MEET THE MASTER (formula)
THAI AUTOMOTIVE DESIGNERS MEET THE MASTERS EPISODE V
สองฉบับที่ผ่านมา ได้เล่าถึงเรื่องราว 2 ใน 3 ผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการออกแบบรถยนต์ของอิตาลี ที่เกิดในปีเดียวกัน 1938 โจร์เกตโต จูจาโร (GIORGETTO GIUGIARO) และ เลโอนาร์โด ฟีโอราวันตี (LEONARDO FIORAVANTI) ในฉบับนี้จะเป็นตอนจบของตำนาน “ไตรเทพแห่งตูริน” ที่เล่าขานเรื่องราวถึงเทพผู้ให้กำเนิดสิ่งที่ทุกวันนี้ รู้จักกันในชื่อ “ซูเพอร์คาร์” เขาคือ มาร์เชลโล กานดินี (MARCELLO GANDINI)มาร์เชลโล กานดินี เป็นชายผู้มีมาดเงียบสงบราวกับฤาษี ดูถ่อมตัว พูดเสียงเบา ซึ่งไม่น่าเชื่อว่านี่คือ ผู้สร้างเหล่าบรรดาซูเพอร์คาร์ที่เป็นตำนานอันเกรียงไกรในปลายยุค 60 และตลอดยุค 70 กานดินี เล่าถึงกำเนิดของวิชาชีพว่า ในช่วงวัยเรียนได้ศึกษาวิชาดนตรี ประติมากรรม และเริ่มใช้ชีวิตของการเป็นนักออกแบบ ด้วยการเป็นนักออกแบบตกแต่งภายใน อยู่มาวันหนึ่งเพื่อนของ กานดินี ได้ขับรถยนต์ยี่ห้อ O.S.C.A 1500 แบบเปิดประทุน ซึ่งเป็นรถสปอร์ทสัญชาติอิตาเลียน น้ำหนักเบา ไปเกิดอุบัติเหตุ แต่ไหนๆ จะต้องซ่อมแล้ว เพื่อนของ กานดินี รู้ว่ากานดินี หลงใหลในรถยนต์ ก็เลยให้โอกาสได้ลองโชว์ฝีไม้ลายมือในการออกแบบดูสักครั้ง ในตอนนั้น กานดินี ตื่นเต้นมาก โดยช่างเคาะตัวถัง หรือที่เรียกกันเป็นภาษาอิตาเลียนว่า บัตติลัสตรา (BATTILASTRA) ได้ขอให้ กานดินี วาดแบบในขนาด 1:1 เพื่อนำมาถอดแบบ ตัดโครงไม้เพื่อทำการเคาะแผ่นเหล็กเพื่อขึ้นรูปต่อไป ซึ่ง กานดินี ก็ไปสรรหากระดาษใหญ่ที่สุดเท่าที่หาได้ และออกแบบรถในรูปทรงอย่างที่ต้องการ แต่เมื่อนำไปให้ช่างดู ก็ต้องประหลาดใจ เพราะช่างดูภาพของ กานดินี แล้วก็ส่ายหัว พร้อมกับบอกอย่างไม่เกรงใจว่า “ดูไม่รู้เรื่อง” ที่ว่าดูไม่รู้เรื่องก็มีเหตุผล เพราะ กานดินี ไม่เข้าใจเรื่องมาตรฐานของการเขียนแบบในขณะนั้นว่า ต้องนำเสนอภาพ “ด้านซ้าย” แต่ภาพที่เขียนนั้นกลับเป็นด้านขวานั่นเอง ซึ่งนับเป็นสิ่งแรกของบทเรียนที่กานดินี บอกแก่นักออกแบบรุ่นใหม่ว่า “จงเรียนรู้วิธีการทำงานและเข้าใจกระบวนการของช่างก่อนที่จะทำการออกแบบ” และลองหาเวลาเดินเข้าไปดูในโรงงานว่าเหล่าช่างนั้น เขาประกอบรถขึ้นมาอย่างไร เราจะได้ไม่ทำงานที่ให้พวกเขาต้องลำบาก พร้อมทั้งสำทับว่า