เกาะกระแส (cso)
FIVE-STAR AMPS
"เพาเวอร์แอมพ์ ขุมพลังที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแชมพ์ ทั้งประเภท SQ เน้นคุณภาพเสียงกลาง/แหลม และ CLASS D ดุดัน ที่เค้นพลังเสียงระดับ SPL"
IASCA/EMMA/EASCA/MAX 4 สุดยอดรายการแข่งขันที่สร้างสีสันให้วงการเครื่องเสียงบ้านเรา
เพาเวอร์แอมพ์ ส่วนภาคขยายสัญญาณ มีบทบาทสำคัญในระบบเสียง นักฟังที่มีโอกาสสัมผัสคุณภาพเสียงในรถระดับแชมพ์ จะได้ยินเสียงดนตรีแตกต่างจากระบบเสียงในรถทั่วไป ส่วนหนึ่งมาจากเพาเวอร์แอมพ์คุณภาพสูง ที่ขยายและถ่ายทอดสัญญาณเสียงได้อย่างครบถ้วน ละเอียดทุกอณู
4 รายการแข่งขันเมืองไทย
บ้านเรามีรายการแข่งขันเครื่องเสียงที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลอยู่ 4 รายการ คือ IASCA THAILAND, EMMA THAILAND, THAILAND EASCA และ MAX ทุกรายการมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันจำนวนมาก เพราะผลการแข่งขัน และถ้วยรางวัล สามารถการันตีฝีมือของร้านติดตั้งได้
IASCA THAILAND รายการแข่งขันที่นำกฎกติกาจากสมาคมการแข่งขันเครื่องเสียงรถยนต์ประเทศสหรัฐอเมริกา (INTERNATIONAL AUTO SOUND CHALLENGE ASSOCIATION) ซึ่งในบ้านเราได้สิทธิ์จัดแข่งขันในประเทศ ตั้งแต่ปี 2004 หรือ 11 ปีมาแล้ว นับเป็นการแข่งขันเครื่องเสียงรถยนต์รายการแรก ที่เปิดตำนานให้กับวงการเครื่องเสียงรถยนต์ในบ้านเรา ให้ก้าวสู่มาตรฐานระดับสากล
EMMA THAILAND การแข่งขันจากสมาคม EUROPEAN MOBILE MEDIA ASSOCIATION ของทวีปยุโรปที่สร้างสีสันใหม่ให้กับวงการเครื่องเสียงรถยนต์ โดยมีมาตรฐานใกล้เคียงกับการแข่งขัน IASCA และในบ้านเราได้สิทธิ์ในการจัด EMMA THAILAND ตั้งแต่ปี 2004 โดยมีรายละเอียดของกฎกติกาในแต่ละรุ่นไม่เหมือนกับ IASCA เพราะการตัดสินจะใช้กฎของแต่ละสมาคม เป็นการเพิ่มความหลากหลายในการแข่งขัน เพื่อให้สมาชิก และร้านติดตั้ง ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กหรือร้านใหญ่ มีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ทำให้เป็นที่ยอมรับ และประสบความสำเร็จอีกรายการหนึ่งในขณะนี้
EASCA THAILAND การแข่งขันล่าสุดจากสมาคม EUROPEAN AUTO SOUND ASSOCIATION จากทวีปยุโรปเช่นกัน ซึ่งกำลังมาแรงขณะนี้ เนื่องจากได้รับการตอบรับจากนักแข่งเครื่องเสียงรถยนต์ในบ้านเรามากมาย จัดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2014-2015
