ทดสอบ(formula)
TOYOTA YARIS CROSS ครอสส์โอเวอร์ไฮบริด อัดแน่นความคุ้มค่า !
ตลาดกลุ่มครอสส์โอเวอร์ระดับบี-เซกเมนท์ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า B-SUV มีความหลากหลายยิ่งขึ้น เมื่อหนึ่งในค่ายรถระดับหัวแถวอย่าง TOYOTA (โตโยตา) หันมาเพิ่มความหลากหลายกับการทำตลาดด้วย YARIS CROSS (ยารีส ครอสส์) รถยนต์เน้นความอเนกประสงค์ ขุมพลังไฮบริด มาพร้อมออพชันที่จัดเต็ม มาดูกันว่าสมรรถนะ การขับขี่ และการประหยัดเชื้อเพลิงจะทำได้ดีแค่ไหน มาดูกันเลย
EXTERIOR ภายนอก
TOYOTA YARIS CROSS จัดเป็นครอสส์โอเวอร์ที่มีขนาดกะทัดรัด แต่เส้นสายโดยรวมยังออกแบบได้ลงตัว มีสันเหลี่ยม และความบึกบึนรอบคัน บ่งบอกความเป็นตัวลุยพอสมควร กระจังหน้าขนาดใหญ่ รับกับมุมกันชนที่คมเข้ม ส่วนซุ้มล้อเพิ่มวัสดุสีดำ มาพร้อมราวหลังคา และหลังคาซันรูฟพาโนรามิค ล้อแมกขนาด 17 นิ้ว
ภายใต้ความบึกบึน คือ มิติตัวถังที่พอเหมาะสำหรับการใช้งานในตัวเมือง ไม่เทอะทะ มีความยาว 4,310 มม. และระยะฐานล้อ 2,620 มม. เทียบกับบรรดาคู่แข่งอย่าง NISSAN KICKS E-POWER (นิสสัน คิคส์ อี-เพาเวอร์) มีมิติตัวถังที่ 4,420 และ 2,665 มม. ตามลำดับ และอีกหนึ่งครอสส์โอเวอร์ขุมพลังไฮบริด สัญชาติจีน นั่นคือ MG VS (เอมจี วีเอส) มีมิติตัวถังที่ 4,400 และ 2,630 มม. สำหรับครอสส์โอเวอร์ระดับ B-SUV ถือว่ามีความใกล้เคียงกัน
INTERIOR ภายใน
ตัวถังที่กะทัดรัดของ YARIS CROSS กลับให้ผลลัพธ์ด้านพื้นที่ใช้สอยของห้องโดยสารที่กว้างขวางเกินคาด เราพบว่าการโดยสารมีความสะดวกสบายดีมาก เบาะคู่หน้ามีความกว้างขวาง ตัวเบาะสูงขึ้นมาพอสมควร ช่วยให้นั่งได้สบาย และมีทัศนวิสัยที่ดี (ในรุ่นทอพ เบาะผู้ขับปรับตำแหน่งด้วยไฟฟ้า) จุดที่น่าสนใจ คือ การออกแบบคอนโซลหน้า มีความทันสมัยเกินคาด ผสมรูปแบบที่คุ้นเคยของ TOYOTA จอแสดงผลหลักขนาดใหญ่ ติดตั้งบริเวณด้านบนของคอนโซล ปุ่มใช้งานต่างๆ ถูกจัดวางอย่างเป็นสัดส่วน ตรงคอนโซลเกียร์ถูกออกแบบให้มีวัสดุตกแต่งบริเวณส่วนขาของผู้โดยสารด้านหน้า แต่ฝั่งผู้ขับจะถูกเว้นว่างเอาไว้ มีการเลือกใช้วัสดุหนังแท้ในหลายจุด เพิ่มความหรูหราได้พอสมควร ขณะที่จอแผงหน้าปัดเป็นแบบดิจิทอลเต็มตัว จอมีความคมชัด แต่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงผลกลับไม่หลากหลายมากนัก รุ่นทอพ HEV PREMIUM LUXURY (เอชอีวี พรีเมียม ลักชัวรี) ติดตั้งเครื่องเสียงของ PIONEER (ไพโอเนียร์) กับคุณภาพเสียงที่น่าพอใจ แทบไม่ต้องติดตั้งอะไรเพิ่มเติม
พื้นที่ของเบาะหลังทำได้น่าพอใจเช่นกัน ในแง่ของการเป็น B SUV ถือว่ามีความกว้างขวางไม่น้อย (แม้จะไม่มากเท่ารถร่วมค่ายอย่าง COROLLA CROSS (โคโรลลา ครอสส์) ก็ตาม) ตัวเบาะทรงเรียบ นั่งได้สบายสำหรับผู้โดยสาร 2 คน ตำแหน่งของเบาะอาจร่นไปข้างหลังเล็กน้อย แต่ยังมีทัศนวิสัยที่ดีสำหรับการโดยสาร ให้ความรู้สึกที่ปลอดโปร่ง มีการติดตั้งช่องแอร์ด้านหลังมาให้ด้วย เพื่อความเย็นที่ทั่วถึง เบาะสามารถได้แยกได้แบบ 60:40 เมื่อพับแล้วจะมีพื้นที่ใช้สอยสำหรับการขนสัมภาระค่อนข้างมาก การพับเก็บเบาะแถว 2 ทำให้ได้พื้นที่เป็นแนวราบ ขนสัมภาระได้เต็มที่ เพิ่มความอเนกประสงค์อย่างได้ผล
ENGINE เครื่องยนต์
ส่วนขุมพลังของ TOYOTA YARIS CROSS คือ เครื่องยนต์ไฮบริด ประกอบด้วยเบนซิน 1.5 ลิตร 91 แรงม้า และมอเตอร์ไฟฟ้า 80 แรงม้า คิดเป็นกำลังสูงสุดทั้งระบบที่ 111 แรงม้า คู่เปรียบเทียบสมรรถนะ คือ B-SUV ขนาดใกล้เคียงกัน แต่มีพละกำลังมากกว่า (และราคาที่สูงกว่า) นั่นคือ NISSAN KICKS E-POWER ระบบไฮบริดที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าล้วนๆ สร้างกระแสไฟฟ้าด้วยเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร กำลังสูงสุด 136 แรงม้า และ MG VS เครื่องยนต์ไฮบริด 1.5 ลิตร กำลังสูงสุดถึง 177 แรงม้า มาดูอัตราเร่งกันเลย
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. YARIS CROSS ทำได้ที่ 12.4 วินาที ส่วน KICKS E-POWER คือ 9.6 วินาที และ MG VS มีตัวเลขที่ 9.2 วินาที จากตัวเลขจะเห็นว่า อัตราเร่งของ YARIS CROSS อาจตามหลังบรรดาคู่แข่งที่มีพละกำลังสูงรายอื่นๆ แต่ไม่ได้อืดจนเกินไป เมื่อพิจารณาแรงม้าสูงสุดของตัวรถ
ถัดมา คือ อัตราเร่งช่วงตีนปลายกับระยะ 0-1,000 ม. ครอสส์โอเวอร์ของ TOYOTA ทำเวลาที่ 34.5 วินาที (ที่ความเร็ว 147.5 กม./ชม.) ส่วนของ NISSAN ทำได้ที่ 31.2 วินาที (ที่ความเร็ว 166.4 กม./ชม.) และทาง MG มีตัวเลข คือ 30.4 วินาที (ที่ความเร็ว 173.9 กม./ชม.) แม้ในช่วงความเร็วสูง แต่เครื่องยนต์ที่มีพละกำลังน้อยกว่าส่งผลต่ออัตราเร่งของ YARIS CROSS นอกจากนี้ช่วงความเร็วปลายยังน้อยกว่าครอสส์โอเวอร์ที่มีพละกำลังมากกว่า
ส่วนอัตราเร่งยืดหยุ่นที่ 60-100 และ 80-120 กม./ชม. TOYOTA YARIS CROSS ทำตัวเลขได้ที่ 7.9 และ 9.4 วินาที ส่วน NISSAN KICKS E-POWER คือ 5.0 และ 6.6 วินาที ส่วน MG VS ทำได้ที่ 4.1 และ 4.9 วินาที แม้แต่การตอบสนองของอัตราเร่งยืดหยุ่นก็ยังคงมีความแตกต่างกัน YARIS CROSS เน้นการส่งกำลังแบบค่อยเป็นค่อยไป มีความไหลลื่นที่น่าพอใจ อัตราเร่งไม่หวือหวาเหมือนคู่แข่งที่มีพละกำลังมากกว่า
