ทดสอบ(formula)
PROTON SUPRIMA S
ค่ายรถจากประเทศมาเลเซีย ปโรตอน นำรถมาทำตลาดในบ้านเราพักใหญ่แล้ว แม้การเคลื่อนไหวในระยะหลังจะไม่หวือหวามากนัก แต่ยังมีรถรุ่นใหม่เปิดตัวให้เห็นว่ายังไม่หนีหายไปไหน กับรถรุ่นล่าสุด คือ ซูปรีมา เอส (SUPRIMA S) การต่อยอดจากซีดานตัวแรงอย่าง ปเรอเว (PREVE) กับเครื่องยนต์เบนซิน 1.6 ลิตร พ่วงเทอร์โบ ที่เราเคยทดสอบและพบว่าสมรรถนะสามารถ “งัดข้อ” กับเหล่าซีดานเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร ได้สบายๆ ! มาดูกันว่าแฮทช์แบคคันนี้จะร้อนแรงมากน้อยแค่ไหน
EXTERIOR ภายนอก
รูปทรงของ ซูปรีมา เอส พัฒนาร่วมกับ ปเรอเว อย่างชัดเจน ด้านหน้าไล่เรียงจนถึงบริเวณเสา บี จึงใกล้เคียงกันมาก ไฟทรงเหลี่ยมเฉียงประดับด้วยไฟแอลอีดี ประกบกระจังหน้าทรงกว้าง ทำให้ส่วนหน้าดูใหญ่โต แนวหลังคาที่ลาดเทจรดกับช่วงท้ายที่สั้นกุดในสไตล์แฮทช์แบค ช่วยให้รถรุ่นนี้มีเส้นสายที่ดูกระชับกว่าตัวซีดานอย่างชัดเจน เนื่องจากระบบโอเวอร์แฮงที่น้อย สิ่งที่ช่วยเสริม “ความหล่อ” ของรถรุ่นนี้ คือ ล้อแมกขนาด 17 นิ้ว ลายเฉพาะแบบ 7 ซี่ ผนวกกับยางหน้ากว้างขนาด 215/45 R17 (ในรุ่นย่อย พรีเมียม) ทำให้ ซูปรีมา เอส ดูดุดันขึ้นไม่เบา
แม้จะเน้นมาดสปอร์ท แต่ขนาดตัวถังของ ซูปรีมา เอส ก็เทียบได้กับบรรดาแฮทช์แบคระดับ ซี เซกเมนท์ โดยมีมิติตัวถังความยาว 4,436 มม. และระยะฐานล้อ 2,650 มม. เทียบกับรถระดับเดียวกันอย่าง ฟอร์ด โฟกัส (FORD FOCUS) ตัวถังแฮทช์แบคกับมิติตัวถังที่ 4,358 และ 2,648 มม. ตามลำดับ ถือว่ามีความใกล้เคียงกัน โดยแฮทช์แบคจาก มาเลเซีย มีความได้เปรียบที่ความยาว แต่ในเรื่องของความกว้าง (ที่ 1,786 มม.) ยังเป็นรองแฮทช์แบคจากอเมริกา (ที่ 1,823 มม.)
INTERIOR ภายใน
ผลจากขนาดตัวที่ได้มาตรฐานรถระดับ ซี-เซกเมนท์ ทำให้ภายในห้องโดยสารของ ซูปรีมา เอส กว้างขวางไม่แพ้ยี่ห้ออื่น ด้านหลังนั่งได้สบายเกินคาด เบาะกระชับสรีระ การตกแต่งเน้นโทนสีดำเข้ม ตัดกับวัสดุสีเงินวาว สมกับมาดสปอร์ทของตัวรถ ช่วยชดเชยการออกแบบโดยรวมที่ค่อนข้างล้าสมัยไปสักหน่อยได้พอสมควร อย่างไรก็ตามเรารู้สึกว่าเบาะนั่งอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง แม้จะปรับลงมาต่ำสุดแล้ว อาจให้ผลดีในแง่ทัศนวิสัย แต่หากมองในแง่ของความสปอร์ทแล้ว เบาะนั่งน่าจะต่ำลงมาอีกสักหน่อย
แผงคอนโซลหน้าไม่มีอะไรหวือหวา แต่ยังติดตั้งเครื่องเล่น ดีวีดี เนวิเกเตอร์ พร้อมหน้าจอขนาด 7 นิ้ว ทำงานด้วยระบบแอนดรอยด์ เชื่อมต่อบลูทูธได้ อีกทั้งพวงมาลัยมัลทิฟังค์ชัน ในแง่การใช้สอยในชีวิตประจำวันถือว่ารถรุ่นนี้ให้มาเพียงพอ โดยในรุ่นย่อย พรีเมียม ที่เรานำมาทดสอบติดตั้งแป้น แพดเดิล ชิฟท์ เพิ่มอรรถรสในการขับได้หอมปากหอมคอ ระบบแอร์อัตโนมัติ ระบบครูสคอนทโรล ระบบปัดน้ำฝน และระบบเปิดไฟหน้า อัตโนมัติ และยังมีกล้องมองหลังอีกต่างหาก เมื่อพิจารณาความเป็นรถ ซี-เซกเมนท์ กับราคาค่าตัวที่ 8 แสนบาทต้นๆ ถือว่าให้มาเยอะกว่าใครเพื่อนแล้ว
ENGINE เครื่องยนต์
