MEET THE MASTER (formula)
THAI AUTOMOTIVE DESIGNERS MEET THE MASTERS EPISODE III
การเดินทางเข้าร่วมงาน มีท เธอะ มาสเตอร์ส ออฟ อิตาเลียน คาร์ ดีไซจ์น ครั้งนี้ มีมาสเตอร์บางท่านที่ผมเฝ้ารอ เพราะเขาเป็นชื่อแรกๆ ที่ได้ยินตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย ร่วมกับชื่อของสำนักออกแบบอย่าง ปินินฟารีนา และ แบร์โตเน ชื่อของท่าน คือ โจร์เกตโต จูจาโร (GIORGETTO GIUGIARO) หรือที่เรามักจะเรียกสั้นๆ ว่า จูจาโร เจ้าของตำแหน่ง “นักออกแบบรถยนต์แห่งศตวรรษที่ 20” จากสมาคมผู้สื่อข่าวยานยนต์นานาชาติ จากผลงานชั้นเลิศมากมายที่ท่านได้รังสรรค์ รวมถึงการเป็นผู้ก่อตั้งสำนัก อิตัลดีไซจ์นโจร์เกตโต จูจาโร เกิดในปี 1938 ปัจจุบันอายุ 78 ปี และปี 1938 นี้เป็นปีที่ยิ่งใหญ่สำหรับวงการรถยนต์อิตาลี เพราะเป็นปีที่ถือกำเนิด “ดาว” แห่งวงการถึง 3 ท่าน ได้แก่ ปรมาจารย์ โจร์เกตโต จูจาโร/มาร์เชลโล กานดินี (MARCELLO GANDINI) ที่สร้างสรรค์รถสปอร์ทระดับตำนานไว้หลายคัน และ เลโอนาร์โด ฟีโอราวันตี (LEONARDO FIORAVANTI) ชายผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอันเป็นตำนานอีกบทหนึ่งของค่ายม้าลำพอง ในงานครั้งนี้เราโชคไม่ดีนักที่ไม่สามารถพบกับ กานดินี เพราะท่านมีปัญหาด้านสุขภาพ แต่ท่านก็ถ่ายทอดประสบการณ์ของท่านผ่านทางวีดีโอสัมภาษณ์ ซึ่งก็เพียงพอที่จะให้ได้ถึงความแตกต่างของสไตล์ของทั้ง 3 ท่านได้ เรากลับมาเริ่มกันที่ปรมาจารย์ โจร์เกตโต จูจาโร กันอีกครั้ง ท่านเดินทางมาบรรยายพร้อมกับลูกชาย คือ ฟาบริซีโอ จูจาโร (FABRIZIO GIUGIARO) ซึ่งควบตำแหน่งมือขวาของท่านมายาวนานหลาย 10 ปี ลีลาท่าทางของ จูจาโร ผู้พ่อนั้น หากไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นนักออกแบบรถยนต์ ก็อาจจะหลงคิดว่าเป็นเจ้าพ่อมาเฟีย อิตาลี ในสไตล์คลาสสิค ด้วยผมสีดอกเลาพร้อมกับลีลาและแววตาที่ดูอบอุ่น แต่พ่วงด้วยเสียงแหบๆ โทนต่ำที่น่าเกรงขาม ท่านเล่าให้เราฟังเกี่ยวกับช่วงแรกของชีวิตการทำงานว่า เริ่มต้นเหมือนเด็กทั่วๆ ไป ชอบวาดภาพ ชอบศิลปะ จริงๆ แล้วก็ไม่ชอบเรื่องเทคนิค แต่ท่านได้รับโอกาสจากวิศวกรผู้โด่งดังของวงการรถยนต์อิตาลีในสมัยนั้นคือ ดันเต กีอาโกซา (DANTE GIACOSA) ผู้บุกเบิกด้านวิศวกรรมการออกแบบรถยนต์ของเฟียต ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และท่านได้ลองทำงานด้านรถยนต์ที่ เฟียต ถึง 4 ปี จนรู้สึกว่า รถยนต์นี่มันใช่เลย ! หลังจากนั้น ท่านได้เข้าร่วมงานพัฒนารถยนต์รุ่นใหม่กับ “แบร์โตเน” สำนักออกแบบใหญ่ในยุคทศวรรษที่ 60 พร้อมกับสร้างผลงานเด่นๆ หลายคัน อาทิ อัลฟา โรเมโอ จูลีอา สปรินท์ จีที/บีเอมดับเบิลยู 3200 ซีเอส รวมถึง แฟร์รารี รุ่นพิเศษ 250 จีที เอสดับเบิลยูบี แบร์โตเน สปอร์ทรุ่นฐานล้อสั้น ที่มีหน้าตาไม่เหมือนใคร 5 ปีต่อมาได้ร่วมงานกับ สำนัก กีอา (GHIA) แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ แต่ก็มีผลงานออกมา นั่นคือ รถบแรนด์หรูสไตล์สปอร์ทอิตาลี อีโซ (ISO) หลายรุ่น รวมถึงรถสปอร์ทจากค่ายญี่ปุ่นที่คนในปัจจุบันอาจนึกไม่ถึง อย่าง อีซูซุ 177 สปอร์ท