ชีวิตอิสระ
หนีร้อน ไปเข้าถ้ำ
อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ หรือ อุทยานแห่งชาติถ้ำธารลอด ยังคงความสมบูรณ์ทางธรรมชาติอย่างเต็มเปี่ยม แถมเป็นเส้นทางเดินทัพของพม่า (คราวยกมาตีกรุงศรีอยุธยา) และญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
มุ่งทิศตะวันตก
ไปกับ ซังยง โครันโด
การเดินทางครั้งนี้ เราได้เพื่อนเก่าแดนโสม ซังยง โครันโด ร่วมเดินทางไปด้วย เพื่อนผมคันนี้เพิ่งไปทำศัลยกรรมตกแต่งมาหมาดๆ ทั้งภายนอกและภายใน จนหล่อขึ้นผิดหูผิดตา ผมออกเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อหวังให้ถึงที่หมายในช่วงบ่ายแก่ๆ
เราใช้เวลากว่า 3 ชม. จึงหลุดมาถึงตัวเมืองกาญจนบุรีได้ เนื่องจากมีการก่อสร้างสะพานข้ามแยกในเขตอำเภอเมืองนครปฐม รถจึงสะสมยาวเหยียด ใครคิดจะผ่านเส้นทางนี้ต้องเผื่อเวลาไว้บ้างนะครับ
ทีมงานเดินทางตามทางหลวง 323 (นครปฐม-บ้านโป่ง) ผ่าน อ. ท่ามะกา อ. ท่าม่วง เมื่อใกล้ถึงตัวเมืองกาญจนบุรี จะเจอทางเลี่ยงเมือง ให้เลี้ยวขวาเข้าเส้นบายพาสส์ มุ่งหน้าสู่ทางหลวง 3199 (กาญจนบุรี-เขื่อนศรีนครินทร์) เห็นป้าย อ. บ่อพลอย ให้เลี้ยวขวาตามทางหลวง 3086 (กาญจนบุรี-บ่อพลอย-ด่านช้าง) อีกประมาณ 68 กม. จะถึง อ. หนองปรือ ให้เลี้ยวซ้ายไปอีก 22 กม. ก็ถึงอุทยานแห่งชาติถ้ำธารลอด รวมระยะทางทั้งหมด 234 กม.
ช่วงประมาณ 80 กม. สุดท้ายเป็นถนนเลนสวนเสียส่วนใหญ่ มักพบเจอรถทางการเกษตร (รถอีแต๋นขนอ้อย) วิ่งขวักไขว่เกือบตลอดสาย ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะรถเหล่านี้วิ่งช้ามาก ถ้ากะจังหวะไม่ดี ถึงกับเบรคกันตัวโก่ง ! แต่เรื่องแบบนี้ไม่เป็นปัญหาสำหรับ ซังยง โครันโด เพราะมีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบฟูลล์ไทม์ (AWD) พร้อมเครื่องยนต์ดีเซล คอมมอนเรล เทอร์โบ ขนาด 2.0 ลิตร 175 แรงม้า ทำงานผสานกับเกียร์อัตโนมัติ 6 จังหวะ อย่างนุ่มนวล มีแรงบิดในรอบต่ำดีมาก เร่งแซงดั่งใจ เรื่องระบบเบรคไม่ต้องพูดถึง ระยะเบรคสั้น เอาอยู่ทุกเส้นทาง
อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์
สถานที่นี้มีเรื่องราว
อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ตั้งอยู่ใน อ. ศรีสวัสดิ์ จ. กาญจนบุรี เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีเนื้อที่ไม่มาก แต่มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงาม ถ้ำธารลอด เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากการยุบตัวของหินปูน ประกอบกับการกัดเซาะของน้ำ เป็นเหตุให้เขาหินปูนกลายเป็นสะพานธรรมชาติขนาดมหึมา บนเนื้อที่ประมาณ 59 ตร.กม หรือ 36,875 ไร่
ในปี 2517 กรมป่าไม้ได้จัดตั้งวนอุทยานถ้ำธารลอดขึ้น ต่อมาได้สำรวจป่ารอบๆ ถ้ำธารลอด เพื่อยกฐานะเป็นอุทยานแห่งชาติ ปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าวมีจุดเด่น และมีธรรมชาติที่สวยงามมากมาย โดยเฉพาะ "ถ้ำธารลอด" ที่มีลำห้วยไหลผ่านทะลุภูเขา เกิดเป็นถ้ำมีเพดานเป็นรูปโดมขนาดใหญ่สวยงาม เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เด่นเป็นพิเศษ แถมยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าเป็นทางเดินทัพของพม่า และกองทัพญี่ปุ่น จากซากอาวุธโบราณ โครงกระดูก และเครื่องรางของขลัง กรมป่าไม้จึงกำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติในปี 2523 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 17 ของประเทศ ในชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติถ้ำธารลอด"
ต่อมาคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติได้พิจารณาเห็นว่า ในวาระการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ สมควรที่จะขอพระราชทานพระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ให้เป็นชื่ออุทยานแห่งชาติแห่งนี้ โดยตั้งชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติแด่พระองค์ ซึ่งสำนักราชเลขาธิการได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่ออุทยานแห่งชาติถ้ำธารลอดใหม่ว่า "อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์"