ขุมกำลังของ ซูปรีมา เอส คือ เครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบ ขนาด 1.6 ลิตร แบบ CAMPRO กำลัง 138 แรงม้า ที่ 5,000 รตน. จุดเด่นคือแรงบิดสูงสุดถึง 20.9 กก.-ม. ที่ 2,000-4,000 รตน. จะเห็นได้ว่าแรงบิดค่อนข้างสูง และมีรอบการใช้งานที่กว้าง ซึ่งปกติจะพบเห็นได้ในเครื่องยนต์พ่วงเทอร์โบของยุโรป และในเมื่อทางผู้ผลิตระบุมาว่าสมรรถนะของรถรุ่นนี้ไม่แพ้เครื่องยนต์ 2.0 ลิตร เราจึงพิสูจน์ด้วยการนำคู่เปรียบเทียบ คือ ฟอร์ด โฟคัส แฮทช์แบค 2.0 ลิตร กำลัง 170 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 20.4 กก.-ม. และในเมื่อบแรนด์ ปโรตอน นำเทคโนโลยีบางส่วนจากยุโรปมาใช้ เราจึงนำแฮทช์แบคจากยุโรปมาเปรียบเทียบกันแบบไม่คำนึงถึงเรื่องราคา นั่นคือ เมร์เซเดส-เบนซ์ เอ 180 (MERCEDES-BENZ A180) เครื่องยนต์เบนซิน 1.6 ลิตร ไร้ระบบอัดอากาศ แต่มีแรงบิดที่ดี กำลัง 122 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 20.4 กก.-ม.
เริ่มจากอัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ซูปรีมา เอส ทำได้ที่ 11.2 วินาที โฟคัส คือ 9.9 วินาที และ เอ 180 อยู่ที่ 10.8 วินาที ในส่วนนี้แฮทช์แบคจาก มาเลเซีย ยังไม่สำแดงเดชออกมาชัดเจนเท่าใดนัก แต่ยังทำได้ใกล้เคียงแฮทช์แบคของ เมร์เซเดส-เบนซ์
มาวัดกันต่อที่ระยะควอร์เตอร์ไมล์ 0-400 ม. ซูปรีมา เอส ใช้เวลา 18.1 วินาที (ความเร็ว 131.5 กม./ชม.) โฟคัส 17.2 วินาที (ความเร็ว 135.3 กม./ชม.) และ เอ 180 คือ 17.7 วินาที (ความเร็ว 132.0 วินาที) จะเห็นได้ว่าระยะห่างของเวลาที่ทำได้เริ่มกระชั้นเข้ามา พร้อมกับความเร็วที่ใกล้เคียงกัน และจากอัตราเร่งช่วง 0-1,000 ม. ซูปรีมา เอส ใช้เวลา 32.5 วินาที (ความเร็ว 164.1 กม./ชม.) โฟคัส 31.0 วินาที (ความเร็ว 172.0 กม./ชม.) และ เอ 180 คือ 31.9 วินาที (ความเร็ว 167.7 วินาที) ความเร็วช่วงตีนปลายอาจมีแผ่วบ้าง และเวลาที่ทำได้ ถือว่าไม่ได้ทิ้งห่างคู่แข่งเท่าใดนัก แสดงให้เห็นว่าระบบเทอร์โบเริ่มทำงานอย่างชัดเจนขึ้นที่ความเร็วระดับกลาง มีอัตราเร่งที่ดีในช่วงดังกล่าว
ในส่วนอัตรายืดหยุ่นที่ช่วงความเร็ว 60-100 และ 80-120 กม./ชม. ซูปรีมา เอส ทำได้ 5.2 และ 6.7 วินาที เทียบกับ โฟคัส คือ 5.2 และ 6.5 วินาที และ เอ 180 คือ 5.6 และ 7.4 วินาที กลับกลายเป็นว่าแฮทช์แบคจาก มาเลเซีย สามารถ “จู่โจม” คู่ต่อสู้ได้อย่างสูสี ! เวลาที่ทำได้กลับเทียบเคียง หรือดีกว่าด้วยซ้ำ อันเป็นการทำงานที่ลงตัวของระบบเทอร์โบ ป้อนแรงบิดได้ต่อเนื่อง ผนวกกับเกียร์อัตโนมัติแปรผันที่ตอบสนองได้ดี จุดเด่นเรื่องการเพิ่มอัตราเร่งขณะแล่นของ ซูปรีมา เอส ถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามในหัวข้ออัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ความเร็ว 80/100/120 กม./ชม. ซูปรีมา เอส มีตัวเลขที่ 15.6/13.5/11.0 กม./ลิตร ทางด้าน โฟคัส คือ 23.9/18.9/13.9 กม./ลิตร และ เอ 180 ทำได้ที่ 23.2/17.7/14.5 กม./ลิตร นับเป็นเรื่องที่ต้องทำใจเล็กน้อย เนื่องจากเครื่องยนต์ CAMPRO