทบจะทั้งหมด นี่คือ รถที่เรานำมาทดสอบในครั้งนี้กับ BMW IX XDRIVE 40 SPORT
EXTERIOR ภายนอก
แนวคิดของการ “คิดใหม่ ทำใหม่” จากค่าย BMW (บีเอมดับเบิลยู) ถูกแสดงออกผ่านการออกแบบของ IX (ไอเอกซ์) ภายใต้รูปแบบตัวถังของ เอสยูวี ขนาดใหญ่ โดดเด่นด้วยกระจังหน้าไตคู่ขนาดใหญ่ กินพื้นที่เต็มส่วนหน้าของตัวรถ ถึงอย่างนั้น กระจังหน้าแบบใหม่จะเป็นแผ่นปิดทึบ มีลวดลายที่แปลกตา แทนที่กระจังหน้าที่ใช้เป็นช่องรับอากาศในตัว วัสดุที่ใช้มีความบาง ยืดหยุ่นได้ น้ำหนักเบา ประกบข้างด้วยไฟหน้าทรงเรียวยาว ฝากระโปรงหน้ามีขนาดใหญ่ ตัวถังด้านข้างเน้นความเรียบเนียน ตัดด้วยสันเหลี่ยมของซุ้มล้อที่คมเข้ม การออกแบบส่วนท้ายดูแปลกตา ชุดไฟท้ายทรงเรียวในแนวนอนจะอยู่บนประตูบานท้ายทั้งหมด แต่เมื่อเปิดขึ้นมา จะเห็นชุดไฟส่องสว่างอีกชุดบริเวณเสา ดี (มีประโยชน์ยามเปิดประตูบานท้ายในที่มืด) ถือเป็นการออกแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรถยนต์รุ่นอื่นๆ จาก BMW ส่วนล้อแมกมีขนาดใหญ่ถึง 22 นิ้ว ยางขนาด 275/40 R22 ของ PIRELLI P-ZERO เมื่อดูรอบคันจะพบว่า IX มีเส้นสายที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่างจากที่เคยพบเจอ แค่มองเห็นภายนอกก็รู้เลยว่า รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ คือ ความแปลกใหม่อย่างแท้จริง นอกจากนี้บริเวณโครงสร้างตัวถังหลายจุดเป็นวัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ เพื่อความแข็งแรง และมีน้ำหนักเบา
INTERIOR ภายใน
เมื่อเข้ามาภายในห้องโดยสาร ความแปลกตายิ่งมีมากกว่ารูปทรงภายนอกด้วยซ้ำไป พวงมาลัยแบบ 2 ก้าน ส่วนขอบมีการหักมุม ทำให้มองเห็นหน้าจอแบบดิจิทอลได้อย่างครบถ้วนยิ่งขึ้น (แต่อาจรู้สึกไม่คุ้นเคยในช่วงแรก เมื่อเทียบกับพวงมาลัยทรงกลม) บนคอนโซลหน้าติดตั้งหน้าจอทรงแบนขนาดใหญ่ สำหรับใช้งานเป็นจอแสดงผลหลัก และจอแผงหน้าปัด ตรงกลางเป็นระบบสัมผัสตอบสนองดี ความคมชัดสูง มองเห็นตัวเลข หรือเมนูต่างๆ ได้อย่างสะดวก ด้านล่างของคอนโซลกลางถูกเปิดโล่ง เพราะไม่มีคันเกียร์ติดตั้งอยู่ โดยจะถูกแทนที่ด้วยปุ่มปรับโหมดเกียร์ และถัดไป คือ ปุ่มใช้งานระบบ IDRIVE มีลูกเล่นที่เพิ่มความหรูหรา คือ การใช้วัสดุเป็นแก้วใสคล้ายคริสตัล รวมถึงปุ่มปรับตำแหน่งเบาะ ซึ่งเป็นจุดที่น่าแปลกใจ เพราะตำแหน่งของปุ่มกดอยู่บริเวณแผงประตู เป็นรูปแบบที่คล้ายกับของค่ายคู่แข่งอย่าง MERCEDES-BENZ (เมร์เซเดส-เบนซ์) ซึ่งใน BMW รุ่นอื่นๆ ก็ไม่มีการออกแบบปุ่มปรับเบาะในลักษณะนี้ แต่กลับมีใน IX ส่วนเบาะนั่งเป็นแบบทรงสปอร์ท ขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวกันทั้งพนักพิงหลัง และพนักพิงศีรษะ รวมถึงเบาะแถวที่ 2 ที่มีพนักพิงศีรษะเป็นชิ้นเดียวกัน นั่งได้สบาย ตัดเย็บประณีตสมความเป็นรถยนต์หรู และยังมีการใช้วัสดุรีไซเคิลสำหรับบริเวณแผงคอนโซลหน้าบางจุด สะท้อนการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในอนาคต
ENGINE เครื่องยนต์
BMW IX ที่เรานำมาทดสอบ คือ รุ่นย่อย XDRIVE 40 SPORT (เอกซ์ดไรฟ 40 สปอร์ท) ถือเป็นรุ่นเริ่มต้นของอนุกรมรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่กำเนิด (รุ่นทอพ คือ XDRIVE 50 SPORT (เอกซ์ดไรฟ 50 สปอร์ท)) มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 326 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 64.2 กก.-ม. ขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา แบทเตอรีความจุ 76.6 กิโลวัตต์ชั่วโมง คู่เปรียบเทียบสมรรถนะ คือ อีกหนึ่ง รถยนต์ไฟฟ้าจากค่ายรถสัญชาติเยอรมัน นั่นคือ AUDI E-TRON SPORTBACK (เอาดี อี-ทรอน สปอร์ทแบค) กำลังสูงสุด 360 แรงม้า หากใช้ BOOST MODE จะเป็น 408 แรงม้า แบทเตอรีความจุ 95.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง
เริ่มจากอัตราเร่งช่วงตีนต้นกับ 0-100 กม./ชม. BMW IX ทำเวลาที่ 6.1 วินาที ส่วน AUDI E-TRON SPORTBACK คือ 6.0 วินาที มีความสูสีกันมากจากมอเตอร์ไฟฟ้าจำนวน 2 ชุดที่ตอบสนองฉับไวแทบลืมไปเลยว่า นี่คือ เอสยูวี พลังไฟฟ้าขนาดใหญ่ มาต่อกันด้วยอัตราเร่งช่วงตีนปลายกับระยะ 0-1,000 ม. IX ทำเวลาได้ที่ 26.2 วินาที (ที่ความเร็ว 198.5 กม./ชม.) ส่วน E-TRON SPORTBACK มีตัวเลขที่ 26.3 วินาที (ที่ความเร็ว 195.9 กม./ชม.) แสดงให้เห็นความสูสีที่เบียดเวลากันมาแบบ “ไม่มีใครยอมใคร” ! ในช่วงออกตัวเร่งเครื่องมีความฉับไวทั้งคู่ แรงบิดถูกส่งมายังล้อแต่ละตำแหน่งอย่างรวดเร็วเมื่อกดคันเร่ง อาการล้อหมุนฟรีแทบไม่มีให้สัมผัส แม้ทั้ง 2 รุ่น จะมีแรงบิดที่สูงมากจากมอเตอร์ไฟฟ้า การส่งกำลังมีความไหลลื่นต่อเนื่องที่น่าพอใจ โดย BMW จะมีแรงกระชากมากกว่าเล็กน้อย แต่ยังควบคุมได้ ตัวรถยังคงนิ่ง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 2 รุ่น มีบุคลิกที่คล้ายกัน คือ ช่วงความเร็วสูงมีอาการแผ่วเล็กน้อย ทะยานผ่านระยะ 1,000 ม. แต่ความเร็วยังต่ำกว่า 200 กม./ชม. เนื่องจากทั้ง 2 คันต่างก็ถูกลอคความเร็วสูงสุดเอาไว้ที่ 200 กม./ชม. (ตามมาตรวัด) นั่นเอง
มาที่อัตราเร่งยืดหยุ่น เสมือนการเร่งแซง ที่ความเร็ว 60-100 กม./ชม. และ 80-120 กม./ชม. BMW IX มีอัตราเร่งที่ 3.1 และ 4.0 วินาที ส่วน AUDI E-TRON SPORTBACK คือ 2.6 และ 3.3 วินาที ตามลำดับ เราคาดว่าลักษณะการกดคันเร่งสุดแบบคิคดาวน์จะเป็นการเปิดการทำงานของ BOOST MODE ของ AUDI โดยอัตโนมัติ แม้อัตราเร่งขณะออกตัวจะใกล้เคียงกัน แต่การทำงานของระบบดังกล่าวส่งผลต่ออัตราเร่งแบบยืดหยุ่น ทำให้ เอสยูวี พลังไฟฟ้าจาก AUDI มีความได้เปรียบมากขึ้น แม้ความรู้สึกโดยรวมขณะทำอัตราเร่งของ BMW IX จะไม่แตกต่างกันมากนัก
