รอบรู้เรื่องรถ
ถนนผิวเรียบ หาไม่ได้บนทางด่วนไทย !
เคยลองบันทึกค่าใช้จ่ายกันไว้บ้างไหมครับ ว่าแต่ละเดือนเราต้องจ่ายค่าใช้ทางพิเศษ หรือทางด่วนสักเท่าไร ในส่วนของผม ซึ่งไม่ได้เข้าขั้นใช้มากมายอะไร ก็เกิน 2,000 บาทแล้วครับ แสดงว่ามีคนจำนวนไม่น้อย ที่ต้องจ่ายมากกว่าผม 2 หรือ 3 เท่าตัว บางคนพูดว่าซื้อความสะดวก ความสบาย
ผมว่าไม่น่าใช่ พวกเราจ่ายกันเพราะความจำเป็นมากกว่า เพราะไม่ได้มีทางเลือกอื่นที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกันให้เลือก เพราะฉะนั้นคำตอบประเภท "ถ้าไม่พอใจ ก็ไม่ต้องขึ้นมา" จึงไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะมาใช้กับพวกเรา ไม่ต้องคำนวณด้วยเครื่องคิดเลขหรอกครับ แค่ประเมินอย่างหยาบๆ จากระยะทางส่วนที่เป็นทางด่วน และปริมาณรถที่เราเห็นแล่นอยู่บนนั้น ในช่วงเวลาต่างๆ ตลอด 24 ชม. ก็พอทราบว่ารายได้ส่วนนี้เป็นจำนวนมหาศาล พวกเราซึ่งก็คือลูกค้า หรือผู้ใช้บริการ ย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้รับสิ่งที่ควรจะได้ แลกกับเงินที่ต้องจ่ายครับ ซึ่งที่จริงก็มีอยู่ไม่กี่อย่างเท่านั้น คือ
1. ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพ ทำงานได้แม่นยำ สม่ำเสมอ รวดเร็ว ทนทาน ไม่เสียบ่อย 2. พนักงานเก็บค่าผ่านทางที่สุภาพ มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี ทำงานคล่องแคล่ว 3. มีห้องน้ำที่สะอาด จำนวนเพียงพอ ไว้ให้บริการทุกด่าน ซึ่งขณะนี้ยังถือว่าขาดแคลน 4. รถลากจูง และพนักงานให้ความช่วยเหลือ กรณีรถมีปัญหาบนทางด่วน หรือเกิดอุบัติเหตุ และข้อที่ 5. ซึ่งผมนำมาไว้ตอนท้าย เพราะต้องการเขียนถึง ไม่ได้หมายความว่า มีความสำคัญน้อยที่สุดนะครับ คือ คุณภาพของผิวทางด่วน โดยทั่วไปก็อยู่ในระดับใช้งานได้ดีพอสมควรครับ เพราะไม่ถูกรถบรรทุก ซึ่งบรรทุกเกินพิกัดกันทั้งนั้น ขึ้นมาทำลาย
ปัญหาใหม่อยู่ตรงรอยต่อครับ เพราะทางด่วนยกระดับ จะต้องเว้นช่องว่างไว้เป็นระยะเล็กน้อย จากปัญหาการขยายตัวหรือหดตัว ตามอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ส่วนปลายของผิวถนนแต่ละช่วงจึงถูกประกับไว้ด้วยเหล็กฉากถาวร ผิวถนนซึ่งเป็นยางมะตอยคลุกหิน จะถูกปรับให้อยู่ระดับเดียวกับเหล็กประกับนี้ เราก็จะได้รอยต่อที่ราบเรียบเสมอกัน มีช่องว่างแคบๆ ที่ไม่รบกวนเมื่อล้อกลิ้งผ่าน เมื่อใดก็ตามที่ผิวถนนชำรุดเสื่อมลง และต้องซ่อมใหญ่ คือ ปรับผิวจราจรให้ราบเรียบตามที่ควรจะเป็น ผู้ดำเนินงานซ่อมจะต้องขูดผิวเดิมออกให้ลึกพอประมาณครับ ก่อนที่จะเทยางมะตอยคลุกหินทับลงไปด้วยความหนาที่เหมาะสม และอยู่ในระดับเดียวกับตอนที่สร้างเสร็จ และอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