ของ ซูปรีมา เอส ไม่ได้มีความสลับซับซ้อนและหลากหลายมากนัก การพัฒนาเพื่อเน้นสมรรถนะจึงต้องแลกกับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอย่างที่เห็น โดยทาง โฟคัส เป็นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร ประสิทธิภาพสูงด้วยระบบฉีดเชื้อเพลิงโดยตรง ส่วน เมร์เซเดส-เบนซ์ ใช้เครื่องยนต์ 1.6 ลิตร คุณภาพสูง สมกับราคาค่าตัวระดับ 2 ล้านบาท ยิ่งได้เปรียบเรื่องความประหยัด
SUSPENSION ระบบรองรับ
สิ่งที่ทางค่ายรถ ปโรตอน นำเสนออยู่เสมอ คือ ระบบรองรับที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากค่ายรถสปอร์ทเมืองผู้ดีอย่าง โลทัส (LOTUS) ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ช่วงล่างที่มีความหนึบแน่น แต่ไม่กระด้างจนเกินไป แน่นอนว่าสำหรับ ซูปรีมา เอส ก็เช่นเดียวกัน ช่วงล่างโดยรวมให้ความรู้สึกหนึบอย่างพอดี แต่เพื่อการใช้งานทั่วไปที่สะดวกสบายขณะเดินทาง ทางผู้ผลิตปรับแต่งให้มีความนุ่มนวลผสมอยู่ด้วย ไม่รู้สึกกระด้างที่ความเร็วต่ำ แต่ยังมีความมั่นคงที่ความเร็วสูง การบังคับควบคุมค่อนข้างหนักมือ ตอบสนองได้ดี คล่องตัวกว่ารุ่นซีดานอย่าง ปเรอเว เล็กน้อย เมื่อเทียบกับสมรรถนะของตัวรถแล้ว ถือว่าเหมาะสม
นอกจากระบบรองรับ และการบังคับควบคุมที่น่าพอใจแล้ว ซูปรีมา เอส ยังติดตั้งระบบความปลอดภัยมาให้มากมาย ทั้งระบบถุงลมนิรภัยรอบคัน (รวมทั้งม่านถุงลมนิรภัย) ระบบป้องกันการลื่นไถล (TCL) ระบบควบคุมการทรงตัว (ESC) และระบบช่วยการออกตัวบนทางลาดชัน (HILL-HOLD ASSIST) นับว่าค่อนข้างครบ เมื่อเทียบกับค่าตัวที่ 8 แสนบาทต้นๆ ซึ่งจะว่าไปแล้วคู่แข่งสัญชาติ ญี่ปุ่น อาจได้เพียงรถยนต์ระดับ 1.6 ลิตร ธรรมดา รุ่นย่อยระดับกลางเท่านั้น ซึ่งมีระบบความปลอดภัยน้อยกว่านี้อย่างเห็นได้ชัด
ประสิทธิภาพของระบบเบรคที่ความเร็ว 60/80/100 กม./ชม. ซูปรีมา เอส ใช้ระยะเบรคที่ 15.8/28.9/45.2 ม. ถือว่าทำได้ดีตามมาตรฐานรถยนต์ระดับ ซี-เซกเมนท์ ทั่วไป ที่ระดับราคา 8-9 แสนบาท ไม่ว่าจะเป็น นิสสัน ซิลฟี (NISSAN SYLPHY) รุ่น 1.8 ลิตร ที่ทำได้ 15.4/27.5/44.2 ม. หรือ ฮอนดา ซีวิค (HONDA CIVIC) รุ่น 1.8 ลิตร เช่นกัน ที่ 16.0/28.2/42.5 ม.
ปโรตอน ซูปรีมา เอส ทำหน้าที่ได้ดีในแง่ของความเป็นรถเน้นสมรรถนะ ควบคู่กับมาดสปอร์ทแฮทช์แบคที่ดูลงตัวกว่าซีดานร่วมค่ายอย่าง ปเรอเว อัตราเร่งแซง หรือเพิ่มความเร็วขณะแล่น ทำได้อย่างสูสีเครื่องยนต์ขนาด 2.0 ลิตร หรือแม้กระทั่งรถยุโรปบางรุ่นด้วยซ้ำ พร้อมกับอุปกรณ์ใช้สอย และระบบความปลอดภัย ที่ให้มาอย่างเหลือเฟือ แม้จะมีจุดอ่อนเรื่องอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงอยู่บ้าง แต่อย่าลืมว่ารถรุ่นนี้ราคาค่าตัวอยู่ที่ 779,000-829,000 บาท เท่านั้น ยังถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะคู่เทียบเคียงด้านสมรรถนะ ราคานับล้านบาทขึ้นไปถึง 2 ล้านบาท
ถ้างบจำกัด แต่อยากได้รถแรงเกินค่าตัว โดยไม่เกี่ยงยี่ห้อแล้วล่ะก็ “เสือ” ตัวนี้ก็พร้อมให้คุณเป็นเจ้าของได้เสมอ !