งานออกแบบที่ดี ต้องเข้าใจถึงสถาปัตยกรรมของรถ โครงสร้าง และวิธีการประกอบ รวมถึงการทำงานของระบบกลไกที่ทำให้มันวิ่งได้ ส่วนเรื่องความสวยงามนั้น กานดินี ไม่ได้สนใจมากนัก หลังจากทำรถให้เพื่อนเสร็จ จึงตัดสินใจว่าจะเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมการออกแบบรถยนต์ โดยมุ่งหน้าไปสำนักออกแบบ แบร์โตเน (BERTONE) แห่งเมืองตูริน แต่การเข้าไปครั้งนั้นก็ไม่ประสบโชค เพราะหัวหน้าฝ่ายออกแบบในเวลานั้น คือ โจร์เกตโต จูจาโร รู้สึกไม่ถูกชะตา สกัดดาวรุ่งโดยไม่รับเข้าทำงาน ทำให้ต้องเคว้งคว้างอยู่ 2 ปี เลยทีเดียว จนกระทั่งได้ถูกเรียกเข้ามาทำงานเมื่อ โจร์เกตโต จูจาโร ลาออกจาก แบร์โตเน ไปร่วมงานกับ เดโตมาโซ (DETOMASO) พร้อมกับทิ้งงานชิ้นใหญ่เอาไว้ให้ กานดินี ได้พิสูจน์ตัวเอง นั่นคือ สิ่งที่เราจะได้รู้จักกันในภายหลังว่าเป็น “ซูเพอร์คาร์” คันแรกของโลก ลัมโบร์กินี มิอูรา (LAMBORGHINI MIURA) นั่นเอง ไม่ว่าจะมองจากแง่มุมไหน นี่ก็เป็นเรื่องที่แสนอัศจรรย์ ที่นักออกแบบหน้าใหม่ จะได้รับความไว้วางใจให้รับบทหนักเช่นนี้ ในการสานงานที่นักออกแบบมือเก๋าอย่าง โจร์เกตโต จูจาโร ที่แม้จะมีอายุเท่ากัน แต่ได้ออกแบบรถไปแล้วหลายต่อหลายรุ่น นับว่าเป็นงานที่ถ้าใจไม่ถึงจริง คงทำไม่ได้ แต่งานของ กานดินี ในตอนนั้น คือ สร้างตัวถังอลูมิเนียมครอบลงบนแชสซีส์รถเครื่องยนต์วางกลางลำสุดล้ำ ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทรถแข่ง ดัลลารา (DALLARA) ที่แน่ๆ คือ ไม่มีใครกล้ายืนยันว่า เรื่องราวจริงๆ เป็นอย่างไร ระหว่าง จูจาโร ลาออกเพราะ แบร์โตเน ต้องการรับ กานดินี เข้าทำงาน หรือว่า กานดินี ได้งานเพราะ จูจาโร ลาออกกันแน่ เรื่องนี้คงจะเป็นความลับไปอีกนาน ถึงอย่างไร ก็เป็นที่ชัดเจน เมื่อได้เห็นความสดใหม่ของลายเส้นที่ กานดินี นำเสนอ เมื่อเทียบกับลายเส้นเดิมของ จูจาโร ว่าเลือดใหม่นั้นสดกว่า กระนั้น กานดินี ยังคงถ่อมตัวและให้เครดิทกับผลงานว่า “หลายส่วนนั้นยังเป็นอิทธิพลจากเส้นสายของ จูจาโร” แต่ที่เหลือนั้น กานดินี ได้ปรับสัดส่วนเสียใหม่ โดยยกเลิกการแยกเส้นสายที่แบ่งตัวถังเป็นส่วนบนและล่างของ จูจาโร จนกระทั่งได้มาซึ่งรูปทรงที่น่าเกรงขามพร้อมเอกลักษณ์ “หงอนชายประตู” ที่เมื่อเปิดประตูแล้วมองจากด้านหน้าจะเห็น “เขากระทิง” ชัดเจน