นี่เป็นงานพื้นฐานง่ายๆ ที่นักซ่อมนักสร้างถนนที่ไหนก็รู้ๆ กันอยู่ทั้งนั้นครับ นักเรียน นักศึกษาด้านโยธา ฯ ที่ไหนก็ต้องรู้
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงของการซ่อมผิวทางด่วนยกระดับของประเทศไทย คือ ความมักง่าย เห็นแก่ผลกำไรของผู้รับเหมางานซ่อม โดยขูดผิวเดิมออกเพียงเพื่อให้เรียบสะอาดแค่ตื้นๆ เพราะง่าย ใช้เวลาน้อย และได้กำไรเยอะดี หลังจากนั้นก็โปะยางมะตอยคลุกหินลงไปเลย บดให้เรียบ โดยไม่ต้องสนใจว่าผิวมันจะสูงกว่าของเดิมตอนสร้างเสร็จแค่ไหน ช่วงที่เกือบถึงประกับเหล็กซึ่งอยู่ต่ำกว่า ก็เทให้บางลง ปาดลาดลงมาถึงเหล็ก เพราะฉะนั้นช่วงที่เป็นรอยต่อนี้จึงกลายเป็นร่อง สร้างความสะเทือนทุกช่วง ตลอดการขับผ่าน
ถ้าเป็นรถเก๋งทั่วไป ยังไม่ถึงขั้นเดือดร้อนครับ แต่ผู้ที่ใช้รถสปอร์ทเป็นพวกที่หน้าเห็นใจมาก เพราะรถประเภทนี้ ถูกสร้างมาเพื่อให้เกาะถนน ทรงตัวดี บนถนนเรียบปกติ ผมเน้นคำว่าปกตินะครับ ไม่ใช่เรียบเป็นพิเศษเมื่อล้อผ่าน "ร่อง" ที่ไม่ควรจะมีนี้ จึงสะท้านอย่างแรง ผู้ขับผู้โดยสารเดือดร้อนกันหมด ช่วงล่างของรถก็ต้องรับแรงกระแทกอย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แม้จะเป็นรถเก๋งช่วงล่างไม่ "แข็ง" ก็ไม่ควรที่แดมเพอร์และชิ้นส่วนของช่วงล่าง จะต้องมารับภาระที่ไม่จำเป็นเช่นนี้ ไม่มีใครมีสิทธิ์มาอ้างว่า ไม่เห็นจะเป็นอะไร ก็เห็นขับกันมานานเป็นปีแล้ว
ผู้ใช้ทางซึ่งเป็นลูกค้าชั้นดี มีสิทธิ์ได้ขับบนทางผิวดีตามมาตรฐานสากลครับ ใครที่บอกว่าไม่เห็นเป็นอะไร ผมอยากถามว่า ถ้าคุณเสียเงินค่าอาหารในร้านอาหาร คุณย่อมมีสิทธิ์คาดหวังที่จะได้อาหารอร่อย ปรุงด้วยความตั้งใจถูกหลักของการทำอาหารที่ดี คุณจะรู้สึกอย่างไร ยอมรับหรือ ? หากได้อาหารรสชาติระดับสุนัขยังเมิน แล้วเจ้าของร้านมาอ้างว่า จะเอาอะไรมาก กินแล้วก็หายหิว สารอาหารก็มีเพียงพอ
ผมเชื่อว่าตอนประกวดราคาซ่อมแซมผิวทางด่วน ทำสัญญาว่าจ้าง หรือจะเรียกเป็นทางการว่าอย่างไรก็ตาม ย่อมมีกำหนดไว้ว่า คุณภาพความเรียบของผิว ต้องอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อสร้างเสร็จครั้งแรก เพียงแค่การทางพิเศษใส่ใจในการคุมงานซ่อมแซม โดยเฉพาะการตรวจรับงาน ก่อนจ่ายค่าจ้าง แค่เจาะจง เอาใจใส่ ให้ผู้รับเหมาขูดผิวเดิมออกให้ลึกพอเท่านั้นเอง