มาถึงหัวข้อสำคัญ คือ อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ความเร็ว 60/80/100 กม./ชม. YARIS CROSS ทำตัวเลขออกมาที่ 39.6/24.0/15.8 กม./ลิตร ส่วน KICKS E-POWER ทำได้ที่ 26.9/21.4/15.7 กม./ลิตร ขณะที่ MG VS คือ 18.6/21.7/14.3 กม./ลิตร เห็นได้ว่าทาง TOYOTA แสดงให้เห็นจุดเด่นด้านความประหยัดเชื้อเพลิง โดยเฉพาะช่วงความเร็วต่ำ (เช่น การใช้งานในตัวเมือง) ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. ประหยัดเชื้อเพลิงอย่างเหลือเชื่อ ! รวมถึงที่ความเร็ว 80 กม./ชม. เป็นจุดแข็งของเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็ก แม้ช่วงความเร็ว 100 กม./ชม. จะมีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงใกล้เคียงกับคู่แข่งรายอื่น
SUSPENSION ระบบรองรับ
แม้เป็นครอสส์โอเวอร์ขนาดพอเหมาะ แต่เรื่องของระบบรองรับ ถือว่า YARIS CROSS มีการปรับแต่งมาอย่างลงตัว ช่วงล่างยังคงเน้นความนุ่มนวล แต่ขับได้มั่นคง ควบคุมได้สบายในช่วงความเร็วสูง การเข้าโค้งทำได้ดี อาการโคลงมีน้อยเกินคาด การแล่นผ่านหลุมบ่อขนาดเล็กบนถนน หรือลูกระนาดจากการใช้งานในตัวเมือง แรงสั่นสะเทือนไม่มากเกินไป จะมีจุดสังเกตอยู่บ้าง คือ การตอบสนองของพวงมาลัยที่มีน้ำหนักเบา แต่ยังขาดความหนักแน่นอยู่เล็กน้อย โดยรวมครอสส์โอเวร์รุ่นนี้มีการขับขี่ที่ดีไม่แพ้รถเก๋งเลยทีเดียว จุดที่น่าชื่นชม คือ การเลือกใช้ยางคุณภาพสูงกับ YOKOHAMA BLUEARTH XT ช่วยให้ประสิทธิภาพการขับขี่ลงตัวยิ่งขึ้น ซึ่งตามปกติรถยนต์ระบบไฮบริดมักจะใช้ยางที่เน้นการประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่า
นอกจากนี้การใช้งานประสิทธิภาพสูง ยังส่งผลดีต่ออีกหนึ่งหัวข้อสำคัญ นั่นคือ ระยะเบรคที่ความเร็ว 60/80/100 กม./ชม. ทาง TOYOTA YARIS CROSS มีระยะเบรคที่ 15.1/26.2/40.6 ม. เป็นระยะเบรคที่เทียบชั้นรถยนต์ราคาแพงกว่าหลายรุ่นก็ว่าได้ (ตามมาตรฐานการทดสอบของ ฟอร์มูลา) สามารถเบรคได้อย่างหนักแน่นแม้ในช่วงความเร็วสูง ส่วนคู่แข่งครอสส์โอเวอร์อย่าง NISSAN KICKS E-POWER ทำได้ที่ 16.0/29.5/43.7 ม. และ MG VS มีระยะเบรคที่ 16.3/27.9/ 44.1 ม. บ่งบอกว่าประสิทธิภาพของระบบเบรคมีความน่าเชื่อถือที่ยอดเยี่ยมสำหรับครอสส์โอเวอร์จาก TOYOTA
ครอสส์โอเวอร์ลงตัวสำหรับคนเมือง
TOYOTA YARIS CROSS จัดเป็นครอสส์โอเวอร์ที่เหมาะสมสำหรับการเป็นรถยนต์ใช้งานของใครหลายคน โดยเฉพาะผู้ที่ใช้งานในตัวเมือง กับความโดดเด่นที่การประหยัดเชื้อเพลิงช่วงความเร็วต่ำ ตัวถังครอสส์โอเวอร์ที่มีความสูงมากกว่ารถเก๋งทั่วไป และยังให้ทัศนวิสัยที่ดีแม้ยามรถติด และยังมีออพชันระบบความปลอดภัย และระบบช่วยเหลือการขับขี่ที่ครบครัน ภายใต้ราคาของรุ่นทอพที่ไม่เกิน 9 แสนบาท (นั่นคือ 899,000 บาท) เป็นอีกความคุ้มค่าของครอสส์โอเวอร์คันนี้ แม้อัตราเร่งจะไม่โดดเด่น แต่ยังคงเพียงพอกับการใช้งานทั่วไปได้สบาย