MAX การแข่งขัน MAX (MOBILE AUDIO EXCELLENCE) เป็นอีกรายการหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในบ้านเรา โดยมี EVENT DIRECTOR จากบริษัทผู้จำหน่ายเครื่องเสียงรถยนต์เป็นผู้จัดการแข่งขันภายในประเทศ กฎกติกาจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ การแข่งขันประเภท SQ (SOUND QUALITY) และการแข่งขันประเภท SPL (SOUND PRESSURE LEVEL) นอกจากนี้ยังมีนักแข่งจากร้านติดตั้งเครื่องเสียงบางร้าน สามารถทำลายสถิติโลกในการแข่งขันในบางรุ่นอีกด้วย ส่วนประเภทการแข่งขัน มีให้นักแข่งได้เลือกหลายรุ่น อาทิเช่น MODIFIED, SUPER MODIFIED, STREET CHALLENGE เป็นต้น
ประเภทเพาเวอร์แอมพ์
ในการจัดชุดพลังเสียงลงแข่งขัน จะแยกประเภทเพาเวอร์แอมพ์ สำหรับขับชุดลำโพงแตกต่างกัน โดยจะแยกเป็นเพาเวอร์แอมพ์ 2/4 แชนแนล เช่น 50 วัตต์x2 หรือ 50 วัตต์x4 สำหรับขับชุดลำโพงกลาง/แหลม และ CLASS D สำหรับขับซับวูเฟอร์
แอมพ์ขนาด 2/4 แชนแนลเป็นเพาเวอร์แอมพ์ที่นิยมใช้ขับชุดลำโพงกลาง/แหลม ในระบบ BI-AMPS จะขับชุดลำโพงมิดเบสส์ และทวีเตอร์ร่วมกัน โดยผ่านการตัดแบ่งความถี่จากพาสสีฟ ครอสส์โอเวอร์ หรือไม่ก็จะใช้แอคทีฟ ครอสส์โอเวอร์ในเพาเวอร์แอมพ์ เป็นตัวปรับเลือกตัดความถี่ให้กับลำโพงโดยตรง ส่วนในระบบ TRI-AMPS และ QUAD-AMPS จะแยกขับวูเฟอร์ มิดเบสส์ และทวีเตอร์ แบบแชนแนลต่อแชนแนล โดยตัดความถี่ผ่านชุดแอคทีฟ ครอสส์โอเวอร์ในเพาเวอร์แอมพ์ หรือใช้อีเลคทรอนิค ครอสส์โอเวอร์ที่มีคุณภาพสูงแบบแยกชิ้นภายนอก เพื่อตัดความถี่แต่ละย่านให้กับลำโพงแต่ละชุดได้อิสระ
แอมพ์ประเภท CLASS D เพาเวอร์แอมพ์ประเภทนี้ออกแบบสำหรับขับลำโพงซับวูเฟอร์โดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นแบบ MONO BLOCK ขนาด 1 แชนแนล ที่ให้กำลังขับสูง เช่น 500 วัตต์x1 แชนแนล หรือ 1,000 วัตต์x1 แชนแนล เพื่อนำไปขับเล่นกับลำโพงซับวูเฟอร์ 1 ตัว นอกจากนี้เพาเวอร์แอมพ์ประเภทนี้ยังสามารถจัดการทำงานให้ขับลำโพงซับวูเฟอร์ได้หลายตัว ด้วยการโหลดเล่นที่ความต้านทานต่างๆ อาทิ 4, 2 หรือ 1 โอห์ม
สินค้าในกลุ่มเพาเวอร์แอมพ์ได้แตกไลน์ออกมาหลายรุ่น หลายราคา ตั้งแต่ตลาดระดับล่างไปถึงระดับบน เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และนักเล่นทุกกลุ่ม แต่ในไลน์สินค้าแต่ละยี่ห้อจะมีเพาเวอร์แอมพ์ไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่นักแข่งต้องการ เพื่อนำไปจัดชุดให้เหมาะสม และลงตัวกับชุดเครื่องเสียงที่ประกอบร่วมกันอยู่ในระบบทั้งหมด ตั้งแต่แหล่งสัญญาณไปจนถึงอุปกรณ์ปลายทาง ซึ่งก็คือ การจัดชุดเครื่องเสียงแต่ละชิ้นให้ทำงานเข้าขากันได้อย่างเหมาะสม ที่เรียกว่า SYSTEM DESIGN นั่นเอง