ขณะนี้มีหลายเส้นทาง เป็นการซ่อมครั้งที่ 2 แล้วครับ มีการขูดผิวที่ซ่อมไว้ครั้งแรกออกอย่างตื้น แล้วโปะทับแบบเดิม ร่องช่วงรอยต่อจึงลึกกว่าครั้งแรก ชาวต่างชาติก็คงสงสัยมาก ว่าทำไมคนไทยไม่มีปัญญาสร้างถนนให้เรียบตลอด ทั้งๆ ที่ไม่มีปัญหาผิวดิน หรืออะไรทั้งสิ้น เพราะเป็นทางยกระดับ ถ้าผมเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และต้องนั่งรถสนทนากับประมุข หรือผู้นำชาติใดก็ตาม ผมจะไม่ยอมอับอายเสียหน้า ที่ต้องให้ล้อรถตกร่องเป็นจังหวะทุกรอยต่อเป็นอันขาด
เรื่องเล็กบางเรื่องก็ทำให้ประเทศชาติ หรือผู้นำเสียเกียรติภูมิได้เหมือนกัน ผมคงโทรศัพท์ไปถามผู้รับผิดชอบว่าซ่อมทางด่วนให้เรียบตามมาตรฐานธรรมดาๆ แค่นี้ ทำได้ไหม ? เหนื่อยน้อยกว่าโต้คารมกับนักข่าวกวนๆ เยอะครับ
ด้านมืดของ INTERNET
สิ่งใดที่มีคุณอนันต์ มักจะมีโทษมหันต์แฝงอยู่ด้วยเสมอ สมัยที่ผมยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย มีแหล่งความรู้อยู่ประเภทเดียวเท่านั้นครับ คือ ห้องสมุด ถ้าอยากหาความรู้ด้านใด ประเภทไหน ก็ต้องหาเวลาเข้าไปค้นหาในห้องสมุด ซึ่งไม่ได้มีอะไร ที่ทำให้แน่ใจเลยว่า ค้นแล้วจะเจอหรือไม่ แม้จะเป็นห้องสมุดขนาดใหญ่ ถ้าเราคิดแบบรอบคอบ ก็ยิ่งมีแต่ความกังวล
ก่อนอื่นเลย คือ ทั้งห้องสมุดที่มีหนังสือหลายหมื่นเล่มนั้น มีสักเล่มหนึ่งหรือไม่ ที่มีเรื่องที่เขาต้องการรู้หรือว่าเราค้นหาสิ่งที่มันไม่ได้มีอยู่ ? และถ้ามันมีอยู่แน่ในกรณีที่เป็นเรื่องที่ไม่ได้พิเศษ หรือน่าจะหายากมาก เราก็จะเจอปัญหาต่อไป คือ มันน่าจะอยู่ในหนังสือแนวไหน และอยู่ในเล่มไหน ซึ่งดูชื่อเรื่องแล้วจะต้องคาดเดากันต่อไปว่า น่าจะมีเรื่องที่เราต้องการรู้อยู่ในนั้นหรือไม่
เหนื่อยและเครียดมากครับ ต้องอาศัยโชคช่วยด้วย แต่ในยุคนี้ที่มีขุมความรู้มหาศาลในระบบ INTERNET มันกลายเป็นเรื่องง่ายระดับที่คนในยุคนี้ที่ผมยกตัวอย่าง ไม่กล้าแม้แต่จะคิดว่ามันจะเป็นจริงขึ้นมา ในเวลาเพียง 20 กว่าปี แค่พิมพ์คำที่เกี่ยวข้องให้ใกล้เรื่องที่เราต้องการรู้ที่สุดเพียงไม่กี่คำ ก็จะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องมาให้เราอ่านได้มากมาย ในประเทศที่พลเมืองมีคุณภาพ มีความรู้ ความคิดดี มีเหตุผลคิดอะไรแบบอิงตรรกศาสตร์ INTERNET ให้ประโยชน์เหลือคณานับ เพราะประชาชนของเขาระมัดระวังอย่างยิ่งในการเผยแพร่ข้อมูล มีความรับผิดชอบ มีจริยธรรม ระมัดระวังผลเสียร้ายแรง ที่อาจเกิดขึ้นจากการเผยแพร่ความรู้ ข้อมูล ที่ไม่ถูกต้อง
