MEET THE MASTER (formula)
THAI AUTOMOTIVE DESIGNERS MEET THE MASTERS EPISODE IV
ฉบับที่แล้วผมได้พาผู้อ่านไปพบกับเรื่องราวของนักออกแบบรถยนต์แห่งศตวรรษที่ 20 โจร์เกตโต จูจาโร (GIORGETTO GIUGIARO) ส่วนฉบับนี้ผมจะนำท่านไปทำความรู้จักกับตำนานอีกท่าน ผู้ซึ่งเกิดในปีเดียวกันกับ จูจาโร และหากพูดเรื่องชื่อชั้นแล้ว แม้จะมีผลงานน้อยกว่า แต่เกือบทุกคันอยู่ในระดับเอโซทิค (EXOTIC) และเป็นที่ถวิลหาของคนรักรถ นั่นคือ เลโอนาร์โด ฟีโอราวันตี (LEONARDO FIORAVANTI)ฟีโอราวันตี เป็น 1 ใน 3 นักออกแบบ “ไตรเทพ” (TRIUMVIRATE) ของอิตาลี หรือว่ากันตามภาษาปัจจุบันก็คล้ายกับ “แม่น้ำสามสาย” ที่เป็นเสมือนตัวแทนของงานออกแบบอิตาเลียนแห่งศตวรรษที่ 20 ร่วมกับ จูจาโร และ มาร์เชลโล กานดินี (MARCELLO GANDINI) ผู้อยู่เบื้องหลังตำนานกระทิงดุ เมื่อได้พบปะกับ ฟีโอราวันตี ไม่ว่าใครก็ต้องแปลกใจ เพราะในวัย 78 ปี ท่านยังเปี่ยมไปด้วยพลังชีวิต ยังคงมีบุคลิกของ “หนุ่มใหญ่นักซิ่ง” ผู้มีใบขับขี่รถแข่งของ FIA สมกับเป็นผู้อยู่เบื้องหลังของงานออกแบบ แฟร์รารี ในทศวรรษที่ 70-80 ที่เป็นที่จดจำอย่าง แฟร์รารี เดย์โทนา/288 จีทีโอ และเอฟ 40 ฟีโอราวันตี กล่าวตั้งแต่เริ่มว่า “เสียงคำรามของเครื่องยนต์ ไม่น่าตื่นเต้นสำหรับผมแล้ว” คำกล่าวนี้ทำให้เราสงสัยว่าท่านหมดไฟแล้วหรือ ? แต่เปล่าเลย เพราะท่านกล่าวต่อไปว่า “พลังงานไฟฟ้า คืออนาคต” เป็นคำประกาศที่ทำให้เรารับรู้ได้ว่า สำหรับชายผมขาววัย 78 ปีคนนี้ ยังคงมองและอยากที่จะวิ่งไปข้างหน้า ส่วนเรื่องราวครั้งอดีตเก็บไว้พูดถึงบ้างเป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น ท่านได้เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นว่า ในวัยเด็กซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 ใฝ่ฝันที่จะได้เป็นวิศวกรด้านอากาศยาน และได้ไล่ล่าตามความฝันด้วยการเข้าศึกษาด้าน วิศวกรรมอากาศยานตามที่ตั้งใจไว้ แต่งานด้านอากาศยานในอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศผู้แพ้สงครามนั้นหาได้ยาก ท่านเลยสมัครเข้าทำงานที่ใกล้เคียงกัน นั่นคือ งานพัฒนาอากาศพลศาสตร์ในอุโมงค์ลมของ ปินินฟารีนา (PININFARINA) ตอนอายุ 26 ปี งานแรกที่ได้รับผิดชอบที่ ปินินฟารีนา คือ การพัฒนา แฟร์รารี 250 เลอ มองส์ สเปชิอาเล (FERRARI 250 LE MANS SPECIALE) ปี 1965 เพื่อออกแสดงในงานมหกรรมยานยนต์เจนีวา แฟร์รารี 250 เลอ มองส์ สเปชิอาเล เป็นรถที่พัฒนาจาก 250 เลอ มองส์ รุ่นปกติ โดยปรับปรุงอากาศพลศาสตร์ให้ดีขึ้น ด้วยการใส่ฝาครอบพลาสติคใสคลุมห้องเครื่อง แทนที่จะเป็นฝากระโปรงโลหะแบนธรรมดา การปรับปรุงนี้ทำให้รถวิ่งได้เร็วกว่ารถแข่ง จุดเด่นอีกประการก็คือ ท่อดูดอากาศเข้าระบบไอดีด้านข้าง บริเวณบ่าของรถ (SHOULDER LINE) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ แฟร์รารี รุ่นวางเครื่องกลางลำ และยังคงเห็นได้ใน แฟร์รารี อีกหลายรุ่นต่อมา ผลงานการพัฒนาด้านอากาศพลศาสตร์ของท่านถูกใจ แฟร์รารี มาก และทำให้ ปินินฟารีนา ไว้วางใจให้หนุ่มน้อย ฟีโอราวันตี รับผิดชอบงานออกแบบของ แฟร์รารี ร่วมกับ อัลโด บราวาโรเน (ALDO BRAVARONE) พัฒนารถแนวคิดรุ่น ดีโน (DINO) รถบแรนด์ลูกของ แฟร์รารี ในปี 1965 และรถคันนี้ก็ได้รับการพัฒนาต่อยอดเป็น ดีโน 246 (DINO 246) ตามด้วย แฟร์รารี ตระกูลเครื่องยนต์ วี 8 สูบวางกลางลำ ในเวลาต่อมา อาทิ แฟร์รารี 308 กับ 328 รุ่นแสนอมตะ และภายหลังรูปทรงนี้ได้ถูกนำมารื้อฟื้นอีกครั้งในรุ่น 488 นั่นเอง ความสามารถด้านอากาศพลศาสตร์ของ ฟีโอราวันตี เป็นที่กล่าวขวัญอีกครั้งในการพัฒนารถแนวคิด แฟร์รารี รุ่น 250 พี 5 ปี 1968 ที่ได้รับการออกแบบด้านท้ายให้เป็นครีบเรียงเป็นชั้นๆ เพื่อลดแรงดูดอากาศด้านท้ายรถ ซึ่งต่อมาเราได้เห็นแนวคิดนี้ใน แฟร์รารี เตสตารตซา (FERRARI TESTAROSSA) และยังพบได้ในไฟท้ายของ เมร์เซเดส-เบนซ์ ยุคทศวรรษที่ 70-90 อีกด้วย อีกคันหนึ่งที่โดดเด่นมาก คือ รถแนวคิด แฟร์รารี พี 6 เครื่องยนต์ วี 12 ปี 1968 แนวคิดเรื่องรูปทรงของ พี 6 นี้ ภายหลังได้นำมาใช้เป็นแนวทางของ แฟร์รารี เครื่องยนต์ 12 สูบนอน วางกลางลำ หรือเครื่องยนต์บอกเซอร์ อันเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงเวลานั้น (ปัจจุบันเหลือค่ายรถยนต์ที่ยังทำเครื่องยนต์ชนิดนี้อยู่เพียง แค่ โพร์เช กับ ซูบารุ เท่านั้น) โดยมีชื่อว่า บีบี ย่อมาจาก (BERLINETTA BOXER) หรือแปลเป็นไทย คือ รถหลังคาแข็ง เครื่องบอกเซอร์ แต่ ฟีโอราวันตี กล่าวอย่างติดตลกว่า จริงๆ แล้ว บีบี มาจากคำว่า “บริจิทท์ บาร์โดท” (BRIGITTE BARDOT) ต่างหาก (บริจิทท์ บาร์โดท เป็นดาราดัง และเป็นตัวแทนของสาวเซกซีชาวฝรั่งเศสในยุคทศวรรษที่ 50-60) เพราะท่านคิดว่ารถรุ่นนี้ทรวดทรงมันเซกซีเหมือนสาวเอวคอดที่เย้ายวนนั่นเอง รถที่โดดเด่นอีกคันหนึ่ง ได้แก่ รถที่พัฒนาจากรุ่น 308 จีทีบี เพื่อการแข่งขันแรลลี กรุพ 4 เป็นการนำเอารถแบบเดิมๆ มาปรับขยายฐานล้อให้กว้างขึ้น เพื่อให้รับกับการแข่งขัน โดยการปรับตัวถังให้รับกับการขยายฐานล้อนั้นทำแบบง่ายๆ การขึ้นรูปด้วยแผ่นอลูมิเนียม แล้วยึดด้วยหมุด หรือที่เราเรียกกันว่าสไตล์ “โป่งเย็บ” รถที่ทำขึ้นนั้นมีชื่อเรียกว่า “มิลเล ชิโอดี” (MILLE CHIODI) หรือ “ตะปูพันตัว” ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนากลายเป็นรถที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ในชื่อ 288 จีทีโอ เครื่องยนต์ วี 8 สูบ เทอร์โบ วางกลางลำ คันแรกของค่ายม้าลำพอง ความคลั่งไคล้เรื่องความเร็วของ ฟิโอราวันตี ส่งผลกับการออกแบบรายละเอียดของ 288 จีทีโอ ในหลายจุด อาทิ ไฟหน้าสปอทไลท์ 4 ดวง ถูกติดตั้งด้วยเหตุผลที่ว่า “ถ้าจะขับรถให้เร็ว ต้องขับกลางคืน และไฟหน้าที่สว่างจะทำให้คนหลบ” (ไม่รู้ว่าถ้าเอาแนวคิดนี้มาใช้บ้านเรา พวกขับย่องเลนขวาจะหลบไหม ?) จากความสำเร็จของแนวคิด 288 จีทีโอ ต่อยอดให้เกิดการพัฒนารถเทอร์โบที่แรงขึ้นไปอีก พร้อมกับการมาถึงของเทคโนโลยีคาร์บอนไฟเบอร์ ในยุคทศวรรษที่ 80 เป็นจุดกำเนิดของรถแรงในตำนานอย่าง เอฟ 40 ที่เป็นขั้นสูงสุดของการต่อยอดจากแนวทางของ ดีโน และ 308 ซึ่งหากนับดูแล้วจะพบว่า แนวคิดที่ได้รับการต่อยอดมาจาก 308 นี้มีการพัฒนาออกมาหลากหลายถึง 18 แนวทางเลยทีเดียว และเมื่อพัฒนารถรุ่น เอฟ 40 จบลง ก็เป็นช่วงเวลาที่ ฟีโอราวันตี ได้รับการทาบทามจาก แฟร์รารี ให้ไปเป็นผู้จัดการทั่วไป และถือเป็นการจบหน้าที่ตลอด 24 ปี ของเขาที่ ปินินฟารีนา แต่ไปเป็นผู้จัดการทั่วไปของ แฟร์รารี ได้เพียงไม่นาน ท่านก็ลาออกมาตั้งบริษัทออกแบบของตัวเองชื่อ “ฟีโอราวันตี คาร์ คัมพานี” ในปี 1991 โดยมุ่งเน้นไปที่ การพัฒนารถไฟฟ้า ซึ่งท่านเห็นว่าเป็นวิถีแห่งอนาคต รถแนวคิดคันแรกของบริษัทใหม่นี้เปิดตัวในปี 1994 คือ ฟีโอราวันตี เซนซีวา (FIORAVANTI SENSIVA) รถไฟฟ้าที่บุกเบิกแนวคิดระบบไฮบริด แบบ เรนจ์ เอกซ์เทนเดด (RANGE EXTENDED HYBRID) ที่ปั่นไฟด้วยเครื่องยนต์กังหันเทอร์ไบน์แล้วส่งกำลังไฟฟ้าไปยังมอเตอร์อิสระ 4 ตัว ติดตั้งเพื่อขับเคลื่อนล้อ โดยใช้ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อมระบบเลี้ยว 4 ล้อ การใช้กังหันเทอร์ไบน์นั้น นอกจากจะให้กำลังในการปั่นไฟได้สูง ฟีโอราวันตี ได้ออกแบบให้ดูดอากาศเข้าไปสันดาปจากใต้ท้องรถ เป็นการช่วยให้ดูดรถติดกับพื้นทำให้เกาะถนนมากขึ้น นับเป็นแนวคิดที่ล้ำสมัยมาก ในช่วงเวลาที่คนทั่วไปยังคิดว่ารถพลังงานไฟฟ้าเหมาะกับการวิ่งในสนามกอล์ฟเท่านั้น สิ่งที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ “ยาง” สมกับชื่อ “เซนซิวา” (SENSIVA) ที่แปลว่า สัมผัส โดยได้ขายสิทธิบัตรยางที่พัฒนาให้ ปิเรลลี (PIRELLI) ยางพิเศษนี้สามารถส่งข้อมูลการยึดเกาะไปยังคอมพิวเตอร์ในรถ เพื่อรับรู้ว่ามีแรงกระทำจากลมตีด้านข้าง หรือมีการยึดเกาะเพียงใด ข้อมูลที่ได้จะนำไปใช้ในการปรับระบบอากาศพลศาสตร์ เพื่อให้รถวิ่งได้มีเสถียรภาพสูงสุด นับว่าเป็นหนึ่งในความหลงใหลด้านอากาศพลศาสตร์ที่ประยุกต์ขึ้นมาจากอากาศยานที่เป็นแนวคิดล้ำหน้า แม้กระทั่งปัจจุบันแนวคิดนี้ก็ยังคงได้รับการพัฒนาอยู่จากบริษัทยางในการสร้างยางอัจฉริยะที่ส่งข้อมูลกลับมายังคอมพิวเตอร์ในรถ ความหลงใหลด้านอากาศพลศาสตร์ทำให้ ฟีโอราวันตี คาร์ คัมพานี ได้นำเสนอแนวคิดสุดล้ำอีกหลายแบบ อาทิ รถแนวคิด แฟร์รารี เอฟ 100 อาร์ รถเปิดประทุนที่มาพร้อมกระจกหน้าทรงแปลกที่ลดอากาศหมุนวน ทำให้สามารถขับเปิดประทุนที่ความเร็วสูงได้สบาย และต่อมาเราได้เห็นรถแนวคิด ฟีโอราวันตี ไฮดรา (FIORAVANTI HIDRA) รถที่ตัดระบบใบปัดน้ำฝนออกไป แล้วแทนที่ด้วยระบบฉีดลมแรงดันสูงทำความสะอาดกระจกหน้า เพื่อทำให้สามารถทำกระจกหน้าได้โค้งมนเป็นพิเศษ และนอกจากรถสุดล้ำแล้ว ฟีโอราวันตี ยังได้นำเสนอรถแนวคิดที่ฉลาด ราคาย่อมเยา และเหมาะสมกับการใช้งานอีกด้วยอาทิ รถแนวคิด อัลฟา โรเมโอ โวลา (ALFA ROMEO VOLA) ที่นำเสนอระบบเปิดประทุนด้วยการหมุนหลังคากลับไปด้านหลังแทนการพับ ทำให้ไม่เปลืองที่เก็บโครงสร้างหลังคา ซึ่งต่อมาภายหลัง แฟร์รารี 550 ซูเพอร์ อเมริกา ได้นำไปใช้ นอกจากนั้น แนวคิดเรื่องความประหยัดที่แหวกแนว ยังพบได้ในรถแนวคิด เฟียต ไนศ์ (FIAT NYCE) และ ทริส (TRIS) รถราคาประหยัดที่ ลดต้นทุนการผลิตด้วยการออกแบบให้ประตูเหมือนกันหมดทุกบาน เป็นต้น นอกจากรถแนวคิดสไตล์อิตาเลียนแล้ว ฟีโอราวันตี ยังได้ออกแบบรถที่มาจากประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย นั่นคือ เลกซัส แอลเอฟเอ ซูเพอร์คาร์คันแรกของค่าย โดยมีโจทย์ว่ารถที่เป็นปลายสุดของยอดปิรามิดของ เลกซัส ซึ่งผลลัพท์ที่ได้นั้นไม่ผิดหวัง เพราะ แอลเอฟเอ เป็นรถที่โดดเด่นในทุกด้าน โดยเฉพาะช่องระบายอากาศด้านท้าย และท่อไอเสียเรียงเป็นทรงสามเหลี่ยมที่เป็นเอกลักษณ์ ท่านได้ฝากถึงนักออกแบบรุ่นใหม่ไว้ว่า งานออกแบบที่ดีนั้นต้องเรียบง่าย มีความเป็นตัวของตัวเอง และตอบโจทย์ด้านการใช้งาน เราไม่ควรจะทำงานที่ผิวเผิน งานที่ดีต้องลงลึกไปเพื่อการปรับปรุงให้สิ่งของทำงานได้ดีขึ้น และความงามที่แท้จริงนั้นไม่ต้องการคำอธิบาย (ท่านอาจจะแขวะผลงานของ คริส เบงเกิล อยู่ก็ได้ เพราะงานของ เบงเกิล นั้น เมื่อได้ฟังคำอธิบายจากปากของ เบงเกิล แล้วจะดูสวยขึ้นเสมอ) ในยุคสมัยต่อไปเราต้องคิดถึงภาษาการออกแบบใหม่ เพราะต่อไปนี้จะเป็นยุคของพลังไฟฟ้า ด้วยสมรรถนะที่เหนือกว่า และมลภาวะที่ดีกว่าอย่างเทียบไม่ได้ เพราะเมื่อไม่มีเครื่องยนต์แล้ว ไวยากรณ์ทั้งหมดของการออกแบบจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ท่านยังสะท้อนตัวตนของท่านที่มีกำเนิดมาจากการเป็นวิศวกร ดัวยข้อคิดว่า “ของปลอม อาจจะดูมีเสน่ห์น่าหลงใหล แต่มันจะไร้ราคา ไร้คุณค่าทันที เมื่อเทียบกับของจริง” และปิดท้ายด้วย “เราต้องเริ่มงานด้วยความสัตย์จริงของปัญหา เริ่มจากศูนย์ ไม่ต้องกลัวว่าจะหลงทาง เพราะสุดท้ายแล้ว ความจริงจะนำทางคุณเอง”
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน พฤษภาคม ปี 2559
คอลัมน์ Online : MEET THE MASTER (formula)