ถ้ำธารลอดน้อย
ถ้ำนี้เป็นไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด เนื่องจากมีธารน้ำไหลลอดใต้ถ้ำตลอดทั้งปี ทำให้บรรยากาศภายในนั้นสวยงาม เย็นสบาย อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน ฯ เพียง 100 ม. ตัวถ้ำยาวประมาณ 300 เมตร ปากถ้ำกว้าง 25 เมตร และสูงเพียง 10 เมตรเท่านั้น ตลอดทางเดินจะมีแสงสว่างตลอดทาง จากระบบไฟฟ้าภายในถ้ำที่ทางอุทยาน ฯ จัดทำไว้
ถ้ำธารลอด เป็น "ถ้ำน้ำ" ที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำ เป็นถ้ำที่พบหินในยุคออร์โดวิเชียน (ORDOVICIAN) มีลำห้วยแม่กระพร้อย ไหลผ่านตลอด เกิดจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ทำให้เกิดหินคดโค้ง และรอยแยกของหิน การพอกตัวของสารแคลเซียมคาร์บอเนท ทำให้เกิด หินงอก หินย้อย ม่านหิน เสาหิน และหินน้ำไหล
เราเดินลัดเลาะไปตามลำห้วยภายในถ้ำ พบหินงอก หินย้อย เป็นทรงต่างๆ โดยเฉพาะ "หินช้างหมอบ" ยามที่กระทบกับแสงไฟจะส่องประกายระยิบระยับ สวยงามยิ่งนัก บริเวณกลางโถงถ้ำยังมีหินรูปทรงแปลกๆ มากมาย ตามแต่จินตนาการของผู้พบเห็น
ผนังถ้ำด้านขวามือเป็นหินปูนฉาบลักษณะคล้ายน้ำตก ภายในถ้ำยังมีสัตว์พิเศษที่พบได้ในถ้ำธารลอดน้อย คือ "หมาน้ำ" หรือเขียดว้าก ซึ่งส่งเสียงร้องคล้ายสุนัข และ "ค้างคาวหน้ายักษ์ทศกัณฐ์" ที่ห้อยหัวอยู่ด้านบนเพดานถ้ำ เมื่อเดินทะลุถ้ำธารลอดน้อยจะพบกับสภาพป่าที่ร่มรื่น สามารถเดินต่อไปถึงถ้ำธารลอดใหญ่ได้
ถ้ำธารลอดใหญ่
จากถ้ำธารลอดน้อย จะมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติไปถึงถ้ำธารลอดใหญ่ เป็นระยะประมาณ 2,000 ม. ซึ่งจะผ่านป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ จะพบเจอกับ เถาวัลย์ เห็ดป่า มอสส์ เฟิร์น ไลเคน และต้นไม้ใหญ่อย่าง "พระเจ้าห้าพระองค์" ที่มีความสูงกว่า 40 ม. เป็นต้น
เส้นทางเดินบางช่วงต้องไต่เขาสูงชัน โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านน้ำตกไตรตรึงษ์ ขอบอกว่าเหนื่อมาก เพราะต้องไต่บันไดกว่า 1,000 ขั้น แต่ถ้าใครกลัวลำบาก ยังมีทางสบายๆ ด้วยการเดินทางโดยรถยนต์ จากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ฯ ไปทางบ้านท่าลำใย ประมาณ 3 กม. แล้วเลี้ยวไปวัดถ้ำธารลอดใหญ่อีก 18 กม. เป็นเส้นทางขึ้นเขาคดเคี้ยว นักท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นเส้นทาง ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ไกลหน่อยแต่สบาย
ถ้ำธารลอดใหญ่มีลักษณะคล้ายสะพานหินธรรมชาติ เกิดจากการยุบตัวของหิน และการกัดเซาะของน้ำ มีความกว้าง 60 ม. ตัวถ้ำด้านล่างยาว 60 ม. กว้าง 40 ม. และสูง 40 ม. บนเพดานถ้ำมีโพรงขนาดใหญ่ แสงสว่างส่องลอดมาในถ้ำได้ ทำให้ภายในถ้ำสว่าง และมีต้นไม้ใหญ่ขึ้นอยู่ตามพื้นถ้ำ
ภายในบริเวณถ้ำ ยังมีรอยพระพุทธบาท และพระพุทธรูป ให้สักการะบูชา อีกฟากหนึ่งของผนังถ้ำมีภาพเขียนสีรูปพญานาค ซึ่งชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของพญานาคมาก่อน นอกจากนี้แล้วยังมีหลักฐานปรากฏว่าบริเวณนี้เป็นที่ฝังศพของมนุษย์โบราณ จากการค้นพบโครงกระดูกเป็นจำนวนมาก หม้อดิน และสิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ ปัจจุบันสิ่งของเหล่านี้ถูกนำไปจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์วัตถุโบราณ โครงการห้วยองคตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองปรือ จังหวัดกาญจนบุรี ใครอยากเห็นตามไปดูได้ครับ
น้ำตกไตรตรึงษ์
น้ำตกแห่งนี้ ถ้าใครเดินเท้าตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติไปถ้ำธารลอดใหญ่ ต้องได้เห็นแน่นอน เนื่องจากอยู่บริเวณหน้าผาที่สูงชัน ตรงจุดที่เราเหนื่อย (สุดๆ) พอดี
น้ำตกไตรตรึงษ์ นับเป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน ฯ ประมาณ 1,500 ม.
