ทดสอบ(formula)
NETA X รถยนต์ไฟฟ้าเอสยูวีคันใหญ่ ออพชันแน่น !
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติจีนยังคงมีความน่าสนใจอย่างต่อเนื่อง จากการเข้ามาของบรรดาค่ายรถหน้าใหม่ หรือค่ายรถที่เข้ามาทำตลาดก่อนหน้านี้ แต่มีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง กลยุทธ์ด้าน “ราคา” ยังคงเป็นหนึ่งในทีเด็ดของค่ายแต่ละแห่งที่กล่าวมา หนึ่งในนั้น คือ ค่าย NETA (เนทา) เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นที่ 2 ในบ้านเรากับ NETA X (เนทา เอกซ์) รถยนต์ไฟฟ้าสไตล์เอสยูวี ขนาดตัวใหญ่โต แต่ราคาย่อมเยากว่าคู่แข่งระดับเดียวกัน ! ความคุ้มค่าจะมากน้อยแค่ไหน มาทดสอบกัน
EXTERIOR ภายนอก
NETA X มีเส้นสายที่บ่งบอกการเป็นรถยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ สันเหลี่ยมคมเข้มรอบคัน มีมาดสปอร์ทแฝงในตัว ผสมผสานเส้นสายที่เน้นความบึกบึนตามแบบฉบับรถยนต์อเนกประสงค์ น่าจะเรียกความสนใจจากลูกค้าที่ชอบความทันสมัย และคนที่ชอบรถเอสยูวีใช้งานในตัวเมืองแบบที่คุ้นเคยกันมา ไฟหน้าทรงเรียวทำหน้าที่เป็นไฟส่องสว่างเวลากลางวัน ส่วนไฟส่องสว่างจริงจะถูกติดตั้งบนกันชนหน้า เส้นด้านข้างตัวถังที่พาดยาวเสาดี มีลูกเล่นสีแบบทูโทน ติดตั้งราวหลังคามาให้สำหรับการใช้งานแบบอเนกประสงค์ ขณะที่ไฟท้ายพาดยาวตลอดช่วงความกว้างของตัวถัง แลดูทันสมัย และโดดเด่นไม่เบา กระจกบานท้ายมีขนาดค่อนข้างเล็ก แต่มีการติดตั้งที่ปัดน้ำฝนด้านหลังมาให้ (นึกถึงคู่แข่งอย่าง AION Y PLUS (ไอออน วาย พลัส) ยังไม่มีติดตั้งมาให้) ขณะที่ล้อของรุ่นทอพ SMART มีขนาด 18 นิ้ว (ติดตั้งทุกรุ่นย่อย) จากการสังเกตแล้วพบว่าล้อแมก และยางขนาด 225/60 R18 มีขนาดแทบจะพอดีกับซุ้มล้อ
ในแง่ของมิติตัวถังโดยรวม NETA X มีความยาว 4,619 มม. สูง 1,628 มม. ระยะฐานล้อ 2,770 มม. และความสูงจากพื้นถนนที่ 156 มม. เทียบกับคู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้าระดับบี-เอสยูวี นั่นคือ BYD ATTO 3 (บีวายดี อัตโต 3) มีมิติตัวถังที่ ความยาว 4,455 มม. สูง 1,615 มม. ระยะฐานล้อ 2,720 มม. และความสูงจากพื้นถนนที่ 175 มม. จะเห็นได้ว่า NETA X มีขนาดตัวถังที่ใหญ่กว่าด้วยซ้ำไป รวมถึงระยะฐานล้อที่มากกว่าเล็กน้อย จะยกเว้นเพียงความสูงจากพื้นถนนที่ทาง NETA X มีน้อยกว่า
INTERIOR ภายใน
ห้องโดยสารของ NETA X มีการออกแบบที่ยกระดับขึ้นมาพอสมควร หากเทียบแฮทช์แบคร่วมค่ายราคาย่อมเยาอย่าง NETA V (เนทา วี) การตกแต่งโดยรวมเล่นสีทูโทนด้วยวัสดุสีดำตัดสลับสีน้ำตาลเข้ม เราสังเกตว่าทางผู้ผลิตมีการเลือกใช้วัสดุแบบบุนุ่มในหลายจุด นอกจากความหรูหราแล้วยังได้สัมผัสที่ดีต่อผู้โดยสารขณะใช้งาน รวมถึงส่วนของคอนโซลหน้า ตรงกลางติดตั้งหน้าจอขนาด 15.6 นิ้ว ความคมชัดทำได้น่าพอใจ การตอบสนองการสัมผัสทำได้ดีในระดับหนึ่ง (แต่ยังไม่เทียบเท่ามือถือ หรือแทบเลทราคาแพง) ถือเป็นสิ่งที่มีความเหมาะสม เพราะการใช้งานต่างๆ ยังคงต้องทำผ่านหน้าจอดังกล่าว ทั้งระบบเครื่องเสียง และระบบปรับอากาศ หากเป็นไปได้ทางผู้ผลิตน่าจะออกแบบให้มีปุ่มใช้งานแบบดั้งเดิมสักหน่อย ผู้ขับจะได้ไม่ต้องละสายตามาจากถนนบ่อยเกินไป อย่างไรก็ตาม บนพวงมาลัยยังมีปุ่มมัลทิฟังค์ชันมาให้ เป็นลักษณะปุ่มทรงกลม สำหรับใช้งานระบบต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนมุมของกระจกมองข้างซึ่งต้องเข้าไปในโหมดใช้งานก่อน (ต้องทำผ่านหน้าจอหลักเช่นเคย)