พโรเจคท์ “มิอูรา” แล้วเสร็จในคืนวันคริสต์มาสอีฟ ปี 1965 ในเวลา 22:00 น. หลังจากที่ กานดินี และทีมงานได้ทุ่มเทชีวิต โดยทำงานวันละ 22 ชั่วโมง มานานนับเดือน และทันการเปิดตัวในงาน “มหกรรมยานยนต์เจนีวา 1966” ซึ่งนับเป็นผลงานสร้างชื่อ ที่ทำให้ชื่อของ “มาร์เชลโล กานดินี” แจ้งเกิด พร้อมได้รับการยอมรับ รวมทั้งจากภายนอกและภายในองค์กรของ แบร์โตเน ผลงานของ กานดินี หลังจากนั้นมีมากมาย และล้วนแล้วแต่เป็นตัวแทนของความฝันของชายหนุ่มในยุค 70 และ 80 ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ลัมโบร์กินี คูนทาช (LAMBORGHINI COUNTACH) รถที่ถูกผลิตออกมาเป็นพโสเตอร์ เพื่อประดับผนังภายในห้องนอนของเด็กหนุ่มมากที่สุดในโลกคันหนึ่ง (ตอนวัยรุ่นผู้เขียนก็มีแผ่นหนึ่งเช่นกัน) ชื่อ คูนทาช นี้เป็นชื่อที่ครูช่างของ กานดินี ที่เป็นชาวเมืองปิเอดมนต์ (PIEDMONT) ได้อุทานออกมาเป็นภาษาท้องถิ่น เมื่อได้เห็นลายเส้นของรถรุ่นใหม่นี้ ซึ่งแปลว่า “น่าอัศจรรย์” เชื่อว่าคงไม่มีใครกล้าเถียง เพราะนับตั้งแต่ปี 1971 ที่รถต้นแบบได้เปิดตัวขึ้น มาจนถึงวันที่มันหยุดการผลิตในปี 1990 รวมเวลาเกือบ 30 ปี จนถึงทุกวันนี้ก็นับได้ว่ากว่า 45 ปี แล้วที่การปรากฏตัวของ “คูนทาช” ยังสร้างความตกตะลึงเสมอไป นอกจากซูเพอร์คาร์สุดพอพพูลาร์อย่าง ลัมโบร์กินี มิอูรา และ คูนทาช แล้ว ท่านยังได้รังสรรค์ซูเพอร์คาร์อีกหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็น ลัมโบร์กินี บราโว ส่วนผลงานชิ้นสุดท้ายกับค่ายกระทิงดุ คือ ดิอาบโล, ลันชา สตราโทส แชมพ์แรลลีโลกอันโด่งดัง บูกัตตี อีบี 110 รถสปอร์ทของ มาเซราตี หลายรุ่น รวมไปถึงรถแนวคิดขั้นเทพอีกมาก อาทิ อัลฟา โรเมโอ 33 คาราโบ/ลันชา สตราโทส ซีโร และ ออโตเบียงคี รันอเบาท์ (AUTOBIANCHI RUNABOUT) (ต้นแบบของ เฟียต เอกซ์ 1/9) ฯลฯ จนชื่อของ มาร์เชลโล กานดินี เป็นเสมือนตัวแทนของรถสปอร์ทจากอิตาลีไปโดยปริยาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว กานดินี ยังได้มีโอกาสออกแบบรถเก๋งราคาย่อมเยาหลายรุ่นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ซีตรอง บีเอกซ์/เฟียต เอกซ์ 1/9/เรอโนลต์ อาร์ 5 เทอร์โบ และ บีเอมดับเบิลยู ซีรีส์ 5 รหัส อี 12 เป็นต้น นอกจากนั้น ท่านยังได้เล่าถึงกระบวนการทำงานในอดีต