หนึ่งในรถหายากที่คนสมัยนี้ต่างใฝ่ฝันที่จะได้ครอบครอง จนกระทั่งออกมาเปิดสตูดิโอ “อิตัลดีไซจ์น” ในปี 1968 สำนักออกแบบอิตัลดีไซจ์นทำหน้าที่ออกแบบและผลิตรถแนวคิด ซึ่งเราได้เห็นรถยนต์แนวคิด ที่กำหนดบรรทัดฐานใหม่ของการออกแบบรถยนต์ ทยอยออกมาจากการนำของ จูจาโร มากมายหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่เป็นพื้นฐานให้รถคอมแพคท์ทุกวันนี้อย่าง โฟล์คสวาเกน กอล์ฟ รวมไปถึงรถที่ใช้เส้นสายเป็นเหลี่ยมสันที่ผู้คนต่างขนานนามว่าเป็น สไตล์ “พับกระดาษ” อย่าง โลทัส เอสปรีต์ ไปจนถึงรถทะลุมิติเวลาอย่าง เดอลอเรียน ดีเอมซี-12 (DELOREAN DMC-12) และสปอร์ทที่เป็นตำนานอย่าง บีเอมดับเบิลยู เอม 1 แต่เมื่อถามถึง รถคันไหนที่น่าจดจำที่สุด ก็ได้วิสัชนาให้เราทราบถึงจุดยืนของท่านว่า ท่านชื่นชอบรูปร่างที่สอดคล้องกับหน้าที่ใช้สอย ไม่ได้หมกมุ่นกับรถยนต์ที่สวยงามแต่เพียงอย่างเดียว แต่นิยมค้นหาคำตอบใหม่ๆ ให้กับหน้าที่ใช้สอยใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น อัลฟา โรเมโอ นิวยอร์ค แทกซี ปี 1976 และ ลันชา เมกา แกมมา (LANCIA MEGA GAMMA) รถแนวคิดขับเคลื่อนล้อหน้าหลังคาสูง ปี 1978 ที่เป็นพื้นฐานให้กับ เอมพีวี ยุคปัจจุบัน (แต่น่าเสียดายที่ เฟียต กรุพ ในเวลานั้น ไม่พัฒนาแนวคิดนี้ต่อ ปล่อยให้ค่ายรถอื่นเอาไปพัฒนาจนเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน) โจร์เกตโต จูจาโร ได้ชี้ให้เห็นถึงรูปแบบการทำงานของท่านที่แตกต่างจากคนอื่น รวมถึงต่างจากนักออกแบบรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ นั่นคือ ท่านจะไม่เริ่มต้นการทำงานด้วยการสเกทช์ให้สวยงามเย้ายวนเหมือนที่คนทั่วไปชอบทำ แต่ท่านมักจะศึกษาจากการวาดภาพแนวเทคนิค (TECHNICAL DRAWING) ในวิวต่างๆ เพื่อศึกษาถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่อาจจะยังมองข้ามไป เพราะท่านย้ำเสมอว่า หากไม่เริ่มแบบนี้แล้ว เราก็ไม่สามารถหาสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ได้ หลังจากนั้น ท่านได้ทยอยนำเอาผลงานที่ทำร่วมกับนักออกแบบคู่ใจของท่าน ฟาบริซีโอ จูจาโร ผู้เป็นลูกชายออกมานำเสนอบ้าง ในความคิดของเรานั้น ผลงานของอิตัลดีไซจ์น ในยุคของ ฟาบริซีโอ นั้นได้ผ่านยุคที่ดีที่สุดของ อิตัลดีไซจ์น มาแล้ว แต่หากไม่ได้ฟังบรรยายในวันนั้น คงไม่ทราบว่า เราประเมินผลงานพลาดไปไม่น้อย เพราะหลายๆ ชิ้นมีแนวคิดที่ไม่ธรรมดา ฟาบริซีโอ จูจาโร ได้นำเสนอรถเด่นในช่วงเวลาของเขา อาทิ เอมพีวี ขนาดยักษ์สุดหรูชื่อ โคลัมบัส รถแนวคิดในปี 1991 ซึ่งเป็นรถคันแรกของสำนักอิตัลดีไซจ์นที่สร้างขึ้นด้วยการใช้ CAD ตามด้วยรถแนวคิดที่ยังติดตาผู้เขียนจนถึงทุกวันนี้กับ แอซเทค (AZTEC) สปอร์ทแนวคิดที่มี “สองพวงมาลัย” ในปี 1988 โดยมาพร้อมกับแนวคิดว่า ผู้ขับกับผู้โดยสารสามารถสนุกไปด้วยกันได้ โดยผู้ขับหลักจะควบคุมมุมเลี้ยวของล้อหน้า และผู้โดยสารควบคุมมุมเลี้ยวของล้อหลัง (บ้าเลือดดีแท้) อีกคันหนึ่งที่สะท้อนความบ้าบิ่นของ ฟาบริซีโอ คือ รถแนวคิด มาชิโมโตะ (MACHIMOTO) ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับรถยนต์เพื่อสันทนาการ โดยเอาแนวคิดของอานจักรยานยนต์ มาผสมผสานเข้ากับรถยนต์ ทำให้รถคันเล็กๆ คันหนึ่งสามารถนั่งได้ถึง 8 คน แบบสบายๆ นอกจากรถแนวคิดแปลกแหวกแนวเหล่านั้นแล้ว ในยุคหลัง ภายใต้การทำงานร่วมกับ ฟาบริซีโอ สำนักอิตัลดีไซจ์น์ ยังได้ให้กำเนิดรถเด่นอีกหลายคัน อาทิ โฟล์คสวาเกน ดับเบิลยู 12/อัลฟา โรเมโอ บเรรา และ 159 รวมถึงสร้างรถแนวคิดให้กับ ฟอร์ด มัสแตง โฉมปัจจุบันอีกด้วย และเมื่อกล่าวถึงผลงานด้านการออกแบบอุตสาหกรรม (INDUSTRIAL DESIGN) ก็ต้องยอมรับว่าผลงานของ ปรมาจารย์ โจร์เกตโต จูจาโร นั้นโดดเด่นไม่ใช่น้อย อาทิ กล้องถ่ายรูปแบบมืออาชีพของ นิคอน รุ่น F3, F4, F5, F6 ไล่มาจนถึง D800 โดดเด่นที่การใช้งานที่เป็นธรรมชาติ และรูปทรงที่แข็งแกร่งสง่างาม รวมไปถึง ปืนของค่าย บาเรตตา (BARETTA) และนาฬิกาข้อมือแบบจับเวลาของ ไซโก ที่ได้รับคัดเลือกให้ติดข้อมือนักแสดงในเรื่อง เอเลียน ภาคแรก และต่อมาอีกหลายภาค แม้จะมีรูปทรงแปลกตา แต่เมื่อมองดูแล้วจะเห็นได้ชัดว่า นาฬิกาเหล่านั้นออกแบบด้วยแนวคิดด้านการใช้งานเป็นหลัก อันเป็นแนวคิดหลักของท่านเสมอ เมื่อถามเขาว่าผลงานออกแบบอุตสาหกรรมชิ้นใด เป็นสิ่งที่ชื่นชอบที่สุด คำตอบกลับเป็นสิ่งที่เราต้องแปลกใจ เพราะเขาได้พูดถึงผลงานที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน นั่นคือ จักรเย็บผ้าไฟฟ้า ของ เนกชี รุ่น โลจิกา (NECCHI LOGICA) ปี 1982 ซึ่งเขาชอบมันมาก เพราะเป็นงานที่พัฒนาขึ้นจากการศึกษาการเย็บผ้าโดยแม่ของเขาเอง เป็นการตอกย้ำถึงการออกแบบที่มีผู้ใช้เป็นจุดศูนย์กลาง สุดท้ายท่านได้ฝากข้อคิดถึงนักออกแบบรุ่นใหม่ว่า แม้ปัจจุบันเทคโนโลยีได้ก้าวล้ำไปไกล แต่อนาคตก็เป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา ลองมองย้อนไปในยุคทศวรรษที่ 50 ว่า คนอเมริกันวาดฝันถึงอนาคตในปี 2000 อย่างไรบ้าง แล้วมาดูตอนนี้มีอะไรเหมือนในตอนนั้นบ้าง อนาคตเป็นการพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะถึงอย่างไรก็ตาม รูปร่างของมนุษย์ก็ไม่ได้เปลี่ยนไป แต่อุปนิสัยนั้นอาจจะเปลี่ยนไปได้ เราต้องเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปให้ได้ อย่าไปหมกหมุ่นกับเรื่องความสวยงาม เพราะความสวยงามมันไม่จีรัง อย่างไรก็ตาม เราต้องรู้จักที่จะจัดการเรื่องความสวยงามให้อยู่มือให้ได้ เพราะสำหรับผู้บริโภคแล้ว “ความสวยงาม” มันสามารถแปลได้ว่า รถคันนั้นมีคุณภาพดี ดูตัวอย่างผลงานของ เพเทร์ ชเรเยร์ กับเกีย และ ฮันเด ยุคปัจจุบัน ด้วยการออกแบบที่สวยงาม ทำให้ผู้บริโภคคิดว่ารถคุณภาพดีไปด้วย ท่านยังฝากไว้อีกว่า ในเรื่องการออกแบบนั้น ความเป็น “ประชาธิปไตย” ใช้ไม่ได้ เราฟังความเห็นของทุกคนไม่ได้ ในการออกแบบนั้น เราต้องการผู้มี “วิสัยทัศน์” และกล้าที่จะเลือกเดินในเส้นทางที่สร้างสรรค์ ไม่รู้ว่า จูจาโร พูดแบบนี้จะทำให้นักออกแบบแนว ลิเบอรัล ดิ้นพราดๆ หรือไม่ (พบกับเรื่องราวของ เทพร่วมยุคของ โจร์เกตโต จูจาโร ต่อไปในฉบับหน้า)
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน เมษายน ปี 2559
คอลัมน์ Online : MEET THE MASTER (formula)