ก่อนนี้ การเข้าจอดรถ หรือกลับรถในที่แคบ ด้วยการเปลี่ยนทิศทางการหมุนของล้อหน้ากับล้อหลังสลับข้างกัน เป็นเรื่องที่พบเห็นได้แต่ในภาพยนตร์เท่านั้น กระทั่งถึงยุคของรถไฟฟ้านี่แหละ ที่การ ขับ 4 เลี้ยว 4 สามารถทำได้จริง แถมยังลุยเก่งขึ้นด้วย อันที่จริงระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ และระบบบังคับเลี้ยว 4 ล้อนั้นมีมานานแล้ว ที่ผ่านมา 2 ระบบนี้แยกกันเป็นคนละส่วนอย่างสิ้นเชิง แต่ในวันนี้ มันสามารถควบรวมเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืนแล้ว
ในรถไฟฟ้า 100 % ที่ติดตั้งระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ จะมีความสามารถเหมือนรถในภาพยนตร์ ตัวรถสามารถหมุนได้ 360 องศา แบบเดียวกับพวกรถตีนตะขาบทั้งหลาย โดยใช้หลักการเดียวกัน คือ ล้อแต่ละฝั่งหมุนแยกกันอย่างอิสระ ทำให้การขับเคลื่อนในที่แคบทำได้ง่าย และใช้พื้นที่น้อย รถไฟฟ้าขับเคลื่อน 4 ล้อที่มีมอเตอร์แยกอิสระถึง 4 ตัว อย่าง BYD U8 มีความสามารถพิเศษหลายด้าน โดยเฉพาะการบังคับเลี้ยว และการกลับรถในที่แคบ เพราะล้อทั้ง 4 สามารถหมุนได้อย่างอิสระ เช่น ล้อด้านขวาหมุนเดินหน้า ล้อด้านซ้ายหมุนถอยหลัง เมื่อหมุนพร้อมกันจะทำให้ตัวรถกลับรถได้แบบเดียวกับรถตีนตะขาบ
การขับเคลื่อนในเส้นทางทุรกันดารก็ง่ายขึ้นมาก เช่น กรณีล้อหลังฝั่งซ้ายติดหล่ม และหมุนฟรี ล้อด้านขวาไม่มีแรงขับเคลื่อน ถ้าเป็นรถระบบเดิมจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ลิมิเทด สลิพ ส่งแรงไปทางด้านขวา หรือต้องใช้ดิฟฟ์ลอคเพื่อให้ล้อทั้งสองฝั่งมีแรงบิดเท่ากัน แต่สำหรับรถไฟฟ้าที่ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าอิสระ 4 ตัว ก็แค่สั่งการให้ล้อซ้ายหยุดหมุน แล้วเพิ่มแรงขับที่ล้อขวาแทน ยิ่งกว่านั้นยังมีระบบช่วยเหลือต่างๆ ที่ทำงานได้แม่นยำฉับไว และราบรื่นกว่า เนื่องจากการสั่งการด้วยระบบอีเลคทรอนิคส์สามารถสั่งให้มอเตอร์หมุนด้วยแรงเท่าไรก็ได้ ในเวลาเพียงเสี้ยววินาที ไม่เหมือนกับเครื่องยนต์ที่มีรอบเครื่องเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าต้องการแรงบิดมากขึ้น จะต้องรอให้ถึงรอบแรงบิดสูงสุด