ในแง่ของความกว้างขวาง NETA X จัดเป็นครอสส์โอเวอร์ระดับบี-เอสยูวี ที่มีขนาดตัวใหญ่โต ห้องโดยสารจึงมีความกว้างขวางอย่างน่าพอใจ ไม่แพ้บรรดาคู่แข่งระดับเดียวกัน เบาะนั่งคู่หน้ามีความกว้างขวาง นั่งได้สบาย (แม้ตัวเบาะไม่สามารถปรับพนักพิงศีรษะได้ เพราะตัวเบาะเป็นแบบชิ้นเดียวกัน) ทางผู้ผลิตมีการติดตั้งโหมดที่น่าสนใจ คือ SCENARIO MODE เป็นโหมดสำหรับการนั่งแบบผ่อนคลายในห้องโดยสาร เบาะจะปรับตำแหน่งเป็นท่าเอนนอนโดยอัตโนมัติ พร้อมเสียงเพลงขับกล่อมที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย นอกจากนี้ หลังคาซันรูฟแบบพาโนรามิคก็เพิ่มความปลอดโปร่งอย่างได้ผล เบาะด้านหลังสามารถพับแยกได้เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอย มีความจุสูงสุด 1,388 ลิตร งานประกอบโดยรวมทำได้น่าพอใจ แม้จะมีจุดสังเกตของการประกอบเล็กน้อยในบางจุด
ENGINE เครื่องยนต์
NETA X ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูงสุด 120 กิโลวัตต์/163 แรงม้า ภายใต้น้ำหนักโดยรวมของตัวรถที่ 1,815 กก. (ในรุ่น SMART) ขับเคลื่อน 2 ล้อหน้า กับแบทเตอรีความจุ 62.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง คู่เปรียบเทียบสมรรถนะ คือ หนึ่งในคู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้าสไตล์เอสยูวีระดับเดียวกัน นั่นคือ BYD ATTO 3 มอเตอร์ไฟฟ้า 150 กิโลวัตต์/204 แรงม้า น้ำหนักโดยรวม 1,750 กก. แม้แต่ละรุ่นมีกำลังสูงสุดแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด มาลองดูอัตราเร่งในแต่ละส่วนกัน
อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. NETA X ทำเวลาได้ที่ 8.9 วินาที ขณะที่ BYD ATTO 3 คือ 8.2 วินาที อัตราเร่งช่วงตีนต้นมีความแตกต่างกันพอประมาณ แต่ถือว่าไม่มากจนเกินไป NETA X ทำอัตราเร่งได้ดี มีการตอบสนองคันเร่งที่ทันใจจากแรงบิดที่สูง (ในโหมด NORMAL)
ถัดมา คือ ความเร็วช่วงตีนปลาย 0-1,000 ม. NETA X ทำเวลาที่ 30.3 วินาที (ที่ความเร็ว 168.8 กม./ชม.) ขณะที่ BYD ATTO 3 มีตัวเลขที่ 29.4 วินาที (ที่ความเร็ว 169.3 กม./ชม.) อัตราเร่งของ NETA X มีการส่งกำลังที่ต่อเนื่อง ไม่เน้นความหวือหวา แต่ไต่ความเร็วจนถึงช่วงความเร็วสูงสุดได้ไม่ยากเย็น ทำได้ใกล้เคียงกับ ATTO 3 แต่พละกำลังที่น้อยกว่าทำให้อัตราเร่งตามหลังเล็กน้อย แต่ในแง่ของการใช้งานทั่วไป ถือว่า NETA X ทำได้ดี แร่งแซงทั่วไปได้สบาย
ส่วนอัตราเร่งยืดหยุ่น หรือการเร่งแซง ที่ความเร็ว 60-100 และ 80-120 กม./ชม. NETA X ทำได้ที่ 4.6 และ 5.7 วินาที ตามลำดับ เทียบกับ BYD ATTO 3 มีอัตราเร่งที่ 3.9 และ 4.9 วินาที การตอบสนองของอัตราเร่งยังทำได้ดี แม้คู่แข่งที่มีพละกำลังมากกว่าจะมีความฉับไวที่ได้เปรียบกว่าเล็กน้อย
นอกจากเรื่องของอัตราเร่ง NETA X ติดตั้งแบทเตอรีความจุ 62.0 กิโลวัตต์ชั่วโมง และระยะทำการสูงสุดที่ 480 กม. (มาตรฐาน NEDC) จากการทดสอบบนถนนจริงเป็นระยะทางไกล เราพบว่าหากใช้ความเร็วที่เหมาะสม (ไม่เกิน 100 กม./ชม.) ระยะทางที่เหลือตามระดับแบทเตอรีตามที่ปรากฏบนจอแสดงผล ลดลงใกล้เคียงกับระยะทางจริงที่รถขับเคลื่อนอยู่ อัตราสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 16.2 กิโลวัตต์/100 กม. ในสภาพการจราจรที่หลากหลาย ทั้งการใช้ความเร็วสูงคงที่ และการขับผ่านตัวเมือง จากการประเมินเบื้องต้น เราพบว่าการสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าถือว่าทำได้ดี ระยะทางที่แล่นได้จากการใช้งานทั่วไปใกล้เคียงที่ระยะทาง 400 กม.