ตัวน้ำตกมีอยู่ด้วยกัน 3 ชั้น จากน้ำตกชั้นแรก ซึ่งเป็นชั้นล่างสุด ต้องเดินไต่บันไดลัดเลาะไปตามหน้าผาสูงริมน้ำตก ในชั้นที่ 2 ต้องเดินผ่านน้ำตก ซึ่งมีความลื่น ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ชั้นบนสุด ถือเป็นชั้นที่สวยที่สุด
น้ำตกธารเงิน-ธารทอง
เป็นน้ำตก 2 แห่งที่อยู่ใกล้กัน มีน้ำมากเฉพาะในช่วงหน้าฝน ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปประมาณ 1.5 กม. น้ำตกธารเงินเป็นน้ำตกสูงถึง 7 ชั้น ที่สวยงาม แต่ละชั้นจะมีชื่อต่างกัน เช่น เกล็ดเงิน ประกายเงิน อ่างเงิน เป็นต้น แต่น่าเสียดายช่วงที่เราไปน้ำยังน้อยอยู่
เส้นทางเดินป่า ศึกษาธรรมชาติ
เป็นเส้นทางชมสถานที่ท่องเที่ยวหลักของอุทยาน ฯ จากถ้ำธารลอดน้อยไปถึงถ้ำธารลอดใหญ่ เริ่มจากถ้ำธารลอดน้อยซึ่งอยู่ใกล้กับที่ทำการอุทยานที่สุด คือ 400 ม. เป็นเส้นทางเรียบง่าย เมื่อพ้นถ้ำธารลอดน้อยออกมาจะต้องเดินป่าต่อไปอีก 1.5 กม. จะถึงน้ำตกไตรตรึงษ์ ชั้นที่ 1, 2, 3 (เส้นทางนี้เริ่มชัน) เดินต่อไปอีกราว 1 กม. จะถึงถ้ำธารลอดใหญ่ รวมระยะทาง 2.5 กม. ไป/กลับประมาณ 5 กม. เส้นทางบางช่วงมีความชัน โดยเฉพาะเส้นทางจากน้ำตกไตรตรึงษ์ไปยังถ้ำธารลอดใหญ่ ต้องเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อม
เส้นทางรถ ไปถึงถ้ำธารลอดใหญ่
อีกหนึ่งเส้นทางสำหรับผู้ไม่นิยมการเดินป่า แต่ก็ต้องการไปเที่ยวถ้ำธารลอดใหญ่ ด้วยการนั่งรถไป และเดินเท้าไปถ้ำธารลอดใหญ่แค่ 200 ม. เท่านั้น
หลังจากเที่ยวถ้ำธารลอดน้อยแล้ว ก็ให้ย้อนกลับทางเดิม ขับรถไปตามเส้นทางวัดถ้ำธารลอดใหญ่ ก่อนถึง ที่ทำการอุทยาน ฯ จะมีป้ายบอกไว้ ระยะทาง 35 กม. แต่จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง เส้นทางคดเคี้ยว บางช่วงเป็นดินลูกรัง แต่รถทุกชนิดสามารถเข้าไปได้
ที่นอน
ถ้าไม่อยากนอนเทนท์ อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ เขามีที่พักให้เช่า เป็นบ้านพักขนาด 4-6 คน ทั้งหมดเกือบ 10 หลัง ภายในห้องพักมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่แพ้โรงแรมใหญ่ๆ ในเมืองเลย ทั้งทีวีแบบดิจิทอล เครื่องทำน้ำอุ่น เครื่องปรับอากาศ หรือแม้แต่โซฟานุ่มๆ ก็ยังมี ที่สำคัญเจ้าหน้าที่อัธยาศัยดีทุกคน สามารถจองผ่านเวบไซท์ของกรมอุทยาน โทร. 0-2562-0760 หรือ www.dnp.go.th
ขอขอบคุณ
บริษัท ซันยอง (ประเทศไทย) จำกัด ที่เอื้อเฟื้อพาหนะสำหรับการเดินทางครั้งนี้
ABOUT THE AUTHOR
วิธวินท์ ไตรพิศ
นิตยสาร 417 ฉบับเดือน มิถุนายน ปี 2558
คอลัมน์ Online : ชีวิตอิสระ(4wheels)