ชีวิตอิสระ
เที่ยวเมือง "ตรัง" ชิมหมูย่าง ย่ำรางรถไฟ
"ตรัง" จังหวัดที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีด เนื่องจากเป็นเมืองท่า ค้าขายคึกคักมาช้านาน มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากมาย นอกจากทะเลสวย และเกาะงามที่คุ้นเคย ภายในตัวจังหวัดยังคงมีเสน่ห์ของวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ในบรรยากาศคลาสสิค สถานีรถไฟเก่าแก่ที่ยังเปิดใช้อยู่ รวมถึงอาหารรสชาติสไตล์เมืองตรัง ที่คุณจะติดใจจนลืมไม่ลง "ชีวิตอิสระ" ฉบับนี้ จะพาไปเยือน "เมืองพระยารัษฎา ชาวประชาใจกว้าง หมูย่างรสเลิศ ถิ่นกำเนิดยางพารา เด่นสง่าดอกศรีตรัง ปะการังใต้ทะเล เสน่ห์หาดทรายงาม น้ำตกสวยตระการตา"
ควบ เลอโวร์ก ล่องใต้สู่ จ. ตรัง
การเดินทางครั้งนี้ ผมถือโอกาสทดสอบสมรรถนะเจ้า ซูบารุ เลอโวร์ก ด้วยระยะทางไกลๆ รถทรงสปอร์ทสเตชันแวกอนคันนี้ เมื่อถึงคราวต้องเดินกว่า 900 กม. จะยังคงให้ความรู้สึกสะดวกสบายอยู่หรือไม่ ตลอดระยะทางจากกรุงเทพฯ-ตรัง พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เลอโวร์ก สุดหล่อคันนี้ สามารถเดินทางไกล ได้อย่างสบาย ช่วงล่างที่รู้สึกแข็งในความเร็วต่ำ เมื่อยามเดินทางด้วยความเร็วกว่า 100 กม./ชม. กลับให้ความรู้สึกที่ไว้ใจได้ มีความแน่นหนึบอย่างไม่น่าเชื่อ คนขับสามารถควบคุมรถได้อย่างมั่นใจ แม้ขณะเข้าโค้งที่ความเร็วสูง คงต้องยกความดีความชอบให้กับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบสมมาตร ที่เลื่องชื่อของ ซูบารุ เขาละครับ ด้านพละกำลังมีมาให้เพียงพอ เนื่องจากใช้เครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบแบบสูบนอนขนาด 1.6 ลิตร ไดเรคท์อินเจคชัน ให้กำลังสูงสุด 170 แรงม้า พร้อมเกียร์อัตโนมัติซีวีที อัตราเร่งอาจช้าไปบ้าง เมื่อเทียบกับเครื่องยนต์เบนซินเทอร์โบของเพื่อนร่วมค่ายชมเมืองเก่า ลองหมูย่างรสเลิศ
สิ่งที่พลาดไม่ได้เมื่อมาเยือนตรัง คือ การเดินชมบ้านเมืองโบราณ ที่เป็นตึกเก่ามีสถาปัตยกรรมแบบชิโน-โปรตุกีส และแบบจีนโบราณ ที่เป็นแบบนี้เพราะในอดีตเคยเป็นเมืองท่า มีคนเล่าให้ฟังว่าเดิมทีเป็นอาคารหลายหลังต่อเนื่องกัน ต่อมามีการรื้อออกและสร้างเป็นอาคารสมัยใหม่แทรกอยู่ ลองนึกย้อนเวลากลับไป นักท่องเที่ยวที่เป็นแขกบ้านแขกเมืองเมื่อมาเยือนตรัง จะสะดุดตากับสีสันสดใส ที่สวยงามของตึกตามสไตล์ชิโน-โปรตุกีส ที่ผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันออก และตะวันตกได้อย่างลงตัว ปัจจุบันยังคงมีรูปแบบดั่งเดิมอยู่บ้าง เช่น ในย่านตลาดสด ย่านการค้าใกล้กับสถานีรถไฟ และหอนาฬิกาโบกตุ๊กๆ ชมโบสถ์อายุกว่า 100 ปี
ใครที่ไม่ชอบเดิน แต่อยากได้บรรยากาศเหมือนคนที่นี่ แนะนำให้เช่ารถตุ๊กๆ เที่ยวรอบเมือง ว่ากันว่า รถตุ๊กๆ ของที่นี่เป็นแบบหัวกบ และมีแห่งเดียวในประเทศไทย (แต่ผมว่ามันเหมือนกับรถตุ๊กๆ ที่พระนครศรีอยุธยานะ...คุณว่าไหม) ค่าโดยสารแล้วแต่ตกลงกัน พโรแกรมท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมไป สถานีรถไฟตรัง ชมตึกเก่าชิโน-โปรตุกีส หอนาฬิกา ศาลากลางจังหวัด บ้านนายชวน หลีกภัย ลานวัฒนธรรม ศูนย์จำหน่ายสินค้าโอทอป วัดท่าจีน และแม่น้ำตรัง ราคาเริ่มต้นที่ 200-600 บาท แล้วแต่ระยะทางเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เก่า แหล่งเรื่องราวในอดีต
พิพิธภัณฑ์นี้อยู่ห่างจากสถานีรถไฟกันตังประมาณ 300 เมตร เป็นจวนเก่าเจ้าเมืองตรัง หรือบ้านพักของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ผู้มีคุณูปการนำความเจริญมาสู่เมืองตรังในหลายด้าน เป็นเรือนไม้ 2 ชั้น มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง และเครื่องมือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของท่านอย่างครบถ้วนเที่ยวสถานีกันตัง สุดทางรถไฟสายอันดามัน