ที่แตกต่างไปจากในปัจจุบันอยู่บ้าง เช่น ในอดีต สตูดิโอออกแบบใหญ่ๆ ในตูริน ทั้ง แบร์โตเน/ปินินฟารีนา และอิตัลดีไซจ์น จะสร้างรถแนวคิดขึ้นมา แล้วเชิญบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เข้ามาชม หากมีแนวคิดใดที่พวกเขาสนใจก็จะเจรจาเพื่อพัฒนาต่อไป และมีหลายครั้งรถแนวคิด 1 คัน ก็อาจจะมีมากกว่า 1 บริษัท สนใจก็เป็นได้ แต่สุดท้ายแล้วก็จะพัฒนาไปให้สอดคล้องกับทิศทางการออกแบบของแต่ละบแรนด์ เราอาจจะเห็นได้จาก รถยนต์ต้นแบบ โวลโว ตุนดรา ที่ต่อมา ซีตรอง ได้ซื้อแนวคิดไปพัฒนาต่อเป็นรุ่น บีเอกซ์ นั่นเอง ก่อนจากกัน กานดินี ได้ฝากข้อคิดสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ว่า “จงอย่าท้อถอยที่จะไล่ตามความฝัน” และเล่าต่อว่า ชอบทำงานในเวลาดึก อันเป็นเวลาที่กำลังจะเคลิ้มหลับ เป็นช่วงที่เส้นสายจะปรากฏในช่วงรอยต่อระหว่างภวังค์ เส้นสายที่ฟุ้ง ฝ้ามัว ช่วยกระตุ้นให้เกิดจินตนาการ และนำไปสู่การคิดที่เป็นระบบต่อไป อย่ากลัวที่จะทำสิ่งที่แตกต่าง พยายามหาว่าอะไรคือ จุดที่เด่นของความคิดเรา แต่ยังไงก็อย่าให้เกินที่จะรับได้ และสุดท้ายได้ฝากเอาไว้ว่า สำหรับ กานดินี แล้ว สิ่งที่กลัวที่สุด คือ การออกแบบที่จะต้องเอาใจคนทุกคน (ท่านคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้) และถ้าจะหาแรงบันดาลใจในการออกแบบแล้วล่ะก็ "อย่าเสียเวลาไปดูผลงานของคนอื่น" บรรดายอดบุรุษ “ไตรเทพ” แห่งตูริน ทั้ง 3 คนล้วนมีบุคลิกภาพแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็น โจร์เกตโต จูจาโร ผู้มีมาดเจ้าพ่อมาเฟียอิตาเลียนรุ่นใหญ่ จนผู้ที่ได้สัมผัสต้องยำเกรง เลโอนาร์โด ฟีโอราวันตี ผู้มีมาดของพเลย์บอย นัก "ซิ่ง" อิตาเลียนที่กระฉับกระเฉง พร้อมจะโอบเอวสาวตลอดเวลา จนมาถึง มาร์เชลโล กานดินี ที่เงียบขรึมราวกับฤาษี (เผลอๆ ท่านอาจจะไม่ได้ชอบขับรถเสียด้วยซ้ำไป) แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ พวกเขาไม่ได้ออกแบบอย่างฉาบฉวย ทุกอย่างผ่านการกลั่นกรองในเรื่องการใช้งาน การผลิตอย่างรอบคอบ และไม่ยอมที่จะเดินตามใคร ซึ่งเป็นตัวอย่างชั้นยอดของปรมาจารย์ที่ทุกคนควรศึกษา
ABOUT THE AUTHOR
ภ
ภัทรกิติ์ โกมลกิติ
นิตยสาร 399 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2559
คอลัมน์ Online : MEET THE MASTER (formula)