แต่ถ้าเป็นประเทศที่พลเมืองด้อยคุณภาพจริยธรรมอ่อนจาง มีปมด้วยสั่งสมมาจากวัยเด็ก หรือด้วยเหตุผลใดก็ตาม อยากสอนคนโดยที่ไม่มีความรู้อะไรเลย INTERNET จะกลายเป็นอาวุธร้าย ที่อาจมาประหัตประหารเราให้ถึงตายได้ จากการหลงเชื่อสิ่งที่มนุษย์ ประเภทนี้ มาโพสต์ให้อ่าน ยกตัวอย่างเช่นเรื่องสุขภาพ การใช้สารต่างๆ ช่วยรักษาโรคที่อาจทำให้เราถึงขั้นพิการ หรือตายได้ ผมไม่ได้หมายถึงพวกต้มตุ๋นหาผลประโยชน์นะครับ เพราะพวกนี้ดูง่าย ที่น่ากลัวกว่า คือ พวกมีปมด้อย อยากเป็นผู้รู้ ผู้สอน ไม่เอาอะไรตอบแทนนี่แหละครับ ที่อาจฆ่าเราได้ หรือจะยกตัวอย่างให้แคบเข้ามาอีก
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นก็ได้ มาดูเฉพาะเรื่องรถยนต์อย่างเดียว มีการสอนวิธีเลือกรถใหม่ โดยคนที่ไม่เคยซื้อรถใหม่เลยในชีวิต หรือสอนวิธีซ่อมรถ โดยคนที่ผมอ่านดูแล้ว ซ่อมอะไรไม่เป็นเลยตั้งแต่เกิดมา อ่านเนื้อหาแล้วผมรู้ได้เลยว่าคนที่มาโพสต์สอนนี้ ไม่เคยจับเครื่องมือซ่อมรถแม้แต่ชิ้นเดียว ไม่ได้คลั่งไคล้ "ฝรั่ง" หรือชาติที่พัฒนาแล้วนะครับ แต่พวกเขาไม่ทำเรื่องโง่อันตรายแบบนี้กันครับ ผู้ที่โพสต์จะบอกเลยว่า "ตรงจุดนี้ข้าพเจ้ายังไม่แน่ใจว่าใช่ หรือถูกต้องหรือไม่ รบกวนผู้ที่รู้จริงแก้ไข หรือให้ความรู้ด้วย"
ขณะที่เขียนเรื่องนี้ เพื่อนผมส่งรูปมาให้ดูพอดี เป็นการสอนเปลี่ยนน้ำมันเครื่องด้วยตัวเอง ใช้แม่แรงไฮดรอลิคยกรถ ตำแหน่งที่แม่แรงดันรถ ก็ผิดแล้ว แต่ที่ร้ายแรงกว่านี้ ก็คือ ผู้ที่สอนเข้าไปนอนใต้รถ โดยไม่มีขาตั้ง หรือ ขาค้ำ (ช่างไทยเรียกตามลักษณะว่า "สามขา") ยันรถไว้ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งยวด เพราะแม่แรงไฮดรอลิคมีโอกาสรั่วขึ้นมาตอนไหนก็ได้ ไม่สามารถตรวจสอบล่วงหน้าด้วย แม้แต่ของใหม่ ใช้ครั้งแรก ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ครับ มองเห็นภาพได้ชัดเจนไหมครับ ว่าการเชื่อและทำตามคนที่ไม่รู้จริง และไม่มีความรับผิดชอบด้วย ทำให้เราบาดเจ็บ พิการ หรือตายได้จริงๆ
จากการประเมินอย่างไม่เป็นทางการของผม ในด้านที่พอรู้เรื่องอยู่บ้าง คือ เรื่องเทคนิครถยนต์ ตลาดรถยนต์ คุณภาพของรถยนต์ ผมได้คำตอบว่า หากเป็นผู้ที่มีอาชีพอื่น ไม่เกี่ยวข้องกับวงการรถยนต์ ไม่สามารถประเมินได้ว่า คำแนะนำ ความเห็นต่างๆ ใน INTERNET ที่ไม่มีที่มาที่ไป ให้โทษมากกว่าให้คุณ หรือสรุปง่ายๆ ก็คือ ไม่อ่าน ไม่รับรู้ กลับปลอดภัยกว่าครับ
ไม่ต้องเชื่อสิ่งที่เป็นอวิชชา ทึกทักกันไปเอง ฟังมาสุ่มสี่สุ่มห้า แล้วมาเล่าต่อ ถ้าเป็นไปได้ หาความรู้จากแหล่งของต่างชาติ เช่น ส่วนที่ใช้ภาษาอังกฤษ ซึ่งมีให้อ่านกันอย่างเหลือเฟือ แม้จะไม่ถูกต้องทั้งหมด แต่ก็ไม่เลวร้ายครับ
งานแสดงรถยนต์ สิ่งสำคัญอยู่ที่ตัวรถ
ถึงจะผ่านมาหลายเดือนแล้ว แต่ผมก็ยังอยากเขียนถึง ผมหมายถึงงานแสดงรถ แฟร์รารี ครั้งที่ 2 หลังจากที่ผมเคยเขียนถึงงานแรกมาแล้ว ที่จัดแสดงย่านราชประสงค์ งานที่สองนี้เป็นงานเล็ก จัดโดยกลุ่มเจ้าของรถต่างจากงานแรกที่มีพื้นที่มาก และมีตัวแทนจำหน่ายเป็นผู้สนับสนุน สิ่งดีที่ผมชื่นชมยังคงเดิม คือ ไม่ต้องประกาศชื่อนามสกุลเจ้าของรถ ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระมากครับ การเสียสละให้ยืมรถมาให้ผู้สนใจได้ชมนั้น มันสูงค่ากว่าการเอาชื่อนามสกุลมาให้ใครก็ไม่รู้อ่าน ส่วนใหญ่มักจะทึกทักหลงดีใจกันไปเอง อย่างที่ผมเคยอธิบายไปแล้ว เมื่อเขียนถึงงานแรก คือ หากคุณเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงแพร่หลาย เป็นที่รู้จักในวงกว้าง คนที่รู้จักคุณอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเห็นชื่อนามสกุลคุณติดอยู่หน้ารถหรือไม่ และในทางตรงกันข้าม ถ้าไม่เข้าข่ายที่ว่า ก็ไม่มีใครรู้จักเมื่อได้อ่านอยู่ดีแหละครับ
หมดยุคจูราสสิคไปนานแล้ว กับความคิดที่ว่า "ถ้าไม่มีการประกาศชื่อ นามสกุล เจ้าของรถ ก็ไม่รู้จะให้ยืมรถมาแสดงทำไม" ข้อมูลของรถแต่ละคัน ที่ผมเคยให้ความเห็นไปหลังงานแรก เช่น หน่วยงานต่างๆ ปะปนกัน ความละเอียดของข้อมูลไม่อยู่ในระดับเดียวกัน ขนาดตัวอักษรแตกต่างกัน ทุกอย่างถูกปรับปรุงเป็นอย่างดี ที่เยี่ยมมาก คือ การบอกความเป็นมา จุดเด่น ประวัติที่สำคัญ ถูกจับรวบรวมมาอย่างกระชับ โดยผู้ที่มีความรู้ และมีฝีมือ เห็นความตั้งใจอย่างเต็มที่ และด้วยสำนวนในภาษาอังกฤษแบบไม่มีที่ติเลย น่าเสียดายอยู่นิดหนึ่ง ตรงที่รถบางคันถูกดัดแปลงบางส่วนไป ไม่ใช่อุปกรณ์ดั่งเดิมทั้งหมด เช่น รุ่น เอฟ 355
ไม่ใช่เรื่องใหญ่ครับ สิ่งดีๆ เรื่องดีๆ ล้วนต้องการผู้กล้า ที่ลุกขึ้นมาทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ผมไม่ได้ต่อต้านการเผยชื่อเจ้าของรถนะครับ ไม่ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องเป็นแบบนิรนาม เพียงแต่ว่า ถ้าจะทำ ต้องมีเหตุผลรองรับที่สำคัญกว่าการได้โอ้อวด เช่น มีการประกวดชิงรางวัลอย่างนี้สมควรประกาศให้เต็มที่ เพื่อให้เกียรติแก่ผู้ได้รับรางวัลครับ
ABOUT THE AUTHOR
เ
เจษฎา ตัณฑเศรษฐี
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มีนาคม ปี 2559
คอลัมน์ Online : รอบรู้เรื่องรถ