เพาเวอร์แอมพ์ระดับแชมพ์
เรามาดูกันว่ามีเพาเวอร์แอมพ์ยี่ห้อไหน และรุ่นใดบ้างที่นักแข่งนิยมนำไปจัดชุด และชนะเลิศคว้าถ้วยรางวัลแต่ละรายการมาครอบครองได้สำเร็จ
AUDISON SR 1DK เพาเวอร์แอมพ์กำลังขับ 600 วัตต์x1 แชนแนล (4 โอห์ม) หรือ 940 วัตต์x1 แชนแนล (2 โอห์ม) และ 1,200 วัตต์x1 แชนแนล (1 โอห์ม) ปรับความไวแบบโลว์เลเวลระหว่าง 0.3-5 โวลท์ RMS และแบบไฮเลเวล 1-15 โวลท์ ค่าความถี่ตอบสนอง 18-550 HZ ค่าอัตราส่วนระหว่างสัญญาณต่อเสียงรบกวน 85 ดีบี (อ้างอิงที่ A WEIGHTED@1 โวลท์) ปรับโลว์พาสส์ ฟิลเตอร์ได้ 50-220 HZ ความลาดชัน 24 ดีบี/ออคเทฟ ปรับซับโซนิค ฟิลเตอร์ที่ความถี่ 40 HZ ความลาดชัน 24 ดีบี/ออคเทฟ ปรับอีควอไลเซอร์ 0-9 ดีบี ที่ความถี่ 40-90 HZ ปรับเฟสได้ต่อเนื่อง 0-180 องศา
BOSTWICK DT100.4 เพาเวอร์แอมพ์กำลังขับต่อเนื่อง 100 วัตต์x4 แชนแนล RMS ตัวเครื่องทำด้วยอลูมิเนียมขัดเงาชุบทอง และเซาะร่องระบายความร้อน ขั้วต่อสัญญาณเป็นแจค RCA ชุบทอง พร้อมวงจรไฮพาสส์ปรับได้ 50-1,000 HZ และโลว์พาสส์ 40-200 HZ ปรับเพิ่มเสียงเบสส์ 0-12 ดีบี ที่ความถี่ 32-100 HZ ค่าอัตราส่วนระหว่างสัญญาณต่อเสียงรบกวนกว่า 95 ดีบี
BOSTWICK BOS-HA800.1DB เพาเวอร์แอมพ์ประเภท CLASS D MONO BLOCK ภายในคัดเกรดอุปกรณ์คุณภาพสูง สามารถให้รายละเอียดเสียง และกำลังขับได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ภาคจ่ายไฟระบบสวิทชิง ตัวเครื่องทำด้วยอลูมิเนียมฉีดขึ้นรูป พร้อมวงจรโลว์พาสส์ ฟิลเตอร์ปรับได้ 22-160 HZ ปรับซับโซนิคฟิลเตอร์ 5-22 HZ ปรับเฟส 0-180 องศา ปรับเพิ่มเสียงเบสส์ 0-12 ดีบี และอีควอไลเซอร์ 22-70 HZ
DIAMOND HX480.4D เพาเวอร์แอมพ์ประเภท FULL RANGE CLASS D กำลังขับ 120 วัตต์x4 แชนแนล RMS (4 โอห์ม) และ 185 วัตต์x4 แชนแนล RMS (2 โอห์ม) อุปกรณ์ภายในระดับออดิโอไฟล์ พร้อมแผ่นวงจรชนิด 4 ชั้น คุณภาพสูง ขั้วต่ออินพุทระบบบาลานศ์ ปรับควบคุมวงจรครอสส์โอเวอร์ ปรับเฟสได้ และออกแบบให้ปุ่มควบคุมฟังค์ชันการทำงานต่างๆ อยู่ด้านบน เพื่อความสะดวกในการทูนเสียง
