ใครจะคาดคิดว่า ยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งของโลกรถยนต์ ที่มีภาพลักษณ์ดีมาตลอดอย่าง โฟล์คสวาเกน จะกล้าทำลายชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของตนเอง ด้วยการบิดเบือนค่ามลพิษ เพื่อให้ผ่านมาตรฐานไอเสียในสหรัฐอเมริกาเรื่องอื้อฉาวที่ไม่น่าเป็นไปได้นี้ เกิดจากความพยายามของ โฟล์คสวาเกน ที่จะขยายตลาดในสหรัฐอเมริกา เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นบริษัทรถยนต์อันดับหนึ่งของโลก ปัญหา คือ ตลาดรถยนต์สหรัฐอเมริกา มีกฎหมายเกี่ยวกับมลพิษที่เข้มงวดมาก โดยเฉพาะกับรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งจะปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ หนึ่งในแกสเรือนกระจก ออกมามากกว่าเครื่องยนต์เบนซิน สิ่งที่ผู้ผลิตรถยนต์ต้องทำ คือ พัฒนาเครื่องยนต์ "คลีนดีเซล" ให้ปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดโดยยังคงสมรรถนะที่น่าพอใจ ซึ่งคงต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล โฟล์คสวาเกน อาจเห็นว่าไม่คุ้มค่า เลยคิดค้นซอฟท์แวร์พิเศษติดตั้งเข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ของรถรุ่น กอล์ฟ, เจททา, บีเทิล และ พาสสัท รวมถึงรถ เอาดี เอ 3 ที่ใช้เครื่องยนต์คลีนดีเซล ซอฟท์แวร์พิเศษนี้ จะตรวจจับสัญญาณจากพวงมาลัย และคันเร่ง เมื่อรู้ว่ารถกำลังได้รับการทดสอบในห้องแลบเพราะมีรูปแบบการทดสอบที่ตายตัว มันจะสั่งให้ระบบควบคุมมลพิษ ปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ออกมาน้อยกว่าความเป็นจริง ถึง 40 เท่า จึงผ่านการทดสอบได้ฉลุย โฟล์คสวาเกน ปฏิบัติการแหกตาเจ้าหน้าที่ และลูกค้าในสหรัฐอเมริกา มาตั้งแต่ปี 2009 แต่ความเพิ่งมาแตกเมื่อเร็วๆ นี้ โดยฝีมือของกลุ่ม ICCT (INTERNATIONAL COUNCIL ON CLEAN TRANSPORTATION) ที่พบว่าผลทดสอบจากการใช้งานจริงของรถเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับค่าที่อ้าง จึงแจ้งให้สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม EPA (ENVIRONMENTAL PROTECTION AGENCY) ตรวจสอบจนพบความจริง ผมไม่รู้ โฟล์คสวาเกน ประหยัดงบประมาณในการคิดค้นเทคโนโลยีกำจัดมลพิษ ไปได้สักกี่สตางค์ แต่ต่อให้รวมกับเงินที่ได้จากการขายรถที่ติดตั้งซอฟท์แวร์พิเศษอีกเกือบ 5 แสนคัน ก็รับรองว่า ไม่คุ้มกับผลกรรมที่ทำไว้ในคราวนี้อย่างแน่นอน เพราะทันทีที่ข่าวกระจายออกไป มูลค่าหุ้นของ โฟล์คสวาเกน ก็ดิ่งฮวบลงถึง 20 % เป็นเงินกว่า 6 แสนล้านบาท และมีความเป็นไปได้สูงมากที่ โฟล์คสวาเกน จะถูกทางการสหรัฐอเมริกา ลงโทษปรับเป็นรายคัน คันละ 37,500 เหรียญสหรัฐ ฯ เท่ากับต้องจ่ายค่าปรับบานตะไทถึง 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ หรือ 630,000 ล้านบาท ! ยังไม่รวม ค่าซ่อมแซมรถรุ่นปัญหา ที่ต้องเรียกคืนมาทั้งหมดอีกราว 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ หรือ 245,000 ล้านบาท ! สรุปแล้ว โฟล์คสวาเกน ต้องควักกระเป๋าเพื่อชดใช้ความผิดคิดเป็นตัวเงินคร่าวๆ เกือบ 1 ล้านบาท (ไม่รวมมูลค่าหุ้น) แถม มาร์ติน วินเทอร์กอร์น ซีอีโอคนปัจจุบันยังต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบอีกด้วย แต่ที่มากกว่านั้น คือ ค่าความเสียหายที่จะเกิดตามมา จากความเสื่อมศรัทธาในตัวสินค้า และบแรนด์ โฟล์คสวาเกน ซึ่งยังไม่มีใครสามารถประเมินได้ บทเรียนที่ผู้บริโภคชาวไทยพึงตระหนักจากกรณี โฟล์คสวาเกน คือ อย่าไว้ใจ อีโคสติคเกอร์ !