ส่วนการชาร์จประจุไฟฟ้า BMW IX XDRIVE 40 SPORT รองรับการชาร์จแบบเร่งด่วนจากไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ได้สูงสุดที่ 150 กิโลวัตต์ กับแบทเตอรีความจุ 76.6 กิโลวัตต์ชั่วโมง ส่วน AUDI E-TRON SPORTBACK รองรับการชาร์จไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ได้สูงสุดที่ 155 กิโลวัตต์ กับแบทเตอรีความจุถึง 95.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง ในแง่การชาร์จของระดับแบทเตอรี 0-80 % ทาง BMW จะใช้เวลาน้อยกว่าเล็กน้อย ส่วนทาง AUDI อาจใช้เวลาในการชาร์จมากกว่า แต่สามารถแล่นได้ไกลกว่า จากแบทเตอรีที่มีความจุมากกว่า
SUSPENSION ระบบรองรับ
แม้รูปทรงภายนอกจะแปลกใหม่ มีมาดเข้มเต็มตัว แต่ระบบรองรับของ BMW IX ยังคงเน้นความนุ่มนวล ตามสไตล์รถยนต์หรู และเป็นลักษณะตามธรรมชาติของระบบรองรับแบบถุงลม สามารถแปรผันการตอบสนองได้ การเข้าโค้งอาจมีอาการโคลงให้สัมผัสเล็กน้อยจากน้ำหนักของตัวรถที่ค่อนข้างมาก แต่ยังเกาะถนนได้ดีจากระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา XDRIVE ผ่านการส่งกำลังของมอเตอร์ไฟฟ้า 2 ชุด สำหรับล้อคู่หน้า และคู่หลัง พวงมาลัยมีน้ำหนักที่พอเหมาะ ค่อนข้างเบาแรงเกินคาด บุคลิกโดยรวมยังคงเน้นการตอบสนองที่ต่อเนื่อง ไม่ได้เฉียบคม และหนักแน่นแบบรถสปอร์ทสมรรถนะสูงของ BMW ราวกับทางค่ายรถต้องการให้ IX สะท้อนความหรูหราในรูปแบบใหม่ มากกว่าความสปอร์ทเต็มพิกัด สิ่งที่น่าพอใจถัดมา คือ บรรดาระบบความปลอดภัย และระบบช่วยเหลือการขับขี่ที่ติดตั้งมาครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ระบบช่วยจอดอัตโนมัติ กล้องมองภาพรอบทิศทาง และระบบช่วยเบรคฉุกเฉินอัตโนมัติ
ยุคใหม่สู่ยานยนต์พลังไฟฟ้า
BMW IX XDRIVE 40 SPORT แสดงให้เห็นถึงอนาคตที่แตกต่างจากค่ายรถแห่งนี้ เห็นได้จากการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ไม่อิงกับรูปแบบตัวถัง และรูปแบบขุมพลังของอนุกรมอื่นๆ แต่อย่างใด เห็นได้จากชื่อ IX ไม่มีตัวเลขกำกับเพิ่มเติม มาพร้อมกับสมรรถนะที่ดุดัน ทันใจ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อที่เกาะถนนได้ดี แม้มีช่วงล่างที่นุ่มนวงล นั่งสบาย การตกแต่งหรูหราสมกับการเป็นอนุกรมรถยนต์หรู แม้ในการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าของค่ายรถแห่งนี้หลายรุ่นจะใช้ตัวถังร่วมกันกับขุมพลังรูปแบบอื่นๆ แต่ไม่ใช่สำหรับ IX เพราะหน้าที่ของรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นนี้ คือ การบ่งบอกทิศทางในอนาคตของค่าย หากวันหนึ่งต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าล้วนๆ ทางค่ายรถก็พร้อมนำเสนอความแปลกใหม่ ควบคู่กับสมรรถนะ และการขับขี่ที่ลงตัวเสมอมา ใครที่ต้องสัมผัสอนาคตที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันจากค่ายรถใบพัดเครื่องบินสีฟ้าขาว รถยนต์ไฟฟ้าคันนี้ราวกับนั่ง “ไทม์แมชีน” มาหาเรา ภายใต้ราคาที่ 5,149,000-6,149,000 บาท