DIAMOND HX800.1D เพาเวอร์แอมพ์ประเภท FULL RANGE CLASS D กำลังขับ 340 วัตต์x1 แชนแนล RMS (4 โอห์ม) และ 800 วัตต์x1 แชนแนล RMS (1 โอห์ม) แผงฮีทซิงค์ทำด้วยอลูมิเนียมชุบอโนไดซ์ ภาคจ่ายไฟชนิด FULL PWM ค่าอัตราส่วนระหว่างสัญญาณต่อเสียงรบกวน (อ้างอิงที่ A WEIGHTED@1 วัตต์) 80 DBA ปรับความไวอินพุท 0.2-5.0 โวลท์ ปรับโลว์พาสส์ ฟิลเตอร์ได้ 30-300 HZ ปรับซับโซนิคฟิลเตอร์ 10-55 HZ ความลาดชัน 12 ดีบี
DLS CC-44 เพาเวอร์แอมพ์กำลังขับต่อเนื่องที่ 85 วัตต์x4 แชนแนล (4 โอห์ม) และบริดจ์โมโน 220 วัตต์x2 แชนแนล (4 โอห์ม) ค่าอัตราส่วนระหว่างสัญญาณต่อเสียงรบกวน 110 ดีบี ค่าการตอบสนองความถี่ 10-60,000 HZ ปรับความไวอินพุทได้ 1-4 โวลท์ พร้อมวงจรไฮพาสส์/โลว์พาสส์ปรับได้ตั้งแต่ 50-500 HZ มีช่องต่อสัญญาณแบบไฮเลเวลสำหรับวิทยุ OEM
DLS CC-1000 เพาเวอร์แอมพ์กำลังขับต่อเนื่อง 450 วัตต์x1 แชนแนล RMS (4 โอห์ม) หรือ 700 วัตต์x1 แชนแนล RMS (2 โอห์ม) และ 1,000 วัตต์x1 แชนแนล RMS (1 โอห์ม) ค่าอัตราส่วนระหว่างสัญญาณต่อเสียงรบกวน 92 ดีบี ค่าการตอบสนองความถี่ 10-500 HZ ปรับความไวอินพุทได้ 1-4 โวลท์ วงจรโลว์พาสส์ปรับได้ 35-250 HZ ความลาดชัน 12 และ 24 ดีบี/ออคเทฟ
HARMOTECH M2 เพาเวอร์แอมพ์ที่ชนะเลิศในการแข่งขัน EASCA ปี 2015 กำลังขับต่อเนื่อง 330 วัตต์x2 แชนแนล RMS ที่โหลด 4 โอห์ม หรือ 650 วัตต์x2 แชนแนล RMS ที่โหลด 2 โอห์ม ค่าตอบสนองความถี่ตั้งแต่ 4-20,000 HZ ค่าอัตราส่วนระหว่างสัญญาณต่อเสียงรบกวนกว่า 111 ดีบี พร้อมแอคทีฟ ครอสส์โอเวอร์ปรับได้ระหว่าง 30-550 HZ ปรับแรงดันอินพุทได้ 0.3-8 โวลท์ ปรับเพิ่มเสียงเบสส์ 0-15 ดีบี ที่ความถี่ 20-80 HZ ค่าแดมพิง แฟคเตอร์กว่า 1000
MERCURY K4S เพาเวอร์แอมพ์ประเภท CLASS AB กำลังขับ 135 วัตต์x4 แชนแนล (4 โอห์ม) หรือ 230 วัตต์x4 แชนแนล (2 โอห์ม) และบริดจ์โมโน 435 วัตต์x2 แชนแนล (4 โอห์ม) ค่าตอบสนองความถี่ตั้งแต่ 20-20,000 HZ ค่าความเพี้ยนต่ำกว่า 0.1 % (ที่ 1 KHZ) ค่าอัตราส่วนระหว่างสัญญาณต่อเสียงกวนกว่า 95 ดีบี (อ้างอิงด้วย A WEIGHTED) ปรับความไวอินพุทได้ 0.1-8 โวลท์ วงจรไฮพาสส์/โลว์พาสส์ปรับได้ 40-160 HZ
สรุป
เบื้องหลังคุณภาพเสียงระดับแชมพ์ นอกจากเทคนิคเฉพาะในการออกแบบระบบ ฝีมือ และการปรับทูนเสียงขั้นเทพ เพาเวอร์แอมพ์นับว่ามีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์พลังเสียง และถ่ายทอดรายละเอียดดนตรี ที่ชนะใจกรรมการในทุกสนามแข่ง
ABOUT THE AUTHOR
ท
ทีมงาน CAR STEREO TEST LAB
ภาพโดย : ฝ่ายภาพนิตยสาร 409 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2558
คอลัมน์ Online : เกาะกระแส (cso)