SUSPENSION ระบบรองรับ
แม้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าราคาเหมาะสม แต่ NETA X ก็มีระบบความปลอดภัย และระบบช่วยเหลือการขับขี่ที่ทันสมัยหลายรายการ ไม่ว่าจะเป็นระบบกล้องมองภาพรอบคันแบบปรับระยะการซูมได้ ระบบช่วยเบรคอัตโนมัติ (ตรวจจับทั้งคนเดินถนน และคนขี่จักรยานก็ได้) รองรับการสั่งงานด้วยเสียงภาษาไทย รวมถึงการควบคุมตัวรถเบื้องต้นผ่านแอพพลิเคชัน รวมถึงออพชันของการจ่ายไฟฟ้าสู่ภายนอก (ระบบ V2L) สามารถรองรับได้สูงสุดถึง 3,300 วัตต์ อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่าออพชันที่ทันสมัยจะมีติดตั้งในรุ่นทอพ SMART เท่านั้น นอกจากนี้ การทำงานของหลายระบบยังคงเน้นการเตือนผู้ขับ เช่น ระบบตรวจจับสิ่งกีดขวางจากด้านหลังขณะถอยรถ มีระบบเตือนมาให้ แต่จะไม่ทำการเบรคโดยอัตโนมัติ แต่กล้องมองภาพรอบคันก็ช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย และความปลอดภัยขณะจอดรถ หรือขับขี่ในพื้นที่แคบได้ดีพอสมควรแล้ว ส่วนการตอบสนองของช่วงล่างให้ความรู้สึกที่นุ่มนวล แต่มีความหนึบในระดับที่พอเหมาะ ตัวรถไม่มีอาการโคลงของตัวถังมากเกินไปในขณะที่เข้าโค้ง แต่อย่างไรเสียยังคงเป็นเอสยูวีที่เน้นความสะดวกสบายโดยรวมของผู้โดยสารมากกว่า พวงมาลัยตอบสนองค่อนข้างดี แต่ควรเพิ่มน้ำหนัก และความเฉียบคมได้มากกว่านี้
คุ้มค่าด้านออพชัน และความกว้างขวาง
NETA X รุ่นทอพ SMART เปิดราคาอย่างน่าสนใจที่ 799,000 บาท (ส่วนรุ่นเริ่มต้น COMFORT มีราคาที่ 739,000 บาท ภายใต้ออพชันที่น้อยกว่า และแบทเตอรีความจุน้อยกว่า) เทียบกับบรรดาคู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้าระดับบี-เอสยูวี มีราคาสูงกว่านี้ ทาง NETA X ยังมีจุดเด่นที่ขนาดตัวซึ่งใหญ่ไม่แพ้กัน การแล่นได้ไกลไม่แพ้กัน ยิ่งสร้างความน่าสนใจได้อีกไม่น้อย แม้จะมีพละกำลังน้อยกว่า แต่เพียงพอต่อการใช้งานทั่วไปได้สบาย อย่างไรก็ตาม การทำตลาดจากค่ายรถ NETA ซึ่งเป็นค่ายรถหน้าใหม่ ยังคงต้องพิสูจน์เรื่องความมั่นใจของการบริการในระยะยาว หากสอบผ่านในจุดนี้ได้ เชื่อว่าบแรนด์ NETA พร้อมทำตลาดในประเทศกันไปอีกนาน