สถานีรถไฟกันตัง ถือเป็นสถานีรถไฟสุดทางของทางรถไฟสายใต้ ฝั่งทะเลอันดามัน เนื่องจากตั้งอยู่บนถนนหน้าค่าย อ. กันตัง จ. ตรัง ที่เปิดใช้มานาน ตั้งแต่ปี 2456 ในอดีตสถานีแห่งนี้ ใช้เป็นที่รับส่งสินค้ากับต่างประเทศ ทั้งสิงคโป มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จะมีรางรถไฟต่อจากสถานีนี้ไปอีก 500 เมตร เพื่อให้ถึงท่าเรือกันตัง ซึ่งเป็นท่าเรือเก่าแก่ตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันทางรถไฟส่วนนี้ถูกชาวบ้านรุกล้ำจนไม่เหลือรางรถไฟแล้วพิสูจน์ความร้อน ที่บ่อน้ำร้อนกันตัง
ใครว่าด้านธรรมชาติของตรัง จะมีแค่ทะเล กับน้ำตกเท่านั้น ที่ อ. กันตัง ยังมีบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติอยู่หลายบ่อ แต่ละบ่อมีอุณหภูมิสูงเฉลี่ย 40-70 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะกับการแช่ตัวเพื่อสุขภาพ และการพักผ่อน โดยทางวนอุทยานบ่อน้ำร้อนกันตัง มีบริการนวดแผนไทย ที่สามารถบำบัดความปวดเมื่อยต่างๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวได้ผ่อนคลายกันด้วย บริเวณโดยรอบของวนอุทยานฯ มีสภาพป่าเป็นดงดิบชื้นบางส่วนเป็นป่าพรุ ถูกปรับปรุงเป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติ จำนวน 3 เส้นทาง ระยะทาง 500, 750 และ 2,000 ม. ตามลำดับ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาระบบนิเวศของป่าแถบนี้หาดเจ้าไหม ความงามที่รังสรรค์
นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมที่สุด ในบรรดาหาดทั้งหมดในทะเลตรัง เนื่องจากมีบรรยากาศที่สวยงาม หาดทรายสะอาดใส และสามารถเที่ยวได้ทั้งบนฝั่งและในทะเล ไม่ว่าจะดำน้ำดูปะการัง เล่นบอลชายหาด หรือจะลุยมุดถ้ำก็ย่อมทำได้ แต่เนื่องจากอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม แห่งนี้อยู่ในเขตอิทธิพลลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ทำให้ช่วงระหว่างเดือน กรกฎาคม-กันยายน จะมีฝนตกชุก คลื่นลมแรง ดังนั้นทางอุทยานฯ จึงกำหนดปิดการท่องเที่ยวประจำปีในวันที 1 กรกฎาคม-30 กันยายน ของทุกปี (เฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเล) ส่วนแหล่งท่องเที่ยวทางบกยังสามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปีแผนที่ + ที่กิน
มาจังหวัดตรังทั้งที ถ้าไม่ทันกินอาหารเช้าสไตล์เมืองตรัง ก็ถือว่ามาไม่ถึง ร้านที่คนเมืองตรังนิยม และแนะนำบอกต่อๆ กันมา คือ "ร้านพงษ์โอชา" เป็นร้านเก่าแก่ที่รสชาติดั่งเดิมถูกปากชาวตรังเป็นอย่างยิ่ง ผมสั่งกาแฟร้อนเป็นอันดับแรก ซึ่งเขาจะเสิร์ฟพร้อมปาท่องโก๋ ต่อด้วยเมนูติ่มซำที่มีให้เลือกมากมาย สั่งเสร็จจะนำไปนึ่งแล้วมาเสิร์ฟ ตบท้ายด้วยหมูย่างเมืองตรังที่ขาดไม่ได้กับส่วนหนังที่กรอบ และเนื้อนุ่ม ถ้าได้น้ำจิ้มสีแดงด้วยแล้ว อร่อยจนแทบหยุดหายใจที่นอน
ห้องพักในตัวเมืองตรังมีมากมายหลากหลายแบบ แต่ที่สะดุดตาที่สุด คงหนีไม่พ้น "ไมตรี เฮ้าส์" ตึกเก่าครึ่งไม้ครึ่งปูน มาปรับปรุงเป็นห้องพัก สไตล์อบอุ่น พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันในราคาเริ่มต้นเพียง 750 บาท/คืนเท่านั้น แถมอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ด้วยความที่มีห้องเพียง 9 ห้อง จึงดูแลลูกค้าที่เข้าพักได้อย่างทั่วถึง เจ้าของเป็นกันเองมาก แถมมีจักรยานให้เช่าปั่นรอบเมืองได้อีกด้วยขอขอบคุณ
บริษัท ทีซี ซูบารุ ประเทศไทย จำกัด ที่เอื้อเฟื้อพาหนะสำหรับการเดินทางABOUT THE AUTHOR
วิธวินท์ ไตรพิศ
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน กรกฏาคม ปี 2559
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)